xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกถึง "ตัวประกอบ" ผู้จากไป

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี

อู๋หม่า เสียชีวิตในวัย 71 ปี
ความน่าจดจำของหนังฮ่องกง ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยการแสดงของพระเอกนางเอก ที่เป็นขวัญใจของคนดูส่วนใหญ่เท่านั้น นักแสดงสมทบหรือเรียกง่าย ๆ กันว่า "ตัวประกอบ" อันเปี่ยมไปด้วยสีสัน ยากที่จะลืมเลือนก็คือจุดเด่นของหนังจากฮ่องกงด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนใหญ่เราแทบจะจดจำชื่อของตัวประกอบเหล่านี้ไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่ก็คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี รู้สึกสนิทสนมเหมือนเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันเลยทีเดียว เหมือนอย่างการเสียชีวิต อู๋หม่า นักแสดงรุ่นใหญ่ ที่เพิ่งจะลาโลกไปเป็นอีกคน ที่นักดูหนังหลายคนเปรยว่าเพิ่งจะมารู้จักชื่อเขาเอาเมื่อตอนเสียชีวิตนี่เอง

อู๋หม่า เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อพยพมาอยู่ฮ่องกง เริ่มต้นอาชีพในวงการภาพยนตร์ ด้วยการเป็นนักแสดงตัวประกอบของบริษัทชอว์บราเดอร์ ด้วยประสบการณ์การทำงานในวงการอย่างยาวนาน อู๋หม่า จึงมีโอกาสทำงานหลังกล้องตั้งแต่ยังหนุ่ม และนั่งเก้าอี้ผู้กำกับเมื่ออายุแค่ 30 เศษ ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะผลงานเด่น The Dead and the Deadly (อำดีผีไม่กัด, 1982) นั้นถึงกับส่งให้เขามีชื่อชิงรางวัลตุ๊กตาทองสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมในปี 1983 กันเลยทีเดียว

ถึงงานหลังกล้องจะโดดเด่นเพียงใด แต่ผู้ชมก็น่าจะจดจำ อู๋หม่า จากบทบาทหน้ากล้องอยู่ดี แม้ส่วนใหญ่เขาจะแทบไม่เคยรับบทนำเลยก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นตัวขโมยซีน ที่สร้างสีสันและสนับสนุนพระเอกนางเอกให้โดดเด่นขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังตลก หรือแนวชีวิตเข้มข้น อู๋หม่า ก็แสดงได้อย่างสมทบบาท และเป็นที่รักของคนดูตลอดมา โดยเฉพาะในงานมาสเตอร์พีซที่เขารับบทเป็นนักพรตปราบปีศาจใน A Chinese Ghost Story (โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า, 1987) ที่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ของหนังไม่แพ้ เลสลี่ จาง กับ หวังจู่เสียน พระนางของเรื่องเลยก็ว่าได้

อู๋หม่า มีผลงานที่น่ากลาวถึงมากมาย ทั้งบทผู้ช่วยพระเอกในหนัง Miracle (ฉีจี้, 1988) ของ เฉินหลง หรือบทดราม่าเข้มขนเป็นขันทีสูงวัยใน Lai Shi, China's Last Eunuch (ขันทีคนสุดท้าย, 1989) ที่ส่งให้เขาชิงรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงอีกครั้งด้วย โดย อู๋หม่า ยังคงรับงานแสดงจนถึงช่วงท้าย ๆ ของชีวิต ก่อนจะจากไปอย่างสงบเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 ก.พ. ในวัย 71 ปี ด้วยสาเหตุของโรคมะเร็งปอด

พูดถึงนักแสดงประเภทที่ทุกคนคงจะคุ้นหน้า แต่น้อยคนที่จะคุ้นชื่อ และเสียชีวิตไปแบบที่แฟนหนังหลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คงต้องพูดถึง "เจิ้งกุ้ยอัน" ด้วย

ดาวร้ายเจ้าของเอกลักษณ์ "หน้าใหญ่" คงเป็นนักแสดงอีกคนที่แทบไม่มีใครจดจำชื่อของเขาได้แต่แฟนหนังฮ่องกงรุ่นอายุ 30 ขึ้นไปก็คงไม่มีใครลืมเลือนหน้าตาของดาวร้ายคนนี้แน่นอน เจิ้งกุ้ยอัน เริ่มต้นอาชีพในวงการแบบเดียวกับนักแสดงในยุค 70 หลาย ๆ คน คือเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ก่อนจะได้เข้าวงการในฐานะเป็นตัวประกอบของสตูดิโอชอว์บราเดอร์ ซึ่งตัวประกอบในที่นี้ก็คือตัวประกอบชนิดที่ได้แต่บทเล็ก ๆ ซึ่งแทบจะไม่มีบทบาท หรือบทพูดอะไรเลยอะไร จนมาถึงยุค 80 นั่นเองที่เขาเริ่มจะได้บทเด่นขึ้นมาบ้าง

บทนักเลงหัวไม้, ผู้ร้ายตัวรอง, โจรกระจอก, จอมหาเรื่อง คือบทถนัดของ เจิ้งกุ้ยอัน ที่เขาแสดงเอาไว้ในหนังเฉียด 100 เรื่องส่วนใหญ่แทบจะเป็นบทซ้ำ ๆ แบบเดิมเหมือนกันหมด เป็นผู้ร้ายตัวตลก ที่มักจะลงเอ่ยด้วยการเสียท่าให้กับพระเอกแบบง่าย ๆ

โดยตลอดการใช้ชีวิตในวงการหนังอยู่เกือบ 40 ปี เจิ้งกุ้ยอัน น่าจะเคยได้รับบทพระเอกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในหนังทุนต่ำเรื่อง The Blue Jean Monster (ตำรวจผีฆ่าไม่ตาย, 1992) ที่เขารับบทเป็นตำรวจที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ก่อนจะกลับมาในสภาพผีดิบที่มีพลังพิเศษ เป็นหนัง ตลก,แฟนตาซี,สยองขวัญ เล็ก ๆ ที่คงไม่มีใครจดจำได้มากนัก แต่ดูสนุกใช้ได้ เรียกว่าไม่เสียเที่ยวสำหรับการเป็น "พระเอก" ครั้งเดียวในชีวิตเลย

เจิ้งกุ้ยอัน ฝากผลงานเรื่องสุดท้ายเอาไว้ในหนัง (สืบล่าปมฆ่าสยองโลกของ, 2007) อ็อกไซ แปง ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งในปี 2009

ช่วงปีหลายที่ผ่านมามีนักแสดงรุ่นใหญ่ชาวฮ่องกงเสียชีวิตไปหลายคน บางครั้งเป็นข่าวเงียบ ๆ จนแฟนหนังแทบไม่ทราบว่าพวกเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว รวมถึง "หลงฟง" ดาวร้ายแห่งยุค 80 ก็เสียชีวิตลงแบบเป็นข่าวเล็ก ๆ หลังจากออกจากวงการบันเทิงไปแล้วหลายปี

หลงฟง เคยเป็นตัวประกอบในช่วงยุครุ่งเรืองของหนังกังฟูในปี 70s แต่เล่นหนังอยู่หลายปีก็ไม่เห็นแววรุ่งอะไรจนออกจากวงการไปหางานการอย่างอื่นทำแทน จนตอนที่ หวังจิง กำลังสร้างหนังมาเฟีย Casino Raiders (เจาะเหลี่ยมกะโหลก, 1989) เขาอยากจะหาดาวร้ายหน้าใหม่มาสร้างสีสันให้กับหนัง จนมีคนแนะนำว่า หลงฟง ที่ขณะนั้นทำงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่งในฮ่องกงน่าจะเล่นบทนี้ได้ เขาจึงได้กลับเข้าสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้ง และมีผลงานในแนวหนังมาเฟียออกมาหลายเรื่อง รวมถึงบทร้ายในหนัง คนตัดคน หลาย ๆ ภาคด้วย

หลงฟง เกษียณตัวเองจากงานภาพยนตร์ ไปเมื่อปี 2000 และย้ายไปทำธุรกิจที่จีนแผ่นดินใหญ่ จนเสียชีวิตไปเมื่อปี 2008 ด้วยโรคมะเร็งปอด (เช่นเดียวกับผู้ชายฮ่องกงที่โตมาในยุค 70 - 80 อีกจำนวนมากที่ทั้งสูบบุหรี่จัด และดื่มหนัก)

เมื่อปีก่อนก็มีดาราฮ่องกงเสียชีวิตไปหลายคนทั้ง ดาราตัวประกอบ โจ เจิ้ง ที่จากไปเพราะโรคมะเร็ง หรือดาราจากทีวีบีหลายคนที่แฟนหนังแทบจะจำชื่อตัวละครที่พวกเขาแสดงเอาไว้ แทนชื่อจริงของเจ้าตัวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กงไหง หรือ กัวเต็งอัก แห่งมังกรหยกที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด ส่วน หลี่ฮั่นฉือ ที่คนคงจะจดจำเขาในฐานะทูตซ้ายเอี้ยเซียว หรือ อิดเต็งไต้ซือ ได้มากกว่าชื่อจริงก็จากไปเมื่อปีก่อนจากโรคปอดอักเสบ

"อาจารย์ผีกัด" ที่บางคนแทบไม่รู้ว่าเขาชื่อจริงว่า "หลินเจิ้งอิง" ก็จากไปด้วยสาเหตุโรคมะเร็งตับเมื่อปี 1997 แบบที่ปัจจุบันก็ยังมีคนพูดให้ได้ยินอยู่เรื่อยว่า "เขาตายไปแล้วเหรอเนี่ย?" ... ถือเป็นการจากไปอย่างเงียบ ๆ ของนักแสดงสมทบที่ถึงแฟนหนังจะจำชื่อพวกเขากันไม่ค่อยได้ แต่คงไม่มีทางลืมบทบาทการแสดงที่เคยฝากเอาไว้อย่างแน่นอน



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กับ เลสลี่ จาง ที่ล่วงหน้าไปก่อนหลายปี
บทบาทการแสดงท้าย ๆ ในชีวิตของ อู๋หม่า
เจิ้งกุ้ยอัน ดาราสมทบที่จากไปแล้วอีกคน
ดาวร้ายจอมกวนที่แฟนหนังฮ่องกงคงยังไม่ลืมกัน
เป็นพระเอกครั้งเดียวในชีวิต
หลงฟง เสียชีวิตไปเมื่อปี 2008
ดาวร้ายในยุคหนังมาเฟียครองเมือง
บทบาทสุดท้ายในชีวิตของ หลี่ฮั่นฉือ ในหนังสยอง Tales From The Dark
โจ เจิ้ง เสียชีวิตเมื่อปีก่อนเช่นเดียวกัน
กงไหง กับบทในหนัง Overheard
ผู้รับบท 2 จอมยุทธใน เดชคัมภีร์เทวดาเสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่
กำลังโหลดความคิดเห็น