จากบรรยากาศโดยรวมของผู้ชมในรอบเดียวกัน จับอารมณ์ได้จากเสียงฮาเสียงหัวเราะอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งเรื่อง ก็คงการันตีได้ระดับหนึ่งว่า ความฮาแบบหม่ำ จ๊กมก เจ้าของฉายาตลกเงินล้านนั้น ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ และสิ่งที่คนดูน่าจะรู้สึกว่าเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ในงานชิ้นใหม่ของผู้กำกับคนนี้ก็คือ พิ้งกี้-สาวิกา ไชยเดช ที่ลงทุนทุ่มเทให้กับบทแบบไม่หวงเนื้อหวงตัวหรือเสียดายภาพลักษณ์ดาราสาวหน้าสวยเลยแม้แต่น้อย
ณ วันนี้ที่ผมเขียนบทความ (วันพฤหัสบดีที่ 17) ซึ่งถือว่าครบเจ็ดวันพอดีตั้งแต่เข้าฉาย ทาสรักอสูรทำได้รายได้ไปแล้วกว่าสิบห้าล้านบาท ซึ่งนับว่าไม่ธรรมดานะครับสำหรับหนังไทยส่วนใหญ่ในช่วงสองสามปีมานี้ที่เพียงทำรายได้สักห้าล้านสิบล้านยังลำบาก แม้ว่าอันที่จริง หนังของคุณหม่ำ จ๊กมก ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จหมดทุกเรื่อง แต่ตัวเลขรายรับดังกล่าวของทาสรักอสูร คงจะบอกอะไรเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีตรา “หม่ำ จ๊กมก” ประทับบนปกโปสเตอร์หนังนั้น ยังพอขายได้อยู่
หลังจาก “แหยม ยโสธร ภาคสาม” เมื่อปีที่แล้ว นี่คือผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของ “เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา” หรือที่เราๆ ท่านๆ เรียกขานกันในนาม “หม่ำ จ๊กมก” ซึ่งก็รับบทนำในหนังด้วย กับบทของ “เพิ่ม” นายหัวผู้มีอันจะกินและมีใจรักด้านการเป็นศิลปินในถิ่นเกาะห่างไกลทางภาคใต้ เขาลักพาตัวลูกสาวของมหาเศรษฐีในเมือง (พิ้งกี้) มากักบริเวณไว้ที่เกาะ เพราะความแค้นฝังใจกับเรื่องราวในวันเก่าก่อน
แน่นอนครับ สำหรับคนที่มีปูมหลังหรืออายุมากสักหน่อย คงจะพอมองออกว่า นี่คือหนังอีกเรื่องที่หม่ำ จ๊กมก ใช้แนวทางการรำลึกถึงงานเก่าๆ ของผู้กำกับรุ่นเก่า หลังจากก่อนหน้านี้ “วงศ์คำเหลา” ก็เคยหยิบเอานิยายรักในตำนานอย่างบ้านทรายทองมาล้อมาอำไปแล้วรอบหนึ่ง ครั้งนี้ก็ถึงคราวนำเอาขนบเรื่องราวของผู้กำกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าแห่งละครตบจูบอย่าง “เปี๊ยก-พิศาล อัครเศรณี” มาเป็นวิธีในการดำเนินเรื่อง เพียงแต่ปรับเปลี่ยนลุคบางอย่างให้ดูซาดิสม์ยิ่งขึ้นไปอีกขั้น เช่น ตัวนางเอกซึ่งไม่ใช่หญิงสาวผู้สูงศักดิ์แสนสวยและแสนดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังขี้โมโหฉุนเฉียวกราดเกรี้ยวด่าทอเป็นไฟแลบ ขณะที่บทของตัวนำฝ่ายชายก็ไม่ใช่แค่ตบแล้วจูบ เพราะจัดเต็มทั้งประเคนบาทา หมัด ศอก เข่า แม่ไม้มวยไทยมาเต็ม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่าทีที่ปรากฏในหนัง ฉีกขนบความซาดิสม์ ให้ดูเป็นเรื่องเฮฮามากกว่าจะซีเรียสจริงจัง
จะว่าไป ทักษะแบบนี้ก็คือสิ่งที่คุณหม่ำ จ๊กมก คุ้นเคยดีอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะเพียงจากการทำหนังอย่าง “วงศ์คำเหลา” หากแต่การแสดงตลกในกลุ่มแก๊งสามช่า (หม่ำ เท่ง โหน่ง) ก็เป็นไปในแนวทางนี้ คือหยิบเอาเรื่องราวจากละคร นิยาย หรือภาพยนตร์ มาแต่งเลียนในสไตล์ของตัวเอง โดยมีองค์ประกอบซึ่งเป็นจุดขายที่ขาดไม่ได้คือความขำขัน
ดังนั้น ถึงแม้หนังจะพยายามปีนป่ายตัวเองไปให้เป็นดราม่าเพียงใด หรือแม้แต่บทบาทของคุณหม่ำเองจะพยายามปั้นสีหน้าให้ดูเคร่งขรึมอย่างไร มันก็เป็นการแสดงที่ทำให้เรารู้สึกขำได้มากกว่าจะรู้สึกดราม่าซีเรียส บทนี้ของคุณหม่ำ อาจจะโน้มไปในทางหนังอีกเรื่องอย่าง “เฉิ่ม” ในแง่ที่ไม่ได้ตั้งใจมาเล่นตลก แต่สำหรับเฉิ่มนั้น เพราะบทหนังดูจริงจัง อารมณ์เรื่องที่ซีเรียส จึงส่งหนุนความดราม่าอย่างเต็มที่ แต่สำหรับงานชิ้นนี้ มันเหมือนการเล่น “จำอวด” ที่ยิ่งทำให้ดูขึงขังมากเท่าใด ยิ่งทำให้เรารู้สึกขำขันขึ้นไปเท่านั้น
เช่นเดียวกับมุกตลกหลายๆ มุกที่ไม่คิดว่าหนังจะกล้าทำ แต่ทำไปแล้วกลับให้ความขำได้ซะอย่างนั้น แม้แต่การที่หม่ำไม่ได้พูดภาษากลางหรือภาษาอีสานเป็นหลักเหมือนหนังเรื่องก่อนๆ ก็เป็นอะไรที่ไม่ได้คาดเดามาล่วงหน้า คำแรกที่ออกจากปากเขาในหนังเรื่องนี้ด้วยสำเนียงคนอีกพื้นถิ่นหนึ่งจึงเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์และเรียกความรู้สึกตลกได้แต่แรก
อีกส่วนผสมที่สำคัญของเรื่อง ก็คือนักแสดงสาวอย่างที่เกริ่นกล่าวไว้ข้างต้น พิงกี้-สาวิกา ไชยเดช กับบทคุณหนูลูกสาวคนรวยที่ถูกจับมากักบริเวณ นี่น่าจะเป็นบทที่แตกต่างที่สุดแล้วของดาราสาวคนนี้ อย่างชนิดที่พูดได้ว่าไม่คิดว่าเธอจะกล้าเล่น เพราะมันมีความขัดแย้งหลากหลายในบทบาทจนดูเหมือนเพี้ยนคล้ายคนไม่เต็มเต็ง เป็นลูกคุณหนูอ่อนแอแต่ปากตลาดสุดๆ นาทีหนึ่งด่าทอ นาทีต่อมาทำจ๊ะจ๋า แล้วก็กลับไปวาจาเกรี้ยวกราดอีกรอบหนึ่ง แน่นอนว่า มองในแง่ของการแสดงสำหรับหนังที่ดูไม่จริงจังอะไร พิ้งกี้ก็ทำได้หลุดโลกและเรียกเสียงหัวเราะได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงพิ้งกี้ หากแต่ดาราสาวสมทบอีกสองคน ทั้ง “สกาวใจ พูลสวัสดิ์” และ “อุ้ม-ลักขณา วัธนวงศ์สิริ” ที่แม้จะโชว์สวยกันแจ่มตา แต่ก็ออกลูกบ้าลูกเพี้ยนได้ไม่น้อยหน้าพิ้งกี้
สุดท้าย เรื่องของบทหนัง ผมรู้สึกว่ายังไม่มีหนังเรื่องไหนของคุณหม่ำ จ๊กมก ที่เขียนบทได้เทียมเท่ากับเรื่อง “แหยม ยโสธร” ภาคหนึ่ง หรือแม้แต่ใกล้ๆ เคียงๆ กับบอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม (ภาคหนึ่งเช่นกัน) อย่างทาสรักอสูร หนังเขียนบทไว้แบบไม่เคร่งครัดมาก อาศัยการผูกปมไว้อย่างหลวมๆ เกี่ยวกับความแค้นที่รอการคลี่คลายเฉลยปมเกี่ยวกับตัวพี่สาวของหม่ำ (ซึ่งตายไปแล้ว) และพิ้งกี้ที่ตกมาเป็นเชลยอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร จริงๆ ถ้าจะมองอย่างให้เครดิตกับวิธีคิดของหนัง ก็คงจะมองได้ทำนองว่า มันพาดโยงเกี่ยวพิงไปถึงสิ่งที่เป็นอยู่จริงในสังคมยุคปัจจุบันซึ่งเราสังกัดอยู่ ไม่มากก็น้อย
หรือไม่ใช่เพราะเราชอบที่จะ “มโน” ไปต่างๆ นานา โดยปราศจากการค้นหาความจริง เรื่องราวยุ่งยากจึงมักจะตามมา?
หรือไม่ใช่เพราะว่าเราชอบ “คิดกันไป” “พูดกันไป” โดยไม่มีข้อมูลจริงแท้เกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ หรือบุคคลนั้นๆ ที่เรากล่าวถึง เราจึงเผลอทำร้ายใครต่อใคร ก่อนจะมารู้ในภายหลังว่า มันไม่ใช่แบบที่คิดหรือแบบที่ทำลงไปนั้นเลย?
อันนี้เป็นเพียงการพยายามมองแบบให้เครดิตหนังนะครับ เพราะถึงที่สุด ผมเองก็อาจจะมโนไปเอง แบบที่มันไม่ได้เป็นความจงใจของหนังเลย ก็เป็นได้ จริงไหม?
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |