xs
xsm
sm
md
lg

‘ตั้งวง’ ประเทศไทย : หนังเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ แห่งปี!!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


สารภาพตามตรงครับว่า “ตั้งวง” เป็นหนังไทยที่ผมไม่มีความคิดที่จะไปดูในโรงเลย อย่างมากก็คงตามเก็บในรูปแบบดีวีดี แต่กระนั้นก็เหมือนฟ้ามีตา ทีมงานการันตีหนังทางช่องซูเปอร์บันเทิงก็มาลากผมไปดูด้วยจนได้ อย่างไรก็ดี เมื่อดูจบ ผมกลับพบว่า นี่คือหนังไทยที่ผมชอบมากที่สุดตั้งแต่ต้นปี

บอกเล่าเล็กน้อยครับว่าเพราะอะไร ผมถึงไม่อยากไปดูหนังเรื่องนี้ทีแรก... “ตั้งวง” เป็นผลงานการกำกับของคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี ซึ่งอันที่จริง ผมดูหนังของเขามาตั้งแต่งานชิ้นแรกๆ ไม่ว่าจะในฐานะคนเขียนบทหรือผู้กำกับ งานอย่าง “เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก” (เขียนบท), “สยิว” (กำกับ เขียนบท), เขียนบทให้กับ “Me Myself ขอให้รักจงเจริญ” และ “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” ที่คุณพงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง กำกับนอกจากนี้ยังมี “เฉิ่ม” และ “กอด” (เขียนบท กำกับ) ผลงานทั้งหมดที่ว่ามา คือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพได้เป็นอย่างดีถึงฝีไม้ลายมือของเขาคนนี้ที่จะว่าไป ก็มีทักษะอีกหลายด้านในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลง หรือศิลปินนักร้องที่เคยมีตำแหน่งเป็นถึงนักร้องนำวงสี่เต่าเธอ

อย่างไรก็ดี หลังจากคงเดช จาตุรันต์รัศมี หันไปทำหนังเล็กๆ หรือจะพูดให้เข้าใจร่วมกันได้ง่ายขึ้นก็คือหนังนอกกระแสที่ไม่ได้สังกัดอยู่กับค่ายใหญ่ทุนหนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “แต่เพียงผู้เดียว” ซึ่งมาพร้อมกับรสชาติที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับหนังเรื่องที่ผ่านมาของเขา แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าหนังไม่ดี หากแต่หนังแนวๆ นี้ ถ้าได้ดูอยู่ที่บ้านแล้วค่อยๆ ละเลียดและรู้สึกนึกคิดกับหนังไป จะเป็นการดีกว่า นั่นก็จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมไม่อยากดูหนังเรื่องใหม่อย่าง “ตั้งวง” ในโรงภาพยนตร์ในตอนแรก

แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะอันที่จริง “ตั้งวง” ไม่ได้ถูกออกแบบให้ดู “ติสต์จ๋า” อย่างที่ใครจะเรียก คือถ้าเปรียบเทียบ...“แต่เพียงผู้เดียว” นั้นพยายามจะไปให้ไกลในแง่ชั้นเชิงกลวิธีและจังหวะการเล่าเรื่องแบบเดียวกับหนังไทยสายแนวอีกหลายเรื่องเคยไปมาแล้ว อย่างพวกงานของคุณเป็นเอก รัตนเรือง ยุค “คำพิพากษาของมหาสมุทร” หรือ “เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล” แต่ “ตั้งวง” เป็นการถอยกลับมาจากจุดนั้น ลดทอนความลึกลับซับซ้อนลง ประเด็นเนื้อหาของเรื่องก็ไม่ซ่อนตัวเองชนิดที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าต้องปีนไดดู ตรงกันข้ามอย่างสุดกู่ ตั้งวงเป็นหนังที่ทั้งดูง่าย แถมเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ดูไปยิ้มไปในหลายฉาก รอบที่ผมดู ผู้ชมหัวเราะคึกครื้นกันตลอดทั้งเรื่อง แต่ที่ต้องบอกว่าเป็นความสุดยอดเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นี่เป็นหนังไทยที่พูดถึงสังคมไทยได้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หนังดีๆ เรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของนักเรียนวัยรุ่นสี่คน “ยอง” กับ “เจ” เด็กเนิรด์ประจำโรงเรียนแม้จะดูเกรียนๆ แต่ก็เป็นเซียนด้านวิทยาศาสตร์ “เบส” นักกีฬาปิงปองผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นตัวแทนโรงเรียน และ “เอ็ม” เด็กหนุ่มผู้หลงรักการเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาทั้งหมดถูกดึงเข้ามาสู่สถานการณ์เดียวกัน เมื่อไปบนบานศาลกล่าวต่อศาลเจ้าปู่แห่งหนึ่งซึ่งสุดท้ายจะต้องมารำแก้บน แต่เพราะไม่เคยรำมาก่อนเลย พวกเขาจึงไปเรียนกับ “พี่นัท” นางรำรับจ้าง โดยมีท่ารำที่ต้องทำให้ได้ก็คือ ท่า “ตั้งวง”

เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบในหลายด้าน ตั้งแต่ศิลปวัฒนธรรมอย่างรำไทย ไปจนถึงภาพฉากการเมืองซึ่งใส่เข้ามาอย่างจงใจ ผมจึงขออนุญาตไล่เรียงไปในทีละประเด็น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็น เพราะโดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า ถ้าไม่แตะองค์ประกอบของหนังเลย คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ใครที่กังวลว่าอ่านแล้วจะส่งผลต่ออรรถรสการดูหนัง ผมขอให้ข้ามไปอ่านสามย่อหน้าสุดท้ายได้เลยครับ

รากเหง้าที่ถูกท้าทาย
อัตลักษณ์ที่เลือนราง
ไล่ตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งหมายถึงท่ารำไทยอันเป็นวัฒนธรรมรากเหง้าอย่างหนึ่งของบ้านเรา ผลงานชิ้นนี้มีเจตนาชัดเจนที่จะเล่นกับรากเหง้าความเป็นไทย ขณะที่ในภาพยนตร์ตัวอย่างก็มีถ้อยคำตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมาว่าอะไรคือความเป็นไทยและคุณรู้จักความเป็นไทยดีพอแล้วหรือยัง นอกจากนั้น ตั้งแต่เริ่มเรื่อง หนังก็ใส่องค์ประกอบด้านภาพหลายจุดที่เป็นสัญลักษณ์แทนคำพูดว่ารากฐานสังคมไทยนั้นคือสังคมที่มีชีวิตผูกติดอยู่กับ “ความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ” ภาพพระพรหมตรงสี่แยกราชประสงค์ ภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไปจนถึงศาลเจ้าปู่ หิ้งพระในบ้าน และอื่นๆ ทั้งหมดล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์ที่ฝังอยู่ใต้ฐานรากของสังคมไทยทั้งสิ้น

แต่ประเด็นของหนังนั้น ถูกจุดขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผ่านตัวละครตัวแรกๆ อย่าง “เจ” กับ “ยอง” สองเด็กเนิร์ดที่ไปแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเพลี่ยงพล้ำทำท่าจะแพ้ พวกเขาจึงคิดหวังพึ่งอำนาจลี้ลับ นั่นคือการบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าปู่ช่วยพวกเขาให้ได้รับชัยชนะ แน่นอนว่าสิ่งนี้จะมองเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ความจงใจให้เกิดการมาปะทะกันระหว่างสองวัฒนธรรมซึ่งดูเหมือนจะเป็น “คู่ขัดแย้ง” กันโดยเข้าใจได้ คือไสยศาสตร์ความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ เด็กชายสองคนที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับการต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงดูเป็นความน่าตลก หากแต่ยังก่อสงครามเล็กๆ ระหว่างสองคู่ขัดแย้ง และที่หนักข้อขึ้นไปอีก เมื่อทางโรงเรียนรู้ข่าว แล้วว่ากล่าวเด็กทั้งสองว่าไปทำสิ่งไร้สาระ หมายถึงว่า มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ยังจะไปงมงายอะไรอีกกับไสยศาสตร์

อย่างไรก็ตาม หนังมีความพยายามที่จะไม่พิพากษาหรือตัดสินถูกผิดความคิดความเชื่อเหล่านั้น เท่าๆ กับที่มีความตั้งใจที่จะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลหรือกระทั่งการ “มอบตน” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งโดยอิดออดไม่เต็มใจ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง หรือเชื่อหมดใจ ที่มีอยู่ในวิถีปกติของคนไทย ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม แต่ถือเป็นฉากสำคัญที่จะทำให้เราสะกดรอยตาม “ความเป็นไทย” ได้อย่างดี ก็คือฉากบนโต๊ะอาหารในบ้านของ “ยอง” ซึ่งทันทีที่พ่อแม่ของยองรู้ว่าเขาไปบนบานเจ้าปู่จนตนเองชนะการแข่งขัน ก็ตำหนิติเตียนลูกว่าไปเชื่ออะไรไร้สาระ แต่พอลูกเล่าความฝันเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า เหมือนมีคนมาเอาของรางวัลคืนไปหมด พ่อแม่ของยองก็รีบบอกทันทีว่าให้รีบไปแก้บน เพราะ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”!!

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่อะไร หากแต่เป็นมุมมองของหนังที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า ในยุคสมัยที่ดูจะรุดหน้าไปไกล ทั้งในเชิงรูปแบบการดำเนินชีวิตและวิทยาการความรู้ แต่อีกมุมหนึ่ง เรายังคงสถิตอยู่กับความคิดความเชื่อกับเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) แบบยากที่จะบอก “พิกัดจุดเวลา” ที่ยุคสมัยซึ่งเราดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน คล้ายกับว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในหลายๆ ยุคในเวลา มากกว่าจะเป็นยุคใดยุคหนึ่งจริงๆ เหมือนกับที่นักวิชาการทางสังคมหลายคนบอกว่า เรามีองค์ประกอบจากหลายยุคอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เราสามารถเห็นสิ่งที่ย้อนยุคสุดๆ (ผมไม่อยากใช้คำว่า “ล้าหลัง”) เท่ากับสามารถเห็นสิ่งที่ก้าวล้ำสุดๆ ในมืออาจถือไอโฟนหรือหิ้วกระเป๋าปราด้า แต่เราคนไทยก็พร้อมจะเดินไปหาหมอดูให้เช็กดวงหรือทำพิธีบวงสรวงโน่นนี่ มองในแง่ดี สังคมแบบนี้คือสังคมแบบพหุวัฒนธรรมที่มีวัฒนธรรมหลายแบบรวมกันอยู่ แต่ใช่หรือไม่ว่า ความหลากหลาย บ่อยครั้งก็กลับกลายเป็นความสับสนอลหม่าน ทำให้ผู้คนไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเป็นหรือรู้สึกนึกคิดจริงๆ เหมือนกับที่ตัวละครเด็กชายทั้งสี่คนในเรื่องที่เกิดความสับสนไม่รู้ว่าตนควรจะ “เชื่อ” หรือ “ทำ” อย่างไร

ในยุคสมัยแบบนี้ หนังเหมือนจะแสดงความเห็นออกมาเบาๆ ว่ามันทำให้เราดำรงอยู่อย่างไม่มั่นคงด้วย ผ่านภาพจากกล้องที่ดูจงใจให้เป็นภาพสั่นในหลายครั้ง ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายเป็นสัญลักษณ์ทางใจของผู้คนในยุคที่สับสนอลหม่านไม่มั่นคง กระทั่งสรุปไม่ได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเป็นเช่นไร เหมือนกับที่ตัวละครเกิดความสงสัยในตัวเองว่าตกลงแล้ว ตนเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆ สุดท้ายก็สั่งสมเป็นปมสับสนขัดแย้งอยู่ในใจ จะอยู่กับรากเหง้าของตัวเองก็ลังเลสงสัย จะถอดรื้อสิ่งเก่าๆ แล้วโบยบินสู่วิถีแบบใหม่อย่างอิสระ ก็รู้สึกไม่มั่นใจ เช่นเดียวกับตัวละครเด็กชายทั้งสี่คนที่ไม่รู้จะ “เอาอย่างไร” กับตัวเองจริงๆ จะวิ่งไปข้างหน้าแบบไม่ต้องแคร์สายตาของไสยศาสตร์ความเชื่ออะไรเลย? จะอยู่กับรากเหง้าวิถีแบบเดิมๆ อย่างเต็มที่? หรือจะเงอะๆ งะๆ เก้ๆ กังๆ อยู่กลางทาง เหมือนคนซึ่งทำทีว่าจะตั้งท่า “ตั้งวง” ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จสักที

ในส่วนนี้ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งซึ่งหนังนำเสนอออกมาและน่าถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก คือ “เนื้อหารอง” (Sub-Text) ที่ซ้อนเข้ามา แต่ทว่าเป็นเนื้อหารองที่มองข้ามไม่ได้ เพราะไหนๆ ก็แตะสังคมไทยในหลายด้านแล้ว หนังก็ไม่หลงลืมที่จะพูดประเด็นการศึกษาไปจนถึงครอบครัวผู้หลักผู้ใหญ่ที่ควรจะยืนเป็น “เสาหลัก” หรือ “ที่พึ่ง” ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่...สถาบันการศึกษานั้นต่อต้านอย่างรุนแรงต่อเรื่องไสยศาสตร์ กราดเกรี้ยวต่อเรื่องเหนือธรรมชาติ แน่นอนว่า นี่ย่อมไม่ใช่วิถีทางของการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจอะไรได้ คำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์มันเป็นเรื่องไร้สาระ” ที่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์พยายามบอกเด็กๆ นั้น ไม่เพียงพอต่อการจะทำให้พวกเขาเกิดภูมิปัญญาที่จะหาวิธีอยู่ร่วมหรือทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้

ในขณะเดียวกัน ค่านิยมทางการศึกษาบางอย่างก็ดูจะไม่ใช่การนำทางไปสู่ฝั่งแห่งสติปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนกับพ่อแม่ของเด็กคนหนึ่งในเรื่องซึ่งสนับสนุนให้ลูกไปเรียนสิงคโปร์ เนื่องจาก “ไปเรียนสิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากไปเรียนที่อังกฤษ เพราะสิงคโปร์เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ” คือถ้าผู้ใหญ่คิดกันได้ขนาดนี้ ก็คงไม่ต้องไปสนใจว่าอะไรจะตามมา

เมื่อเรื่องการมุ้ง
สะท้อนเรื่องการเมือง
ในส่วนนี้ ผมคิดว่าเรื่องราวหนึ่งซึ่งควรหยิบยกมาพูดถึง ก็คือตัวละครอย่าง “เอ็ม” เด็กหนุ่มนักเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลี ตอนแรกๆ ผมพยายามมองหาความเชื่อมโยงว่าหนังใส่มาทำไม ทั้งที่เนื้อหาในส่วนของยองกับเจก็น่าจะตอบโจทย์ได้แล้วในเชิงการปะทะระหว่างสองวัฒนธรรม กระนั้นก็ดี พอนั่งลงวิเคราะห์กันจริงๆ กลับพบว่า เนื้อหาในส่วนของเอ็ม ไปไกลกว่าแค่การนำเสนอให้เห็นถึงการปะทะระหว่างสองวัฒนธรรม (ไทย-เกาหลี) หากแต่มันเกี่ยวข้องโยงใยกับเรื่องใหญ่อย่างความเป็นชาติ ถ้าเรายอมรับว่าศิลปวัฒนธรรมคืออวัยวะส่วนหนึ่งของชาติ หนังเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าความเป็นชาติไทยของเรานั้นกำลังถูกรุกคืบโดยวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ โดยมีเพลงเกาหลีเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง

กระนั้น น้ำเสียงของหนังก็ไม่ได้ออกไปในทางเรียกร้องให้คนไทยต้องหันมาฟังเพลงไทย นุ่งสไบ ใส่หมวก เหมือนกับอดีตผู้นำบางท่าน ตรงกันข้าม หนังชวนตั้งคำถาม (อีกแล้ว) และพยายามทำความเข้าใจว่าเราควรจะวางตัวอย่างไร ท่ามกลางการหลั่งไหลถ่ายเทเข้ามาของวัฒนธรรมต่างๆ ตัวละครประกอบตัวหนึ่งซึ่งหนังใส่เข้ามาเพียงฉากเดียว แต่พูดสิ่งที่กระทบใจของเอ็มได้อย่างมหาศาล ด้วยคำว่า จะเต้นเพลงเกาหลีไปทำไม ไร้สาระ ตั้งใจเรียนแล้วจบออกไปทำมาหาเลี้ยงพ่อแม่ไม่ดีกว่าเหรอ...แน่นอนว่า กิริยาแบบนี้ก็ไม่ต่างไปจากครูของโรงเรียนที่พูดกับเจและยองเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลำพังแค่เพียงตะคอกบอกว่า “เต้นเกาหลี เป็นสิ่งที่ไร้สาระ” นั้นไม่เพียงพอต่อการจะทำให้ใครตะหนักรู้ถึงคุณค่า ไม่ว่าจะคุณค่าของชีวิตหรือกระทั่งวัฒนธรรม

ขยับออกไปอีกสักนิด เนื้อหาในส่วนของเอ็ม ดูจะมีประเด็นต่อยอดให้คิดต่อได้อีก เมื่อไปถึงจุดที่เอ็มรู้ว่าเด็กสาวที่เขาคั่วอยู่ “ส่ออาการว่าท้อง” ซึ่งสามารถนำไปตีความสอดคล้องกับเรื่องของการใส่ฉากการเมืองเข้ามา

ฉากการเมืองที่ว่า คือภาพการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งผู้ที่ชุมนุมนั้นก็คือกลุ่มคนเสื้อแดง คำถามก็คือ เพราะอะไร หนังจึงจงใจใช้เพียงภาพการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ทั้งที่จะว่าไป จะใช้ภาพทางฝ่ายเสื้อเหลืองด้วยก็ได้ ในความเข้าใจส่วนตัว คิดว่าส่วนหนึ่ง หนังกำลังจับ “คู่ขัดแย้ง” (ที่ไม่ใช่ “แดง” กับ “เหลือง”) ขึ้นมาอีกคู่หนึ่ง เหมือนกับที่เคยจับเอาวิทยาศาสตร์ไปปะทะกับเรื่องพลังลี้ลับเหนือธรรมชาติ เพราะอย่าลืมว่า “นปช.” นั้นเป็นคำย่อของ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” ใจความสำคัญมันอยู่ที่คำว่า “ประชาธิปไตย” หนังอาจมีประโยคจิกกัดกลุ่มคนเสื้อแดงบ้างที่บอกว่า ไปชุมนุมได้เงินเท่าไหร่กันเชียว...แต่ลึกลงไปกว่านั้น ผมคิดว่าหนังกำลังพูดถึงความความอลหม่านอีกด้านหนึ่งของสังคมเรา เหมือนกับที่พูดเรื่องความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ มันคือความสับสนอลหม่านต่อการที่จะก้าวไปข้างหน้า ท่ามกลางการครอบงำของคำว่า “ประชาธิปไตย” และสังคมก็ปะทะกระแทกกระทั่งแตกแยกเพราะคำคำนี้

แต่สิ่งที่ถือเป็นหัวใจของหนัง ก็เหมือนกับตอนที่ไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งใดยิ่งใหญ่หรือสิ่งใดเหลวไหลต่ำต้อยเมื่อพูดถึงความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับวิทยาศาสตร์ เพราะกับเรื่องอย่าง “ประชาธิปไตย” หนังก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด และที่สำคัญ ไม่ได้จะบอกว่าการเมืองแบบไหนดีหรือไม่ดี แต่นำเสนอให้เห็นความเป็นจริงทางการเมืองในภาพรวมของบ้านเราที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เราโหยหาอยากได้อะไรบางอย่างจนถึงขั้นยอมเสียเลือดเสียเนื้อ เหมือนกับที่เอ็มอยากได้แฟนสาวจนยอมประนีประนอมกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วไปบนบานศาลกล่าว แต่เมื่อแฟนสาวของเขาบอกว่าท้อง เอ็มก็ออกอาการอิดออด เปลี่ยนไปในท่าทีอย่างทันควัน

ตลอดระยะเวลามากกว่า 80 ปีบนเส้นทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเราล้มลุกคลุกคลานและสมบุกสมบันกับสิ่งนี้อย่างสาหัสสากรรจ์ ความคิดหนึ่งซึ่งจับต้องได้ผ่านหนังเรื่องนี้ อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่น่าจะเป็นการตั้งคำถามที่ดี นั่นก็คือ เราก็ดูเหมือนไม่ต่างไปจาก “เอ็ม” ที่โหยหาอยากได้ในคนรัก และไม่ต่างไปจากตัวละครอีกหนึ่งตัวอย่าง “เจ” ที่ไปกอด “พี่นัท” ด้วยคิดว่าชอบ แต่พอพี่นัทบอกว่าเธอเป็นกะเทย เจก็เปลี่ยนท่าทีราวพลิกฝ่ามือ เช่นเดียวกัน ประชาธิปไตยที่เราเรียกร้องต้องการกันนักหนา สุดท้ายแล้วเรากระทำต่อมันอย่างไร เพราะประชาธิปไตยก็มีปัญหาในแบบของมัน ดังนั้น หลักใหญ่ใจความควรจะเป็นอย่างไร ใช่ต้องประคับประคองไป ดูแลกันไปหรือไม่? หรือว่าได้ “ฟัน” แล้ว สุขสมแล้ว พอมีปัญหาก็คิดจะวางมือ เหมือนกับเด็กหนุ่มอย่างเอ็มที่พอรู้ว่าสาวท้องก็ออกลาย หรือเหมือนกับเจที่พอรู้ว่าคนที่ตนเองปล้นกอด (มันคือการ “ปล้นกอด” ชัดๆ) ไปเมื่อครู่ ไม่ใช่ผู้หญิง ก็ชิ่งออกไปอีกทาง?

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับความสงสัยในตัวตนของตัวเอง ก็ถูกแทรกเข้ามาในส่วนนี้ด้วย เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมต้องเผชิญหน้ากับ ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่งหนังก็แช่ภาพ ศอฉ.ประกาศทางทีวีอยู่นานหลายนาที และอย่างที่บอกว่าหนังไม่ได้ต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรว่าใครดีใครไม่ดีในทางการเมือง แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการซ้อนทับกันอยู่ของวัฒนธรรมการเมืองสองแบบที่ยังคงดำรงอยู่ในบ้านเรา ผลลัพธ์ของมันก็เหมือนวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ คือสร้างความงุนงงสงสัยในตัวตน (Identity) ของตัวเองว่าแท้ที่จริงเราเป็นเช่นใด หรือสังกัดยุคไหนสมัยใดกันแน่?

‘ตั้งวง’ ไม่ใช่ ‘โหมโรง’
ไม่เชิดชู แต่ตั้งคำถาม
เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบที่เกี่ยวกับรำไทย จึงเป็นไปได้ยากที่จะคิดเปรียบเทียบก่อนดูว่ามันเหมือนกับหนังไทยก่อนหน้านี้อย่างเรื่อง “โหมโรง” หรือเปล่า กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม โหมโรงนั้นเป็นหนังดีที่พยายามสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยมีระนาดเป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือให้คนสนใจกลับมามอง “ของดี” ที่มีอยู่ในเมืองไทย แต่นี่ไม่ใช่วิธีนำเสนอในแบบของหนัง “ตั้งวง” นั่นหมายความว่า ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว คงไม่มีใครไปซื้อชุดสไบมาใส่เดินตามท้องถนน (แค่คิดก็น่าขนลุกแล้ว) หรือเกิดกระแสเด็กๆ ไปสมัครเรียนรำไทย เหมือนกับที่เคยไปซื้อระนาดและไปเรียนตีระนาดหลังจากดูเรื่องโหมโรง เพราะสิ่งที่ตั้งวงปรารถนาให้เกิดกับคนดู เท่าที่จับน้ำเสียงได้ คือการหันกลับมาตรวจสอบตั้งคำถามต่อความเป็นไปในสังคมเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์รากเหง้าของเราเอง

คงคล้ายๆ กับเรื่องไสยศาสตร์ความเชื่อ ความเป็นไทยที่ถูกสื่อผ่านการรำไทยหรือชุดไทย ฉาบเคลือบไปด้วยความสงสัย ไม่แน่ใจ กระทั่งเห็นว่าเป็นเรื่องเชย ล้าสมัย หรือ “ไร้สาระ” อย่างที่ตัวละครในเรื่องว่า และไม่ใช่เพียงแค่นั้น นอกเหนือไปจากความขลังความศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ว่าจะของศาลเจ้าหรือรำไทย) ที่ดูจะกลายเป็นเรื่องตลกในสายตาผู้คนจำนวนไม่น้อยไปแล้วนั้น สิ่งเหล่านี้ยังดูเหมือนจะเหลือคุณค่าเพียงแค่เครื่องมือในการทำมาหากินหรือถูกทำให้เป็นธุรกิจตามวิถี “แปลงวัฒนธรรมให้เป็นทุน” มันก็ไม่ต่างอะไรจากที่เราเห็นคนสวมใส่ชุดสไบรำไทยอยู่ตามโรงแรมหรูๆ แล้วเรียกขานว่านั่นคือเอกลักษณ์ความเป็นไทย แน่นอน มันไม่ผิด แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด

พูดแบบตรงไปตรงมา คงต้องบอกว่า ประเด็นของหนังไม่ได้โฟกัสหรือเรียกร้องให้ใครลุกขึ้นมาเก็บกวาดปัดฝุ่นศิลปวัฒนธรรมไทย หากแต่สื่อให้เห็นถึง “ความเป็นไทย” ของผู้คนในยุคสมัยที่ “หลากหลายจนสับสนอลหม่าน” ในหลายด้าน

ขณะที่ในทางการเมือง เราก็ดูวุ่นวายสับสน เหมือนเด็กชายสี่คนที่แม้จะมีความตั้งใจอันดีในการที่จะ “ตั้งวง” อย่างพร้อมเพรียงให้ได้ นักเรียนตัวอ้วนอย่างเจพยายามเปรียบเทียบกลุ่มของเขาว่าเหมือนพวกการ์ตูนฮีโร่ญี่ปุ่นที่รวมตัวกันเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (ไม่แปลกที่ฟอนท์ตัวหนังสือบนโปสเตอร์หนังก็ถูกดีไซน์ให้มีสไตล์คล้ายฟอนท์ที่เราเห็นในการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างพวกอุลตร้าแมน) แต่สุดท้าย ภารกิจตั้งวงของพวกเขาก็ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะตั้งกันคนละทีสองที แถมทุ่มเถียงขัดแย้งกันไปมา ชนิดที่ไม่สามารถใช้คำว่า “เป็นวง” ได้ และที่เลวร้ายไปกว่านั้น ยังมีใครบางคน ดันแอบไป “ตั้งวง” รำแก้บนศาลเจ้าก่อนคนเดียวเสียด้วยซ้ำ

คำว่า “ตั้งวง” จึงกินความหมายมากไปกว่าการเป็นแค่ชื่อของท่ารำ หากแต่ตอกย้ำว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยๆ ก็ในช่วงเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านพ้น การเมืองไทยไม่เคย “ตั้งวง” ได้สำเร็จ แม้ล่าสุดจะมีการตั้งวงสภาปฏิรูปอะไรสักอย่าง ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นแค่วงปาหี่ อย่างที่วิพากษ์กันว่ามันก็คือการปฏิรูปเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้ให้ตนเองและคนบางกลุ่มสามารถทำมาหารับประทานต่อไปได้ แต่ไม่ช่วยให้ประเทศชาติโดยรวมดีขึ้น องค์ประกอบภาพอีกอย่างที่หนังใส่เข้ามาอย่างจงใจ ก็คือถ้อยคำซึ่งสกรีนอยู่บนเสื้อยืดของตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง อย่างคำว่า “สามัคคีประเทศไทย” ก็ดูเป็นการเสียดสีเย้ยหยันมากกว่าจะบอกว่าประเทศไทยเรา “ตั้งวงกันได้ดี”

ส่วนในทางวัฒนธรรม ก็มีเรื่องราวน่าขำแต่หัวเราะไม่ออก กับฉากท้ายๆ ในหนังที่มีไทยมุงไปรุมหัวเราะเยาะการรำของเด็กๆ ว่าไม่ได้เรื่อง ก็นับเป็นความเจ็บปวดสะท้อนใจในแบบหนึ่งว่า จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้อะไรนักหรอกกับ “รากเหง้า” ของเราเอง จะเป็นคนที่ “มีวัฒนธรรม” สักหน่อย ก็ต้องให้ “อ่อนช้อยสวยงาม” ผิดจากนี้จะดูเป็นเรื่องตลกน่าขบขันไปทันที

เท่าๆ กับที่เริ่มต้นอย่างอลหม่าน หนังเรื่องนี้ก็ดูจะเดินทางไปถึงจุดจบที่ไม่ได้พบกับความราบเรียบเช่นกัน และมันคงเป็นการกระทำที่โง่เขลาเกินไปถ้าจะตัดสินว่าหนังสรุปไว้อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งซึ่งผมมองว่าน่าคิดก็คือ หลังจากผ่านพบเรื่องราวหลากหลายมาแล้ว ตัวละครทั้งหมดในเรื่อง (เด็กชายทั้งสี่คน) ก็ดูเหมือนจะกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศละทาง มันไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านและเติบโตแบบเด็กชายสี่คนในหนัง Stand by Me แต่หมายถึงการหาที่ทางสักที่ซึ่งเหมาะสมกับตัวเองหลังจากที่อยู่กับความขัดแย้งสับสนมาจนเพียงพอแล้ว

“ยอง” ที่ตัดสินใจไปเรียนเมืองนอก บรรยายบอกไว้ในตอนหนึ่งประมาณว่า “สุดท้ายแล้ว เราทั้งหมดก็ทำเพื่อตัวเองและเห็นแก่ตัวเองทั้งนั้น” อันที่จริง มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดบาปประการใดหากไม่เป็นไปในเชิงลบ เพราะในยุคสมัยที่สับสนอลหม่านจนดูเหมือนจะไม่มีสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยวได้จริงๆ ไม่ว่าจะการศึกษา การเมือง สังคมวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ปกครอง การเห็นแก่ตัวเอง ในความหมายที่ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่คือการ “ดูแลตัวเองให้ดี” ดูจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่ากากบาทมากที่สุดแล้ว
......................
ว่ากันอย่างถึงที่สุด หนังเล็กๆ หนึ่งเรื่อง แต่สามารถหลอมรวมเอาแง่มุมอันหลากหลายมานำเสนอได้อย่างมีเอกภาพและแหลมคมแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ นะครับ คุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี ควรบันทึกไว้ว่า นี่คือผลงานที่จัดได้ว่า “สุดยอด” มากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตการทำหนังของเขา ขณะที่คุณติ๊ก-กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ ที่เปลี่ยนจากนักแสดงมาเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ ถือว่ามีวิสัยทัศน์และสมควรได้รับความภาคภูมิใจไปแบบเกินร้อย

ผมเคยพูดไว้ทั้งในรายการการันตีและวิวไฟน์เดอร์ ว่าหนังเรื่องนี้ ถ้านำมาวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับมันจริงๆ จะทำให้เรามองเห็นภาพของสังคมไทยในหลากหลายมิติ และพลังของมันก็มากเพียงพอที่จะทำให้เรากลับมาสำรวจตรวจสอบกระทั่งตั้งคำถามต่อความเป็นไป เพื่อทำความเข้าใจในตัวของเราเอง เพราะมีก็แต่ผู้ที่เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้เท่านั้นที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพให้รุดหน้าต่อไปได้ หนังเรื่องนี้เหมาะกับคนไทยทุกคน และมันเป็นหนังที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้คน สังคม และชาติบ้านเมืองได้

สรุปสุดท้าย “ตั้งวง” ถือเป็นความทะเยอทะยานของหนังฟอร์มเล็กๆ เรื่องหนึ่งซึ่งประเมินแล้วไม่มีทางทำเงินมาก แต่หากมันสามารถนำไปสู่การ “ตั้งวง” เพื่อถกเถียงขบคิดกันได้ในกลุ่มคนดู ผมว่านี่ก็คือความสำเร็จขั้นสุดยอดของงานชิ้นนี้แล้ว ในยุคที่วงสุราและวงซุบซิบนินทาหาได้ง่ายกว่าวงสนทนาเพื่อต่อยอดสติปัญญาอย่างเช่นทุกวันนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น