แม้ประเด็นที่ถูกโยนไว้ในหนังตัวอย่าง จะนำทางให้คนดูคิดไปอีกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าความหมายของชีวิต ดั่งคำพูดรำพึงรำพันของโทนี่ สตาร์ก ที่ว่า “จะอยู่อย่างว่างเปล่า หรือตายอย่างมีความหมาย” ซึ่งชวนให้คิดว่าไอร์อ้อนแมนภาคนี้ จะมาแนวสื่อสะท้อนคุณค่าชีวิตอย่างเอาเป็นเอาตายหรือเปล่า และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าทิศทางที่ปรากฏในหนังตัวอย่าง ยังดูหม่นๆ ดาร์กๆ หนักอึ้งในความรู้สึก
อย่างไรก็ดี จากผลลัพธ์ที่ออกมา ภาพรวมของไอร์อ้อนแมน 3 ไม่ได้เป็นเช่นหนังฮีโร่ยุคหลังๆ ที่เอะอะอะไรก็ต้องดาร์กไว้ก่อน ตรงกันข้าม เรื่องของฮีโร่เกราะเหล็กผู้นี้ ยังมีอารมณ์แบบเดียวกับหนังแอ็กชั่นคอเมดี้ยุค 80 ที่มาพร้อมกับสูตรของการดูแล้วเข้าใจง่ายๆ ตัวพระเอกเข้าถึงได้ไม่ยาก และเส้นเรื่องก็เป็นไปตามสูตร คือพระเอกเก่ง ต้องเพลี่ยงพล้ำต่อตัวร้าย แต่สุดท้ายก็กอบกู้สถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลับมาดีได้ โดยในระหว่างเรื่องดำเนินไป ก็มีการต่อสู้ให้คนดูรู้สึกตื่นเต้น และมีมุกตลกเป็นตัวผ่อนคลายความตึงเครียดเป็นระยะๆ
และในขณะที่รู้สึกว่า ประเด็นที่ถูกปูไว้ในหนังตัวอย่าง ไม่ได้รับการสานต่อในหนังตัวจริง เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า “เขาสร้างชุดหรือชุดสร้างเขา” ก็ดูจะบางเบาจับต้องไม่ได้ ผมกลับมองว่า หนังสามารถทดแทนด้วยประเด็นอื่นที่คมคายไม่น้อยไปกว่ากัน และมันก็ทำให้หนังดูมีน้ำหนักมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ เอาล่ะ ก่อนจะไปถึงประเด็นนั้น เรามาว่ากันในส่วนอื่นๆ ก่อน
แน่นอนครับ สำหรับคอการ์ตูนต้นฉบับ อาจจะรู้สึกไม่แฮปปี้เท่าไรนัก กับการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง (โดยเฉพาะ “แมนดาริน”) แต่ถ้าไม่ยึดติดกับตรงนั้น เราก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่สนุกไปกับงานชิ้นนี้ เฉพาะอย่างยิ่งผู้กำกับ เชน แบล็ค ที่เก่งในทางเขียนบทหนังแอ็กชั่นคอเมดี้มาก่อน เขาทำให้เรื่องของโทนี่ สตาร์ก อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี ระหว่างความบันเทิงกับประเด็นเนื้อหา หนังไม่ได้เทศนาอะไรมาก ต่างจากหนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคหลังแทบทั้งหมดที่จะต้องให้คนดูได้ซด “อรรถรสความลึกซึ้ง” กันอย่างถึงแก่น ในประเด็นอะไรโน่นนี่ จนบางที กลับออกมาจากโรงหนังแล้วอยากจะออกไปฆ่านักการเมืองเลวๆ สักคนสองคนหรืออะไรทำนองนั้น
เหตุผลหนึ่งซึ่งหนังมันไม่จำเป็นต้องดาร์กเหมือนกับหนังฮีโร่เรื่องอื่นๆ คิดว่าเป็นเพราะบุคลิกของตัวละครเอกเองด้วย พูดตามภาษาวัยรุ่นสมัยใหม่ โทนี่ สตาร์ก นี่เข้าข่ายเกรียนเหมือนกันนะครับ เพียงแต่เป็นพวกเกรียนขั้นเทพ คือบุคลิกของเขาเป็นแบบนั้น มีความยียวนกวนบาทาปนอารมณ์ขันแบบตลกร้าย เสียดสีเหน็บแนมประชดประชันเป็นเลิศ และทำอะไรที่หลุดโลกได้แบบไม่ต้องเกรงใจใคร แน่นอน พฤติกรรมเหล่านี้มีทรัพย์สินมหาศาลและศักยภาพระดับอัจฉริยะเป็นแบ็กอัพ ถ้ามาเกรียนแบบไม่มีสิ่งที่ว่ามาเลย อาจจะกลายเป็นเกรียนกวนประสาทไปเลย แต่ที่สำคัญ คือ โทนี่ สตาร์ก เขาเป็นฮีโร่ที่ไม่ยอมเศร้า แม้จะตกต่ำแต่ก็ไม่ได้จิตตกหดหู่ แต่ยังพร้อมจะสู้และแลกอย่างคนบ้าดีเดือด ดังนั้น โทนของหนังจึงไม่จำเป็นต้องหม่นมาก
ผมชอบหลายความเห็นที่บอกว่า เรื่องของไอร์อ้อนแมน สะท้อนความเป็นอเมริกันชนออกมาอย่างเห็นภาพ อันที่จริง มันก็เริ่มมาตั้งแต่ภาคแรกแล้วล่ะ และที่ชัดขึ้นอีกก็คือภาคสองที่ตัวของโทนี่ สตาร์ก เอง ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งวิธีคิดแบบอเมริกันอยู่กลายๆ มาภาคนี้ หนังก็ไม่พลาดอีกที่จะเหน็บแนมความเป็นอเมริกันออกมา คำว่า “ประเทศเสรี” ถูกพูดออกจากปากของตัวละครในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่ง เรื่องราวในหนังที่เกี่ยวโยงถึงความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนประธานาธิบดี สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความพยายามของหนังที่จะพูดถึง “สัจจะ” เกี่ยวกับประเทศของตน
ในหนังฮ่องกงเรื่อง Cold War มีคำพูดคำหนึ่งว่า “ศัตรูของตำรวจจริงๆ ก็คือ คนในกรมตำรวจด้วยกันเอง” ในไอร์อ้อนแมนก็คงไม่ต่างไปตากนั้น เพราะศัตรูของอเมริกาตัวจริง ก็คือคนอเมริกาด้วยกันทั้งนั้น เพราะเมื่อพูดกันอย่างถึงที่สุด ตัวร้ายๆ ทุกตัวในไอร์อ้อนแมนภาคนี้ มันก็อเมริกาทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่ง่ายหรอกที่จะแอ่นอกยอมรับเรื่องอะไรแบบนี้ มันต้องสร้างปีศาจขึ้นมาเป็นแพะรับบาป ดั่งเช่นภาพของ “แมนดาริน” (เบน คิงส์ลี่ย์) ในเรื่อง ที่ถูกแต่งแต้มเติมสีราวกับเป็นปีศาจจุติจากขุมนรกโลกันตร์
ขณะที่ “ปีศาจที่สร้างขึ้น” คือภาพสะท้อนอย่างหนึ่งซึ่งข่มขู่คุกคามอเมริกันตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านพ้น ในนามของการก่อการร้าย ในอีกด้านหนึ่ง “ปีศาจที่สร้างขึ้น” ก็เป็นโจทย์ใหญ่ในชีวิตของโทนี่ สตาร์ก เช่นเดียวกัน เรื่องราวในวันวาน กลายเป็นชนวนเหตุที่นำมาซึ่งเรื่องราวคาดไม่ถึงสำหรับเขาในวันที่เขากำลังไปได้สวยบนเส้นทางของฮีโร่ปกป้องโลก จะว่าไป โทนี่ สตาร์ก ภาคนี้ ก็มีส่วนคล้ายๆ บรูซ เวย์น แห่ง Batman Begin ในบางส่วน ที่ต้องกลับไปสางปมในอดีต เพียงแต่ขีดความเข้มข้นหม่นมัว สำหรับแบ็ทแมน มันดูเคร่งเครียดมากกว่า
และที่มันน่าตลก แต่ขำไม่ค่อยออก สำหรับโทนี่ สตาร์ก ก็คือว่า ปีศาจที่ย้อนเวลากลับมาตามล่าตัวเขานั้น เป็นปีศาจที่เกิดจากความเผลอพลาดไม่คาดคิด มันก็เหมือนกับชีวิตเราทั่วไปแหละครับ บ่อยครั้งที่เราไปสร้างปมให้ใครโดยที่เราอาจจะไม่ทันตระหนักถึง
แน่นอนว่า ในโลกความเป็นจริง มันอาจจะไม่มีใครย้อนกลับมาเล่นงานเราเหมือนปีศาจของโทนี่ สตาร์ก แต่สิ่งที่เราทำ มันก็ได้บีบขยำโลกของใครบางคนให้บูดเบี้ยวไปเรียบร้อยแล้ว ลองนึกดูดีๆ นะครับว่าคุณได้เคยสร้างปีศาจมาแล้วจำนวนเท่าไหร่?