หลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง “แต่เพียงผู้เดียว” ทั้งในแง่ของรางวัล และรายได้ที่สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในวงการหนังนอกกระแส ส่งให้ชื่อของ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” กลายเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ชื่อดังของวงการ
“ถือเป็นหนังอิสระที่ทำเงินตอนขายตั๋วได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้ว่ามันยังไม่ดีพอที่จะตอบโจทย์ทางธุรกิจ แต่มันดีสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น” เขาเอ่ยถึงความสำเร็จของรายได้จากภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาออกมาสร้างนอกระบบสตูดิโอ
สำหรับแฟนหนังหลายคนคงจะคุ้นชินกับสำเนียงหนังของผู้กำกับคนนี้ที่มักจะวางตัวเองไว้ระหว่าง “ความบันเทิง” กับ “เนื้อหา” ได้อย่างแยบคายจากผลงานที่ผ่านมาของเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง “สยิว” ภาพยนตร์รักรสแปลกอย่าง “เฉิ่ม” จนกระทั่งถึงหนังที่เต็มไปด้วยความเว้าแหว่งอย่าง “กอด”
“หนังอย่างสยิว, เฉิ่ม, กอด ถ้ามาสร้างตอนนี้ไม่มีนายทุนหน้ามืดที่ไหนเขาให้สร้างแล้ว มันกลายเป็นหนังอินดี้ไปแล้ว”
กับผลงานใหม่ของเขา “ตั้งวง” จากจุดเริ่มที่เป็นหนังเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สสร.) แต่กลับกลายเป็นหนังที่ตั้งคำถามกับคำว่า “วัฒนธรรมไทย” เสียเอง
“พอเราได้โจทย์ที่จะต้องพูดถึงวัฒนธรรมไทย เราก็พยายามหาข้อมูลว่า วัฒนธรรมไทยมันคืออะไร?” หลังจากควานหาคำตอบเขาก็พบกับความหลากหลายที่หลวมรวมกันอยู่ในสังคม ตั้งแต่เด็กขายพวงมาลัยกลาง 4 แยก การรำแก้บน จนถึงกลุ่มเด็กเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลีในเซ็นเตอร์พ้อยท์
“แล้วมันก็ตอบยาก แต่ก็เกิดคำถามหนึ่งขึ้นมาว่า ยังมีคนสนใจอีกเหรอว่า วัฒนธรรมไทยมันคืออะไร?”
“แต่เพียงผู้เดียว” การตลาดของหนังอิสระ
ความสำเร็จที่สร้างปรากฏการณ์ของ “แต่เพียงผู้เดียว” ภาพยนตร์นอกระบบสตูดิโอเรื่องแรกของเขาซึ่งเป็นหนังคอนเซ็ปชวลอาร์ตที่จัดอยู่ในหนังประเภท “ดูยาก” ดังนั้นการทำการตลาดของหนังที่สามารถดึงให้ผู้ชมตีตั๋วเข้าโรงหนังได้นั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา
“โดยปกติหนังอิสระมันจะเข้าโรงอย่างเงียบๆ แล้วก็ออกไปอย่างเงียบๆ” เขาเอ่ยถึงธรรมชาติของหนังอินดี้ “เราเข้าใจว่าคนที่เคยทำหนังอิสระทั่วไปจะมีความรู้สึกว่า ฉันทำการตลาดไม่เป็นหรอก ทำแล้วเดี๋ยวจะไม่คูล (cool)ว่ะ มันก็เลยมีกำแพงที่เขาไม่สามารถข้ามไปหาคนดูได้...แต่เรากลับไม่อยากและไม่ยอมให้หนังของเรามันเป็นแบบนั้น”
การตลาดของหนังอินดี้จึงเกิดขึ้น โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเลยว่า “อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร” หรือเล็ก กรีซซี่ คาเฟ่ (Greasy cafe) นักร้องและเป็นนักแสดงนำของเรื่องจะกลายเป็นอาวุธที่ทำให้หนังของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
“ตอนถ่ายก็ไม่รู้เพราะช่วงนั้นแกยังไม่ดัง” เขาเอ่ยถึงเล็ก กรีซซี่ คาเฟ่ “แต่พอหนังจะเข้าฉายปรากฏแกดังแบบพุ่งสูงเลย แล้วแกก็แฮปปี้กับหนัง พอกลับจากที่ไปฉายเวนิชด้วยกันแกอินทุกอย่างพร้อมที่จะทำกิจกรรมด้วยกัน เราก็รู้เลยว่า นี่คืออาวุธของเรา เราก็เลยใช้สิ่งนี้ทลายกำแพงไปหาคนดูให้มากที่สุด”
การปรากฎตัวต่อหน้าสื่อต่างๆ การทำกิจกรรมแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับนักแสดงนำ เขาจัดการทุกอย่างเพื่อให้หนังเข้าถึงคนดูให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ “แต่เพียงผู้เดียว” สามารถทลายกำแพงของหนังอิสระเข้าหาคนดูหมู่มากได้สำเร็จ และขณะเดียวกันมันก็ทลายกำแพงของคนทำหนังอิสระที่ขังตัวเองไว้ห่างจากคนดูอีกด้วย
“ในแง่ที่โรงหนังเองก็ยอมรับว่ามันกลายเป็นหนังที่คึกคัก ฉายแค่ 1- 2 ก็อปปี้มันได้เงินพอสมควร แม้จะไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ แต่มันดีที่โรงหนังหันกลับมามองหนังอินดี้แล้วให้พื้นที่กับมัน”
กับโปรเจกต์ต่อไปของหนังแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ต หลังความสำเร็จที่ผ่านพ้นไปของ “แต่เพียงผู้เดียว” หรืออีกชื่อ P-407 เขายิ้มพร้อมเผยถึงโปรเจกต์ที่ใกล้เปิดตัวของ P-408 ซึ่งเป็นหนังที่จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ P-407 ได้สร้างเอาไว้
“เรากำลังจะมี P-408 แล้ว มันประกาศแล้วแหละ เราจะไปคุยโปรเจคที่ปูซานประมาณตุลาคมนี้ มันได้รับการคัดเลือกให้คุยเกี่ยวกับโปรเจ็กต์เพื่อหาทุนร่วมที่นั่น ซึ่งมันมักจะไม่ได้ตังค์แต่ไม่เป็นไร เราไม่ได้หวังว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่มันทำให้โอกาสที่โปรเจกต์จะได้รับสตาร์ทมากขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเริ่มต้นของโปรเจกต์”
“ตั้งวง”
จากโปสเตอร์ของภาพยนตร์ “ตั้งวง” ที่มีเด็กหนุ่มหน้าตากลางๆ 4 ตัวอยู่ในชุดรำวง พร้อมท่าตั้งวงรำบนพื้นหลังเป็นอวกาศและตัวอักษรที่ดูราวกับขบวนการพิทักษ์โลก ว่าไปแล้วก็เหมือนหลุดออกมาจากขบวนการ 5 สี โดยเรื่องย่อของหนังจะว่าด้วยกลุ่มวัยรุ่น 4 คนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้บนด้วยการรำวงถวายพ่อปู่ ว่าไปแล้วก็ให้อารมณ์หนังญี่ปุ่นแนวร่วมแรงร่วมใจอย่างที่ไม่ค่อยพบในหนังไทย
“เราเล่นล้อกับขนบของหนังญี่ปุ่น แต่ท้ายที่สุดบริบทต่างๆ ทั้งวัยรุ่นที่อาศัยในฟอร์ตดินแดง การรำแก้บนหรือแม้แต่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองมันก็เป็นไทยมากๆ” เขาเอ่ยถึงตัวเรื่องและบริบทของหนังที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมทางการเมืองพอดี
เหตุใดหนังวัยรุ่นฟอร์มเล็กจึงเลือกที่จะวางตัวเองลงในความล่อแหลมของสถานการณ์ที่หนังอาจถูกแบนได้ตลอดเวลา แต่เรตที่ออกมาของหนังก็เป็นเรตทั่วไป เขาดีใจกับการเปิดรับที่เกิดขึ้นจากทั้งจากสสร.ที่ให้ทุน และการไม่แบนหนังเรื่องนี้แม้จะมีภาพเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองอยู่ในหนัง
“เรามีความระมัดระวังกับเรื่องนี้เพราะทีมงานเราก็มีทุกสี และเป็นทุกสีอย่างเข้มข้นด้วย เราจะไม่ให้หนังเรื่องนี้มันเป็นเครื่องมือทางการเมืองขนาดนั้น ประเด็นคือเรากำลังพูดถึงเด็กที่เติบโตมาในบริบทที่เปลี่ยนไปแล้ว เรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ล้อมเราโดยที่เราเลี่ยงไม่ได้แล้ว เราไม่บอกว่าสีไหนเป็นยังไง เราคิดว่าสำหรับหนังจุดยืนตรงนี้ชัดเจนนะ”
ทั้งนี้ การทำงานในหนังเรื่องนี้ คงเดชได้รับงบประมาณที่จำกัด แต่ก็เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาในการทำงานหนังซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัด และการจัดการกับข้อจำกัดเหล่านั้นก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่งในการทำหนังในแบบของเขา
“จริงๆ ก็ต้องให้เครดิต สสร.นะ ที่เขาใจกว้างยอมให้เราทำหนังเรื่องนี้ เพราะโจทย์มันคือวัฒนธรรมไทย แต่มันไม่ใช่หนังขายวัฒนธรรมขนาดนั้น มันกลับตั้งคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมเสียอีก”
ในส่วนของการเขียนบทนั้นการหาไอเดียจากเรื่องราวต่างๆ เขาในฐานะที่ผ่านงานทั้งกำกับและเขียนบทมามากมาย มองว่า ไอเดียมักจะโผล่ขึ้นมาเองในชีวิตประจำวัน เพียงแค่ใช้ชีวิตธรรมดา อ่านเฟซบุ๊ค กระทู้พันทิป หรือหนังสือพิมพ์ เรื่องราวก็มีอยู่รอบตัวมากพอแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเจอสิ่งที่น่าสนใจเท่านั้น
“ประเด็นอยู่ที่ว่าเวลามันมีเรื่องต่างๆ มากระทบใจ เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่า เรารู้สึกยังไงกับมัน? ทำไมมันถึงกระทบใจเรา? ถ้าเราสลัดมันออกไปไม่ได้ มันเป็นเพราะอะไร? สักพักเราจะเริ่มเจอมุมมองบางอย่างที่ในที่สุด คำตอบของคำถามเหล่านั้นมันจะทำให้เราได้หนังออกมา”
วัฒนธรรมไทยที่สั่นสะเทือนจิตใจ
ประเด็นทางวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก หลายคนก็หลายนิยาม บ้างก็มองว่าวัฒนธรรมคือสิ่งดีงาม บ้างมองว่าวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต กับการค้นหานิยามของ “วัฒนธรรมไทย” ด้วยวิธีคิดที่ตั้งคำถามเพื่อหาประเด็นที่น่าสนใจ และกระทบจิตใจเพื่อสร้างเป็นหนัง
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเขาคือ การที่เขาไม่แคล์ว่าอะไรคือวัฒนธรรมไทย? สิ่งนี้เองจึงทำให้เกิดการเดินเรื่องด้วยความแตกต่างของความเชื่ออย่าง การที่เด็กหัวก้าวหน้าตอบคำถามวิทยาศาสตร์ แต่มองหาทางช่วยที่เป็นไสยศาสตร์ และเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เขาวางขึ้นตามเงื่อนไขของเรื่อง หากแต่เป็นสิ่งที่เขาพบเจอในวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว
“มันน่าตลกคือทุกวันนี้ยิ่งเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างมันไฮเทคขึ้น ทุกความฝันมันกำลังจะกลายเป็นจริงแล้ว แต่เรากลับยิ่งรู้สึกว่า มันเป็นยุคที่ทุกคนยิ่งโหยหาอะไรที่ไม่มีเหตุผลให้ยึดเหนี่ยว”
เขาเผยพร้อมรอยยิ้มว่า มีคนรู้จักที่หัวสมัยใหม่มากหลายคน แต่พอเข้าตาจนหรือถึงคราววิกฤตของชีวิตก็ลงเอยด้วยการบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ตัวเขาเองที่แม้จะไม่ได้บนบานศาลกล่าว หากแต่ทุกครั้งที่ไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน เขาจะไหว้อย่างจริงจัง และพูดกับญาติผู้ล่วงลับราวกับยืนอยู่ตรงหน้าเขา
“เราก็รู้สึกว่า ความย้อนแย้งเหล่านี้มันมีมากในตัวสังคมอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ปากว่าตาขยับเพราะเราไม่ได้เห็นไอ้คนที่ไปดูดวงจะต่อต้านการดูดวง แต่หมายความว่า แม้ฉันจะมีความคิดสมัยใหม่อยู่ในยุคโพสต์ - โมเดิร์น(post - modern) แล้วนะ แต่ฉันก็ดูดวงด้วยเพราะฉันต้องการความสบายใจ”
ทั้งนี้ ความย้อนแย้งในเชิงวัฒนธรรมที่ความเชื่อเก่ากับความเป็นสมัยใหม่ปะทะ หลอมรวม เขาใช้คำว่า เบลอจนไม่รู้แล้วว่า อะไรคือวัฒนธรรมไทย ซึ่งเส้นขอบเขตทางวัฒนธรรมที่หายไปนี้หลังจากทำหนังเสร็จเขาถึงพบว่า มันเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในระดับสากล
แม้หน้าหนังจะไม่ใช่หนังเทศกาลอย่าง “แต่เพียงผู้เดียว” ทว่า หลังจากรอบแรกที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เขาก็ได้รู้ว่า ประเทศเยอรมนีเองก็ประสบกับปัญหาแบบเดียวกันนี้ และเมื่อหนังบินไปฉายต่อที่ฮ่องกง ผลตอบรับก็ไม่แตกต่าง ถือเป็นสิ่งที่เหนือความดาคหมายของเขา เพราะบริบทของเรื่องมันไทยมากจนคิดว่า สากลอาจจะไม่เข้าใจ
“เราอาจจะอยู่ในยุคที่ไอ้เส้นพรมแดนที่บอกว่าขอบเขตของความเป็นวัฒนธรรม หรือการที่จะบอกได้ว่าเราคือใคร?...ฉันคือใคร? มันเบลอไปแล้วไง เราคิดว่าอันนี้สำคัญที่เราได้ค้นพบหลังจากหนังฉายออกไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานทั้งหมดทั้งมวลแม้เขาไม่อาจถือตัวเป็นผู้นิยามความเป็นไทยลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เขาก็มีนิยามในแบบของเขาที่พยายามมองความเป็นไทยอย่างรอบด้านที่สุด
“วัฒนธรรมไทยคืออะไร พูดยากแล้วนะ” เขาเอ่ยอย่างใช้ความคิด “เราคิดว่าแบบตอนนี้เราจะบอกว่าอะไรไทยไม่ไทยไม่ได้ เพราะมันมาเป็นแพกเกจ มันไม่ได้มีแค่สิ่งที่สวยงามหรือสิ่งที่เลวร้ายอย่างเดียว มันไม่ใช่แค่หนังสือ Very thai (เขียนโดย ฟิลิป คอร์นวิล-สมิท) หรือหนังสือของกรมศิลปากรเท่านั้น เราคิดว่าทุกอย่าง การเติมโตของโรงหนังแบบมัลติแพล็กซ์ การที่ป๊อปคอร์นแพงกว่าตั๋วหนัง นี่แหละโคตรไทยเลย”
หนังไทยในวันที่ “ป๊อปคอร์น” แพงกว่า “ตั๋วหนัง”
ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้หนังอินดี้ของเขาก็ประสบความสำเร็จ แต่กับวงการหนังโดยรวม เขากลับมองว่า กำลังแย่ลงเรื่อยๆ เพราะหากแบ่งหนังออกเป็น 2 ฝั่งหนังในระบบหนังสตูดิโอกับนอกระบบสตูดิโอ(หรือหนังอิสระ) แม้หนังอิสระจะดูมีหนทางมากขึ้น หากแต่ในระบบสตูดิโอกลับเป็นสิ่งที่นับวันจะยิ่งทำให้ประสบความสำเร็จยากขึ้นทุกที
“เราอาจจะมีหนังอย่าง“พี่มาก...พระโขนง” ที่ทำรายได้เป็น 1,000 ล้าน แต่มันมีหนังที่ได้ต่ำกว่า 5 ล้านเพียบเลย”
เขาเอ่ยพร้อมย้ำว่า ไม่เคยมีปีไหนที่หนังรายได้ต่ำกว่า 5 ล้านจะมากขนาดนี้ ซึ่งปรากฏการณ์ที่ช่องว่างของรายได้ห่างกันสุดขีดแบบนี้ก็เกิดกับหนังต่างประเทศด้วย
“มันเป็นหมายเหตุว่า คนดูเปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนังเหมือนกัน จากภาวะเศรษกิจทุกวันนี้ ราคาตั๋วหนัง ป๊อปคอร์น ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการออกมาดูหนังแต่ละครั้ง ถ้ามันไม่ฉุดให้เขาออกมาดูได้จริงๆ เขารอโหลดเลยนะ ไม่ซื้อแผ่นด้วย ฉะนั้นมันจึงไม่มีหนังรายได้กลางๆ ฟอร์มกลางๆก็ไม่มีด้วย ถ้าไม่ได้ไปเลย...ก็เจ๊งไปเลย”
แต่เรื่องที่น่ายินดีคือหนังอิสระกลับเริ่มมีมากขึ้น จากความสำเร็จของหนังอิสระเมื่อปีที่แล้วทั้งจาก “แต่เพียงผู้เดียว” ของเขา และ “36” ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ได้ทำให้เกิดคนทำหนังอิสระมากขึ้น และเริ่มทำลายกำแพงความรู้สึกที่ว่าคนไทยไม่ดูหนังนอกกระแส
“คนเริ่มยอมรับที่ทางของมัน ต่อให้มันยังไม่ตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจเอง โรงหนังเองก็ยอมรับแล้ว ดังนั้น เราคิดว่า คนทำหนังถ้าไม่ทำกับสตูดิโอซึ่งตอนนี้เราคิดว่าทำให้ประสบความสำเร็จยากมาก การมาทำหนังอิสระก็จำเป็นจะต้องรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งที่เราทำมันเหมาะกับไซส์ขนาดไหน”
กับการทำหนังในขนาดไซส์อย่าง “ตั้งวง” ซึ่งเขาว่าเป็นหนังขนาดกลางที่แม้จะนอกกระแสไม่มีดาราดังมาร่วมแสดง แต่ก็มีฉายในโรงอย่างทั่วถึง
“เราก็ทดลองกับการฉายสัก 20 โรง เพราะหนังมันก็ดูไม่ยากนี่หว่า” เขาเอ่ยด้วยสำเนียงชวนเห็นใจ “แต่มันก็เป็นการทดลองอยู่นะ เพราะเขาก็โชคดีที่มีนายทุนหน้ามืดมาทำให้ฉายได้แบบนี้ คิดว่าหาจังหวะดีๆ เข้าฉาย ทำการตลาดโปรโมตมันบ้าง ซึ่งในที่สุดมันก็เป็นการทดลอง ข้อดีคือ ไม่ว่ารายได้ของมันจะแค่ไหน เราจะได้ผลการทดลองที่เป็นชุดความรู้สำหรับคนทำหนังต่อไปว่าไซส์ขนาดนี้ควรเป็นยังไง”
…
วงการหนังไทยที่นับวันรายได้จะยิ่งถ่างตัวห่างระหว่าง “สำเร็จ”กับ “เจ๊ง” กับหนังไทยอย่าง “ตั้งวง” ที่ด้านหนึ่งวางตัวเองไว้บน “ความสนุก” ของชีวิตวัยรุ่น แต่ก็ยังคงแฝงซ่อน “เนื้อหา” ไว้ให้นั่งขบคิด ถือเป็นความแปลกใหม่ที่แตกต่างไปเดิมที่วางตัวเองไว้เป็นหนังฟอร์มเล็กที่ไม่มีดาราดังนำแสดง อย่างไรก็ตาม นอกจากเนื้อหาที่มันเองตั้งคำถามกับวัฒนธรรมแล้ว ตัวมันในฐานะหนังก็ถือเป็นบททดสอบที่คนทำหนังต้องการจะถามคนดูอีกด้วย
เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพโดย วารี น้อยใหญ่
ตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่อง ตั้งวง