xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเที่ยว "ลาวเวียง"/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ลานจอดรถธรรมชาติใต้ต้นก้ามปูใหญ่อายุราว 300 ปี
"เป็นอารยะโดยการดูถูกรากเหง้าของตัวเองน่ะหรือ ไม้ใหญ่จะยืนทะนงต้านแรงช้างสารได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษาเอาไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน"..."ศร ศิลปบรรเลง" (โดย "อดุลย์ ดุลยรัตน์" จากภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง")


...
ภาพที่ชินตาผมเป็นอย่างมากในวัยเด็ก นอกจากคนในบ้าน ทั้งยาย แม่ ป้าลุง น้า ญาติๆ เพื่อนฝูง ตลอดจนแม่น้ำ, โรงเรียน และท้องนาแล้ว ก็เห็นจะเป็นวัดในหมู่บ้านครับ


ไม่รู้ว่ามาจากไหน? ใครเล่า? แต่ว่ากันว่าท่าน้ำบริเวณวัด มีถ้ำที่มีจระเข้อาศัยอยู่คู่หนึ่ง หรือประมาณว่ามีคนเคยดำลงไปงมกุ้งแล้วเจอรูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่อยู่ นั่นเองที่ทำให้ผมเข้าใจไปว่าชื่อวัดที่ว่า "ตะเฆ่" นั้นคงจะมีที่มาที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ที่คนบ้านอกส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า ตะเข้ หรือไอ้เข้ แน่ๆ

ก่อนจะมารู้ในภายหลังว่าแท้จริงแล้ว "ตะเฆ่" นั้นหมายถึงเครื่องมือที่เอาไว้ลากของต่างหาก

นอกจากชื่อตะเฆ่ แล้ววัดนี้ยังมีอีก 2 ชื่อครับ คือถ้าเป็นคนแก่มากๆ ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้วจะเรียกว่า "วัดนอก" ซึ่งเป็นการเรียกที่สอดคล้องกับอีกชื่อของวัดอีกวัดหนึ่งของหมู่บ้านที่อยู่ติดๆ กันอย่าง "วัดใน" และอีกชื่อหนึ่งก็คือ "ธรรมจินดา" ที่ไม่ค่อยจะมีใครเรียกกันสักเท่าไหร่

ที่ผ่านมาผมเองเคยแอบคิดฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยแบบเวอร์ๆ ว่าวัดตะเฆ่ของผมนั้นต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่พระประธานในโบสถ์หันพระพักตร์ลงแม่น้ำซึ่งเป็นทิศตะวันตกแทนที่จะหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือเหมือนวัดส่วนใหญ่, มีประเพณีแปลกๆ เช่นการทำบุญข้าวห่อ รวมถึงการที่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่พูดภาษาอีสานกันทั้งหมู่บ้านเลยทีเดียว

ที่สำคัญที่เป็นไฮไลต์เลยก็คือเจดีย์คู่ลักษณะโบราณบนเนินดินที่เห็นมาตั้งแต่เกิดซึ่งมีเรื่องเล่า(อีกแล้ว)ว่าข้างในมีสมบัติเพชรนิลจินดามากมายแต่ถูกคน(ไม่รู้ใคร)เจาะขุดเอาไป ขณะที่บ้างก็ว่ามีคนพยายามเจาะขุดจริงแต่ทุกคนที่เอาของไปล้วนมีอันเป็นไปเพราะถูกคำสาปบ้าง ถูกงูเจ้าที่ฉกตายบ้าง ฯ

จริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ร่องรอยอุโมงค์จากการเจาะนั้นมีจริง และเรื่องเกี่ยวกับงูนั้นก็จริงเนื่องจากบริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยต้นไม้ต้นหญ้าวัชพืชนั่นเอง

ถึงตอนนี้เจดีย์คู่โบราณมีการบูรณะเสร็จสิ้นแล้วครับ ซึ่งแม้จะดูสมบูรณ์ขึ้นแต่โดยส่วนตัวผมกลับรู้สึกว่าทำเอาความขลัง ความเป็นของเก่าแก่โบราณหายไปเยอะทีเดียว

ภายหลังจากการบูรณะนี่แหละครับประวัติความเป็นมาของวัดตะเฆ่ฯ จึงปรากฏออกมาอย่างเป็นทางการซึ่งก็มีบางส่วนที่อ้างอิงจากคำบอกเล่าที่ผมเคยได้ยินมาแล้วนั่นเอง

อาจจะไม่เวอร์แบบที่แอบคิดไว้ แต่ก็ถือว่าไม่ธรรมดาดังนี้เลยครับ
...จากเอกสารทางประวัติศาสตร์และจากคำบอกเล่า วัดตะเฆ่สร้างสมัยอยุธยาเมื่อราว พ.ศ.2246 มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามความเชื่อเฉพาะบุคคล อาทิ เชื่อว่าวัดนี้เป็นวัดที่เชื้อพระวงศ์ได้จัดสร้างขึ้นโดยปรากฏเรียกเจดีย์เก่าแก่ว่าธรรมจินดามเหสี จึงได้เรียกวัดว่า "วัดธรรมจินดา" บ้างก็กล่าวว่าเดิมวัดนี้เคยมีตะเข้อยู่คู่หนึ่งต่อมาจึงเรียกกันว่า"วัดตะเฆ่"ซึ่งตะเข้หรือตะเฆ่ในที่นี้หมายถึงแม่แรงหรือเครื่องทุ่นแรงชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับลากของหนัก ส่วนชื่อวัดนอกเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกโดยทั่วไป

โบราณสถานภายในวัดตะเฆ่ ปรากฏทรงเครื่อง 2 องค์ ตั้งบนฐานไพทีวางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก ตะวันตก องค์หนึ่งเป็นเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ส่วนอีกองค์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง นอกจากนี้ยังปรากฏเจดีย์บริวารขนาดเล็กตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันอีกจำนวน 5 องค์ และมีกำแพงล้อมลอบฐานไพที จากลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ เจดีย์ทั้ง 2 องค์ เป็นเจดีย์ทรงเครื่องที่นิยมก่อสร้างกันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งจะนิยมมากในช่วงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือสมัยรัชกาลที่ 3...


จากประวัติความเป็นมาของวัดตามข้างต้นนั้นค่อนข้างจะสอดคล้องทีเดียวครับกับเอกสารที่บอกเล่าถึงที่มาของประเพณีทำบุญข้าวห่อที่ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมา อีกทั้งยังเป็นคำตอบด้วยว่าทำไมคนแถวนี้ถึงได้พูดภาษาอีสานกันให้เพียบ ตามความที่ว่า...

ประวัติความเป็นมาชาวบ้านม่วงงามในปัจจุบัน มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ นำโดยพระเจ้าธรรมจินดาและขุนหลวงศรีขรภูมิ การอพยพครั้งนั้นได้แบ่งเป็น 2 พวก พวกแรกพักอยู่ที่บ้านม่วงลาว ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอีกพวกพักอยู่ที่บ้านเวียง หรือวัดเวียง (ไม่ปรากฏนามผู้นำ) ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน

การอพยพครั้งนั้นก็จะมีการนำข้าวห่อพกติดตัวมากินตามทาง การห่อข้าวจะทำการห่อด้วยใบตองหรือใบทองกวาว ซึ่งเป็นใบไม้ขนาดใหญ่ ในข้าวห่อนั้นก็จะมีทั้งข้าวและกับข้าวบ้าง ก็ห่อข้าวเหนียวกับเนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปูเค็ม บ้างก็ห่อข้าวจ้าวกับเนื้อเค็ม ปูเค็มหรือปลาเค็ม ซึ่งแล้วแต่ใครพอจะมีอะไรกินกัน เมื่อถึงเวลากินข้าวห่อทุกคนจะนำข้าวห่อของตนเองมาแลกเปลี่ยนกันกิน ซึ่งขุนหลวงศรีขรภูมิและพ่อเฒ่าโหมดลูกชาย ได้นำข้าวห่อนั้นมาถวายพระในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 และได้ทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบ ชาวบ้านม่วงงาม (ม่วงลาว) จะนำข้าวห่อมาทำบุญที่วัด โดยข้าวห่อที่นำมาถวายพระนั้นจะทำเท่ากับจำนวนคนในครัวเรือนของตนและทำเพิ่มอีก 2 ห่อ เพื่อทำบุญไปให้ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านตำบลม่วงงามจึงให้ความสำคัญประเพณีดังกล่าวนี้ และทางวัดตะเฆ่ ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้จัดงานประเพณีบุญข้าวห่อขึ้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปีและสืบเนื่องมาตลาดจนถึงทุกวันนี้...


ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นเรื่องของอดีต แต่ที่เป็นเรื่องใหม่และจะกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คงจะต้องถูกบันทึกเอาไว้ถึงความเป็นมาของหมู่บ้านในอนาคตในตอนนี้ก็คือการเกิดขึ้นมาของตลาดน้ำที่มีชื่อว่า "ลาวเวียง" ซึ่งคงไม่ต้องสงสัยกันนะครับว่าทำไมถึงได้มีชื่อเช่นนี้

"ลาวเวียง" เกิดจากความคิดของผู้นำชุมชนที่ตั้งใจอยากให้คนในชุมชนได้นำสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนมานำเสนอให้คนต่างชุมชนได้มาเลือกกิน-เลือกซื้อ

ลาวเวียงอาจจะไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่โตสวยงาม แต่ลาวเวียงเป็นตลาดที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงความร่วมใจของคนในชุมชน ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง ช่วยกันขุด ช่วยกันตอก ช่วยกันมัด เสาทำจากไม้ไผ่มุงด้วยหญ้าคา พื้นดินก็เป็นถนนดินธรรมดาๆ

ลาวเวียงไม่ใช่ตลาดน้ำประเภทขายของกิ๊บเก๋ยูเรเนี่ยน ของกินย้อนยุค ของเล่นโบราณแต่ทำใหม่แถมขายในราคาแพงที่เห็นกันดาษดื่นตามตลาดน้ำโดยส่วนใหญ่ แต่เป็นตลาดชุมชนเล็กๆ สินค้าของขายล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่บ่องบอกถึงความเป็นวิถีชุมชนและขายในราคาบ้านนอกจริงๆ

แล้วอะไรที่เป็นจุดเด่นของลาวเวียง ง่ายๆ เลยครับ บรรยากาศของความเป็นบ้านนอกที่เป็นกันเอง วิถีชีวิตผู้คน เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ไปเลือกซื้ออาหารมานั่งปูเสื่อรับประทานริมน้ำใต้ต้นก้ามปูขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านให้ความร่มรื่น หรือจะลงไปในแพริมน้ำ สัมผัสสายลมที่พัดเอื่อย เพลินไปกับการชมกิจกรรม-การละเล่นพื้นบ้าน ทั้ง ระบำ รำ เซิ้ง มวยทะเล แข่งงมหอย หมาเน่าลอยน้ำ(ตีโป่ง) สาธิตการทำข้าวห่อ แข่งเรือหัวใบ้ท้ายบอด เดินกะลา ไม้โถกเถก(ขาโถกเถก) ฯ ที่จะสลับสับเปลี่ยนมาสร้างความสนุกตลอดจนให้ความรู้ต่างๆ กันทุกๆ สัปดาห์

ตลาดลาวเวียงเปิดทุกๆ วันอาทิตย์ครับ ตั้งแต่ช่วงสายๆ ไปจนถึงราวๆ บ่ายสามโมง

ไม่ขอการันตีแล้วกันนะครับว่าไปแล้วจะประทับใจ แต่กล้ายืนยันว่าไปแล้วสบายใจแน่นอน




แม่น้ำป่าสักยามเช้า

ทางเดินเข้าแสนจะร่มรื่น






แหล่งพบปะคนแก่ในชุมชนทุกวันอาทิตย์

หลากหลายของกิน








กำลังโหลดความคิดเห็น