ต้องยอมรับครับว่า ไอเดียตั้งต้นของหนังเรื่องใหม่จากค่ายเอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ (M ๓๙) นั้น สามารถดึงความสนใจจากกลุ่มคนดูหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเล่นกับสถานที่ซึ่งมีความลึกลับติดอันดับท็อปเท็น นั่นยังไม่ต้องพูดถึงการแคสติ้งนักแสดงตัวหลัก 4-5 คนที่มีแฟนคลับเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะหนุนส่งให้งานชิ้นนี้เก็บเงินเข้ากระเป๋าเอ็มสามสิบเก้าได้เป็นที่น่าพอใจ
ท่ามกลางกระแสของหนังผีที่เข้าสู่ยุคถึงทางตัน ทั้งรูปแบบการนำเสนอและวิธีการหลอก ผมคิดว่าเอ็มสามสิบเก้าเลือกโฟกัสให้ตัวเองได้ค่อนข้างดี กับการเลือกที่จะเล่นกับเรื่องเล่าอันเป็นตำนานแล้วให้วัยรุ่นวัยคะนองกลุ่มหนึ่งเข้าไปผจญเผชิญกับตำนานอันเป็นความหลอนนั้น แม้ว่ากันจริงๆ นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรอีก เพราะสไตล์นี้ หนังดังของเมืองนอก อย่าง Chernobyl Diary หรือหนังไทยอย่าง “ล่า ท้า ผี” ก็คือรุ่นพี่ที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมาแล้ว แต่มันก็สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า หนังผียังไม่ถึงจุดสุดซอยหรือทางตัน ตราบเท่าที่คนดูยังพร้อมจะเสียตังค์เดินเข้าไปให้ถูกหลอกในโรงหนัง (?)
อย่างไรก็ดี ในขณะที่รู้สึกว่าคนทำหนังผีช่วงหลังๆ พยายามจะมีความทะเยอทะยานกับการสรรหาแก๊กใหม่ๆ มาเล่นกับคนดู แต่ในเชิงเทคนิควิธีการนั้นเหมือนกับว่าจะถึงทางตันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพึ่งพิงซาวด์เอฟเฟคต์ในจังหวะปล่อยผีที่คิดว่าจะทำให้คนดูตกใจ ถูกนำมาใช้กันจนช้ำ ซึ่งจะถูกใจสำหรับคนพวกที่ชอบให้คนอื่นมาให้ตัวเองตกใจ ผมเองไม่แน่ใจนะครับว่า บางจังหวะในหนังฮาชิมะ โปรเจกต์ ที่จู่ๆ ก็ปล่อยผีออกมาทำหน้าขู่พร้อมกับเสียงแว่! (โดยบริบทของเรื่อง ณ จังหวะนั้นไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับผีเลย) มันเกิดจากความตีบตันทางการสร้างสรรค์ที่ก็ไม่รู้จะทำอะไรยังไงกับหนังผีแล้วหรือเปล่า ก็เลยทำสิ่งที่มันดูงั่งๆ แบบนั้น ให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย
ด้วยสไตล์ที่แตกตัวมาจากทีวีโชว์ประเภทรายการคนอวดผีหรืออะไรทำนองนั้น “ฮาชิมะ โปรเจกต์” ออกสตาร์ทเรื่องราวด้วยกลุ่มนักศึกษาภาพยนตร์ 4-5 คน ซึ่งมีความฝันอยากจะมีตัวตนบนเส้นทางสายนี้ แต่โอกาสก็ดูเหมือนอากาศที่จับต้องไม่ได้สักที กระทั่งพวกเขาปล่อยคลิปที่ถูกมองข้ามโดยค่ายหนังค่ายหนึ่งลงบนยูทูบซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากคนบนโลกออนไลน์ ยอดจำนวนคนดูที่ทะลุหลักล้าน ทำให้รายการผีอย่าง “โกสต์ แลนด์” เรียกพวกเขาเข้ามาพบ พร้อมกับเสนองานให้ ในนามของ “ฮาชิมะ โปรเจกต์” เดินทางสู่เกาะรูปร่างเรือรบอย่างเกาะฮาชิมะ ประเทศญี่ปุ่น แล้วเก็บบันทึกความหลอนจากเกาะดังกล่าวมาผลิตเป็นรายการหนึ่งตอน
คงไม่ต้องบอกว่าเป้าหมายปลายทางที่ตัวละครจะต้องพบเจอมันคืออะไรนะครับ เพราะก็อย่างที่ “เล่า” และ “ลือ” กันว่าเกาะฮาชิมะนั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องความหลอน แต่สิ่งแรกที่ควรพูดถึงคือเหล่าตัวละครซึ่งถือว่าเป็น “แก๊งหน้าตาดี” กันได้เลย การดีไซน์ตัวละครของหนังซึ่งเป็นพวกหนุ่มห้าวสาวมั่น ก๋ากั่น ปากเก่ง และอวดดี เปรียบเสมือนเคมีที่เข้ากันได้กับเนื้อหาเรื่องราวหรือกระทั่งชื่อเรื่องอย่าง “ไม่เชื่อ ต้องลบหลู่” แม้ว่ากันตามจริง ตัวละครแบบนี้ถือเป็นสูตรสำเร็จของหนังสไตล์นี้ (ม.6/5 ปากหมาท้าผี) และมักจะมีใครสักคนที่อวดเก่งกว่าคนอื่น ซึ่งในหนังก็คือบทของอเล็กซ์ ที่จะว่าไป แทบจะมีบทบาทเสมือนเสาหลักของเรื่อง-ของกลุ่ม-ซึ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างคืบคลานไปสู่ความบานปลายในหลายๆ ด้าน อเล็กซ์เป็นนักแสดงที่ทุ่มเทกับบทมากจนกระทั่งบางขณะถึงกับทำให้เรารู้สึกว่าความพยายามของเขา ไปไกลกว่าตัวหนังด้วยซ้ำ ลองจินตนาการว่าถ้าหนังไม่มีตัวละครตัวนี้ มันจะกลายเป็นหนังผีที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้เลย
โดยส่วนตัว ผมมองว่าหนังมีความพยายามระดับหนึ่งในการที่จะมีประเด็นและความเป็นดรามา และเมื่อคิดถึงว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังเป็นใคร โปรเจกต์นี้จึงแทรกใส่ประเด็นความเป็นวัยรุ่นเข้ามาเพื่อให้ลูกค้าหลักของโรงหนังรู้สึกใกล้ชิดกับหนัง เรื่องราวความใฝ่ฝัน ตลอดจนความสัมพันธ์ในแบบของวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่านเป็นสิ่งที่หยิบจับมาใช้ได้เสมอ ไม่ว่าในหนังเรื่องไหนๆ บทของสายป่าน-อภิญญา กับออม-สุชาร์ คือบทที่ขับเน้นประเด็นดังกล่าวนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ผมชอบที่หนังไม่ได้เอาใจวัยรุ่นวัยรักมากจนเกินไป แต่ทำให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมันสามารถจะมีแง่มุมที่โหดร้ายและเลวร้ายกว่าที่เราคิดได้เสมอ เอาเป็นว่า ถ้าจะหาความดีของหนังเรื่องนี้ บางที อาจจำเป็นต้องมองเป็นจุดๆ หรือมองแบบแยกส่วน เป็นส่วนๆ ไปนะครับ ขณะที่ฉากซึ่งดีที่สุดในเชิงดราม่าของหนัง น่าจะอยู่ระหว่างที่อ๊อฟ (อเล็กซ์) โดนนักเลงพนันบอลมาตามทวงหนี้ถึงคอนโดที่พัก เรื่องราวของหนัง ณ จุดนั้น ทุบตีความรู้สึกของเราให้ย่ำแย่อย่างถึงที่สุด
และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้ว เซ็ตติ้งฉากไม่ได้ปักหลักอยู่ที่เกาะฮาชิมะแบบเต็มๆ หากแต่เกาะฮาชิมะเป็นเพียงต้นทางและปลายทางของปมปริศนาที่หนังตั้งโจทย์ไว้ นอกไปจากนั้น ฉากส่วนใหญ่จะอยู่นอกเกาะหรือกระทั่งที่เมืองไทย ซึ่งเรื่องนี้ย่อมเข้าใจได้ เพราะการไปถ่ายทำยังสถานที่จริง อาจมีเรื่องของการจำกัดเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น คงจะต้องเป็นที่ไม่พอใจเท่าใดนัก หากใครสักคนคาดหวังว่าจะได้เห็นความเฮี้ยนของฮาชิมะแบบเต็มๆ
กล่าวในแง่ความน่ากลัว ฮาชิมะ โปรเจกต์ จัดว่าเป็นหนังผีที่อยู่ในระดับของหนังผีแนวตกใจ ซึ่งเป็นแนวถนัดของคุณปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ ที่ทำหนังผีผ่าง หรือผีตุ้งแช่แว่วับมาแต่ไหนแต่ไร “ผีไม้จิ้มฟัน” เอย มาจนถึง “แฟนเก่า” “แฟนใหม่” เอย ยังคงลายเซ็นชัดเจนในแนวทาง หนังเรื่องฮาชิมะ โปรเจกต์ ได้คุณอังเคิล-อดิเรก วัฏฏลีลา มาเขียนบทให้ ไม่แน่ใจว่าตอนเขียนบทได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าการคลี่ปมปริศนาท้ายเรื่องนั้นเบาหวิวน่าดู คำว่าหนังผีต้องมีหักมุม ควรจะมาพร้อมกับความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง แม้จะคิดว่ามันเป็นแค่หนัง แต่หลักตรรกะอะไรต่างๆ หากสามารถเติมความหนักแน่นน่าเชื่อถือลงไปได้ จะเพิ่มความหลอนน่ากลัวให้กับหนังได้ พูดไปก็นึกถึงหนังอย่าง “ชัตเตอร์” ระหว่างทางระหว่างดำเนินเรื่อง ว่าน่ากลัวแล้ว พอคลี่คลายปมปริศนา มันกลับเพิ่มความน่าขนลุกขึ้นไปอีกหลายเท่า สำหรับฮาชิมะ โปรเจกต์ นั้นตั้งธงมาตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องการเล่นกับความเชื่อ-ความไม่เชื่อ แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าหนังจะทำสิ่งนี้หล่นหายไปอย่างไม่น่าเชื่อ แน่นอนว่า เกาะฮาชิมะนั้นเต็มไปด้วยตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่ออย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่หนังกลับไม่สามารถทำให้เรารู้สึกเชื่อได้กับตรรกะของหนังในหลายจุดที่สำคัญ
กระนั้นก็ดี ฮาชิมะ โปรเจกต์ เป็นหนังที่ลบหลู่ไม่ได้แน่นอนครับในด้านรายรับ ตราบเท่าที่คนดูยังรู้สึกว่า การได้ตกใจร้องกรี๊ดกร๊าดด้วยอานุภาพของซาวด์เอฟเฟคต์ เป็นความบันเทิงของชีวิตชนิดหนึ่ง นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ฮาชิมะ โปรเจกต์ คือหนังผีที่มีจุดขายแตกต่างชัดเจน หนังแบบกล้าท้าลอง โดยอิงอยู่กับสถานที่จริงเช่นนี้ ใครๆ ก็สนใจอยากจะรู้ พอๆ กับพวกรายการอวดผีที่ดึงเรตติ้งจากคนดูได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย เพียงแต่อาจจะต้องทำใจสักนิด เพราะช่วงนี้ มันมีโปรเจกต์อื่นเข้ามาแทรกและดูจะดังกว่า มันเป็นโปรเจกต์ผีเหมือนกัน เป็นผีที่อยากกลับมาเกิด...“นิรโทษ โปรเจกต์”...