ดูเหมือนว่ามุขการตลาดที่พยายามป่าวประกาศถึงฉากวาบหวิวของนางเอกขวัญใจมหาชนอย่าง “สการ์เล็ต โจแฮนสัน” จะได้ผลเหนือการคาดหมาย และสำหรับใครที่เคยต้องมนต์เสน่ห์แห่ง “เสียงนาง” ของสการ์เล็ต ในหนังเรื่อง HER สำหรับ Under the Skin ก็คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่า นี่คือการเติมเต็มจินตนาการอันหวามหวานนั้น ด้วยภาพที่สามารถสัมผัสด้วยสายตา มิใช่ “มโนภาพ” ที่เกิดจากการปรุงแต่งผ่านการได้ยินเพียงถ้อยคำน้ำเสียง
อันที่จริง สำหรับใครก็ตามที่เคยได้ดูหนังเรื่อง HER (2013) ย่อมจะพบว่า แม้เราจะเคยได้รู้จักสการ์เล็ตในมุมของนักแสดงที่เปี่ยมล้นด้วยเซ็กซ์แอพพีลหรือเสน่หาด้านรูปลักษณ์เรือนร่าง ไม่ว่าจะจากบทบาทในเรื่องใดก็ตาม ไล่ตั้งแต่ Lost in Translation, The Black Dahliaมาจนถึงการรับบทแบล็กวิโดว์ในหนังฮีโร่ของมาร์เวล หรือแม้กระทั่ง Don Jon แต่กับบทบาทในเรื่อง HER ของผู้กำกับอย่างสไปค์ จอนซ์ ก็ทำให้เรารับรู้ไปอีกหนึ่งขั้นว่า ความเซ็กซี่ของเธอไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องเรือนร่าง หากเธอยังสามารถใช้สิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเช่น “เสียง” ดึงคนดูให้เข้าสู่โลกแห่งบทบาทการแสดงของเธอได้อย่างน่าลุ่มหลง ทั้งนี้นี่เป็นเรื่องศักยภาพนักแสดงอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ที่เมืองนอก เคยมีการจัดอันดับนักแสดงหญิงที่มี “เสียง” หรือ “น้ำเสียง” น่าลุ่มหลง มีเอกลักษณ์ นอกจาก แคทเธอลีน เทอร์เนอร์, มิเชลล์ ไฟเฟอร์, ลอเรน เบคอล และเมลานี กริฟฟิท แล้ว อีกหนึ่งคนก็คือเธอผู้นี้ สการ์เล็ต โจแฮนสัน
โลกนี้ คงหาได้ยากนัก คนที่ไม่รักสการ์เล็ต โจแฮนสัน
และกับหนังอย่าง Under the Skin ก็คงถูกบันทึกไว้ในปฏิทินภาพยนตร์ของใครต่อใครอีกครั้งในฐานะหนังของสการ์เล็ตที่มีเสน่ห์ โดยภาพรวมของหนัง ทั้งบรรยากาศและวิธีการเล่าเรื่อง อาจจะไม่คุ้นชินสำหรับใครหลายคน แต่บทบาทตัวละครของสการ์เล็ตกลับเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดเราให้อยู่กับหนังไปได้จนตลอดรอดฝั่ง
จากนวนิยายแนวไซไฟโดยไมเคิล เฟเบอร์ Under the Skin มาพร้อมกับเนื้อเรื่องเรียบๆ ง่ายๆ ด้วยการเล่าถึงเอเลี่ยนในร่างหญิงสาว (สการ์เล็ต โจแฮนสัน) ที่เดินทางมายังโลกเพื่อจับผู้คนส่งกลับไปเป็นอาหารในดินแดนต่างดาว และที่สำคัญ คนที่ถูกจับไปก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่วิธีการก็คือเอเลี่ยนในร่างหญิงสาวแสนสวยจะใช้เสน่หาเรือนกายเป็นเครื่องมือในการล่อลวง ชายคนแล้วคนเล่าตกเข้าไปในบ่วงสิเนหาและกลายเป็นอาหารของมนุษย์ต่างดาว
ครับ, ขณะที่สื่อจำนวนหนึ่งสนุกกับการขายข่าวด้วยถ้อยคำประมาณว่า “สการ์เล็ต กินผู้ชายเป็นอาหาร” ผมรู้สึกว่า Under the Skin นั้นไปไกลกว่าการเป็นหนังไซไฟมนุษย์ต่างดาวเรื่องอื่นๆ แม้แต่จะไปเปรียบกับหนังอย่าง Species ก็ดูจะไม่ใช่ (แม้บางฉากจะชวนให้เราระลึกนึกถึงหนังเรื่องดังกล่าวก็ตามที) Under the Skin มีแนวทางของตัวเอง ด้วยการเล่าเรื่องเนิบๆ ช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งไดอะล็อกหรือบทพูดก็แทบจะกลายเป็นส่วนเกินของหนังด้วยซ้ำไป หนังใช้วิธีการเล่าด้วยภาพเกือบจะ 90 เปอร์เซ็นต์
ส่วนที่โดดเด่นเป็นอย่างมากของหนังเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากงานด้านภาพที่มาพร้อมกับวิช่วลอาร์ตเจ๋งๆ แล้ว ดนตรีประกอบก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของหนังได้เป็นอย่างดี งานชิ้นนี้จะว่าไป อารมณ์และบรรยากาศของมันโน้มเอียงไปทางการเป็นหนังทริลเลอร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ และความยอดเยี่ยมของคนทำดนตรีก็คือ การเล่นกับมิวสิกสกอร์ที่ฟังแล้ว ทั้งประหลาด ทั้งชวนให้รู้สึกหลอน ตัวละครที่สการ์เล็ต โจแฮนสัน แสดงนั้น ทำหน้าที่ในการสูบเอาชีวิตจิตวิญญาณของมนุษย์ และดนตรีก็ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจของเธอได้ เธอก็เหมือนดนตรี สวย เก๋ มีเสน่ห์ แต่ก็น่าประหวั่นพรั่นพรึงอยู่ในที
สการ์เล็ต โจแฮนสัน ในงานชิ้นนี้ จึงไม่ได้แบกรับภาระหน้าที่เพียงนำพาคนดูให้อยู่กับหนังไปได้จนจบเท่านั้น หากแต่แก่นสารที่แทรกอยู่ในตัวละครที่เธอเล่น ก็เป็นเสมือนแก่นแกนหัวใจของหนังด้วย ภายใต้ใบหน้านิ่ง หน้าพวงมาลัยรถ แล้วตระเวนไปรอบเมือง พอๆ กับคนขับแท็กซี่อย่างโรเบิร์ต เดอ นีโร ในเรื่อง Taxi Driver นั้น บทของสการ์เล็ต โจแฮนสัน นำพาเราก้าวเข้าสู่มิติทางอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย ทั้งน่าสะพรึงกลัว น่าเศร้า น่าเวทนา น่าสะเทือนใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งว่าน่าขันในหลายๆ จังหวะของหนัง
นี่คือพลังของบทและของการแสดงโดยแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับใครก็ตามที่มีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับเฟมินิสต์นั้น นี่เป็นหนังสำหรับคุณโดยเฉพาะก็ว่าได้ ผมรู้สึกว่าการแคสต์สการ์เล็ตมาใช้ในหนังเรื่องนี้นั้น ดูเป็นการเลือกที่ถูกงานถูกคนเป็นอย่างมาก เพราะโดยรูปลักษณ์พื้นฐาน เธอมีพร้อมด้านความสวย เธอพร้อมจะทำให้ชายทุกผู้ไม่มองเธอในมิติอื่นใดนอกไปจากเรื่องความตื่นเต้นทางเพศหรือเป็น “วัตถุทางเพศ” (Sex Object) ยิ่งเมื่อบวกรวมเข้ากับท่าทีเรียบเฉยบนใบหน้า ก็แทบจะทำให้เธอดูไม่ต่างกันไปเท่าไรนักกับตุ๊กตาเซ็กซ์ทอย ซึ่งก็คือวัตถุทางเพศรูปแบบหนึ่ง
หลายคนถามว่า Under the Skin สนุกตรงไหน? เพราะบรรยากาศโดยรวมของหนังนั้นดูเนิบนิ่งจนน่าอึดอัด หนังแบบนี้ไม่หวือหวา แต่ถ้าเราติดตามตัวละครไปเรื่อยๆ ได้ หนังจะค่อยๆ ดึงเราเข้าสู่ภาวะของตัวละครและเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้น หนังกล่าวถึงเอเลี่ยน ซึ่งในความหมายหนึ่ง มันสามารถหมายถึง “การเป็นอื่น” หรือ “แปลกแยก” ก็ได้ และเรากับหนัง ในตอนแรกก็อาจ “เป็นอื่น” (เอเลี่ยน) ต่อกันและกัน แต่เมื่อได้สัมผัสสัมพันธ์และเรียนรู้ดูกันไปเรื่อยๆ ความเป็นอื่นที่ว่านั้นจะค่อยๆ ย่อยสลาย กลายเป็นความใกล้ชิด
มันก็คงไม่ต่างไปจากเอเลี่ยนจากต่างดาวในร่างหญิงสาวแสนสวย ที่ค่อยๆ เกิดความรู้สึกนึกคิดกับชีวิตและความเป็นไปในโลกมนุษย์ ก่อนจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ในตัวของเธอเอง ไม่รู้คนอื่นๆ จะมองกันอย่างไร แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าเรื่องราวในหนังชวนให้รู้สึกโรแมนติกเป็นอย่างยิ่ง และมันก็บูชาการมีหัวจิตหัวใจเป็นอย่างยิ่ง