xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึงวิทยา : ที่รัก ที่ยังไม่รู้จัก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


พอๆ กับผลงานยุคแรกเริ่มของค่ายจีทีเอช อย่างมหา’ลัยเหมือนแร่ ผมรู้สึกว่า คิดถึงวิทยา ซึ่งเป็นหนังเรื่องล่าสุดของค่ายนี้ก็ดูจะมีทิศทางค่อนข้างคล้ายกันกับมหา’ลัยเหมืองแร่ในแง่คำที่ใช้เป็นชื่อเรื่อง คำว่า “มหา’ลัย” ในหนังของคุณเก้ง-จิระ มะลิกุล ซึ่งสร้างมาจากบทประพันธ์ของครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ กับคำว่า “วิทยา” ในหนังของต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร ล้วนสื่อไปในเชิงของการเกิดความรู้ความเข้าใจ เพราะ “มหา’ลัย” คือสถาบันแห่งการให้วิชา ส่วน “วิทยา” ก็คือความรู้ อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจในแบบที่หนังทั้งสองเรื่องนำเสนอ มันแตกต่างจากบทเรียนในตำรับตำรา เพราะ “วิทยา” ใน “มหา’ลัย” ของหนัง มันคือโลกทัศน์และความเจนจัดชัดกระจ่างในตนเองและชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ฉากหนึ่งในหนังคิดถึงวิทยา ตอนที่พลอย-เฌอมาลย์ คุยกับเวียร์ ศุกลวัฒน์ ในรถยนต์ ตรงจุดที่จอดรอรถไฟวิ่งผ่าน จึงชวนให้รู้สึกนึกถึงอีกฉากหนึ่งในหนังมหา’ลัยเหมืองแร่ ตอนที่หนุ่มอาจินต์กลับออกมาจากเหมืองแร่ด้วยเงินในกระเป๋าเท่าๆ กับตอนขามา แต่สิ่งที่ไม่มีวันเท่าเดิมอีกต่อไป คือสายตาแห่งการมองโลก และความรู้ความเข้าใจ แน่วแน่ชัดในหนทางข้างหน้า ซึ่งพลอย-เฌอมาลย์ ก็เหมือนๆ กันนั้น เพราะทันทีที่ขบวนรถไฟวิ่งผ่านและสัญญาณเปิดทางให้รถเดินยนต์เดินหน้าได้ เธอก็เกิด “วิทยา” ที่จะบอกตัวเองได้ว่า ควรจะไปต่อข้างหน้า หนทางไหน

เกริ่นแบบนี้ไป หลายคนอาจจะกำลังคิดว่า “คิดถึงวิทยา” น่าจะเป็นหนังชีวิตข้นๆ แบบเดียวกันกับมหา’ลัยเหมืองแร่ เปล่าหรอกครับ คิดถึงวิทยาเป็นหนังรักปนตลก มีทั้งด้านโศกและสวย เพียงแต่ในชั้นลึก ผมรู้สึกว่าหนังได้พูดถึงเรื่องความหมายของชีวิตและการค้นพบตัวเองไว้ได้ค่อนข้างดี

หลังจากชิมลางกับหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติ “บี้ เดอะสตาร์” สุกฤษฏิ์ วิเศษแก้ว ขึ้นจอเงินอย่างเป็นทางการครั้งแรกในบทของ “สอง” นักกีฬามวยปล้ำที่กำลังตกอับ จับพลัดจับผลูไปเป็นครูบ้านนอก ณ ดินแดนที่โอบล้อมด้วยน้ำกับฟ้าและป่าเขา ท่ามกลางคืนวันอันเงียบเหงาของการเป็นผู้ประสาทวิทยาให้กับเด็กสี่ห้าคน เขาได้พบกับสมุดบันทึกเล่มหนึ่งซึ่งเขียนไว้โดย “ครูแอน” (พลอย-เฌอมาลย์) ครูผู้หญิงคนก่อนที่เคยมาสอน ณ ที่แห่งนี้ มันคือไดอารี่ที่นำทางเขาให้เข้าไปทำความรู้จักกับโลกของใครอีกคน ซึ่งไม่เพียงจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตการเป็นครูอยู่ที่นี่ หากแต่ยังบันทึกเรื่องราวความคิดและชีวิตในมุมอื่นๆ ด้วย จากตัวหนังสือหนึ่งหน้า สองหน้า และหลายๆ หน้า ของสมุดบันทึก ทำให้ครูสองค่อยๆ รู้สึกแตกต่างออกไป และถ้าเข้าใจไม่ผิด เขาเริ่มมีภาวะของคนที่ “ตกหลุมรัก”...

แน่นอนครับ โจทย์ที่วางไว้เป็นจุดขายของหนังเรื่องนี้ที่ทุกคนคงทราบกันดี ก็คือถ้อยคำที่ว่า “เราจะสามารถรักใครสักคน โดยที่ไม่เคยพบเห็นหน้ากันเลยได้หรือเปล่า” ฟังดูชวนให้รู้สึกโรแมนติก พอๆ กับหนังเกาหลีอย่าง “อิล มาเร” (Il Mare) ที่ความรักความคิดถึงถูกถ่ายเทข้ามเวลา ผมคิดว่าเครื่องไม้เครื่องมือซึ่งหนังหยิบจับมาใช้สอยอย่างไดอารี่หรือสมุดบันทึกนั้น มันเป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึกพิเศษอยู่แล้วเป็นทุนเดิม การเขียนไดอารี่อาจจะไม่ฮิตเท่าไรแล้วในยุคนี้ ก่อนหน้าโน้นมีเรื่องอะไรก็จดไว้ในไดอารี่ เป็นเมโมรี่แห่งความทรงจำ สุขหรือเศร้า เหงาหรือรื่นรมย์ ก็เก็บบ่มไว้ในนั้น ถ้าเรารู้ว่าใครสักคนชอบเขียนไดอารี่เป็นประจำ ความรู้สึกแตกต่างกับการได้รู้ว่าใครบางคนแช็ทไลน์ทั้งวัน (อันนี้ ไม่ได้จะพูดว่าอะไรดีอะไรด้อยกว่ากันนะครับ เพียงแต่ความรู้สึกตอนรับรู้ มันแตกต่างกัน)

การรักใครสักคนโดยไม่เคยเห็นหน้า เพียงแค่สัมผัสผ่านเรื่องราวในไดอารี่ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง เพราะอย่าลืมนะครับว่า แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน บางทีเราอ่านสเตตัสของใครบางบนคนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เรายังรู้สึกชื่นชอบและต้องกดติดตาม แต่มันจะพัฒนาไปถึงขั้นไหน ก็สุดแท้แต่บุพเพของแต่ละคน แต่สำหรับครูสอง ดูเหมือนว่าความโดดเดี่ยวจะค่อยๆ จูงแขนเขาเดินเข้าไปในโลกของความรักผ่านเรื่องราวในตัวอักษรที่ครูสาวทิ้งไว้กับสมุดบันทึก

มองกันแบบเรียบง่ายที่สุด “คิดถึงวิทยา” เป็นหนังรักอารมณ์ละมุนๆ ที่เพียบพูนด้วยความรู้สึกแบบลึกซึ้งเมื่อถึงตอนคลี่คลาย และตามสไตล์ของหนังรักที่ต้องมีความตลก งานชิ้นนี้ของนิธิวัฒน์ ธราธร ผู้กำกับจาก Seasons Change ก็ไม่พลาดที่จะเล่นกับเสียงหัวเราะของคนดู กับอารมณ์ขันที่แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง การแคสติ้งบี้ สุกฤษฏิ์ กับบทของครูสอง ถือว่าผ่าน เพราะจะว่าไป บทบาทนี้มันมีแนวทางตัวละครแบบซิทคอมตลกอยู่ค่อนข้างสูง การแสดงที่ต้องดูตลกติงต๊องหรือเหวอๆ ในหลายฉาก เป็นสิ่งที่บี้ สุกฤษฏิ์ น่าจะคุ้นอยู่แล้วจากการแสดงซิทคอมมาแล้วหลายเรื่อง ส่วนพลอย-เฌอมาลย์ นั้นการแสดงไม่ต้องพูดถึง บทของครูแอนที่เธอได้รับ ซ้อนทับไว้ด้วยเนื้อหาอย่างน้อย 2-3 ชั้น ซึ่งไม่ได้พูดถึงแค่การเป็นครูเพียงอย่างเดียว

กับประเด็นเรื่องจิตวิญญาณของการเป็นครู ผมคิดว่าหนังสื่อสารออกมาอย่างไม่ตกหล่น อันที่จริง เรื่องราวนี้มีแรงบันดาลใจมาจากครูคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของคุณเก้ง-จิระ มะลิกุล (ผู้กำกับ “มหา’ลัยเหมืองแร่”) หนังทำให้เห็นว่า ถ้าเพียงครูเพียงแค่จะหาความสุขสบาย ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่เพราะความเป็นครูที่หนักแน่นมั่นคง ต่อให้โรงเรียนอยู่ป่ากลางดง หากยังมีใครสักคนที่พร้อมจะเรียนเขียนอ่าน ครูที่แท้ก็จะยืนหยัดอยู่ตรงนั้น

กระนั้นก็ตามที “คิดถึงวิทยา” ไม่ใช่หนังที่ตั้งตาจะมาเชิดชูบูชาครูเพียงอย่างเดียว เพราะในขณะที่หนังกระตุ้นความรู้สึกของความอยากเป็นครูของใครหลายๆ คนได้ แต่ในอีกซีกหนึ่ง มันก็กล่าวถึงชีวิตของการเป็นครูในมิติอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นมิติของชีวิต ของคน ทั่วๆ ไป เพราะครูก็เป็นคนคนหนึ่ง รอยสักเล็กๆ รูปดาวสามดวงบนข้อมือของครูแอน นอกจากจะทำให้เธอต้องถูกผู้อำนวยการเรียกไปตักเตือนกระทั่งลงโทษ มันยังนำไปสู่การตั้งคำถามอะไรต่อมิอะไรได้ต่ออีกเยอะแยะเกี่ยวกับเรื่องกฎระเบียบที่เคร่งครัดรัดติ้ว ผมไม่ได้จะพูดว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่เท่าที่สังเกต งานของต้น-นิธิวัฒน์ มักจะมีแง่มุมทำนองนี้เสมอๆ ผมพูดแบบเข้าใจง่ายๆ ว่ามันคือแง่มุมขบถเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ต่อโครงสร้างอำนาจที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะในเรื่อง Seasons Change ที่ป้อม (วิทวัส สิงห์ลำพอง) ไปเรียนดนตรี ซึ่งขัดต่อความต้องการของพ่อแม่ เหมือนๆ กับเชอรี่ (ชุติมา ทีปะนาถ) ที่ถูกพักการเรียนหนึ่งปีในเรื่อง “หนีตามกาลิเลโอ” เพราะเหตุที่เธอไปทำในสิ่งซึ่งขัดต่อกฎระเบียบบางประการ

รอยสักเล็กๆ รูปดาวสามดวง มันทำให้จิตวิญญาณของการเป็นครูบกพร่องแหว่งวิ่นหรือไม่? หรือว่าจริงๆ แล้ว บางครั้งเราก็ไม่ได้ “คิดถึงวิทยา (ความรู้ความเข้าใจ)” กันสักเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ไปใส่ใจกับเรื่องกฎเกณฑ์จนเคร่งเครียด?

หนังที่มีศักยภาพหนึ่งเรื่อง มักจะกระตุ้นให้เราขบคิดได้มากกว่าหนึ่งแง่มุมเสมอ และ “คิดถึงวิทยา” ก็จัดว่าอยู่ในหนังลักษณะนั้น แน่นอนล่ะ ผมไม่ได้จะบอกว่านี่คือหนังที่สมบูรณ์แบบหรือเพอร์เฟคต์จนต้องนำขึ้นหิ้งบูชาแบบเดียวกับพระคุณของครู เพราะอันที่จริง มันมีบางองค์ประกอบที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ เช่น งานด้านภาพที่แม้โลเกชั่นจะเอื้ออำนวย แต่ถ่ายออกมาได้ไม่สวยอย่างที่ควรจะเป็น ผมไม่แน่ใจว่าหนังต้องการขับเน้นชีวิตที่จืดชืดของครูบ้านนอกอะไรหรือเปล่า สีภาพจึงค่อนข้างดูจืดชืด เทียบกับหนังอย่างมหา’ลัยเหมืองแร่ หรือแม้แต่ Timeline ที่โลเกชั่นใกล้เคียงกัน (น้ำ ฟ้า ป่าเขา ธรรมชาติ) รู้สึกว่าสองเรื่องนั้น ถ่ายได้สวยงามน่าจดจำกว่ามาก

ขณะเดียวกัน บางตัวละครและบางสถานการณ์ดูจะ “จงใจจัดสร้าง” จนดูปลอม ขาดความเป็นธรรมชาติ (ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร) เด็กในโรงเรียนเรือนแพที่ถูกปรุงแต่งจริตบางอย่างใส่ลงไปจนดูเหมือนกับเด็กที่หลุดออกมาจากละครซิทคอม เช่นเดียวกับบทของเวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารส ที่การปรากฏตัวของเขาแต่ละครั้ง ทำให้หนังมีอารมณ์คล้ายละครหลังข่าวภาคค่ำ เพราะความบังเอิญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในบทของเวียร์ แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธได้ยากว่า เป็นเพราะบทของเวียร์นี่เองที่สะกิดใจให้เรารู้สึกถึงแก่นแท้ความหมายของการเป็นคนรัก

ไม่ว่าหนังจะมีพล็อตรองที่แยกย่อยออกไปอย่างไร สุดท้ายแล้ว สำหรับคนที่อยากจะเก็บเกี่ยวเรื่องรักฟีลกู๊ด ผมว่าก็สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะหนังยังคงสามารถรักษาประเด็นที่เป็นหัวใจของตัวเองไว้ได้ไม่ตกหล่น อันว่าด้วยเรื่องราวความรู้สึกถวิลหาใครบางคน ผ่านตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ

ใครบางคนที่แม้มิเคยได้พบเจอ แต่เขาหรือเธอคนนั้น กลับมีพลังบางอย่าง ที่ทำให้คุณพร้อมจะเดินไปข้างหน้า ไม่ว่ามันจะยากจะง่าย อย่างไรก็ตาม...






กำลังโหลดความคิดเห็น