แค่เริ่มต้นก็ดูคึกคักไม่น้อยทีเดียวสำหรับการประกวดสาวงามเวทีใหญ่ๆ ของบ้านเราในปีนี้
เริ่มกันตั้งแต่เวที “มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2014” ของ “คุณแดง” (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) ที่ปีนี้หันมาจับมือกับช่อง 3 อย่างเต็มตัวชนิดที่เล่นเอาคนในแวดวงขาอ่อนต้องฮือฮาเพราะช่อง 3 เองก็มีเวทีใหญ่อย่าง “มิสไทยแลนด์เวิลด์” อยู่แล้ว
ด้านเวที “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” ที่ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ไปคว้าสิทธิ์มาจากเวทีนางงามระดับโลก “Miss Grand International” เมื่อปีที่แล้วสร้างความฮือฮาด้วยการพาสาวงามไปทำกิจกรรม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปีนี้ก็หวือหวาไม่แพ้กันเมื่อกำหนดที่จะพาสาวงามไปเก็บตัวทำกิจกรรมร่วมกับทีมฟุตบอล “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด”
ที่สำคัญปีนี้มิสแกรนด์ฯ ซึ่งช่อง 7 รับหน้าที่ถ่ายทอดสดให้จะเปิดรับสมัครแบบออดิชันเพียงวันเดียว คือ 26 เมษายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับรอบการคัดตัวสาวงามเวทีมิสยูนิเวิร์สฯ ของคุณแดง ส่งผลให้สาวงามที่เข้าประกวดเองต้องเลือกเอาเวทีใดเวทีหนึ่ง หมดสิทธิ์เดินสายไปโดยปริยาย
ในขณะที่เวทีประกวดขาอ่อนเริ่มที่กำลังทำท่าจะระอุอยู่นี้ “นัดคุย” เลยถือโอกาสไปนั่งสนทนากับคนในแวดวงนางงามคนสำคัญอย่าง “ป้าชุลี” หรือ “ชุลี ใจยงค์” อดีตพี่เลี้ยงนางงามระดับตำนาน บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสาวงามหลายต่อหลายคน
ณ วันนี้แม้คำนำหน้าของป้าจะเลยไปถึงคำว่า “ย่า” ด้วยวัย 84 และถึงแม้เจ้าตัวจะล้างมือจากการทำหน้าที่พี่เลี้ยงมานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่กระนั้นมุมมองของเจ้าตัวในเรื่องต่างๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรที่ไม่น่าสนใจเอาเสียเลย
จุดเริ่มต้นการเป็นพี่เลี้ยงนางงาม
“ป้าเริ่มจากการเป็นช่างแต่งหน้าร้าน เจือจันทน์ บางขุนพรหม แล้วก็มาเป็นช่างทำผมที่ร้านดารณี มีโอกาสได้แต่งหน้า ทำผมให้ดารา-นางงาม หลายคน จึงนึกสนุก อยากลองส่งเองบ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งนางงามเข้าประกวด”
ดูอย่างไรว่าผู้หญิงคนไหนเหมาะที่จะส่งเข้าประกวดได้
“ป้าจะดูรูปหน้า เครื่องหน้า จมูก ตา ปาก ฟัน ดูหมด รวมไปถึงโครงสร้างทุกอย่าง ช่วงขาต้องเพรียว ขาไม่โก่ง รูปร่างได้ ส่วนผิวพรรณไม่เกี่ยง คล้ำหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ต้องดูแล้วสะอาดสะอ้าน ที่สำคัญคือกิริยามารยาทต้องเรียบร้อย ไม่กระโดกกระเดก ถ้าโดยรวมใช้ได้ ป้าก็จะเทรนส่งเข้าประกวดเวทีต่างๆ”
จำได้ไหมว่านางงามที่ป้าส่งประกวดคนแรกคือใคร
“โอ้โห นานมาก (หัวเราะ) นางงามคนแรกที่ป้าส่ง คือ รัชนี บุญญานันท์ ในงานวชิราวุธานุสรณ์ ช่วงนั้นเวทีนางสาวไทยงดจัดประกวด มีคนพามาให้ดูตัว ป้าเห็นว่า สวย รูปร่างดี ท่าทางเรียบร้อย แต่ยังเดินไม่เป็น ก็ช่วยเทรนเรื่องบุคลิก การเดินบนเวที แต่งหน้าทำผมให้ แล้วเขาก็ไม่ทำให้ป้าผิดหวัง คว้าตำแหน่งนางงามวชิราวุธปีนั้นมาครอง เรียกว่าส่งครั้งแรก เด็กของป้าก็ได้ที่ 1 เลย (ยิ้ม)”
สมัยก่อนนางงามค่ายป้าชุลีมีเยอะมาก ไปเฟ้นหามาจากที่ไหนบ้าง
“ลูกค้าที่ป้าเคยแต่งหน้า ทำผมให้ บางทีเขามีญาติพี่น้องที่อยากจะประกวด หรือรู้จักเด็กสาวๆ เขาก็จะพามาหาป้า ให้ดูว่าพอไหวรึเปล่า บางคนพอมาดูตัวแล้วใช้ไม่ได้ ป้าก็ปฏิเสธไป ตอนหลังป้าชอบไปหาด้วยตัวเองตามเวทีประกวด ต่างจังหวัด อย่างบางคนเขาสวย แต่อาจจะตกรอบเพราะยังเดินไม่เป็น ยิ้มไม่เป็น เราเห็นใครเข้าตาก็จะเข้าไปทาบทาม ชวนมาประกวดกับป้า (ยิ้ม)”
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “เนาวรัตน์ วัชรา” บนเวทีนางสาวไทย
“เวทีนางสาวไทย ป้าเริ่มส่งปีที่อาภัสราได้เป็นนางสาวไทย (ปี พ.ศ. 2507) ปีนั้นเด็กป้าคือ เนาวรัตน์ วัชรา ได้ตำแหน่งรองนางสาวไทย ช่วงนั้นป้าเปิดร้านเสริมสวยเป็นของตัวเองแล้ว ชื่อร้านวัชรา อยู่แถวศรีย่าน ก็เลยเอาชื่อร้านมาเป็นนามสกุล เดิมชื่อ สมิตา ลำยาน ป้าก็จัดการเปลี่ยนเป็น เนาวรัตน์ วัชรา พอได้เป็นรองนางสาวไทย เขาก็ไปเล่นหนัง ได้เป็นนางเอกตุ๊กตาทอง”
ปั้นดินสู่ดาว...“กบ ปภัสรา” จากน้องนางบ้านนาสู่มิสไทยแลนด์เวิลด์ 1988
“กบเป็นคนสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง มาจากครอบครัวยากจน ตอนเข้ามากรุงเทพฯ เคยทำงานเป็นบีเอเครื่องสำอาง คัฟเวอร์มาร์ค ทีแรกไม่ได้ตั้งใจจะเข้าประกวดมิสไทยแลนด์เวิล์ดหรอก เขาพา สิริพร ณ ป้อมเพชร มาหาป้า แล้วก็อาสาเป็นพี่เลี้ยงให้ ป้าก็เลยส่งเข้าประกวดทั้งคู่เลย กบจะได้เข้าไปดูแลสิริพรอย่างใกล้ชิด แล้วก็เปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ เดิมกบชื่อ ทวีพร หุ่นศิลป์ ก็เปลี่ยนมาเป็น ปภัสรา ชุตานุพงษ์ คิดว่ามี ป.ปลา คงจะดี ปีนั้นปุ๋ย (ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก) ได้เป็นนางงามจักรวาลพอดีด้วย”
ปีนั้นฮือฮามากด้วยฉายา “นางงามปลัดขิก”
“ตอนประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ป้าให้ปลัดขิกอาจารย์ซ่วน วัดท่าลาดใต้ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเครื่องรางของขลังให้กบติดตัวไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจ เอาไว้ป้องกันตัว แล้วปีนั้นกบสวยมาตลอดตั้งแต่รอบคัดเลือกแล้ว บนเวทีคืนตัดสินเขาโดดเด่นกว่าใคร เดินไป ยิ้มไป ไม่ประหม่าเลย คนปรบมือให้เขาเยอะมาก ทำให้ป้ามั่นใจว่ายังไงต้องติด 3 คนสุดท้ายแน่ๆ แล้วเขาก็ได้เป็นมิสไทยแลนด์เวิลด์ (ยิ้ม)”
คร่ำหวอดในแวดวงนางงามมายาวนาน นางงามในสังกัดคนใดที่ป้าภูมิใจที่สุด
“ภูมิใจหลายคนนะ อย่างลูกตาล จริญญา (จริญญา หาญณรงค์ รองนางสาวไทยอันดับ 3 ปี 2532) ทุกวันนี้ยังมาเยี่ยมป้าอยู่บ่อยๆ วันเกิดป้าเขาก็มาทุกปี มากับคุณเกียรติ สิทธีอมร (คู่ชีวิตคนปัจจุบัน) เอาไวน์มาให้ป้า เขารู้ว่าป้าชอบไวน์แดง (ยิ้ม) แต่ที่ป้าภูมิใจที่สุด คือ ธารทิพย์ (ธารทิพย์ พงษ์สุข นางสาวไทยปี 2528)”
“อ้วน อรชร” กูรูนางงามผู้ล่วงลับ เคยให้ฉายาธารทิพย์ว่า “ช้างเผือกจากน่าน” ป้าชุลีไปเจอเธอได้อย่างไร ต้องดั้นด้นไปถึงจังหวัดน่านหรือเปล่า
“ป้าเจอธารทิพย์ ในงานประกวดธิดาไหมขอนแก่น ปีนั้นเขาได้รอง ป้าเห็นก็สะดุตตา อืม...เด็กคนนี้ผิวสวย มือไม้ แข้งขา สวย อกอูม ก็ทาบทามเขา บอกว่าถ้าสนใจประกวดนางสาวไทยให้มาหาป้าที่กรุงเทพฯ พร้อมกับให้เงิน 2,000 บาท เป็น ค่ารถ แล้วก่อนประกวดนางสาวไทยปีนั้น เขาก็นั่งรถทัวร์มาหาป้าที่กรุงเทพฯ”
“ป้าไปรับที่หมอชิต ก็มาอยู่ที่บ้านป้าพักนึง ธารทิพย์เป็นเด็กดี ขยัน ไม่ดูดาย พอได้เป็นนางสาวไทยก็ไม่เคยลืมป้า...จากเด็กชนบท บ้านอยู่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน สมัยก่อนเป็นพื้นที่สีแดง พ่อแม่ทำนา ฐานะยากจน การศึกษาน้อย ตอนหลังเขาก็ขวนขวายเรียนต่อจนจบถึงปริญญาโท ทำให้ป้าภูมิใจว่ามีส่วนทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ครอบครัวเขาก็สบายขึ้น (ยิ้ม)”
ตั้งแต่เป็นพี่เลี้ยงนางงามมากว่า 40 ปี ปีไหนที่เป็นช่วงพีคสำหรับชีวิตการเป็นพี่เลี้ยงนางงามมากที่สุด
ปีที่ เอ้ ชุติมา นัยนา ได้เป็นนางสาวไทย (ปี พ.ศ.2530) ปีนั้นใครๆ ก็บอกว่าเป็นปีทองของป้าชุลี (ยิ้ม) เพราะเด็กป้าประสบความสำเร็จทั้งเวทีใหญ่ของภาคเหนือ แล้วก็มาได้ที่เวทีนางสาวไทยอีก... เอ้ได้นางสาวถิ่นไทยงาม ที่เชียงราย ส่วน มัลลิกา เกรียงไกร ได้นางสาวเชียงใหม่ พอมาประกวดนางสาวไทย เอ้ได้เป็นนางสาวไทย ส่วนปิ่น - มัลลิกา ได้รองอันดับ 3”
นางงามกับการทำศัลยกรรม ในมุม “ป้าชุลี”
“สมัยที่ป้าเพิ่งเริ่มทำนางงาม การทำศัลยกรรมยังไม่แพร่หลาย นางงามจะสวยธรรมชาติเลย จมูก ตา หน้าอก ของจริงหมด แต่จะต้องขัดผิวให้เนียนใสขึ้น ป้าจะมีสูตรขัดตัวที่ได้จากคุณยาย สมัยก่อนคุณยายป้าก็เคยส่งนางงามประกวดเหมือนกัน ป้าก็จำมาใช้ ... เอาขมิ้นกับมะกรูดผสมน้ำเปล่ามาถูตัวจนแห้ง พอกทิ้งไว้สักชั่วโมงนึง แล้วก็ฟอกสบู่ สูตรนี้ต้องทำวันเว้นวัน จะทำให้ผิวสวยขึ้น (ยิ้ม)”
“หลังๆ มา เด็กบางคนตาไม่มีเหล่าเต๊ง จมูกไม่ค่อยมีดั้ง ป้าก็ต้องพาไปกรีดตา ทำจมูก ทำนางงามต้องใช้เงินเป็นแสนๆ”
อย่างปี 2531 เวทีนางสาวไทยรุ่น “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์” ปีนั้นป้าชุลีส่งนางงามเข้าประกวดนับสิบคน ถือว่าเยอะมาก
“พอดีปีนั้นมีเด็กสวยๆ เยอะ แล้วก็มีสปอนเซอร์ติดต่อเข้ามาเยอะมาก ป้าก็เลยส่งสิบกว่าคนได้มั้ง ติด 1 ใน 5 มาสองคน คือ พิมพิไล ไชยโย กับ ศุภรานันท์ พันธ์ชูจิตร”
พ.ศ.นี้ ป้าชุลีล้างมือในอ่างทองคำแล้วใช่ไหม?
“ป้าหยุดส่งนางงามมาหลายปีแล้ว หนึ่งเพราะอายุมาก จะให้ไปลุ้นติดขอบเวทีเหมือนเมื่อก่อน มันก็ไม่ไหว แล้วเดี๋ยวนี้เวทีใหญ่ๆ ระดับประเทศก็ไม่ให้คาดสายสะพายสปอนเซอร์ พอไม่มีสปอนเซอร์ เราก็ต้องจ่ายเงินเองหมด แล้วป้าจะส่งทำไม เสียเวลาเปล่าๆ”
เรื่องจริงมั้ยที่ว่าประกวดนางงามสมัยก่อนก็มักจะกลายเป็นของเล่นพวกคนใหญ่คนโต
“บางคนเอาเงินมาให้ป้า ให้เปล่าๆ บอกไม่มีสายสะพายก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ป้าไม่รับนะ กลัวจะเป็นบุญคุณกัน กลัวว่าเขาจะหวังเอาอีหนู ป้าไม่มีให้”
ตอนนี้ชีวิตในแต่ละวันทำอะไรบ้าง
“ก็ตื่นตั้งแต่ตี 4 ทุกวัน กิจวัตรประจำวันก็จะสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ ทำวัตรเช้า ตอนเช้าก็ทานกาแฟ ทานขนม ดูทีวีทั้งวัน ตอนเย็นก็ดูละคร ทานข้าว กินไวน์แดงไป ดูละครตอนเย็นไปด้วย (ยิ้ม) แล้วจะเข้านอนราว 2 ทุ่ม ป้าไม่ค่อยชอบออกไปไหนนะ ยกเว้นวันพระจะไปวัด ทำบุญ ปล่อยปลาหมอ ทุกวันนี้ป้าสบายใจ มีกินมีใช้ ไม่เดือดร้อน”
แม้วันนี้จะล้างมือในอ่างทองคำแล้ว ทว่าประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของแวดวงนางงามไทยคงต้องบันทึกชื่อ “ป้าชุลี” ไว้ในฐานะ “เจ้าแม่นางงาม” ที่ยากจะหาใครมาเทียบรัศมีได้ (บทสัมภาษณ์โดย “นริศ จิตรพงษ์”)