xs
xsm
sm
md
lg

หนังผีฟีเจอริ่ง : The Conjuring

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“ศิลปินที่ดีนำส่วนดีจากผลงานของศิลปินคนอื่นมาดัดแปลง ปรับปรุงเป็นผลงานของตน แต่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่นำสิ่งดีที่ได้พบเห็นมาต่อยอดแล้วทำให้ดีกว่า จนผลิตผลงานราวกับว่างานชิ้นนั้นสดใหม่” –ปาโบล ปิกัสโซ่-

คงไม่ผิด ถ้าคิดจะใช้ถ้อยคำดังกล่าวกับหนังผีที่เพิ่งลงโรงฉายในบ้านเราเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน อย่าง เดอะ คอนเจอริ่ง (The Conjuring คนเรียกผี) เพราะนี่คือหนังที่กวาดต้อนเอาทักษะอันหลากหลายของหนังผีรุ่นพี่มาใช้สอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่หลายคนอ้อมแอ้มบอกว่ามันไม่มีอะไรใหม่ ก็จริงครับ ไม่มีอะไรใหม่เลยในโลกของหนังผี แต่มันคือการนำของเก่ามาบูรณาการและผสมผสานอย่างกลมกล่อมลงตัว จนเกิดเป็นหนังผีที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง

กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ลีลาการหลอกทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ เราล้วนแล้วแต่เคยพบเห็นมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาซาวด์เอฟเฟคต์ให้คนดูตกใจตามสไตล์ของผีสะดุ้งหรือผีตุ้งแช่ก็แล้วแต่จะว่ากัน, การขับเน้นบรรยากาศให้ดูน่าสะพรึงกลัว ผ่านการจัดแสงและองค์ประกอบต่างๆ ที่ชวนให้ขนลุก

ตอนดูหนังเรื่องนี้ ผมนึกไปถึงหนังผีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะหนังผีจากฝั่งฮอลลีวูดยุคหลังที่มักจะประกอบสร้างในทิศทางคล้ายๆ กัน นั่นก็คือเริ่มต้นด้วยการหาโลเกชั่นที่เป็นบ้านสักหลัง แล้วหาเหยื่อรายต่างๆ ย้ายเข้าไปยังบ้านหลังดังกล่าวแล้วก็โดนผีหลอกอยู่ในนั้น Haunted in Connecticut เอย Mama เอย Amityville เอย ไล่เลยมาจนถึง Sinister ขณะที่วิธีการสร้างเรื่องก็เป็นไปในทำนองพ่อหมอหมอผีหรือต้องมีการปราบผี อย่างหนังพวก The Exorcist หรือ Insidious

แน่นอนครับ ทั้งหมดนี้มันมีเหตุผลที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจริงที่ว่า หนังผีเหล่านี้ส่วนใหญ่ มีที่มาที่ไปคล้ายๆ กัน คือได้แรงบันดาลใจหรือกระทั่งหยิบเอามาแบบโต้งๆ จากเรื่องราวเล่าขานของคู่สามีภรรยานักปราบผี เอ็ดเวิร์ด กับ ลอเร็น วอร์เร็น ที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในยุค 70 และถ้าว่ากันตามจริง หนังผีหลายต่อหลายเรื่องก็เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงคู่รักนักปราบผีที่ว่านี้ เขามีงานเขียนบอกเล่าเรื่องราวการปราบผีที่อเมริกันชนนิยมอ่านกันด้วย และผีที่พวกเขาเคยไปปราบก็เป็น “ผีในบ้าน” แทบทั้งนั้น

นั่นจึงน่าจะเป็นเหตุผลที่มาอย่างหนึ่งด้วยว่า เพราะอะไร คนอเมริกาถึงชอบหนังเรื่องนี้กันมาก เพราะมันผูกติดอยู่กับรากวัฒนธรรมของพวกเขาเอง และยิ่งเป็นเรื่องที่ “เคยเกิดขึ้นจริง” ในบ้านเมืองของพวกเขาด้วยแล้ว มันยิ่งปลุกเร้าความหลอนได้ง่ายดายขึ้น นอกเหนือจากนั้น อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในแนวร่วมขบวนการความหลอนก็คือ “ความเชื่อ” ที่เป็นเสาหลักรองรับอย่างแน่นหนา เราจะพบว่า ในเดอะ คอนเจอริ่ง ก็เหมือนหนังผีอีกหลายเรื่องที่เล่นกับความเชื่อทางไสยศาสตร์มนต์ดำและศาสนา (โดยเฉพาะคริสต์ คาทอลิก) ครอบครัวที่เป็นตัวต้นเหตุและโดนผีหลอกจนแตกกระเจิง ว่าตามจริง ก็ไม่ใช่คนที่เชื่อสิ่งลี้ลับหรือแม้แต่ศรัทธาอะไรนักในศาสนา นั่นยังไม่นับรวมต้นตอที่มาของผีที่ก็มี “ความเชื่อ” (ไสยศาสตร์มนต์ดำ พ่อมดแม่มด) เป็นแบ็กกราวด์หนุนหลังอยู่

เรื่องย่อๆ เท่าที่พอเล่าได้ เดอะ คอนเจอริ่ง อิงอยู่กับเรื่องราวของสองสามีภรรยานักสืบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะฝ่ายภรรยา “ลอเรน วอร์เรน” นั้น กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีจิตสัมผัส สามารถมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น ที่ผ่านมา เอ็ดเวิร์ดกับลอเรน ทำงานของพวกเขาจนขึ้นชื่อลือชา ก่อนจะถูกเรียกหาให้ไปช่วยครอบครัวเพอร์รอนซึ่งถูกคุกคามจากพลังมืดลึกลับในบ้านไร่แห่งหนึ่ง เผชิญหน้ากับปีศาจร้ายที่ทรงอำนาจ และนับว่าเป็นคดีสยองขวัญที่สุดที่พวกเขาเคยประสบพบมาในชีวิต แน่นอน ถ้ายังรู้สึกหลอนไม่พอ ต้องเพิ่มข้อมูลไปด้วยว่า นี่คือเรื่องที่ทั้งสองเก็บเป็นความลับมาโดยตลอด อย่าว่าแต่จะบอกเล่า เพราะแม้แต่คิดถึง ก็ไม่ปรารถนา

เบื้องต้น ผมไม่แน่ใจว่า ผู้กำกับอย่าง “เจมส์ วาน” ได้แรงบันดาลใจอะไรในการตั้งชื่อเรื่องมาจากเพลงของวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลอย่าง Megadeth หรือเปล่า เพราะในอัลบั้มชุด Peace Sells…But Who’s Buying? ของ Megadeth มีบทเพลงที่ชื่อว่า The Conjuring อยู่ด้วย และเนื้อหาของเพลงนั้นก็เกี่ยวพันกับไสยศาสตร์มนต์ดำ ขณะที่ “เดฟ มัสเทน” ผู้เขียนเนื้อร้อง ยืนยันว่าเขาได้ประกายไอเดีย Satanic Bible ซึ่งก็พูดถึงการขายวิญญาณให้กับปิศาจเช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าเจมส์ วาน จะว่าอย่างไร ประเด็นหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็เกาะติดอย่างแยกไม่ออกกับการขายวิญญาณให้ซาตาน ผ่านขั้นตอนที่ครอบครัววอร์เรนเรียกว่า “ถูกผีสิง” ซึ่งหลังจากถูกสิง มันจะกัดกินเลือดเนื้อตัวตนไปจนกระทั่งบงการให้เราทำสิ่งที่ชั่วร้ายตามความต้องการของมัน ความน่าสะพรึงกลัวมากที่สุดของการถูกผีสิงก็อยู่ตรงจุดนี้

จากที่ว่ามาทั้งหมด เราจะพบว่า มันไม่ได้มีอะไรใหม่เลย เก่าตั้งแต่เรื่องเล่าของครอบครัวน่าล่าผียุคปี 70 แล้วล่ะ ที่พูดแบบนี้ ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับความเก่านะครับ และยอมรับด้วยใจเต็มร้อยว่า หนังนำของเก่ามาเล่าใหม่แล้วใส่จังหวะความลงตัวที่แม่นยำขึ้น และมันก็ได้ผล กล่าวได้ว่า วัตถุมวลสารหรือชั้นเชิงของหนังผีและหนังสยองขวัญมีอะไรบ้าง หนังหยิบจับมาใช้หมด จังหวะผ่างๆๆ ก็มีตลอดเรื่อง ความกดดันบีบคั้นก็ทยอยกันออกมาเล่นกับอารมณ์คนดู เก้าอี้ ตู้ เตียง ตุ๊กตา หรือสิ่งไหนที่สามารถใช้สอยได้ ก็เอามาเล่นหมด ส่วนเทคนิคก็หลากหลาย เก้าอี้ลอย ผีแอบอยู่ในตู้ บนตู้ ฯลฯ จะว่าไป ในบ้านเพียงหนึ่งหลัง หนังกลับสามารถเสกสร้าง “บริบท” หรือแปลง “สินทรัพย์” เท่าที่มีอยู่ ให้กลายเป็นเครื่องมือแห่งความน่ากลัวได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์อย่างหมาหรือนก ก็ถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการหลอกหลอน...แน่นอน สำหรับคนที่เคยดูหนังเรื่อง The Bird ของปรมาจารย์อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก ก็พอจะมองออกว่า ฉากที่นกบินกันว่อนรอบบ้านทั้งหลัง มันชวนให้นึกถึงฝูงนกในหนังของฮิทช์ค็อกอย่างเด่นชัด

แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับ หนังเรื่องนี้หยิบจับเอาส่วนที่ดีของหนังผีสยองขวัญรุ่นพี่มาใช้สอยทั้งนั้น หนังมีฉากไล่ผีที่พยายามทำให้ถึงหรืออย่างน้อยๆ ก็ให้ได้ใกล้เคียงกับ The Exorcist ปี 1973 ที่เป็นตำนาน และในท่ามกลางมุกอันหลากหลายนั้น มุกหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเด็ดสุดๆ ก็คือ “การเห็นผีผ่านสายตาของคนอื่น” มันคือการที่เราเห็นผี แต่คนอื่นไม่เห็น หรือคนหนึ่งเห็น แต่อีกคนกลับไม่เห็น อย่างเช่นเรื่องชัตเตอร์ของไทยเรา ตัวละครไม่รู้ว่ามีผีเกาะอยู่ที่ไหล่ แต่เราที่เป็นผู้ดูกลับมองเห็น ใน Sinister (ซึ่งเป็นงานของผู้สร้างเดียวกันกับเดอะ คอนเจอริ่ง) ก็มีฉากที่ลูกสาวเห็นผี แต่พ่อไม่เห็น เรื่องแบบนี้มันมีความช็อกน่าตกใจอยู่ในตัวเอง เหมือนกับที่คนไทยเราเคยเห็นใครสักคนก่อนออกจากบ้าน แต่ไม่เห็นหัวของเขา ซึ่งสะท้อนถึงความชะตาขาดของบุคคลผู้นั้น

ว่ากันอย่างถึงที่สุด คำพูดย่อหน้าแรกของบทความนี้คือสิ่งที่สะท้อนความเป็นเดอะ คอนเจอริ่ง ได้อย่างหมดเปลือก มันคือการหยิบเอาทักษะจากสูตรหนังผีที่มีอยู่หลากหลายมา “ฟีเจอริ่ง” หรือ “หลอมรวม” เข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีปราบผี ก็ไม่ได้ปราบแบบเชยๆ ที่มีแค่เพียงหมอผีตามรูปแบบ Old Fashioned หรือสมัยเก่า หากแต่เติมความไฮเทคสมัยใหม่เข้าไปด้วย คือเราจะเห็นทั้งเครื่องไม้เครื่องมือคล้ายๆ กับที่ใช้ในหนังปราบผีที่โด่งดังแห่งยุค 80 เรื่อง Ghostbusters (บริษัทกำจัดผี) แต่ก็มีวิธีไล่ผีแบบย้อนยุคโบราณเหมือนในหนังเรื่อง The Exorcist ด้วย

โดยส่วนตัว ผม “สังเกต” เห็นว่า หนังอารมณ์ประมาณนี้ คือหนังพวกที่ให้ตัวละครย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่มีผีรออยู่ ส่วนหนึ่งมักจะพูดถึงตัวละครประเภทที่ถ้าไม่ใช่พวกที่เพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัวได้เล็กน้อย ก็เป็นคนที่ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนักในเชิงคุณภาพความเป็นอยู่ จะว่าไป มันก็สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจของประเทศอยู่กลายๆ โดยเฉพาะหนังผีฝรั่งในช่วงหลังๆ อย่างพ่อในเรื่อง Mama ก็เผชิญภาวะกดดันทางธุรกิจ คุณพ่อนักเขียนใน Sinister ก็กำลังพบเจอกับความขัดสนเงินทองและอยากจะมีงานเขียนใหม่สักเล่มที่จะช่วยกอบกู้ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้นมา หรือแม้แต่เรื่องเดอะ คอนเจอริ่ง นี้ ครอบครัวเพอร์รอนที่ต้องหอบตัวเองไปอยู่ไกลในชนบท ก็มีเรื่องเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในหลายเหตุผล

อย่างไรก็ดี นั่นคือ “ข้อสังเกต” ที่ถ้าใครชอบคิด ก็อาจเก็บไปสืบหาความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันต่อไป แต่ประเด็นที่ไม่ต้องไปสืบอะไรให้ยุ่งยากและหนังนำเสนอออกมาได้อย่างชัดเจนก็คือเรื่องของการถูก “ผีสิง” ซึ่งตามที่เอ็ด วอร์เรน บรรยายไว้ มีอยู่สามขั้นตอนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ขั้น “การก่อตัว” เราจะได้ยินเสียงกระซิบ เสียงเท้าเดิน รู้สึกเหมือนมีใครอยู่ด้วย ขั้นที่สองคือ “ถูกครอบงำ” ผู้เคราะห์ร้ายจะถูกพลังภายนอกครอบงำและทำตามที่พวกมันต้องการ จนถึงขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย คือถูกสิงเข้าร่างอย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อถูกผีสิงสู่ มันก็ไม่ต่างอะไรกันมากนัก กับหนังแนวนี้อีกหลายเรื่อง ทั้ง The Exorcist หรือ The Possession คือคนที่ถูกผีสิงจะถูกครอบงำ กัดกินเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ และต้องทำสิ่งที่ชั่วร้ายตามอำนาจมืดของปีศาจซาตาน ซึ่งอันที่จริง สิ่งนี้มันอาจเป็นบุคลาธิษฐานแบบหนึ่งซึ่งหนังใช้สอยเพื่อจะสื่อถึงสิ่งอื่นๆ ได้ด้วย เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ถ้าใครตามข่าวเกี่ยวกับการรับตำแหน่งใหม่ของสมเด็จพระสันตปาปาที่ 266 จะพบว่าในข่าวนั้น มีบาทหลวงชาวอิตาเลียนรูปหนึ่งนามว่ากาบริเอเล อาร์มอธ เรียกร้องให้ทางสำนักวาติกันรองรับการปราบผีอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ผ่านมา ผู้ใดก็ตามคิดประกอบพิธีกรรมไล่ผี จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานใหญ่วาติกันเสียก่อน (ในเดอะ คอนเจอริ่ง ก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้)

ผมว่าประเด็นสำคัญมันอยู่ที่คำพูดของหลวงพ่ออาร์มอธที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคที่พระเจ้าถูกลืมเลือน และเมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าถูกลืมเลือน เหล่าปีศาจร้ายก็จะขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่และคุกคามมนุษย์”...มันน่าสนใจก็เพราะว่า ถ้าไม่เป็นการคิดเข้าข้างตัวเองของหลวงพ่อบาทหลวงในแง่ที่ว่าจะทำให้ท่านมีงานทำมากขึ้นโดย “ไม่ผิดกฎ” (ซึ่งตามคำอ้างของท่าน ท่านว่าท่านทำพิธีไล่ผีมาแล้วกว่าเจ็ดหมื่นครั้ง และส่งวิญญาณผีร้ายไปลงนรกมาแล้วมากกว่าหนึ่งแสนหกหมื่นดวง!) คำที่ท่านกล่าว มันสามารถนำมาอธิบาย “ประเด็น” ที่อยู่ในหนังเดอะ คอนเจอริ่ง ได้ค่อนข้างดี และพูดกันอย่างถึงที่สุด มันอธิบายได้แม้กระทั่งความจริงทางสังคมที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับเรา

ในหนัง เราได้เห็นผีที่ “เป็นผีจริงๆ” สิงสู่และหลอกหลอนคน แต่ในโลกที่เราอยู่ “ผีร้าย” “ปีศาจ” “ซาตาน” หรืออะไรก็ตาม สุดแท้แต่จะเรียก มันอาจเป็นอุปมาหรือบุคลาธิษฐานที่ใช้สื่อถึงสิ่งต่างๆ ที่มีสถานะครอบงำและชักใยความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง มันอาจไม่ได้กัดกินเลือดเนื้อของเราเหมือนกับภูตผีปีศาจในหนัง แต่ผีเหล่านั้นก็มีอำนาจบงการชีวิตและตัวตนด้านลึกของเรา ภูตผีแบบนี้ไม่ต้องไปสืบหาที่ป่าช้าแห่งไหน หรือคิดว่าจะจับต้องได้ตัวเป็นๆ หากแต่มันมักจะหลบเร้นและสิงสู่อยู่ในบางหลืบมุมของจิตวิญญาณเรานี่เอง








กำลังโหลดความคิดเห็น