แม้จะถูกวิจารณ์ในด้านลบเป็นระยะๆ ตลอดเวลาของการอออกอากาศ แต่ก็ถือว่าไม่เลวเลยครับสำหรับตอนจบของละคร "ทรายสีเพลิง"
ก่อนหน้านี้นวนิยายของ "นันทพร ศานติเกษม" เจ้าของนามปากกา "ปิยะพร ศักดิ์เกษม" เรื่องนี้เคยถูกนำมาทำเป็นละครไปแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2535 โดยมี "หมิว ลลิตา" มารับบทตัวละครตัวเอก "ทราย" หรือ "ศรุตา" ขณะที่ฉบับปีพ.ศ.2557 นี้ได้นางเอกสาว "ชมพู่ อารยา" มารับบทเดียวกัน
หลายคนอดไม่ได้ที่จะยกเอาทั้งคู่ขึ้นมาเปรียบเทียบ ซึ่งหากวัดกันโดยอิงจากคาแรกเตอร์ในจินตนาการที่ได้จากการอ่านนวนิยายแล้ว นักแสดงรุ่นพี่อย่างหมิวนั้นทำได้ดีกว่าสาวชมพู่อยู่พอสมควร
โดยเฉพาะในลีลาความร้ายแบบสง่า สุขุม ลึก ดูดีมีการศึกษาจริงๆ
ผิดกับสาวชมพู่ที่ดูจะเอาคาแรกเตอร์ของความเป็น "นางร้าย" ในปัจจุบันประเภทแสดงออกทางสีหน้าแบบเวอร์ๆ เอาความเป็นแฟชั่นจ๋าทั้งเสื้อผ้าหน้าผมมานำเสนอเพื่อสื่อถึงความสวย รวย เก่ง ฯ จนดูคล้ายเป็นตัวร้าย-ตัวอิจฉาที่เราให้ทั่วไปในละครหลายต่อหลายเรื่องเสียมากกว่า
แต่ถ้านี่คือการตีความใหม่ของผู้ผลิตแล้วละก็ต้องบอกว่าเธอทำได้ดีทีเดียว
ต้องยอมรับครับว่าการนำเอาเรื่องราวจากนวนิยายมาแปรรูปขึ้นร่างเป็นละครทีวีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เพราะการตีความคาแรกเตอร์ตัวละครจากตัวหนังสือนั้นย่อมเป็นไปได้ร้อยแปดพันเก้าขึ้นอยู่กับต้นทุนของตัวผู้อ่านเอง ผิดไปจากตัวละครในทีวีที่ผู้ดูไม่ต้องใช้จินตนการอะไรมากมาย แต่สามารถเห็นได้ด้วยสองตาและสองหูที่ได้ยิน
ไม่นับรวมข้อจำกัดในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องของระยะเวลา, ความสมจริงสมจังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ตัวอักษรบรรยายให้เป็นรูปเป็นร่างและสามารถถ่ายถอดความรู้สึกออกมาให้ตรงกับความรู้สึกที่คนอ่านละครนั้นรู้สึกได้ยามที่ได้อ่านตัวหนังสือ ฯ
ว่ากันโดยรวมแม้ประเด็นเนื้อหาหลักที่ต้องการจะสื่อของ "ทรายสีเพลง" จะไม่ได้ต่างอะไรไปจากนวนิยายหรือละครไทยเรื่องอื่นๆ ที่วนเวียนอยู่กับความน้ำเน่าในเรื่องความรัก การแก้แค้น ชิงดีชิงเด่น ฯ แต่กระนั้นการนำเสนอโดยเน้นไปที่เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเป็นสำคัญ ก็ทำให้ละครเรื่องนี้พอที่จะมีอะไรหลงเหลือให้คนดูได้ขบได้คิดอยู่ไม่น้อย
"บุรี" พี่ชายแสนดีที่มีคำว่า "อภัย" ให้เสมอกับน้องสาวที่ตนเองรัก แต่กระนั้นเขาก็เลือกที่จะมองถึงเหตุและผลที่ตั้งอยู่บนการกระทำที่ถูกต้องมากกว่าความรักแบบไม่ลืมหูลืมตา
"ลูกศร" หญิงสาวใสซื่อ ตัวละครที่น่าสงสารที่สุด และเป็นแบบอย่างของ "แม่รังแกฉัน" อย่างแท้จริง
"ชาร์ล" (ฌาน) ชายหนุ่มผู้ฉลาดหลักแหลม ที่เชื่อมั่นว่าความทุ่มเทความจริงใจไม่ว่าจะเรื่องใดๆ จะทำให้เขาได้รับผลตอบแทนที่ดีๆ กลับมา ไม่เว้นแม้กระทั่งในเรื่องความรักอันบริสุทธิ์ที่เขาโหยหา
หลายคนอาจจะรู้สึก "เกลียด" ตัวละครอย่าง "ทราย" และรู้สึกสะใจยามที่ตัวละครตัวนี้ได้รับความทุกข์จากการกระทำของตนเอง แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าแล้วใครกันล่ะที่บ่มเพาะความเคียดแค้นชิงชังขึ้นมาในจิตใจของเธอ
เสียดายนะครับที่ในละครนำเสนอประเด็นที่เธอและแม่ในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" น้อยจนเกินไป รวมไปถึงเหตุผลที่ว่าเพราะอะไรในขณะที่ผู้เป็นแม่ของเธอเกิดภาวะปล่อยวางได้แล้ว ตัวเธอกลับยังจมอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตจนเก็บเอามาขมวดเป็นปมแค้นขึ้นมา
ทั้งที่ตอนที่เกิดเรื่องเธอเองก็ใช่ว่าจะมีอายุมากมายพอที่จะรู้สึกผูกใจเจ็บหรือว่าคิดได้ถึงเรื่องในลักษณะเช่นนี้ แถมชีวิตกับครอบครัวใหม่ก็ดูจะสมบูรณ์มีความสุขดีจนน่าจะเข้ามาทดแทนเรื่องราวร้ายๆ ในอดีตของเธอได้เป็นอย่างดี
แต่ก็อย่างที่บอกครับโดยส่วนตัวผมถือว่าละครเรื่องนี้จบสวย จบดี ทีเดียว
ตัวละครแต่ละตัวต่างก็ไม่มีใครเป็นพระเอก นางเอก หรือนางร้าย ตัวโกงกันแบบสุดโก่ง แต่เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ต่างก็ได้รับบทเรียนที่แสนจะเจ็บปวดจนเกิดสำนึกได้ว่าหากเอาแต่อารมณ์และเหตุผลตัวเองเป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็เป็นตัวเองนั่นแหละที่ต้องรับในผลกรรมจากการกระทำนั้นๆ
เปลวไฟแค้นที่ถูกจุดย่อมย้อนกลับมาเผาตัวผู้จุดเองเช่นไร ความทุกข์ที่ใครถือไว้ก็ย่อมให้ทุกข์กับคนผู้นั้นไม่ต่างกัน
บทสนทนาในฉากที่แม่ลูกศรที่แสดงโดยคุณ "ตั๊ก มยุรา" คุยกับทรายก่อนจบด้วยประโยคทำนองว่าจากนี้ไปเราสองคนไม่มีอะไรต้องติดค้างกันแล้ว เป็นบทสรุปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้เป็นอย่างดี
จริงๆ ละครหลายๆ เรื่องก็จบแบบให้ข้อคิดสอนใจเช่นนี้แหละครับ เพียงแต่มีการสื่อสารที่ออกมามันทำให้เราไม่รู้สึกเข้าถึงสักเท่าไหร่
เอาเป็นว่าสำหรับใครที่ยังอินอยู่กับความสะใจที่ตัวทรายได้รับ หรือสงสัยว่าสุดท้ายแล้วตัว "บุรี" ให้อภัย "ทราย" จริงๆ หรือไม่? แนะนำให้ไปซื้อนิยายเรื่อง "ในบ่วงมนตรา" ของผู้เขียนคนเดียวกันนี้มาอ่านกันดู
แม้จะเป็นคำตอบที่ไม่ชัดเจนมาก แต่ลองอ่านดูก็แล้วกันครับ