xs
xsm
sm
md
lg

"หน้ากากเสือ" ที่เป็นได้แค่ “หน้ากากเหมียว”

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “หน้ากากเสือ” ที่สร้างจากการ์ตูนระดับตำนาน ที่แฟนเก่าดูจะหวั่น ๆ กันตั้งแต่ทราบรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ จุด เพราะหนังที่ออกมาก็เป็นไปอย่างที่คาดเดากันจริง ๆ ที่ไม่สนุกเอาเสียเลย และยังไม่ได้แสดงออกเลยว่าผู้สร้างต้องการจะสืบทอดบรรยากาศ ความหมายใด ๆ จากงานต้นฉบับ

ตั้งแต่ได้เห็นภาพแรกของ "หน้ากากเสือ" ที่ดูแล้วละม้ายไปทางหน้ากากเหล็กแบบซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งตะวันตก แถมด้วยชุดประเภท "เต็มตัว" ปิดตั้งแต่หัวจรดเท้า บวกกับโฉมหน้าของผู้สวมบท "นาโอโตะ" (หรือ เนาโตะ แล้วแต่จะเรียกกันตามความถนัดปาก) เป็นหนุ่มน้อยหน้าใส เออิจิ เวนต์ สมาชิกวงป๊อป WaT ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริง ๆ หากบรรดาแฟนเก่าของการ์ตูนคลาสสิคเรื่องนี้ จะหวั่นใจกันว่าฉบับภาพยนตร์ของ หน้ากากเสือ อาจจะออกมา "ไม่เข้าท่า"

The Tiger Mask หรือ "หน้ากากเสือ" ฉบับภาพยนตร์ปี 2013 ที่เข้าฉายรับวันเด็กปี 2014 ที่ผ่านมายังเล่าเรื่องของ “นาโอโตะ ดาเตะ” เด็กชายที่หนีออกจากบ้านเด็กกำพร้า ไปฝึกฝนเป็นนักมวยปล้ำในสถานที่ที่เรียกว่าถ้ำเสือเหมือนเดิม และเรื่องราวก็ดำเนินไปคล้าย ๆ เดิมเมื่อ นาโอโตะ ได้ออกจากถ้ำเสือ เขาก็สั่นสะเทือนวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นด้วยบทบาทนักปล้ำสุดเถื่อนผู้ไร้กติกาทันที แต่แล้วสุดท้าย หน้ากากเสือ กลับหันมาเป็นศัตรูกับถ้ำเสือเสียเอง เมื่อเขารู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลของสำนักที่ฝึกฝนวิชาให้ตัวเองมา และยังถูกปลุกคุณงามความดีในใจหลังกลับไปเยือนบ้านเด็กกำพร้าที่เขาเคยจากมาอีกครั้ง แต่พ้นจากนี้ไปก็กลายเป็นว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังแทบจะเป็นคนละเรื่องกับหน้ากากเสือที่ทุกคนรู้จัก

สิ่งที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนที่สุดก็คือตัว "หน้ากากเสือ" ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นหน้ากากสุดไฮเทค (จนเข้าขั้นเป็นของวิเศษ) ที่ทำให้ผู้สวมใส่แปลงร่างกลายเป็นยอดนักสู้ในชุดเกาะ ที่ทั้งเพิ่มพลัง ความเร็ว จนเหนือมนุษย์ จากเด็กหนุ่มหล่อรูปร่างผอมบาง ก็กลายเป็นนักมวยปล้ำกล้ามโตขึ้นมาทันที

แถมในเรื่องมีหน้ากากเสือถึง 3 อัน คือหน้ากากทอง, หน้ากากขาว และหน้ากากดำ ที่จะมอบให้กับเด็กที่มีฝีมือการต่อสู้โดดเด่นที่สุดเท่านั้น ซึ่งก็ได้แก่ นาโอโตะ พระเอกของเรื่อง, ดัน ที่เป็นเพื่อนสนิท และ โจ เด็กโรคจิต ที่เห็นหน้าก็รู้แล้วว่านี่คือตัวร้ายของเรื่องแน่ ๆ นอกจากนั้นตอนท้ายมีหน้ากากที่ 4 โผล่มาตอนท้ายอีกที่เรียกกันว่า "เกรท ไทเกอร์" ที่คราวนี้แทบจะเป็นตัวร้ายในแบบหนังไอ้มดแดงกันเต็ม ๆ ตลอดทังเรื่องจึงเต็มไปด้วย "หน้ากากเสือ, หน้ากากเสือ, หน้ากากเสือ" ที่บู๊กันอยู่ในกลุ่ม จนนักมวยปล้ำอื่น ๆ เป็นได้แค่ตัวประกอบเท่านั้น

เข้าใจว่าผู้สร้างคงหวังกลุ่มตลาดเด็ก ๆ เป็นพิเศษ จึงพยายามสร้างหนังโดยอิงไปที่งานประเภทซูเปอร์ฮีโร่แบบไอ้มดแดง หนังจึงเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ค่อนข้างจะแฟนตาซีจนเข้าข่ายหลุดโลก ไร้ความดุดดัน, รุนแรง แบบต้นฉบับโดยสิ้นเชิง ชนิด "เด็กหนวด" แฟนคลับดั้งเดิมของ หน้ากากเสือ ก็คงจะกลายเป็นส่วนเกินทันทีเมื่อหนังเริ่มเดินเรื่อง

แน่นอนว่าสำหรับคนที่ตีตั๋วเข้าไปดูเพราะชื่อหน้ากากเสือก็คงผิดหวังแน่ ๆ เพราะถึงเนื้อเรื่องจะคล้าย ๆ เดิม แต่บรรยากาศกลับแตกต่างไปคนละขั้ว เดิมทีหน้ากากเสือต้นฉบับ ค่อนข้างจะเป็นการ์ตูนที่เน้นความสมจริงสมจัง ทั้งบรรยากาศสนามมวยปล้ำ แถมมีนักมวยปล้ำตัวจริงโผล่เข้ามามีบทบาทด้วย ภาพสังคมญี่ปุ่นยุค 60s ในการ์ตูนก็เด่นมาก แต่ของใหม่นั้นเรื่องราวไร้ความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง ตัวละครเข้าไปแข่งมวยปล้ำใต้ดินกันในเวทีมืด ๆ โดยไม่มีที่มาที่ไปอะไรเลย

ฉากหลัก "ถ้ำเสือ" ก็กลายเป็นโรงเรียนประจำที่เต็มไปด้วยครูฝึกสาว ๆ ในชุดดำรัดรูปก็กิ๊กก๊อก บรรยากาศการฝึกฝนที่น่าจะตึงเครียด จึงเป็นไปแค่เกมส์โชว์ประเภท "โหดมันฮา" เท่านั้น ส่วนตัวร้ายจอมบงการ "มิสเตอร์ เอ็กซ" ก็ดูตลกมากกว่าจะน่าเกรงขาม

ครั้นจะดูหนังให้สนุกโดยไม่พะวงอยู่กับต้นฉบับ The Tiger Mask ก็แทบจะไม่ได้ให้ความบันเทิงอะไรเลย หนังมีคิวบู๊แนวลวดสลิงค์ที่หาความตื่นเต้นใด ๆ ไม่ได้ ไม่มีการใช้ท่ามวยปล้ำเจ๋ง ๆ แบบในต้นฉบับ อันที่จริงต้องบอกว่าในเรื่องมีการต่อสู้บนเวทีมวยปล้ำเพียง 2 ฉากเท่านั้น เทคนิคพิเศษดูราคาถูก เหมือนกับหนังมีทุนไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ เรื่องราวดราม่าก็ซ้ำซาก เต็มไปด้วยสถานการณ์ตลกขบขันแบบไม่ได้ตั้งใจ แถมด้วยมุมฮา ๆ แบบไร้กาลเทศะของทีมพากย์ ก็ยิ่งทำให้หนังดูย่ำแย่ลงไปอีก

พูดถึงต้นฉบับกันนิดหน่อย หน้ากากเสือ ถือว่าเป็นการ์ตูนระดับอมตะเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกระหว่างปี 1968 - 1971 ส่วนฉบับอนิเมชั่นที่เริ่มฉายตั้งแต่ปี 1969 ก็มีเรตติ้งสูงถึง 31.9% เลยทีเดียว

ซึ่งนอกจากตัวละครจะโด่งดังเป็นที่รู้จักทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศแล้ว เรื่องราวของหน้ากากเสือยังก่อให้เกิดกระแสทางสังคมขึ้นมาด้วย สำหรับเนื้อเรื่องส่วนที่ว่า หน้ากากเสือ ได้ตัดสินใจหันหลังให้กับพวกพ้อง ยอมตกเป็นเป้าหมายการไล่ล่าของพวกถ้ำเสือ เพื่อนำเงินจากการแข่งขันมวยปล้ำไปบริจาคให้กับบ้านเด็กกำพร้า โดยไม่ยอมบอกความจริงให้กับทุกคนทราบ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนหนึ่ง หันมาทำความดีแบบไม่ขอรับเครดิตเลียนแบบหน้ากากเสือกันยกใหญ่

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีบุคคลนิรนามทิ้งซองเงินจำนวน 100,000 เยนไว้หน้าศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง พร้อมเขียนจดหมายว่าเขาต้องการสืบเจตนารมณ์ของ ดาเตะ นาโอโตะ หรือ หน้ากากเสือ จนเป็นกระแสที่เกิดการเลียนแบบมากมาย เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ "หน้ากากเสือ" กันเลยทีเดียว

หน้ากากเสือ ต้นฉบับเป็นงานระดับอมตะของวงการการ์ตูนญี่ปุ่น และยังส่งอิทธิพลต่อสังคมญี่ปุ่นมากมาย หากมองในแง่ร้าย ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ฉบับหนังสร้างออกมาได้ห่างไกลจากต้นฉบับความเป็นหน้ากากเสือเหลือเกิน ... แต่อย่างน้อยในแง่ดี The Tiger Mask ฉบับภาพยนตร์ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ก็คงเป็นได้แค่ส่วนของ "หมายเหตุ" ในตำนานหน้ากากเสือ ที่คงจะไม่มีใครให้ความสำคัญอะไรอีก





ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก













กำลังโหลดความคิดเห็น