ต้องบอกว่าเป็นการเซอร์ไพรส์คนดูที่น้อยคนนักจะสังเกตเห็นตัวเลขลึกลับ “A113” ที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์แอนิเมชันต่างๆ ของพิกซาร์มานานนับสิบปี ซึ่งไม่นานนี้มีการเฉลยถึงที่มาที่ไปแล้ว โดยตัวเลขและอักษรดังกล่าวจะเป็นที่ทราบกันดีของคนในแวดวงแอนนิเมชันว่ามาจากแห่งใด
โดยโค้ดลับดังกล่าวจะปรากฏไปทั่วในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดัง ไม่ว่าจะเป็น Toy Story trilogy, Finding Nemo, A Bug’s Life, Up, Brave รวมไปถึง The Simpsons และ American Dad โดยนอกจากจะปรากฏในแอนิเมชันต่างๆ แล้ว รหัสดังกล่าวยังเคยแพร่ไปสู่ภาพยนตร์แอ็กชันอย่าง Hunger Game : Catching Fire ด้วย
โดยรหัสดังกล่าวได้ทำให้แฟนหนังต่างเกิดความสงสัยถึงที่มาที่ไป จนกระทั่งไมกี่ปีที่ผ่านมาก็เคยมีการทำคลิปสั้นๆเฉลยถึงรหัสดังกล่าวผ่านปากของหัวหน้าฝ่ายครีอีทีฟพิกซาร์ออกมาด้วย โดยยืนยันว่ารหัส A113 แท้จริงแล้วเป็นตัวเลขห้องเรียน ของสถาบัน California Institute of Arts ซึ่งเป็นห้องเรียนของนักศึกษาแอนนิเมชันรุ่นแรกที่สอนเกี่ยวกับ กราฟิกดีไซน์ และคาแร็กเตอร์ แอนิเมชัน
โดยภาพถ่ายหน้าห้อง A113 ของสถาบัน California Institute of Arts ที่ถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์ยังเป็นภาพที่ จอห์น ลาสเซทเตอร์ หัวหน้าฝ่ายครีอีทีฟของ พิกซาร์ และ วอล์ท ดิสนีย์ สตูดิโอ ยืนชี้เลขห้องอยู่ข้างหน้าเฉลยปริศนารหัสลับด้วย
“มันเป็นหนึ่งในสิ่งเล็กๆที่คุณต้องคอยมองหา” จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ เคยกล่าวถึงตัวเลข A113 ไว้ขณะให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ปี 2009
โดยผู้กำกับ แบรด เบิร์ด ผู้สร้างสรรค์ The Incredibles และ Ratatouille ให้กับสตูดิโอ ก็เป็นผู้นำเลขห้องดังกล่าวใส่ซ่อนไว้เพื่อเซอร์ไพรส์ผู้ชม ในเรื่อง Amazing Stories เมื่อปี 1987 เป็นเรื่องแรกเพื่ออุทิศให้กับสถานศึกษาของตนเองด้วย ก่อนจะมีตามมาอีกนับไม่ถ้วน
ตามรายงานจากวิกิพีเดีย ระบุว่ารหัส A113 เป็นโค้ดลับที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนทั้งหมดอย่างน้อย 45 เรื่อง นอกจากนั้นยังมีปรากฏในภาพยนตร์ รวมถึงวิดีโอเกมด้วย ซึ่งหากใครเห็นรหัส A113 ในผลงานแอนิเมชันเรื่องใด นั่นหมายความว่าหนึ่งในทีมงานมีคนที่มาจาก CalArts อย่างแน่นอน
แบรด เบิร์ด ได้กล่าวถึงรหัสนี้ด้วยว่า “ผมใส่รหัสนี้ลงไปในทุกๆภาพยนตร์ที่ผมสร้างเลย รวมึงซิมป์สันด้วย” โดยชื่อทวิตเตอร์ของเขายังใช้ชื่อว่า BradBirdA113 ด้วยเช่นกัน
รหัสดังกล่าวยังปรากฏไปในทุกหนทุกแห่งเพื่อเซอร์ไพรส์ผู้ชมนับตั้งแต่ภาพยนตร์ของพิกซาร์ไปจนถึงภาพยนตร์ Terminator: Salvation และ Mission: Impossible -Ghost Protocol และ The Princess and the Frog.ของดิสนีย์
ซึ่ง มาร์กาเร็ต เครน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ CalArts ได้เผยว่าเมื่อไม่นานนี้ห้องเรียนชื่อก้องโลกดังกล่าวได้ถูกใช้เป็นสตูดิโอของ Graphic Design Program ไปเรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างการปรากฏรหัสลึกลับในภาพยนตร์แอนิเมชันต่างๆ เช่น ใน Toy Story เลขห้องได้มาปรากฏอยู่ในแผ่นป้ายทะเบียนรถแวนสีฟ้าของแม่แอนดี โดยในเรื่อง Finding Nemo เลขห้องถูกนำมาใส่ไว้บนกล้องของนักดำน้ำ ส่วนในเรื่อง Ratatouille ก็มีรหัสดังกล่าวปรากฏอยู่ที่ใบหูข้างซ้ายของหนู ในภาพยนตร์เรื่อง Brave เมื่อปี 2012 รหัส A113 ก็ปรากฏในรูปแบบตัวเลขโรมัน ACXIII เหนือประตูหน้ากระท่อมแม่มดด้วย
CalArts นับเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่วาเลนเชีย แคลิฟอร์เนีย โดยเป็นที่ที่ผลิตผู้สร้างสรรค์แอนิเมชันชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกลน คีน, ลาสเซ็ทเตอร์ , เบิร์ด จาก พิกซาร์, ทิม เบอร์ตัน รวมไปถึง เฮนรี เซลิค
โดยล่าสุด CalArts ก็ต้องภูมิใจอีกครั้งเมื่อ คริส บัค ศิษย์เก่าคว้ารางวัลออสการ์จากแอนนิเมชันเรื่อง Frozen ไปได้
ในปี 2014 CalArts เป็นสถาบันเลื่องชื่อมีกิตติศัพท์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสร้างสรรค์ โดยยังขึ้นเป็นอันดับ 1 วิทยาลัยในอเมริกาสำหรับนักเรียน-นักศึกษาที่สนใจเรื่องแอนิเมชันโดยเฉพาะด้วย