xs
xsm
sm
md
lg

เต๋อ & คีตกวี “เรามาร้องเพลงกัน” ทำนองนั้นไม่ธรรมดา กับดนตรีที่มาก่อนกาล/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด(skbon109@hotmail.com)
ภาพของเต๋อที่ถูกปลุกขึ้นมาโลดแล่นในโฆษณาน้ำเมายี่ห้อหนึ่ง
เป็นเรื่องฮือฮาในวงการโฆษณาไม่น้อย เมื่อจู่ๆเหล้ายี่ห้อหนึ่ง สามารถพลิกฟื้น “น้าเต๋อ : เรวัต พุทธินันทน์” ให้มาโลดแล่นในหน้าจอทีวีได้

สำหรับน้าเต๋อแล้ว เขาเป็นหนึ่งในบุคคลแห่งแรงบันดาลใจของเมืองไทย ซึ่งแม้ในโลกแห่งความจริง น้าเต๋อจะลาลับไปนานแล้ว แต่ในโลกยุทธจักรดนตรี น้าเต๋อยังคงอยู่ เพราะบทเพลงที่เขารังสรรค์ออกมาจำนวนมาก ยังไม่ตาย

อย่างไรก็ดีก่อนที่เรวัต พุทธินันทน์ จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อการปฏิวัติวงการเพลงไทย ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ และโด่งดังเปรี้ยงปร้างกับอัลบั้ม “เต๋อ 1”(พ.ศ. 2526) มีรอยต่อของกาลเวลาที่ใครหลายคนอาจไม่รู้กับอัลบั้ม “เรามาร้องเพลงกัน” ที่ผลิตออกมาอย่างบรรจงในปี 2525

เรามาร้องเพลงกันเป็นอัลบั้มที่น้าเต๋อ เรวัต ร่วมงานกับทีมคีตกวี ซึ่งเมื่อไปเสาะหาไล่เรียงดูรายชื่อนักดนตรีผู้ร่วมก่อการในคีตกวีแล้ว(ใน(รูป)ปกบอกไว้ 4 คนอย่างรางๆ) หลายคนถึงกับอึ้ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นจัดเป็นบิ๊กเนมของวงการเพลงบ้านเราในยุคนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดนู ฮันตระกูล,เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์,อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา และ อัสนี โชติกุล ซึ่งนี่เป็นการร่วมงานกันของสองทีมหลัก คือวงบัตเตอร์ฟลาย(Butterfly) และทีมดนตรีโรงเรียนศศิลิยะ โดยมีน้าเต๋อ : เรวัต พุทธินันทน์ บุรุษหนวดงาม มาร้องนำเป็นตัวดำเนินเรื่อง
เต๋อ : เรวัต พุทธินันทน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อการปฏิวัติวงการเพลงไทย
เรามาร้องเพลงกัน เป็นหนึ่งในความแปลกใหม่ของวงการเพลงไทยสมัยนั้นกับผลงานเพลงที่ถูกจัดอยู่ในแนวโปรเกรสซีฟ ล้ำยุค ล้ำสมัย มีทั้งหมด 11 เพลง เปิดประเดิมกันด้วย “ไม่เป็นไร” กีตาร์โปร่งสับคอร์ดแน่นๆนำมา ตามด้วยลูกโซโลในท่อนทำนองออกซาวนด์ภารตะ ฟังลอยๆ มีเสียงแซกโซโฟนแบบจัดเต็มของยอดฝีมืออย่างเทวัญ ทรัพย์แสนยากร เข้ามาร่วมแจมในทางแจ๊ซอย่างพลิ้วไหว ไหลรื่น อีกทั้งยังมีเสียงไวโอลินเข้ามาช่วยเติมเต็มเพิ่มสีสัน

น้าเต๋อร้องเพลงผสมสไตล์สวดมนต์ เนื้อเพลงเดินมาในทางปรัชญาพุทธ ให้รู้จักปล่อยวางเป็นหลัก อย่ายึดติด อย่าคิดมาก “ไม่เป็นไร ให้เขาไป มัวเสียใจ เสียเวลา เกิดมาแล้ว อย่าโศกา ปัญหามา ปัญญามี...”

ช่วงท้ายของเพลงนี้เปิดพื้นที่ให้แซกโซโฟนแอดลิบอย่างสุดมัน พร้อมๆกับเสียงตะโกน“ไม่เป็นไร”ของพี่ป้อม-อัสนี ที่ประสานเสริมเข้ามาอีกแรง

อย่างไรก็ดีเพลงไม่เป็นไรเวอร์ชั่นต้นตำรับนี้ กลับไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่นัก ไม่เหมือนเวอร์ชั่นของพี่ป้อม-อัสนีที่จัดมาในสไตล์ร็อกหนักๆ พร้อมมีน้าแอ๊ด คาราบาว มาร่วมฟีเจอริ่งในชุดบ้าหอบฟาง

เรามาร้องเพลงกัน” เสียงเปียโนเดี่ยวนำมา ก่อนน้าเต๋อพร้อมคอรัสจะร้องท่อนสร้อยนำมา จากนั้นเป็นการร้องแบบสามัคคีรวมหมู่ ให้แต่ละคนสลับกันร้อง เนื้อร้องเพลงนี้ใช้ภาษาได้ดี มีสัมผัสสวยงาม เล่นคำได้อย่างเห็นภาพ ขณะที่ท่วงทำนอง สไตล์การร้อง เน้นกลิ่นอายความเป็นไทย ผสานควบคู่ไปกับกับภาคดนตรีที่มีซาวนด์ร่วมสมัยและล้ำ(ของยุคนั้น)ได้อย่างน่าฟัง

ตามต่อกันด้วย “ทุกๆคน(เป็นคนดี)” ขึ้นนำมาด้วยเสียงกีตาร์พ่วงเอฟเฟคเล่นหลอนนิดๆ ตามมาด้วยซาวนด์คีย์บอร์ดลอยๆ เบสวิ้งๆ ก่อนส่งเข้าสู่ท่อนร้องที่เนื้อเพลงที่มีความลุ่มลึก ชวนให้นึกคิดตามว่า มนุษย์เรา(ทุกๆคน)สามารถเป็นคนดีได้ ถ้าเรามุ่งทีจะทำความดี เสียงร้องในเพลงนี้ถูกดีไซน์ให้ออกมาในแนวเพลงสวด โดยเฉพาะกับเสียงประสานนั้นฟังไม่ต่างจากเสียงพระสวดมนต์แต่อย่างใด

เพลงนี้แบ่งเป็น 2 พาร์ทหลัก พาร์ทแรก เป็นไซคีเดลิก หลอน ลอยละล่อง พาร์ทหลังในไม่กี่ห้องก่อนจบ เปลี่ยนฟีลมาเล่น สวิง เหมือนเป็นนัยยะว่าหลังจากรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว ชีวิตก็ได้รับความสุขสดชื่นตามมา

เธอ” เป็นโฟล์คร็อกผสมซาวนด์อันหวือหวาของคีย์บอร์ดที่เล่นโอบอุ้มอย่างหนาแน่นสอดล้อไปกับเสียงตีคอร์ดใสๆของกีตาร์โปร่งที่เล่นรองรับยืนพื้น เป็นเพลงฟังสบายๆเนื้อหาภาษาสวย เธอในที่นี้ฟังเผินๆอาจจะเป็นเธอคนรัก แต่คีย์เวิร์ดที่สื่อออกมามุ่งไปในทางเธอคือธรรมชาติอันพิสุทธิ์สวยงาม ที่ไม่ว่าจะเป็นเธอไหน แต่เธอเป็นดังพลังให้ผู้ที่ได้สัมผัสได้สดชื่นรื่นสุขใจกัน

ถัดไปเป็น “ดนตรี คีตา(เวหา จักรวาล)” เพลงนี้เป็นมหากาพย์ยาวกว่า 7 นาที ดนตรีมากไปด้วยซาวนด์ประกอบหวือหวา ออกไปในทางนิวเอจ ฟังอิ่มอารมณ์ จากภาคเนื้อร้องแฝงนัยยะกับภาคดนตรีสุดล้ำ ตัวเพลงค่อยๆปูพื้นจากการก่อกำเนิดไปสู่การ ค้นหา ค้นพบ ตามแนวทางพุทธสู่การหลุดพ้น ซึ่งหลายคนตีความว่านี่เป็นดังบทเพลงที่สื่อถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ในการจาริกแสวงหาเส้นทางหลุดพ้นจนสู่นิพพาน นับเป็นบทเพลงแห่งความล้ำยุคล้ำสมัย
เต๋อ & คีตกวี อัลบั้มที่มาก่อนกาล
ทำอยู่ทำไป” โฟล์คซองขึ้นนำเพลงมา เน้นเล่นคำทำอยู่ทำไปด้วยลีลาการร้องประสานอย่างเพลงสวดในโบสถ์(ทั้งท่อนนำและท่อนจบ) ก่อนเข้าไปเพลงเป็นแจ๊ซ ร็อก เนื้อมุ่งให้คนเรา ต้องลงมือ“ทำ” อย่ามัวแต่คิดฝัน ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า ที่สำคัญคือต้องทำแบบมีสติ คือ ทำเป็น ทำรู้ เพื่อที่จะได้เห็น“ธรรม”

คำว่า “ทำ” หลายคำในเพลงนี้ ฟังดีๆ จะมีความหมายลึกซึ้งของคำว่า “ธรรม” แฝงอยู่ นับเป็นการเล่นคำที่สุดแสนแยบยล

ฮูเลเล” เป็นร็อกหนักๆ ดนตรีออกแนวดูม(คำเรียกในยุคหลัง)เน้นซาวนด์ลี้ลับ เนื้อหาแสบสัน จิกกัด สะท้อนวิถีแห่งวัตถุนิยมอังฟุ้งเฟ้อของสังคมไทยที่ส่งผลให้ผู้คนพลอยไร้น้ำมิตรจิตใจตามไปด้วย อย่างเช่น “...ตาบอดถือโคมถูกชนล้มลง ตามเขาโง่บรม โถโคมไม่มีไฟ...”

จากนั้นเป็น “วีณาแกว่งไกว” เนื้อเพลงมุ่งนำเสนอเรื่องการเดินทางของจิตใจ มีการนำคำพระมาผสาน ผสมไปกับดนตรีอีเลคโทรนิกร็อกเข้มๆเจือสำเนียงภารตะ น้าเต๋อถ่ายทอดเนื้อร้องผ่านเอฟเฟคฟังแปลกหู นี่ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงที่พี่ป้อมอัสนีนำไปทำใหม่แล้วโด่งดัง

มาต่อกันกับอีกหนึ่งเพลงที่พี่ป้อมนำไปทำใหม่แล้วดังคือ “ขลุ่ยผิว” เพลงนี้ดนตรีให้ซาวนด์ล่องลอย มีการใช้เสียงอันโหยหวนของเสียงขลุ่ยเล่นเลียนแบบเสียงธรรมชาติ ล้อรับไปกับซาวนด์คีย์บอร์ดเล่นไลน์เครื่องสายอันหนาแน่น โดยมีเสียงปิ๊กกิ้งอะคูสติกกีตาร์อันสุดเจ๋งเล่นเป็นคุมไปตลอด

ขลุ่ยผิวเป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง ชวนให้ตีความจินตนาการตาม ซึ่งในเวอร์ชันของคีตกวีนั้น โดดเด่นไปด้วยซาวนด์ถนัดของแนวโพรเกรสซีฟผสมเวิลด์มิวสิคที่ทำออกมาได้อย่างละเมียด

“ดอกไม้ไปไหน” เป็นโฟล์คป็อบติดกลิ่นอาหรับ ดนตรีฟังสนุก มีเสียงซินธ์คอยหยอดด้วยเสียงเอฟเฟคประหลาดๆ น้าเต๋อมีลีลาการร้องที่ผ่อนคลายกวนนิดๆ แต่เนื้อหานั้นลึกซึ้ง ตั้งคำถามถึงความสวยงาม ความสดใส จากนัยยะของดอกไม้ว่าหายไปไหน ฟังแล้วอดนึกถึงเพลง “Where Have All The Flowers Gone” บทเพลงต่อต้านสงครามของ บ็อบ ซีเกอร์ ไม่ได้

แล้วมาปิดท้ายอัลบั้มกันด้วย “ดนตรี คีตา(ภาคลาโรง)” กับบทเพลงสั้นๆแค่ 1.54 นาที เป็นดังอินเทอร์ลูดสรุปทิศทางของอัลบั้มนี้

สำหรับเรามาร้องเพลงกันเป็นผลงานเพลงที่ได้ชื่อว่ามาก่อนกาล ล้ำยุคล้ำสมัย เป็นงานเพลงแนวโพรเกรสซีฟ ที่มีคอนเซ็ปต์ ทิศทาง การนำเสนอที่ชัดเจนและเด่นชัด

ภาคเนื้อร้องหลายเพลงมุ่งนำเสนอแนวปรัชญาเชิงพุทธ ไม่มีการพูดถึงความรักดาษๆแบบทั่วไป ผู้แต่งเนื้อเพลงหลักคือเขตต์อรัญและอัสนี สามารถใช้ภาษาได้อย่างสวยงาม มีสัมผัส คล้องจอง มีจังหวะจะโคน หลายเพลงมีการใช้สัญลักษณ์ การใช้นัยยะแฝงผ่านบทเพลง

ขณะที่ภาคดนตรีที่มี อ.ดนู เป็นคนกุมบังเหียนหลัก สามารถนำเสนอความล้ำของดนตรีสไตล์โปรเกรสซีฟที่ถือเป็นของแปลกของใหม่ในยุคนั้น (อันที่จริงยังคงถือเป็นของแปลกสำหรับยุคนี้ด้วย) ซึ่งในรายละเอียดนั้นมีการใช้แนวทางดนตรีที่ปลีกย่อยแยกแตกออกไป นำโดยร็อก โฟล์ค ไซคีเดลิก ป็อบ อีเลกโทรนิก เจือกลิ่นแจ๊สบ้าง รวมไปถึงในทางซาวนด์ลี้ลับและเวิลด์มิวสิค ที่มาจะมีความหลากหลายแต่สามารถผสมผสานร้อยเรียงออกมาได้อย่างมีเอกภาพ คุมคอนเซ็ปต์ องค์รวมให้ออกมาเป็นเนื้อเดียวกันได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะกับคีย์บอร์ดและกีตาร์ ถือเป็น 2 หัวหอกหลักในการสร้างซาวนด์อันโดดเด่นในอัลบั้มชุดนี้

ด้านพี่เต๋อผู้ที่มาเป็นนักร้องนำ นำส่งสารสื่อความหมายนัยยะของบทเพลง น้าแกมีไสตล์การร้องที่หลากหลาย ทั้งหวาน ดุ เรียบง่าย สบายๆ ที่สำคัญคือการร้องแบบกึ่งสวดมนต์ที่นิยมใช้กันในหลายเพลง น้าเต๋อสามารถถ่ายทอดสร้างมันให้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอัลบั้มชุดนี้ที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง

นับได้ว่า“เรามาร้องเพลงกัน” เป็นหนึ่งในผลงานเพลงชั้นเยี่ยม ลงตัวทั้งเนื้อหา ดนตรี และคอนเซ็ปต์ แต่ด้วยความที่ทำออกมาก่อนกาล ไม่แคร์ตลาด ฟังยาก หลายเพลงต้องตีความ ไม่มีเพลงขาย ทำให้สุดท้ายแล้วอัลบั้มนี้แป้ก!! ไม่ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและชื่อเสียง กลายเป็นอัลบั้มที่คนฟังเพลงกระแสหลักแทบจะไม่มีใครรู้จัก

อย่างไรก็ดีในความล้มเหลวของเรามาร้องเพลงกัน เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านพ้นมาอัลบั้มชุดนี้กลับกลายเป็นของมีค่าที่หลายคนต้องการฟัง เป็นหนึ่งในอัลบั้มต้นแบบในแนวทางโพรเกรสซีฟ(ไทย)ที่ได้รับการยกย่องว่าทรงคุณค่ามาก่อนกาล

ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า ดนตรีดีๆไม่เคยตาย
*******************************************

หมายเหตุ : คอลัมน์เพลงวาน กลับมาอีกครั้ง โดยจะนำบทเพลงน่าสนใจย้อนยุค มานำเสนอสลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม
กำลังโหลดความคิดเห็น