xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกกับบทเพลง "คงคา" โดย The Viola Lovers คอนเสิร์ตดีๆ ที่ไม่น่าพลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากเปรียบเทียบกับเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องสายด้วยกัน ต้องยอมรับว่าความโดดเด่นของ "วิโอล่า" นั้นดูจะน้อยกว่าบรรดาพี่ๆ น้องๆ อย่าง ไวโอลิน, เชลโล หรือแม้กระทั่ง ดับเบิลเบส อยู่พอสมควร

แต่กระนั้นหากว่ากันถึงความไพเราะแล้วต้องบอกว่าไม่แพ้กันแต่อย่างใด และคนหนึ่งที่หลงใหลในเสน่ห์แห่งความนุ่มลึกของมันชนิดถอนตัวไม่ขึ้นก็คือ ผศ.พันเอกชูชาติ พิทักษากร วาทยากร-นักเรียบเรียงเสียงประสานฝีมือดี และเป็นเจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปี พ.ศ.2553
ผศ.พันเอกชูชาติ พิทักษากร
"ถ้าเราดูวงซิมโฟนีจะเห็นไวโอลินแถวหน้า เชลโลถัดมา เออ แล้ววิโอล่ามันหายไปไหน แล้วจริงๆ ใครหลายคนมักจะคิดว่าวิโอลาก็คือไวโอลินเครื่องใหญ่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เสียงวิโอลาเนี่ยเขาลึก ลึกเข้าไปในหัวใจ เข้าไปในสมอง ซึ่งกว่าผมจะจับได้ก็ใช้เวลานานกว่า 5 ปี วิโอลาคืออะไร มีเทคนิคการเล่นอย่างไร"

"แล้วถ้าเรียงความสำคัญในวงนะ บางทีก็แบบว่า คุณเล่นได้คุณไปเล่นไวโอลิน เก่งรองลงมาไปเชลโล เก่งไม่ถึงลงมาเล่นวิโอลา พลเมืองชั้นสามเลย (หัวเราะ) ซึ่งผมรับไม่ได้ เพราะในตอนนั้นผมเล่นวิโอลาเพราะผมชอบอยากเล่น ไม่ใช่ผิดหวังมากจากเครื่องดนตรีอื่น ผมรักด้วยใจจริง เพราะฉะนั้นก็เลยคิดที่จะต่อสู้ ดีเฟนส์ (defence) ต่อสู้เพื่อวิโอลา"

เป็นพระ ที่ไม่ใช่พระเอก
"ก็สั่งตำรามาเรียน ซื้อเทปคาสเซ็ท ซีดี มาแกะดูว่าเขาเล่นกันยังไง คือต้องยอมรับว่าทุกประเทศในโลกนี้หานักวิโอลายากนะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างผมเคยถามลูกศิษย์เป็นนักวิโอลา ถามเด็กๆ ที่มาเรียน ในวงไวโอลินเป็นอะไร เขาก็จะบอกไวโอลินเป็นนางเอก เออ แล้วเชลโลล่ะ เชลโล่พระเอก อ้าวแล้วถ้างั้นวิโอลาล่ะ เขาบอกเป็นพระ..."

"เพราะว่าวิโอล่าสำรวม คนเล่นจะสำรวมเหมือนพระ เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์มันก็เหมือนว่าขรึมๆ เพราะเครื่องมือเขาขรึม ซึ่งตรงนี้มันเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ว่าตัวเราถูกครอบงำ เราก็เลยขรึมไปเพราะในตำนานเขาบอกแบบนั้น (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเราจะไม่เล่นเพลงที่โรแมนติก แต่จริงๆ ผมค้นพบว่าเขาลึกซึ้งจริงๆ แต่เขาไม่ได้ลึกซึ้งเป็นพระ แบบโรแมนติกก็ได้ ในทางของมัน"

ก่อกำเนิดเป็น The Viola Lovers (Chulalongkorn University Viola Ensemble)..."หลังจากที่ค้นพบวิโอลา พอดีมันมีแผ่นซีดีชื่อเดอะลอนดอน วิโอล่า ซาวนด์ วงนี้เขาใช้วิโอล่ามือดี 48 คน ซึ่งก็คงหมดเกาะอังกฤษนั่นแหละ (หัวเราะ) ผมเห็นก็รู้สึกว่าแปลก เป็นไปได้อย่างไร มีเบสคุมจังหวะ บางเพลงอาจจะมีเปียโนเข้ามาด้วย ก็รู้สึกว่าทำได้อย่างไร นั่นแหละจุดชนวน"

"ผมก็เริ่มเกณฑ์เลย ลูกศิษย์ เพื่อนลูกศิษย์ บอกว่าจะตั้งวง ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร ลูกศิษย์ตอนนั้นโดนผมล้างสมองแล้ว เขาบอกอยากทำเอาเลยครับ เอาเลย ผมก็บอกพวกเราของใหม่นะ ออกมาอย่างไรก็ยังไม่ทราบ ปรากฏว่าก็ได้มา 24 คน รวมผมซึ่งขอเล่นด้วยแล้วก็เป็นคอนดักเตอร์ไปด้วย เป็น 25 ก็พอไหว แรกๆ เพลงเราก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นของพวกไอลินเสียมากกว่า ก็ต้องทำเพลงเอง ก็พอดีมีลูกศิษย์ตอนนั้นจบมาใหม่ๆ จากเกษตร ชื่อต้นเถา ช่วยประสิทธิ์"

"ผมก็บอกช่วยหน่อย ผมทำไม่ไหว เขาก็ทำมาโอเคเลย นับจากนั้นเราก็แบ่งกัน ก็ลองออกคอนเสิร์ตดู ปรากฏว่าคนล้มหลาม คนเชียร์เพียบ (หัวเราะ) แล้วเราก็ตั้งชื่อว่า ซียู วิโอล่า เอนเซมเบอร์ ทีนี้เราอยากทำให้คนทั่วไปคุ้นกับเพลงคลาสสิกด้วย ก็เลยเอางี้มั้ย ครึ่งแรกเราเล่นคลาสสิกบาค คลาสสิกโรแมนติกแบบไม่หนักหนาสาหัส เพลงป็อปคลาสสิก ไม่วิ่งหนี เพลงยังฟัง ง่ายมาก แล้วครึ่งหลังนี่ป็อปเลย ส่วนมากจะเป็นป็อปฝรั่ง 1940 แถวๆ ไอม์ อิน เดอะ มูด ฟอร์ เลิฟ”

"ก็เรื่อยๆ มา ตอนหลังก็มี แจ๊ส สวิง 2 ปีท้ายนี่มีลาตินอเมริกัน ลูกทุ่งอเมริกันเข้ามาด้วย ก็ต้องมีการเพิ่มเครื่องดนตรีเข้ามา วงก็โตขึ้นเรื่อยๆ"

ครั้งแรกของการบรรเลงเพลงที่ชื่อ "คงคา" กับคอนเสิร์ตครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้น ใน The Viola Lovers Concert วันพุธที่ 21 สิงหาคมนี้
"จุดกำเนิดของเพลงนี้ก็คือมีนักประพันธ์เพลงท่านหนึ่ง มาฟังวงเราแสดงแล้วเกิดถูกใจมาก ท่านก็เลยแต่งเพลงให้กับวงโดยเฉพาะ ความจริงแต่งมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสเล่นเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่พิเศษก็คือแรงบันดาลใจที่อาจารย์แต่งเพลงนี้ก็คืออาจารย์ท่านแต่งตอนที่บ้านเราน้ำท่วม ท่านก็เลยคิดถึงแม่คงคาขึ้นมา"

"แล้วก็มีเนื้อร้องด้วย เนื้อร้องเป็นภาษาบาลี มาจากบทคาถาการบูชาแม่พระคงคา ผมเห็นโน้ตที่เอามาให้ปั๊บ โอ้โฮ ซาบซึ้งมาก ทึ่งมาก คือท่านอาจารย์ท่านแต่งจากการเห็นมวลน้ำที่ออกมา แล้วก็ผลักเข้ามาในเมืองอะไรต่างๆ นานา ท่านไม่ได้แต่งเพื่อความไพเราะนะ แต่แต่งเพื่อให้เห็นบรรยากาศ เพราะฉะนั้นเสียงประสานมันจะมีบางท่อนที่กัดกันแบบหลุดโลกเลย...นักดนตรีเห็นโน้ตตาค้างเลย ว่าจะเล่นจริงหรือเปล่า?"

"ก็อยากจะชวนให้มาลองฟังกันดี เพราะคนที่แต่งเพลงนี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่นะ เป็นศิลปินร่วมสมัย คุ้นกันดี เอ่ยชื่อไปรับรองว่ารู้จัก แต่ไม่บอกว่าเป็นใคร อยากรู้มาดูเอง แล้วนอกจากเพลงคงคาแล้วคือวันศุกร์ที่ 23 วงเรามีกำหนดจะไปแสดงที่จังหวัดมหาสารคาม เราก็เลยถือโอกาสนี้นำเสนอ อีสานเมดเลย์ ให้คนที่กรุงเทพได้ฟังกันก่อนด้วย จะเป็นอย่างไรต้องลองไปฟังกันในคอนเสิร์ตครับ"

The Viola Lovers Concert แสดงวันพุธที่ 21 ส.ค. ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ เวลา 19.00 น. ชมฟรี! ติดต่อและสอบถามรายละเอียดได้ที่ วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ โทร. 0-2218-0584, 086-300-9959
กำลังโหลดความคิดเห็น