xs
xsm
sm
md
lg

คมช.(คืนความมันส์ให้ประชาชน) : Transformers 4

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ถึงแม้มหกรรมลูกหนังโลกจะทำให้หลายต่อหลายคนอดหลับอดนอน ร่างพังไปตามๆ กัน แต่ทว่ามหกรรมทำลายข้าวของของเหล่าออโต้บอทและดีเซ็พติคอนโดยผลงานการสร้างสรรค์ของบุคคลที่ผมเคยขนานนามเขาว่าเป็น “เดอะ ก็อดฟาเธอร์ แห่งหนังวินาศสันตะโร” อย่างไมเคิล เบย์ ก็เรียกให้ผู้คนเดินเข้าโรงหนังอย่างชนิดที่เรียกว่าเดินกันเป็นมด หายใจรดต้นคอกันหน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋ว

ดังนั้น ต่อให้ใครจะล้อเลียนว่านี่คือ “หนังเบย์ๆ” อย่างไร แต่หลักฐานทางเม็ดเงินที่ตีเป็นตัวเลขตัวรายรับตั้งแต่วันสองวันแรกที่เข้าฉายซึ่งทะลุไปกว่าแปดสิบล้านบาทในบ้านเรา และคาดๆ เดาๆ ว่า น่าจะไปแตะที่สองร้อยล้านได้อย่างไม่ยากเย็น ก็คงจะพูดเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่า บอลโลกทำอะไรไมเคิล เบย์ ไม่ได้จริงๆ

ภายหลังจบจากไตรภาคชุดแรกไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน ทรานส์ฟอร์เมอร์ส ภาคสี่ (Age of Extinction) ซึ่งนับเป็นปฐมบทไตรภาคอีกชุดก็เดินทางมาถึง ที่ต้องบอกเช่นนี้ ก็เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันก่อนครับว่า ถึงแม้หนังจะยังคงมีองค์ประกอบเป็นพวกหุ่นยนต์ซึ่งเราเคยเห็นหน้าค่าตามาแล้วในสามภาคก่อนนั้น แต่ทว่าในเงื่อเนื้อหาเรื่องราว (รวมถึงตัวละครมนุษย์) เป็นการคิดขึ้นใหม่ตามรูปแบบของการ “รื้อแล้วสร้าง” ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องราวในส่วนของออโต้บอทที่พลิกจากการเป็นฮีโร่ของชาวโลก กลับต้องตกอยู่ในฐานะจำเลยและต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก

ภายหลังสงครามระหว่างพวกออโต้บอทกับดีเซ็พติคอนเมื่อหลายปีก่อน มนุษย์โลกผู้เคยได้รับการช่วยเหลือจากเหล่าออโต้บอท อันนำทีมโดยพี่ใหญ่อย่างออพติมัส ไพรม์ ก็ดูจะเอาใจออกออกห่าง แถมเอนเอียงเบี่ยงข้างไปอยู่กับฝ่ายพวกดีเซ็พติคอน และย้อนกลับมาทำร้ายพวกออโต้บอทจนเหล่าฮีโร่หุ่นยนต์แปลงร่างต้องพากันหนีหัวซุกหัวซุนและหลบซ่อนอยู่ในที่ปลอดภัย กระทั่งการไล่ล้างจากเหล่ามนุษย์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มันก็เหลือทนที่จะหลบอยู่ในที่กำบังต่อไปได้ “ออพติมัส ไพรม์” จึงระดมพรรคพวกออกมาพิสูจน์ความเก๋า โดยต้องต่อกรทั้งกับพวกดีเซ็พติคอนและมนุษย์ไปด้วยพร้อมๆ กัน

สิ่งที่เราจะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ ในหนังปฐมไตรภาคชุดใหม่นี้ ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมของเหล่าตัวละครหุ่นยนต์แปลงร่างฝ่ายดี ที่ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงราหูอมจันทร์ ภาพการถูกกระทำของพวกออโต้บอทบางตัว คือสิ่งที่น่าเห็นใจอย่างแน่นอน กระนั้นก็ดี สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นพัฒนาการที่สร้างความแตกต่างให้กับเหล่ารถแปลงร่าง ที่เป็นความต่างไปจากภาคก่อนๆ ก็คือ คาแร็กเตอร์ตัวละคร ผมสนุกกับการได้เห็นพวกเขาก้าวมาอีกขั้นจากการเป็นหุ่นยนต์แข็งๆ (แน่ล่ะ ก็มันทำด้วยเหล็กทั้งตัว) คือทุกการแสดงออก ทุกพฤติกรรม แทบไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป ดูเหมือนมีเลือดเนื้อมีความรู้สึกนึกคิดจิตใจจริงๆ

พูดในมุมนี้ก็คือ ภาคก่อนนั้น เรายังรู้สึกว่าพวกมันเป็นหุ่นยนต์จากต่างดาว (หรือในนัยหนึ่งก็คือ เอเลี่ยน) แต่มาถึงภาคนี้ อาจเป็นเพราะพวกมันอยู่ในโลกมาสักพักใหญ่ ความเป็นมนุษย์โลกจึงซึมซับเข้าไปในตัวตนของพวกมันอย่างเต็มที่ เราจะได้เห็นชีวิตชีวาของพวกมันในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Hound ที่มาพร้อมกับลุคของรถที่ใช้ในการทหาร ซึ่งดูเก๋าและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน หรือแม้แต่บัมเบิ้ลบีที่เพิ่มดีกรีความเกรียนความกล้ามุทะลุแบบเด็กวัยรุ่นกำลังโตเข้าไปได้อย่างมีสีสัน

ผมดูหุ่นยนต์แปลงร่างพวกนี้ด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกจริงๆ ไม่ใช่คนห่างไกลเหมือนคนที่เป็นมาในภาคก่อนๆ นอกจาก Hound และบัมเบิ้ลบี ก็ยังมีตัวอื่นๆ ซึ่งพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ มันดูมีชีวิตดี

อีกอย่างที่ดูจะแตกต่างไปจากภาคก่อน คือผมรู้สึกว่าตัวเอง (เหมือนอีกหลายๆ คน) แยกไม่ค่อยออกว่าตัวไหนคือหุ่นยนต์ฝ่ายไหน โอเคล่ะ เราอาจจะปากอ้าตาค้างกับการหักไปหักมาหรือแปลงร่างของเหล่าหุ่นยนต์ก็จริง แต่ดูแล้วก็จะมึนๆ ว่าตกลง ตัวไหนมันอยู่ฝ่ายไหน ซึ่งสำหรับภาคนี้ อาจเป็นเพราะหนังค่อนข้างขับเน้นให้เรื่องราวเป็นเรื่องของฝ่ายออโต้บอท ความมึนงงจึงไม่มีเวลาหุ่นยนต์ปรากฏตัว อย่างพวกผู้ร้ายที่เห็นชัดๆ ก็คงเป็นล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ไม่ยากต่อการจะแยกแยะเท่าไรนัก นอกจากนั้นก็เป็นพวกหุ่นตัวดำๆ นับเป็นการแบ่งสีแบ่งฝ่ายแบบง่ายต่อการสังเกต

ส่วนตัวละครที่เป็นมนุษย์ ซึ่งหลักๆ นำโดยมาร์ค วอห์ลเบิร์ก และลูกสาว ก็ถือว่าได้มาตรฐานแบบไมเคิล เบย์ มิติแรกๆ ที่เราเห็นจากตัวละครคู่นี้คือความสัมพันธ์พ่อลูกที่ดูจะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไรนัก แต่ก็ยังรักและห่วงใจกันดี พ่อนั้นเหมือนไอ้พวกขี้แพ้ซึ่งเอาดีกับชีวิตไม่ได้ เป็นนักประดิษฐ์กิ๊กก๊อกที่ดูไม่มีอนาคต ส่วนลูกสาวนั้นเหมือนดาวที่กำลังส่องแสงและพยายามก้าวไปข้างหน้า แต่จะว่าไป เรื่องทำนองนี้ก็เป็นพื้นฐานของหนังกลุ่มนี้อยู่แล้ว และหลายๆ เรื่องก็ทำได้ดีกว่า แม้แต่ในแฟรนไชส์ของทรานส์ฟอร์เมอร์สเองก็ตาม ภาคหนึ่งนั้นดูจะเล่นกับประเด็นเหล่านี้ได้ดีกว่า แต่ก็อย่างว่า หนังของไมเคิล เบย์ ที่ชอบเล่นสนุกกับการระเบิดภูเขาเผากระท่อม ถ้ามัวไปด้อมๆ มองๆ ส่องหาความลึกกับประเด็นเช่นนี้ มีหวังโดนระเบิดตายก่อน

ถ้าจะมองหาสาระที่ดีที่สุดของหนังภาคนี้ นอกเหนือไปจากการถูกทรยศของเหล่าออโต้บอท ผมคิดว่าเนื้อหาแบบหนึ่งซึ่งหนังพยายามใช้เปรียบเทียบผ่านตัวละครสองฟาก ก็คือ นักประดิษฐ์กิ๊กก๊อกอย่างมาร์ค วอห์ลเบิร์ก กับพวกนักประดิษฐ์ขั้นเทพที่มีโรงงานและเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน เอาเข้าจริง สิ่งที่ทำให้นักประดิษฐ์คนหนึ่งก้าวไปถึงจุดที่สูงส่งในชีวิตได้ อาจไม่ใช่เครื่องไม้เครื่องมือสุดล้ำพวกนั้น หากแต่เป็นอะไรสักอย่างที่อยู่ในใจของนักประดิษฐ์เหล่านั้นนั่นเอง และแน่นอนว่า คนดูจะตัดสินใจได้เองว่า ระหว่างนักประดิษฐ์ซึ่งภายในบ้านมีแต่เศษเหล็กและมีรูปอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แปะไว้ข้างฝาโรงนา กับนักประดิษฐ์ผู้มั่งคั่งหรูหราและได้รับเงินค่าเหนื่อยปีละเป็นหมื่นล้านนั้น สุดท้ายแล้ว วัดกันที่ตรงไหน

เช่นเดียวกัน สำหรับนักประดิษฐ์ในโลกภาพยนตร์อย่างไมเคิล เบย์ ผมรู้สึกว่าเขาก็ไปถึงฝั่งที่ตัวเองอยากให้เป็นได้ ผมอาจจะชอบงานเล็กๆ คั่นเวลาก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง Pain & Gain แต่เมื่อคิดถึงว่า ทุกครั้งที่เขาจัดการกับโปรเจคต์บิ๊กเบิ้ม มันไม่เคยล้มสักครั้ง ก็แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าเขา “สามารถ” จริงๆ ประเด็นนี้จะพูดเป็นเล่นไม่ได้นะครับ เพราะหลายคนจับหนังฟอร์มใหญ่ ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป แต่ไม่ใช่สำหรับไมเคิล เบย์ คนนี้ นี่แหละนะที่เขาว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” (กลอนบทนี้มาจากบทประพันธ์ของ “พระยาศรีสุนทรโวหาร” นะครับ ไม่ใช่สุนทรภู่ ผู้ให้กำเนิด “ไดโนบอท” อืมมม... “ม้านิลมังกร” ครับ ฮา)

ขณะที่ดาราสาวบางคนกำลังเดินสายคืนความสยิวกิ้วให้กับประชาชนด้วยชุดที่เห็นแล้วต้องปิดตา(ตุ่ม) ไมเคิล เบย์ นั้นก็สามารถตอบสนองความสนุกสนานและคืนความมันส์ให้กับประชากรแห่งโลกภาพยนตร์ได้โดยยากจะหาข้อโต้แย้ง และขณะที่การ(พยายาม)ทำลายผู้อื่น มีให้เห็นดาษดื่นแทบไม่เว้นแต่ละวัน แต่หนังโครมครามทำลายข้าวของและดูมันส์แบบนี้ มีไม่บ่อยครั้งครับ คิดว่าคอหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อม อย่างไรก็ควรได้ดู

คือไม่จำเป็นต้องรัก และไม่เรียกร้องว่าต้องจดจำ แต่ดูเพื่อความสนุก แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกผูกพันอะไร ไมเคิล เบย์ แกก็คงไม่พาออโต้บอทมาบุกเผาบ้านถล่มเมืองแน่นอน คิดว่านะครับ!









กำลังโหลดความคิดเห็น