แวะเวียนมาบรรจบครบปีที่ 5 แล้วสำหรับเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชาชนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในนามของกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา
จากเหตุการณ์ที่ว่า หลายคนต้องสูญเสียสามี ภรรยา และลูกๆ ขณะที่อีกหลายคนต้องสูญเสียความสมบูรณ์ของร่างกายไปจากปลายกระบอกปืนและลูกระเบิดของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องความสันติของราษฎร
หนึ่งในนั้นก็คือนักวาดภาพฝีมือดี "ตี๋ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ" ที่หลายคนยังจดจำได้ดีจากภาพข่าวของชายหนุ่มในสภาพโชกเลือด มือขวาขาดหาย ขณะที่มือซ้ายกำวัตุบางอย่างไว้
การสูญเสียมือที่ใช้ทำมาหากินวาดภาพขายเลี้ยงลูกสองคน กล่องเสียงถูกทำลายจนแทบจะพูดไม่ได้เท่านี้ก็สร้างความสลดหดหู่ต่อทั้งผู้เป็นภรรยาตลอดจนเพื่อนๆ ศิลปินของตี๋อยู่แล้ว แต่อะไรก็คงจะไม่เท่ากับความเจ็บปวดจากการบิดเบือนอย่างทุเรศๆ ของสื่อบางสื่อที่นำเสนออย่างต้องการจะชวนให้คนเสพข่าวสมน้ำหน้าว่าเขาคือมือระเบิด!
ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นที่รับรู้กันดีในหมู่คนที่รู้จักว่าผู้ชายคนนี้เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ ชอบนั่งสมาธิ และเกลียดการใช้ความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง
แต่ถึงแม้จะถูกใส่ร้าย ทว่าเขาก็หาได้ผูกใจอาฆาตต่อคนที่ใส่ร้ายไม่ สิ่งต้องการก็คือเรียกร้องให้อีกฝ่ายนั้นนำเสนอความเป็นจริง
และถึงแม้ต้องไร้มือขวา แต่เขาก็ไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนเองต้องกลายเป็นคนพิการแต่อย่างใด
หลังสภาพร่างกายเริ่มฟื้นตัวอดีตเด็กเพาะช่างผู้สูญเสียมือขวาไปเริ่มฝึกใช้มือซ้ายวาดภาพแทน แน่นอนว่าทุกอย่างเหมือนกับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่โดยมีอุปสรรคและความยากลำบากนานัปการรออยู่ ซึ่งจนถึงวันนี้กับภาพวาดที่สวยสดงาดงามหลายต่อหลายภาพที่ถูกรังสรรค์ด้วยมือที่เหลือเพียงข้างเดียวของเขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาทำมันได้ดีมากน้อยเพียงใด
หัวใจที่กล้าแกร่งและความไม่ท้อต่อโชคชะตาที่เข้ามาของตี๋เป็นที่ประทับใจของอาจารย์สาวสาขาสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม "ชญานุช วีรสาร" จึงได้นำเอาเรื่องราวของเขาที่ว่ามาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ภาพที่ฟ้าประทาน" ในโครงการประกวดหนังสั้นเพื่อคนพิการ (E-san creative short film ครั้งที่ 6 ) ในปี พ.ศ. 2552 ก่อนที่เจ้าตัวจะนำมาตัดต่อใหม่โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Portraits from Grace" เพิ่ม subtitle โดยได้ "วิทยา วรมิตร" มาทำดนตรีให้เพื่อส่งไปประกวดในเทศกาลหนังสารคดี Yamagata ที่ญี่ปุ่นปี 2011 (YIDFF 2011)
ทั้งนี้อาจารย์สาวอดีตนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (นศ.ม.) วารสารสนเทศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงข้อคิดที่จะได้จากหนังสั้นเรื่องนี้ว่าจากการที่ตนได้สัมผัสพูดคุยกับตี๋สิ่งที่ได้กลับมาคือ มองโลกในด้านบวกมากขึ้น ตลอดจนเรื่องของความขยันที่มีค่ามากกว่าพรสวรรค์ เรื่องของการให้อภัย และที่สำคัญคือ เรื่องของกำลังใจ ที่เชื่อว่าสำหรับคนที่กำลังท้อแท้ดูแล้วน่าจะอยากลุกขึ้นสู้อีกสักครั้งนั่นเอง
เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 รวมทั้งเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังรู้สึกท้อถอยทั้งหลาย "Super บันเทิง" ขอนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาให้ชมกัน
ตี๋- ชิงชัย ในหนังสั้น “ภาพที่ฟ้าประทาน” ของอาจารย์สาว
ตี๋-ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ในวันที่มือมิอาจจับพู่กันเขียนภาพ
พระราชินีตรัสชื่นชม“ตี๋ ชิงชัย”วาดพระสาทิสลักษณ์ “เก่งมาก”
เมื่อมือขวาบ๊ายบาย จึงรู้ว่ามือซ้ายทรงพลัง กำลังใจจาก “ตี๋” ไม่มีท้อ
“ตี๋-ชิงชัย” ศิลปินนักสู้ กับ หัวใจที่รู้จักคำว่า “ให้อภัย”