แม้จะเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค ชนิดที่ประเมินล่วงหน้าได้ว่า หนังไม่น่าจะออกมาดี แต่ “ยัง บาว เดอะ มูฟวี่” ก็สามารถพาตัวเองก้าวข้ามข้อจำกัดและอุปสรรคปัญหาเหล่านั้นมาได้ และกลายเป็นหนังที่แม้จะคาดหวังเรื่องรายได้ค่อนข้างยากแล้ว ณ ชั่วโมงนี้ แต่ทว่าในแง่ของความเป็นหนังไทยดีๆ เรื่องหนึ่งของปีนี้ ผมคิดว่า “ยัง บาว เดอะ มูฟวี่” สอบผ่าน
ก็อย่างที่รู้กันครับว่า หนังที่เล่าประวัติของวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนานของเมืองไทยอย่าง “คาราบาว” เรื่องนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับโปรเจคต์รั่วออกมาเป็นระลอกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนตัวแสดงของเรื่องที่จะรับบทแอ๊ด คาราบาว จาก “ตูน บอดี้สแลม” มาเป็น “บอม-ธนา เอี่ยมนิยม” ก็ทำให้การตลาดขอหนังลดพลังลงไปอย่างไม่อาจปฏิเสธ ในแง่ของการมีแม่เหล็กดึงดูดคนดู
นั่นเป็นเรื่องทางการตลาด ซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณภาพของหนังครับ
“ยัง บาว เดอะ มูฟวี่” เป็นฝีมือการกำกับของ “ยุทธกร สุขมุกตาภา” คนทำโฆษณา ตอนแรกที่เห็นเขามาจับโปรเจคต์เกี่ยวกับวงดนตรีที่มีเขาควายเป็นสัญลักษณ์ ผมก็คิดตามประสาว่า นี่จะมาหากินกับความเป็นตำนานของคาราบาวหรือเปล่า แต่อันที่จริง เขาคนนี้คือแฟนคาราบาวตัวยง และไม่ได้แค่จะมา “ตีหัวเข้าบ้าน” หากแต่สิ่งที่เขาสื่อสารผ่านภาพยนตร์ มันคือสิ่งซึ่งคนที่ถ้าไม่ได้แนบแน่นกับเนื้องานของตัวเอง จะทำออกมาได้ระดับนี้ ยาก
โดยชื่อเรื่องก็บอกเป็นนัยๆ ว่าสิ่งที่คุณจะพบเห็นได้ในหนังเรื่องนี้ คือจุดไหนของความเป็นคาราบาว มันคือเรื่องราวของวัยรุ่น 7 คนบนถนนสายดนตรีที่มารวมตัวกันด้วยความรักในเสียงเพลง โดยมีแอ๊ด-ยืนยง โอภากุล เป็นดั่งหัวขบวนซึ่งนำพาวงคาราบาวให้โด่งดังในเวลาต่อมา
คิดว่าหนังจะน่าเบื่อ แต่ไม่เลยสักนิดครับ ในปีหนึ่ง ผมดูหนังไทยเกือบทุกเรื่อง และ 3 ใน 4 ส่วนก็เป็นหนังที่กล่าวได้ว่าจะโอเคกว่าถ้าไม่ได้ดู แต่สำหรับ “ยัง บาว” กลับเป็นหนังที่ดูได้เพลินๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ อารมณ์ขัน ไปจนถึงฉากซึ้งหรือซีนเศร้า หนังเขย่าองค์ประกอบเหล่านี้ออกมาได้เป็นธรรมชาติ มีความลงตัว นั่นยังไม่นับความเท่ของตัวละครที่คิดว่าน่าจะเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้คอเพลงเพื่อชีวิตแฟนคลับคาราบาวได้เพลิดเพลินเจริญใจในการดูมากขึ้น
นอกจากนั้น การใช้เพลงประกอบก็สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการทำการบ้านมาอย่างดีของผู้กำกับ และแฟนเพลงคาราบาวไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะในขณะที่หนังใช้เพลงประกอบ มันก็ทำหน้าที่ในการบอกเล่าที่มาที่ไปของบทเพลงดังๆ แต่ละเพลงของคาราบาวด้วยว่ามีต้นเหตุเรื่องราวเป็นอย่างไร และตรงจุดนี้เอง หนังก็สื่อสะท้อนให้เห็นอยู่กลายๆ ถึงความเป็นอัจฉริยะในด้านการเขียนเพลงของแอ๊ด คาราบาว ที่เพียงได้พบเห็นเรื่องราวของผู้คนที่ตนรู้จักและพบพาน ก็สามารถกลั่นมันออกมาเป็นเนื้อเพลงได้ นั่นคือสายตาของศิลปิน
ตัวแสดงทุกตัว แม้จะมีหลายคน แต่ทว่าหนังก็แบ่งสัดส่วนให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ถ้าคุณรักสมาชิกคาราบาวอยู่แล้ว คุณจะรักพวกเขามากขึ้น พวกเขาในยุคโน้น ก็ไม่ต่างไปจากคนหนุ่มทุกคน ที่มีความมุ่งมั่นฝันใฝ่อยู่ในตน มีด้านที่อ่อนโยน เท่ากับที่มีความหุนหันพลันแล่นตามธรรมดาของเลือดลมแห่งวัยหนุ่ม หนังอาจจะไม่ได้เหวี่ยงตัวละครเข้าสู่มุมอับกับสถานการณ์โหดหินที่ต้องเผชิญมากนัก หากแต่ก็สามารถบอกเล่าออกมาได้ว่า ช่วงเวลาแห่งการก่อร่างสร้างตัวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คนหนุ่มที่เปี่ยมด้วยไฟฝันและแนวทางของตัวเอง มาเจอกัน มันก็เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในบางคราว
ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของ “ยัง บาว เดอะ มูฟวี่” ก็คือ การถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ลงไปในหนังอย่างไม่รู้สึกว่านี่คือหนังสือประวัติศาสตร์แบบชวนหลับ ประวัติศาสตร์ของคาราบาวดำเนินควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของวงการเพลง กล่าวได้ว่า ยุคนั้น นอกจากการต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับความฝันของตัวเองแล้ว คาราบาวเองก็ต้องฟัดเหวี่ยงกับค่านิยมของผู้คนด้วย การคลั่งของนอก ฟังเพลงฝรั่ง กลายเป็นกระแสที่บ่าท่วมสังคมยุคนั้น คาราบาวที่ร้องเพลงไทย ต้องเผชิญกับค่านิยมนี้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากประวัติศาสตร์ที่มาของวงที่ใช้ “ควาย” เป็นเครื่องนำทาง และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวงการเพลง หนังเรื่องนี้ได้สอดแทรกประวัติศาสตร์ทางการเมืองบ้านเราเอาไว้ด้วย ฉากการเมืองทั้งยุค 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ถูกแซมเข้ามาอย่างไม่รู้สึกว่าเป็นการฝืนหรือยัดเยียด แต่ดูกลมกล่อม และเราจะพบว่า หนุ่มๆ สมาชิกวงคาราบาวแทบทุกคน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากทั้งสองเหตุการณ์เช่นเดียวกับคนในยุคเดียวกัน
การเมืองในวงดนตรี การเมืองในวงการดนตรี และการเมืองของประเทศชาติ ถูกผูกร้อยเข้าด้วยกัน เหมือนดั่งเรื่องราวความเป็นมาของวงคาราบาวที่ถูกบอกเล่าอย่างเป็นลำดับขั้น อันที่จริง พูดตามตรง “ยัง บาว เดอะ มูฟวี่” เหมือนเป็นการอินโทรดักชั่นที่บอกถึงพื้นฐานที่มาของการรวมตัวของคนหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ก่อนจะมาใช้นามสกุลร่วมกันว่า “คาราบาว” หนังเล่าตั้งแต่แอ๊ด คาราบาว ยังอยู่ในป่า มาจนถึงการชักจูงสมาชิกเข้าร่วมวง แล้วไปจบลงตรงที่ได้สมาชิกครบ 7 คน และเริ่มต้นเป็นวงคาราบาวสมบูรณ์แบบด้วยการออกอัลบัมที่ดังเป็นพลุแตก อย่าง “เมด อิน ไทย์แลยด์”
ดูตามเนื้อผ้าแล้ว เชื่อได้ว่า โปรเจคต์หนังคาราบาวนี้ น่าจะถูกวางแผนไว้ให้เป็นไตรภาค เพราะยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวของคาราบาวที่หนังยังไม่ได้แตะ แต่ประเด็นก็คือว่า หนังจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ในเมื่อกระแสที่ปรากฏ ณ ตอนนี้ ต้องยอมรับว่า “ยัง บาว” เงียบเหงาเหลือเกิน พูดด้วยความรู้สึกแบบซึมๆ ก็คือ หนังที่ทำผลงานได้ระดับนี้ น่าจะมีคนดูเยอะประมาณหนึ่ง แต่รอบที่ผมดู เช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา มีผมกับป้าแก่ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง
พยายามมองหลายๆ มุม เป็นไปได้ว่า หนึ่ง แฟนเพลงคาราบาวส่วนมาก เป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยเข้าโรงหนังหรือเปล่า? ไม่น่าจะใช่ เพราะหนังอันเกี่ยวกับศิลปินระดับเทพของตัวเองเข้าฉาย ต้องเข้าไปดูกันบ้างล่ะ ถ้าอย่างนั้น หรือว่าพวกเขาไม่ได้ข่าวเกี่ยวกับหนัง ข้อนี้เป็นไปได้ เพราะต้องยอมรับว่า นี่คือหนังของค่ายเล็กๆ เกิดใหม่ กลยุทธ์ทางการตลาดไม่ได้เนี้ยบ การโปรโมทก็มีส่วน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีหนังเรื่องนี้เข้าฉาย ขณะที่อีกหลายคนอาจมองเป็นเรื่องของพลังของคาราบาวที่เรียกคนดูไม่ได้ ซึ่งอาจจะทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” เพราะว่ากันตามจริง คอนเสิร์ตคาราบาวจัดที่ไหน คนก็ยังดูหนาแน่นอยู่จนถึงทุกวันนี้ หรือแฟนเพลงคาราบาวไม่เข้าโรงหนัง ก็ยากจะคาดเดาได้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มันอาจจะมีความติดขัดโน่นนี่และอาจจะมีปัญหาหลายอย่างตามที่เป็นข่าว แต่ในความรู้สึกของผม “ยัง บาว” ก็ยังรักษาความเป็นหนังของตัวเองไว้ได้ เอาเป็นว่า ถ้าจะมีหนังไทยสัก 10 เรื่องของปีนี้ที่ดูแล้วไม่ผิดหวัง และที่สำคัญ ดีกว่าที่คิดไว้ “ยัง บาว เดอะ มูฟวี่” ติดหนึ่งในนั้นแน่นอนครับ