xs
xsm
sm
md
lg

Only God Forgives : ไม่ใช่ไทยแลนด์ ก็ทำแทนได้

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


โหดไหม? ดูเข้าใจหรือเปล่า? ต้องหาบันไดมาปีนดู? โห หนังเมืองคานส์ ชาวบ้านดูไม่รู้เรื่อง? หนังอาร์ต หนังติสต์ หนังเฉพาะกลุ่ม และอีกสารพัดคำพูดที่ผู้คนมีต่อหนังเรื่องนี้ “โอนลี่ ก๊อด ฟอร์กี๊ฟส์” ผลงานที่ถือได้ว่าเป็นการก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญของนักแสดงชาวไทยที่ได้รับบทนำในหนังนอกทั้งสองคน ทั้ง “ปู-วิทยา ปานศรีงาม” และ “หญิง-รฐา โพธิ์งาม”

คนที่ติดตามข่าวสารบันเทิง ก็คงเห็นครับว่า ตอนที่คุณหญิง-รฐา กับคุณปู-วิทยา ไปปรากฏตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์นั้น มันดูน่าภาคภูมิใจเพียงใด หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในบ้านเราลงเป็นข่าวใหญ่โต ก่อนจะตามมาด้วยกระแสเสียงเกี่ยวกับตัวหนังซึ่งแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างเด่นชัด และหนึ่งในนั้นก็คือเสียงโห่ของคนดูส่วนหนึ่งที่เมืองคานส์ ซึ่งน่าจะทำให้หลายคนลังเลใจที่จะตีตั๋วเข้าไปดูงานชิ้นนี้

กล่าวสำหรับคนดูหนังบ้านเรา ชื่อของนิโคลัส เวนดิ้ง เรเฟิน ไม่ใช่นามที่แปลกใหม่ เพราะนับตั้งแต่หนังเรื่อง Drive เข้ามาฉายในบ้านเราเมื่อสองปีก่อน นิโคลัสก็กวาดต้อนกลุ่มคนดูได้จำนวนไม่น้อยไปเป็นฐานคนดูที่รองรับผลงานของเขาแน่ๆ อาจจะไม่มาก แต่ก็มีจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะได้ไปดูกันหมดแล้ว และไม่มีปัญหาอะไรกับการคาดเดาว่าหนังมันจะออกมาในอารมณ์และบรรยากาศแบบไหน

ในรายการวิวไฟน์เดอร์เมื่อวันเสาร์ คำถามหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะถูกยกให้เป็นคำถามสำคัญอันดับแรกๆ ที่ผมถูกถามก็คือ ที่เขาว่า หนังมันอาร์ตนั้น จริงหรือไม่ เพราะเห็นหลายกระแสถึงกับเอาหนังเรื่องนี้ไปเทียบกับงานของปรมาจารย์อย่างเทอร์เรนซ์ มัลลิค เรื่อง The Tree of Life ด้วยซ้ำ

เบื้องต้น ผมคิดว่าสิ่งที่น่าพูดถึงก่อนอะไรอื่นก็คือคำว่า “หนังอาร์ต” นี่ล่ะครับ ที่ผ่านมา คำว่าหนังอาร์ต ก็คงคล้ายๆ กับคำว่า “โลกสวย” หรืออะไรแบบนั้น ซึ่งมันมีน้ำเสียงกระแนะกระแหนอยู่ในนั้นด้วย จนไม่มีใครอยากถูกเรียกแบบนั้น เวลาคนไทยเราพูดว่าหนังอาร์ต มันกลับกลายเป็นว่า มันคือหนังที่มักจะดูไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือหนังที่ต้องปีนบันไดดู พอถูกครอบด้วยความคิดความเชื่อแบบนี้แล้ว หนังเรื่องไหนก็ตามที่ได้รับคำกล่าวขานว่าเป็นหนังอาร์ต คนก็จะตั้งธงไว้ว่ามันต้องเป็นหนังที่ดูยาก เข้าใจยาก แล้วพอเข้าไปดู ก็ต้องครุ่นคิด พยายามจับนู่นจับนี่จนบ่อยครั้งก็แทบจะไม่มีความรื่นรมย์ในการดู หรือไม่ก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อไปเลย เหมือนอย่าง Only God Forgives ผมเชื่อว่าต้องมีคนพยายามหาเหตุผลกันจนปวดหัวแน่นอนกับพฤติการณ์หลายอย่างของตัวละครในเรื่อง ซึ่งบางที มันก็เปล่าเปลืองทรัพยากรสมองโดยใช่เหตุ

ในความรู้สึกของผม โอนลี่ ก๊อด ฟอร์กีฟส์ เป็นหนังที่ดูง่ายและสนุกครับ ผมว่าในบรรดาหนังที่เขาว่ากันว่า “อาร์ตๆ” ทั้งหลาย หนังของนิโคลัส เวนดิ้ง เรเฟิน นี่ดูเข้าใจง่ายมากๆ ยิ่งถ้าหากเทียบกับอาร์ตตัวพ่ออย่างเทอร์เรนซ์ มัลลิค The Tree of Life เหมือนเซียน ขณะที่โอนลี่ ก๊อด ฟอร์กี๊ฟส์ นี่แค่จิ๊บๆ ดูเป็นเด็กอนุบาลไปเลย

สิ่งที่ต้องชมอย่างหนึ่งสำหรับนิโคลัสก็คือ หนังของเขามักจะมี “เส้นเรื่อง” ที่จับต้องได้ชัดเจน เหมือนอย่าง Drive เรื่องมันก็คือไอ้หนุ่มคนหนึ่งซึ่งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับครอบครัวหนึ่งแล้วก็ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตนเองคิดเห็นว่าถูกต้อง มองให้โรแมนติกก็โรแมนติกได้ ส่วนโอนลี่ ก๊อด ฟอร์กี๊ฟส์ เส้นเรื่องก็เรียบง่ายเพียงว่า มันเล่าถึงการแก้แค้นกันไปมา ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีอะไรดี เพราะสูญเสียและเจ็บปวดทั้งสองฝ่าย ส่วนใครจะคิดต่อยอดกับเรื่องการตั้งตัวเป็น “ก๊อด” (God) ของตัวละคร ก็เป็นอีกชั้นหนึ่งซึ่งถ้าไม่ชอบคิดอะไรให้ปวดหัว เท่านี้ก็บันเทิงเริงใจกับหนังได้แล้ว

นอกจากนั้นอาจจะเป็นเรื่องบรรยากาศการดำเนินเรื่องของหนังซึ่งต่างไปจากหนังที่เราคุ้นเคย โดยส่วนตัว ผมมองว่า ถ้าโอนลี่ ก๊อด ฟอร์กี๊ฟส์ ใส่เอฟเฟคต์แบบหนังสูตรสำเร็จทั่วไป มันก็เป็นหนังที่ตูมตามโครมครามได้เช่นกัน เพราะสารตั้งต้นอันว่าด้วยเรื่องการตามล่าล้างแค้น ถือเป็นวัตถุดิบที่ดีอยู่แล้ว แต่ผู้กำกับเลือกที่จะเสกสร้างบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง บรรยากาศของโอนลี่ ก๊อด ฟอร์กีฟส์ ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเนิบนาบ ทุกองค์ประกอบถูกตกแต่งให้ดูเหนือจริงตามสไตล์ของหนังเซอร์เรียล (Surreal) ดนตรีประกอบฟังดูเคว้งๆ หลอนๆ การเคลื่อนไหวของตัวละครดูเนิบช้าเหมือนอยู่ในโลกอีกใบที่ไกลออกไปในจินตนาการความคิดฝัน เรื่องราวทั้งหมดดูคล้ายจะไม่ค่อยปะติดปะต่อ แต่กระนั้นก็สื่อสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงหลายประการในโลกที่เราสังกัดอยู่

ในความรู้สึกส่วนตัว ผมว่า “ฝรั่ง” อย่างนิโคลัส เวนดิ้ง เรเฟิน นั้น “อ่าน” สังคมไทยได้ค่อนข้างขาด และนำเสนอในสิ่งที่คนทำหนังไทยหลายคนไม่กล้าพูดด้วยซ้ำ หรือถึงพูดก็พูดแบบอ้อแอ้เหมือนเด็ก แต่นิโคลัสตีแผ่มันออกมา เพียงแต่ “น้ำเสียง” ของเขา ไม่ได้เหมือนตัวละครในเรื่องที่ตั้งตนเป็นนักพิพากษาหรือตัดสินอะไร หากแต่ฉายให้เห็นความเป็นไปที่ดำรงอยู่ในบ้านเรา ไม่มีดิสเครดิต แต่ก็ไม่แสดงความชื่นชอบจนโอเว่อร์ อย่างเรื่องตำรวจ มองอย่างตลกร้าย นี่คือการประจานเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านเรา โดยไม่ทำให้ตำรวจรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกประจานอยู่

ในจังหวะชีวิตอันเร็วรี่ของกรุงเทพที่เราพบเห็นกันในแต่ละวัน โลกในหนังของนิโคลัส เหมือนจะโฟกัสให้เราเห็นว่า มันมีเรื่องราวหลากหลายล่องลอยอ้อยอิ่งอยู่ในจังหวะอันรวดเร็วนั้น อิทธิพลเถื่อนเอย คนที่ทำงานอยู่ในมุมมืดของสังคมเอย หรือเรื่องราวของชาวบ้านที่ต้องประสบกับเคราะห์กรรมบางอย่าง พูดง่ายๆ ก็คือ นิโคลัสพยายามสืบเสาะเข้าไปในโลกอีกใบที่เคลื่อนไหวทับซ้อนอยู่ในมหานครแห่งนี้ และมันคือ “ความจริง” อันยากยิ่งที่คนไทยเราจะปฏิเสธได้!

ความรุนแรง คือหัวข้อใหญ่ๆ อีกหัวข้อหนึ่งซึ่งโอบล้อมเรื่องราวในหนังทั้งเรื่องไว้ จึงไม่แปลกใจที่หลายคนในเมืองคานส์จะบอกว่ามันดูโหดเกินไปไหม รุนแรงไปหรือเปล่า ผ่านภาพการกระทำของตัวละคร อย่างเช่น เอามีดปาดตา แทงดวงตา หรือฉากที่เห็นฆ่าฟันกันเห็นไส้เห็นพุง ผมว่า ถ้ามองแบบเข้าอกเข้าใจ นิโคลัส เว็นดิ้ง เรเฟิน มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการทำแบบนั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากภาพรวมของหนังซึ่งทำให้มันออกมาดูเซอร์เรียลหรือเหนือจริง ดังนั้น อะไรทั้งหมดจึงเป็นเหมือนคล้ายๆ ภาพในความฝันที่อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ รวมไปจนถึงฉากโหดรุนแรงต่างๆ ด้วย

แต่ความรุนแรงที่คนไม่ค่อยพูดถึง ซึ่งผมคิดว่าเป็นความรุนแรงที่น่ากลัวยิ่งกว่าภาพเครื่องในของมนุษย์ที่ไหลออกมานอกท้องเพราะคมดาบ ก็คือ ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในใจของคน ตัวละครบางตัวในหนัง ดูสุภาพอ่อนโยนต่อหน้าคนที่รัก แต่พอลับจากสายตา ความรุนแรงในตัวเขาก็พุ่งกระโจนทะยานออกมาราวกับปีศาจที่ถูกปลดปล่อย...

ความรุนแรงในโลกนี้ สำหรับหนัง มันไม่ได้มีแค่การคว้าปืนไปยิงใครสักคน หรือหยิบมีดออกไปเชือดคอใคร แต่ความรุนแรงที่ฝังรากอยู่ในจิตใจ มันดูโหดร้ายและรุนแรงอันตรายมากกว่านั้นหลายเท่าตัว อย่างเรื่องที่แม่ของไรอัน กอสลิ่ง ในหนัง เล่าบนโต๊ะกับข้าวเกี่ยวกับลูกสองคน นั่นก็คือความรุนแรงอีกแบบหนึ่ง และไม่มากไม่มาย หนังก็เหมือนจะเทียบๆ เคียงๆ ให้เราเห็นด้วย ถึงความแตกต่างระหว่างความรุนแรงอันเกิดจากการใช้กำลังของผู้ชาย (ผ่านตัวละครผู้ชายทั้งหลาย) กับความรุนแรงที่ดุร้ายกว่าในใจของผู้หญิง (แม่ของไรอัน กอสลิ่ง) ผู้ชายก็แค่ใช้ “กำลัง” ฟาดฟันกันทางร่างกาย แต่ผู้หญิงเหนือกว่าเพราะใช้ “พลัง” กระตุ้นเร้าทางใจ

ท้ายที่สุด ยอมรับครับว่า ทั้งหมดที่พูดมา อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ แต่ผมว่าหนังแบบนี้มันก็ดีอยู่อย่าง คือเป็นหนังแบบ “ปลายเปิด” ในแง่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใช้อิสระในการทำความเข้าใจกับหนังได้อย่างเต็มที่ ไม่มีสูตรสำเร็จทางความคิดที่แพ็กมาพร้อมด้วยเหมือนกับหนังที่เราคุ้นเคยกัน และเพราะเป็นเช่นนั้น ต่อให้คุณสับโขกว่าหนังเขาห่วยอย่างไร เขาก็ยอมรับได้ เพราะเขาได้ให้อิสระกับคุณคนดูแล้ว

สุดท้าย ผมยังยืนยันว่าหนังดูเข้าใจง่าย เพียงแต่เราอาจจะไม่คุ้นกับไวยากรณ์การเล่าเรื่องของเขาบ้างเท่านั้นเอง โอนลี่ ก๊อด ฟอร์กี๊ฟส์ ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ข้าวสารของรัฐบาลบางประเทศน่ากลัวกว่าเยอะครับ กินเข้าไปถึงตายเลยนะครับนั่น









กำลังโหลดความคิดเห็น