ในรายการวิวไฟน์เดอร์ ทางช่องซูเปอร์บันเทิง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการหยิบยกเอาคะแนนนักวิจารณ์จากเว็บไซต์เมืองนอกมาเปิดให้ผู้ชมได้ดูและพบว่าคะแนนนั้นค่อนข้างออกไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคะแนนจากส่วนของคนดู เพราะขณะที่คะแนนจากนักวิจารณ์เรียกได้ว่าคาบเส้นยาแดงผ่าแปด แต่ในฝั่งของคนดูผู้ชม กลับอยู่ในระดับน่าพอใจ อย่างไรก็ดี เอสเอ็มเอสจากคนดูผู้ชมบางท่านในรายการวิวไฟน์เดอร์ก็บอกมาว่านี่คือหนังสไปดี้ที่ดูไม่สนุกเอาซะเลย และถึงขั้นน่าเบื่อจนหลับไปด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับสไปเดอร์แมนภาคสอง ในการกำกับของ “มาร์ค เว็บบ์” ทั้งที่ภาคก่อนหน้า ก็ได้คะแนนค่อนข้างดีจากนักวิจารณ์รวมถึงคนดู (ผมใช้คำว่า “นักวิจารณ์” กับ “คนดู” โดยไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะแบ่งแยกหรืออะไร แต่ว่าไปตามที่เว็บไซต์เมืองนอกเขาแบ่งสัดส่วนกันไว้)
โดยภาพรวม The Amazing Spider Man 2 คือช่วงเวลาแห่งการถูกโถมทับจากเรื่องราวอันหลากหลายของปีเตอร์ พาร์คเกอร์ หรือสไปเดอร์แมน หนังว่าไปตั้งแต่ปมปริศนาแห่งการจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืนของพ่อแม่ของปีเตอร์, เรื่องรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับตัวร้าย ไม่ว่าจะเป็นอิเล็คโตรหรือแฮร์รี่ ออสบอร์น ที่ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความขัดแย้งในเวลาต่อมา หรือโลกนี้จะมีอะไรเลวร้ายไปกว่าการที่คนเคยนับถือหรือกระทั่งเป็นคนรัก หันหน้ากลับมาเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน?
โดยส่วนตัว สิ่งที่ผมรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษคือของเรื่องประเด็นความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งตัวเอกและตัวร้ายซึ่งถูกผูกโยงเข้าหากัน ไม่ใช่เพียงเพราะหวังผลทางแอ็กชั่น หากแต่ยังส่องสะท้อนกันและกันอยู่ในตัว “อิเลคโตร” หรือ “แม็กซ์ ดิลล่อน” (เจมี่ ฟ็อกซ์) เขาเป็นอีกคนที่ชื่นชมในตัวสไปเดอร์แมนแต่ลึกๆ ก็รู้สึกถึงการไร้ตัวตนหรือไร้ความหมาย เขาอยากให้คนอื่นเห็นหรือพูดถึงเขาแบบเดียวกับสไปดี้ ส่วนแฮร์รี่ ออสบอร์น (เดน เดอฮานน์) นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของปีเตอร์ พาร์คเกอร์ แต่เมื่อความต้องการด้านมืดเข้าครอบงำ ก็ส่งให้เขาถลำจนยากจะกลับคืน
ในบรรดาคนที่อยากจะเป็นเช่นเดียวกับสไปดี้จริงๆ นั้น เอาเข้าจริง คนที่ต้องการเป็นแบบฮีโร่เพียวๆ กลับเป็นเด็กน้อยที่โผล่มาในช่วงท้ายเรื่อง การเป็นฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ บางทีอาจไม่จำเป็นต้องมีพลังพิเศษที่ใหญ่ยิ่งถึงขั้นต้องไปแย่งชิงจากใครอื่น
อาจเป็นเพราะมิติเชิงลึกที่หนังวางไว้ในจิตใจของตัวละครแบบนี้ จึงทำให้รู้สึกแฮปปี้กับการติดตามเรื่องราว หนังนั้นสนุกเท่าที่จะสนุกได้ และสไปดี้หรือปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ที่รับบทโดยแอนดรูว์ การ์ฟีลด์ ก็เป็นตัวละครที่มีทั้งสีสันและมิติความลึกในตัวเอง นี่คือการกลับไปสู่การเป็นสไปดี้ในแบบที่คนอ่านคอมิกส์บุ๊คมาก่อนน่าจะคุ้นเคยกันดี ซึ่งเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นการกำกับของแซม ไรมี่ ที่รับบทโดยโทบี้ แม็กไกวร์ ก็มีกระแสเสียงจากคนอ่านการ์ตูนว่ามันไม่เหมือนกับที่เคยอ่าน เพราะโทบี้ แม็กไกวร์ ไม่ว่าจะตอนสวมชุดสไปดี้หรือเป็นปีเตอร์ พาร์คเกอร์ เขาก็ดูเป็นคนคนเดียวกัน แต่เวอร์ชั่นของแอนดรูว์ การ์ฟีลด์ กลับตรงกันข้าม แต่ตรงกับการ์ตูน
ผมพูดเล่นๆ ไว้ในรายการวิวไฟน์เดอร์ว่า เห็นสไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นนี้แล้ว นึกถึงนักมวยอย่างมูฮัมหมัด อาลี คือตอนอยู่บนเวทีหรือมีไมโครโฟนของนักข่าวจ่อปาก เขาจะกลายเป็นคนอีกคนที่ดูก๋ากั่นท้าตีท้าต่อยและออกจะคุยโวอยู่พอสมควร แต่พอลงจากเวทีหรืออยู่เดียว เราจะเห็นเขาเซื่องๆ หงอยๆ เหมือนไก่ป่วย ดูไร้พิษสง...สไปเดอร์แมนในเวอร์ชั่นของแอนดรูว์ การ์ฟีลด์ นี้ก็เช่นกัน เพราะทันทีที่สวมชุดสไปดี้ ฮีโร่ของเราจะพลิกคาแรกเตอร์การแสดงออกไปราวกับเป็นคนละคน โดยเฉพาะคำพูดคำจาและท่าทีที่ยียวนกวนโอ๊ยและมั่นอกมั่นใจสุดๆ แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อแอนดรูว์กลับมาเป็นปีเตอร์ พาร์คเกอร์ เขากลับเป็นปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ที่ดูเหงาๆ มากด้วยปมชีวิต แบกรับและหนักอึ้ง
เรื่องของมนุษย์นั้นมากมายด้วยความสับสนซับซ้อนและขัดแย้ง ไม่ว่าจะขัดแย้งภายในตัวเอง หรือแม้กระทั่งขัดแย้งกับคนอื่น กับสังคม และสไปเดอร์แมนในเวอร์ชั่นของผู้กำกับมาร์ค เว็บบ์ ก็ฉายให้เห็นประเด็นความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงนั้นออกมาได้อย่างน่าสนใจและมีความลุ่มลึก ผ่านตัวละครอย่างปีเตอร์ พาร์คเกอร์ หรือสไปเดอร์แมน
ถ้าผมจะรักและให้คะแนนแก่สไปเดอร์แมนในภาคนี้มากที่สุดก็ด้วยเหตุผลแบบนี้ อย่างที่สุด ผมคิดว่า ในบรรดาหนังฮีโร่ของมาร์เวล เมื่อก่อนนั้น อาจจะไม่ยากมากในแง่ของการผูกเรื่อง แต่สไปเดอร์แมนภาคนี้มีความพยายามอย่างน่าชื่นชมที่จะทำให้หนังมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ตัวละครมีความสับสนยุ่งเหยิงในตัวเองมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าสุดท้าย มันนำไปสู่เงื่อนปมความขมขื่นที่เรียกร้องการคลี่คลาย และไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ผมรักและชอบสไปเดอร์แมนภาคนี้ครับ!