xs
xsm
sm
md
lg

Monsters University : อย่าให้ใครครอบงำชีวิตคุณ

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


แม้คะแนนความนิยมจะตกลงไประดับหนึ่งจากภาคก่อนหน้า อย่าง Monster Inc. แต่ทว่า Monsters University ก็ยังคงรักษาดีกรีความเป็นพิกซาร์ไว้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ความเนี้ยบเฉียบในแง่ของเนื้อหาสาระหรือแม้กระทั่งสนุกสนานบันเทิง ยังคงเป็นสิ่งที่เก็บเกี่ยวได้จากงานชิ้นใหม่นี้ Monsters University พาเราลัดเลาะเข้าไปในรั้วมหา’ลัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ “วิชาหลอน” ของเหล่ามอนสเตอร์ที่จะจบออกไปเป็น “นักเขย่าขวัญ” มืออาชีพ

คงไม่มีปัญหาอะไรสำหรับคนที่เป็นแฟนพิกซาร์อยู่แล้ว ในการที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวกับภาคก่อนหน้า แต่ถึงอย่างนั้น ต่อให้ไม่เคยดู Monster Inc. มาก่อน Monsters University ก็ยังเป็นหนังที่ดูได้รู้เรื่องเข้าใจ ด้านหนึ่งมันเหมือนจะแยกขาดจากภาคแรก แต่สำหรับคนที่เคยดูภาคแรก อาจจะได้อรรถรสเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เมื่อพบว่า เรื่องราวในภาคนี้มันเหมือนเป็นภาค “ปฐมบท” ของ Monster Inc. ก่อนที่สองสหายนักหลอนตัวยง ทั้งไมค์ วาโซว์สกี้ และ เจมส์ พี.ซัลลี่แวน จะได้ไปเป็นนักเขย่าขวัญขั้นเทพในสังกัดของบริษัทรับจ้างหลอน

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ผมหยิบเอา Monster Inc. มาดูอีกรอบ ปรากฏว่า นอกจากความสนุกที่ยังไม่เสื่อมสลายไปกับกาลเวลา ดูเหมือนว่าประกายความคิดหนึ่งจะผุดขึ้นมา และนี่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพิกซาร์ที่ยากจะหาค่ายใดมาทัดเทียม มันเติมเต็มจินตนาการและเปิดโอกาสให้เราได้ขบคิดอย่างกว้างขวาง ไม่แน่ใจว่าจะมีใครรู้สึกเหมือนกับผมหรือเปล่าว่า ฉากท้ายๆ ในหนังที่ซัลลี่แวนบอกกับหนูบูทำนองว่าให้เลิกกลัว มันทำให้คิดต่อไปได้อีกว่า บรรดามอนสเตอร์ทั้งหลายนั้น ไม่น่าจะต่างอะไรกันกับพวกตุ๊กตาตุ๊กตุ่นหลากรูปลักษณ์สีสัน ใช่หรือไม่ว่า ในวัยหนึ่ง เราก็เคยกลัวอะไรพวกนี้ โดยเฉพาะตุ๊กตาที่หน้าตาอั๊กลี่ทั้งหลาย ในวัยเด็ก เราอาจจะแต่งแต้มเรื่องราวให้กับพวกมัน คิดว่ามันมีชีวิต คิดว่ามันเป็นภูตผีปีศาจหรือมอนสเตอร์ เราเล่นกับมัน กลัวมัน ก่อนที่วันเวลาจะค่อยๆ นำพาเราออกมาจากโลกใบนั้น เราโตขึ้น และหมดสิ้นความกลัวอีกต่อไป

ความกลัวที่แท้จริง มาจากจิตที่ปรุงแต่งเรื่องราวและเป็นเรื่องทางใจ...นี่คงไม่ใช่คำที่ใหญ่โตเกินไป ยิ่งถ้าได้ดู Monsters University แล้ว ก็จะยิ่งกระจ่างชัดขึ้นว่า ที่จริงแล้ว หน้าตาที่น่ากลัว หรือเสียงคำรามที่กึกก้องสั่นประสาท อาจเป็นเพียง “การเขย่าขวัญที่ไร้ชั้นเชิง” เมื่อเทียบกับการเขย่าขวัญอีกแบบหนึ่งซึ่งหนังนำเสนอ และผมจะพูดในลำดับถัดไป

เรื่องราวใน Monsters University เล่าย้อนไปสมัยที่ไมค์ วาโซว์สกี้ กับเจมส์ พี.ซัลลี่แวน ยังเป็นเด็กไร้พิษสง พวกเขามาพบกันใน “มหา’ลัยมอนสเตอร์” เพราะมีเป้าหมายในการที่อยากจะก้าวไปเป็นนักเขย่าขวัญมือโปร แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะลงเอยด้วยดี พวกเขาก็ต้องผ่านบทเรียนและบททดสอบ ไม่เพียงแค่ในฐานะนักเขย่าขวัญ หากแต่ความเป็นเพื่อนก็ต้องผ่านวันเวลายากลำบากด้วย

ในขณะที่รู้สึกว่าคนดูผู้ชมสามารถจะเก็บกวาดอรรถรสความสนุกกลับบ้านได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากเรื่องราวที่มีทั้งอารมณ์ขันและความซาบซึ้ง ในอีกซีกหนึ่ง พิกซาร์ก็ยังคงเป็นพิกซาร์ ที่ไม่หลงลืมใส่เนื้อหาเข้ามาให้มีสาระ แม้ประเด็นเกี่ยวกับการฟันฝ่าคำดูถูกดูแคลนของโลกเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ทำนองว่า “อย่าให้ใครมาตัดสินคุณ ชีวิตเป็นของเรา” อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามากแล้ว แต่เชื่อแน่ว่า สำหรับเด็กๆ นี่คือหัวข้อที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพวกเขา แต่ถึงกระนั้น เราก็ไม่ควรปฏิเสธนะครับว่า ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังต้องผจญกับอะไรทำนองนี้อยู่ ทั้งในชีวิตหรือที่ทำงาน

ในภาคที่แล้ว Monster Inc. เราได้เห็นบรรดามอนสเตอร์ผ่านประตูทะลุมิติออกไปในห้องนอนของเด็กๆ เพื่อเก็บเสียงร้องของเด็กๆ มาเป็นพลังงานในโลกของตัวเอง พูดง่ายๆ ตามคอนเซ็ปต์ก็คือ “เปลี่ยนเสียงร้องให้เป็นพลัง” แต่เมื่อมาถึง Monsters University คงไม่ผิดนักหากเราจะบอกว่า มันคือภาคของการ “เปลี่ยนคำหยามหมิ่นให้เป็นพลัง” ดังตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือไมค์ วาโซว์สกี้ และผองเพื่อน ที่ต้องลุกขึ้นมาปลุกปั้นตัวเองเพื่อลบล้างคำสบประมาทหลากรูปแบบ

งานชิ้นนี้มีโจทย์ศูนย์กลางอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อไปสู่ความเป็นนักเขย่าขวัญขั้นเทพ มอนสเตอร์ทุกตัวต่างโชว์ความน่ากลัวกันอย่างพยายาม แล้วแต่ใครจะมีเทคนิคหรือต้นทุนด้านรูปลักษณ์หน้าตาที่น่ากลัวอย่างไร แต่ไม่ว่าจะยังไง สิ่งที่น่าตลกก็คือว่า ถึงแม้ตัวละครอย่างซัลลี่หรือมอนสเตอร์ตัวอื่นๆ จะพยายามทำท่าขู่ขวัญ-เขย่าขวัญได้เจ๋งเป้งแค่ไหน มันกลับเทียบไม่ได้เลยกับความเขย่าขวัญที่มาในรูปแบบอื่น ดังนั้น ในขณะที่หนังเล่นกับการเขย่าขวัญผ่านสีหน้าท่าทางของตัวละครอย่างสนุกสนาน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ซ้อนการเขย่าขวัญที่ไม่ต้องอาศัยการปั้นหน้าให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว หากแต่สร้างความสะพรึงกลัวให้กับตัวละครได้อย่างลึกซึ้งกว่า

ทั้งหมดนั้น ผมว่ามันคือเรื่องของอำนาจ “สถาบัน” อย่างมหาวิทยาลัยมอนสเตอร์ โดยตัวของมันเองก็คือตัวแทนของอำนาจ คณบดียิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเธอคือคนที่ได้ครองอำนาจและใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รวมไปถึง “เส้นกั้นเขตแดน”, “ประตูที่เปิดไปสู่ห้องนอนเด็ก”, “ภาพของวัยรุ่น” ที่มาพร้อมกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ นานาซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ของการ “ใช้อำนาจ” ข่มขวัญผู้คนด้วยกันทั้งสิ้น มันจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ที่จริงแล้ว มอนสเตอร์ตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ จะต้องเผชิญกับอำนาจที่ยิ่งใหญ่จนก้าวผ่านมันไปได้อย่างไร แม้แต่ในกลุ่มมอนสเตอร์ด้วยกันเอง ไมกี้กับผองเพื่อนก็ยังต้องต่อกรกับแก๊งมอนสเตอร์ที่ “ตัวโต” กว่า แถมยังคอยเกทับบลัฟแหลกพวกไมกี้อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นพวกไม่เอาไหน

แต่ถ้าตัวโตแล้วใช้อำนาจไม่เป็น ก็ไร้ค่า ดูหนังไปจนจบเราจะพบบทสรุปนี้ และลองเทียบเคียงไมกี้ตัวเล็กกับพวกมอนสเตอร์ตัวโตๆ ดู บางคนก็แค่ขู่ฟ่อๆ เพราะคิดว่าคนอื่นจะกลัว หรือต่อให้กลัว ก็แค่ชั่วครู่ชั่วคราว เพราะศาสตร์และศิลป์แห่งการเขย่าขวัญที่มีผลยาวนานและเล่นงานขวัญกำลังใจได้ล้ำลึกกว่า มันมาในรูปแบบที่ต้องแนบการใช้อำนาจไปด้วย การเขย่าขวัญที่มีชั้นเชิง ต้องหาทางกัดกินและกัดกร่อนบั่นทอนจิตใจของตัวละครให้ได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปถามไมค์ วาโซว์สกี้ ตอนที่เขาถูกคณะข่มขู่ด้วยถ้อยคำบางคำดู

จากมุมนี้ ทำให้นึกย้อนไปถึงหนูบูในภาค Monster Inc. เด็กผู้หญิงถูกบอกกล่าวให้เลิกกลัวตัวสัตว์ประหลาด มันคือการกำจัดความกลัวที่อยู่ภายในใจ ขณะที่ไมค์ วาโซว์สกี้ และเพื่อนๆ แห่ง Monsters University จะต้องฝ่าด่านความกลัวที่มาจาก “อำนาจ” ภายนอกหรือคนอื่นๆ ให้ได้ จะว่าไป ไมกี้ วาโซว์สกี้เอย ซัลลี่แวนเอย ทั้งหมดคือวัยรุ่นที่กำลังเติบโต มันเหมือนคืนวันที่กำลังพลุ่งพล่านด้วยฮอร์โมน มีความฝัน ชอบการท้าทาย แต่ลึกๆ ข้างในก็แอบสับสนปนไม่มั่นใจ

อันที่จริง มันก็คือประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ เคยพบเคยเจอมาด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะในการดำเนินชีวิต “เราจะเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม” “ทำอย่างไรเราจะเก่งเหมือนเขา” “เราจะทำได้หรือเปล่า” หรือแม้แต่ “ใส่รองเท้าใส่เสื้อตัวนี้สีนี้ ใช้โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ จะเป็นอย่างไร คนอื่นจะมองยังไง” ไปจนถึงเรื่องรัก “เราจะเหมาะกับเขาหรือเปล่า” “แล้วถ้าใครบอกว่าคนอย่างเอ็งไม่มีทางได้คนนั้นคนนี้เป็นแฟนหรอก เราจะเป็นยังไง” มันมีเรื่องที่น่าเขย่าขวัญน่าหวั่นกลัวซ่อนตัวอยู่ในทุกอณูของชีวิต และตัวเราก็จะต้องพิชิตและฝ่าฟันความหวาดหวั่นเหล่านั้นไปให้ได้ ดุจเดียวกับไมค์และหนูบู

คิดเล่นๆ ต่อไปอีกสักนิด (ผมใช้คำว่า “คิดเล่นๆ” เพราะไม่อยากให้เห็นเป็นเรื่องซีเรียส) ผมสังเกตว่า ตัวอักษรตัวหนึ่งซึ่งดูจะมีความเด่นในบางฉาก คือตัวอักษร M นอกจากที่ป้ายมหา’ลัย เราจะเห็นตัว M ปรากฏในอีกหลายจุด (เช่น บนผืนธงที่จงใจใช้ตัว M แบบเต็มๆ) ตัว M นั้น ตรงตามหนังก็คือคำ Monster หรือสัตว์ประหลาด แต่มันก็สามารถที่จะคิดว่าเป็นอักษรย่อของ Men, Man หรือผู้ชายได้เช่นกัน เพราะว่ากันอย่างถึงที่สุด ตัวมอนสเตอร์ที่เด่นๆ ทั้งหมดในหนัง ก็คือมอนสเตอร์ที่เป็นเพศชาย อย่างไรก็ดี พอพลิกกลับหัวตัว M เราจะได้ตัวดับเบิ้ลยู (W) มาแทน ซึ่งตัว W ก็สามารถที่จะหมายถึง Woman หรือผู้หญิงได้ และตัวแทนของผู้หญิงในหนัง ก็คงเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “คณบดี” ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครมอนสเตอร์เพศหญิงเพียงตัวเดียวในหนังที่โดดเด่นจริงๆ

ถ้าจะตีความกันเล่นๆ หนังก็ทำให้อดคิดต่อไปไม่ได้เช่นกันว่ามันมีความแตกต่างลึกล้ำของพลังอำนาจระหว่างเพศชายกับเพศหญิง (หรือเปล่า?) เพราะในขณะที่เหล่ามอนสเตอร์เพศชายพากันดีไซน์รูปแบบการเขย่าขวัญที่คิดว่าน่ากลัว เช่น ทำหน้าตาขมึงตึงขึ้งเครียด ซึ่งก็ทำให้ตกใจได้ระดับหนึ่ง แต่สำหรับเพศแม่อย่าง “คณบดี” แล้ว เธอไม่จำเป็นต้องพึ่งวิชาหลอนอะไรมาก เพียงใช้ถ้อยคำไม่กี่คำ ก็ข่มขู่ผู้คนให้ขวัญหนีดีฝ่อได้แล้ว เพราะเธอมีอำนาจอยู่ในมือ ตรงนี้ ผมนึกไปถึงถ้อยคำของผู้กำกับที่เพิ่งมีผลงานมาฉายในบ้านเราอย่าง “นิโคลัส เว็นดิ้ง เรเฟิน” (Only God Forgives) เขาพูดได้น่าคิดว่า ในขณะที่ผู้ชายแค่ใช้ “กำลัง” ฟาดฟันกันทางร่างกาย แต่ผู้หญิงเหนือกว่าเพราะใช้ “พลัง” กระตุ้นเร้าทางใจ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ “มีพลังอำนาจ” มากกว่า

แต่ที่ว่ามานี้ อาจจะไม่ใช่ความจริงสากลสำหรับผู้หญิงทุกคนนะครับ เพราะเราก็เห็นอยู่ว่า ผู้หญิงบางคนในบางประเทศ ทั้งที่มือถืออำนาจ และออกมาประกาศปาวๆ ทางหน้าจอทีวี พยายาม “เขย่าขวัญ” ด้วยกฎหมายก็แล้ว อะไรก็แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยักกะนึกว่ามันน่ากลัว แถมยังดูเห็นเป็นตัวตลกที่ออกมาโชว์ความไร้เดียงสาปัญญาแบ๊วไปซะอย่างนั้น และที่สำคัญ นั่นมันสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวในตัวของเธอเองด้วยนะครับ แหม่

“เลิกกลัวได้แล้วนะ หนูปู เอ๊ย หนูบู” ^_^

**ป.ล.หนังสั้นที่แถมมาตอนต้นเรื่อง น่ารักมากมายครับ**









กำลังโหลดความคิดเห็น