xs
xsm
sm
md
lg

เดอะ แกรนด์มาสเตอร์แห่งความเดียวดาย : หว่องการ์ไว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เข้าฉายในบ้านเราไปร่วมสองสัปดาห์แล้ว สำหรับหนังกังฟูในสไตล์ของหว่องการ์ไว ซึ่งก็เป็นที่คาดหมายได้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า เรื่องราวของอาจารย์ยิปมัน ครูมวยหย่งชุน ในแบบของหว่องการ์ไว ย่อมไม่มีทางเหมือนกับเวอร์ชั่นที่ดอนนี่ เยน แสดงไว้ทั้งสองภาค เมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งดูจะมีความลงตัวทั้งในแง่ความสนุก แอ็กชั่น และเนื้อหาที่ลึกซึ้งพอประมาณและจับต้องได้ชัดเจนว่าหนังจะสื่อถึงอะไร

แต่หว่องการ์ไว ถึงอย่างไรก็ยังคงเป็นหว่องการ์ไว หนึ่งเดียวในโลก ผมมองว่าเขาเป็นบุคคลที่ชัดเจนกับไวยากรณ์ในการทำหนังของตัวเองอย่างถึงที่สุด เพราะถึงแม้จะมาหยิบจับทำหนังสไตล์จอมยุทธ์ที่ดูเหมือนว่าจุดขาย “จำเป็น” จะต้องอยู่ที่ฉากการต่อสู้ แต่ทว่า “ลายเซ็น” อันพยายามนวดเค้นเกี่ยวกับเรื่องความเหงาที่เข้าขั้นเป็นความรู้สึก “เดียวดาย” อ้างว้าง ก็ยังพบเห็นได้ในหนังจอมยุทธ์ที่เขาทำ

เพราะต่อให้ไม่นับรวม เดอะ แกรนด์มาสเตอร์ ก่อนหน้านี้ เขาก็เคยพาตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับนิยายยุทธจักรอันคลาสสิก “กิมย้ง” อย่าง “มังกรหยก” แต่มังกรหยกของหว่องการ์ไว ก็กลายเป็น “มังกรเหงาๆ และเจ็บปวด” อย่างที่แฟนกิมย้งอาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือว่า นอกจากจะไม่ให้ความสำคัญกับเชิงยุทธแบบที่หนังจอมยุทธ์จะต้องทำแล้ว ในส่วนเนื้อหาเรื่องราว ก็ยังถูกใส่ “ความหมายใหม่” ลงไป และเล่นกับภาวะความรู้สึก ที่มาที่ไป และเงื่อนปมในใจของตัวละคร แทนที่จะบอกว่า ใครเก่งในเชิงยุทธ์แบบไหน

แน่นอนว่า พอมาถึงเดอะ แกรนด์มาสเตอร์ แนวทางที่เราเคยพบเจอใน “มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ์” (Ashes of Time) ก็ยังพบเห็นได้ในหนังเรื่องนี้ อันที่จริง มันก็คือ “แนวทาง” หรือรูปแบบ หรือสไตล์อะไรก็ว่ากันไป ที่พบเห็นได้ในหนังของหว่องการ์ไวทุกๆ เรื่องนั่นล่ะครับ ทั้งบรรยากาศและอารมณ์การเล่าเรื่อง มากันเป็นแพ็กเกจ คำถามก็คือ ในแพ็กเกจที่ว่านั้น โดยหลักๆ แล้วมักจะมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดในการเอ่ยถึงหนังของหว่องการ์ไว แต่อย่างน้อยที่สุด ผมหวังว่า มันอาจจะมีประโยชน์บ้างก่อนที่คุณจะตีตั๋วเข้าไปดูหนังของหว่องการ์ไว และปรับโหมดไว้ล่วงหน้าก่อน แทนที่จะเข้าไปดูแล้วออกมาบ่นว่า หน้าบ้าอะไร เสียดายตังค์แท้...แท้

อันดับแรกสุดเลย ผมจะบอกว่า จากการที่ดูหนังหว่องการ์ไวมาทุกเรื่อง สิ่งหนึ่งซึ่งคุ้นเคยเพราะพบเห็นประจำ ไม่ต่างไปจากพวกชอบคุยกันหรือใช้มือถือในโรงหนัง ก็คือ จังหวะการดำเนินเรื่องที่เนิบช้า ไม่ต้องถามว่ามันจะหวือหวาโฉ่งฉ่าง เอาแค่ว่าไม่หาวออกมาห้าครั้งในรอบครึ่งชั่วโมง ก็เป็นบุญยิ่งแล้ว แต่ก็นี่แหละครับ นับเป็นเส่นห์ที่มันจะโอเค ถ้าคุณไม่มีปัญหากับมัน และบังเอิญว่าผมไม่ค่อยมีปัญหากับหนังที่เดินเรื่องช้าๆ เนิบๆ และโดยประสบการณ์ส่วนตัว ผมไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร แต่บ่อยครั้ง หนังที่เดินเรื่องช้าๆ ก็ทำให้ความรู้สึกนึกคิดของเราสโลว์ลงได้ ผมมองอย่างนี้ครับว่า เหตุผลที่หนังของหว่องการ์ไวต้องช้าๆ เนิบๆ ก็เพราะว่าสิ่งที่เขากำลังจะสื่อสารกับคนดู มันเป็นอะไรที่ต้องบอกว่า ถ้าไปพูดในหนังที่เดินเรื่องเร็วๆ หรือแอ็กชั่นกันระเบิดระเบ้อ ก็คงไม่ค่อยมีความหมายอะไร อย่างเรื่องความเหงา ความเดียวดาย ขื่นขม คิดดูสิครับว่า ถ้าใช้ไวยากรณ์หรือองค์ประกอบแบบ Fast Five มันจะออกมาเป็นเช่นไร?

และเพราะมันเกี่ยวข้องกับความเหงาหรือเดียวดายของผู้คน เราจึงมักจะเห็นพฤติการณ์และพฤติกรรมแบบหนึ่งปรากฏเป็นกิจวัตรประจำตัวละครของหว่องการ์ไวเสมอๆ ก็คือ บทรำพึงรำพันกับตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านไดอะล็อกแบบบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง หรือแม้แต่คุยออกเสียงกับตัวเอง ทั้งที่เปล่งเสียงออกมา และพูดอยู่ในใจ มีเพื่อนบางคนเคยแซวๆ ว่า จะดูหนังหว่องการ์ไวเข้าใจแจ่มแจ้ง คุณต้องเป็นคนที่สามารถคุยกับสบู่ได้ คุยกับตุ๊กแก กับมด หรือกับผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ได้ ก็เป็นการอำที่ขำดีครับ แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับภาวะของตัวละคร เหมือนคุณโกรธหรือรู้สึกไม่พอใจอะไร คุณก็อาจจะสบถออกมาได้ เช่นเดียวกัน เมื่อคุณเหงาอย่างถึงที่สุด คุณก็อาจจะพูดกับสิ่งรอบๆ ตัว ต่อให้มันมีหูหรือมีความรู้สึกที่จะรับฟังและเข้าใจในสิ่งที่คุณพูดหรือไม่ก็ตาม

งานด้านภาพ ก็ดูจะเป็นเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่งซึ่งดูปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นหว่องการ์ไว เพราะถึงแม้ตอนนี้ในเรื่องเดอะ แกรนด์มาสเตอร์ จะไม่มีช่างภาพอย่างคริสโตเฟอร์ ดอยล์ มาร่วมงานด้วยเหมือนเมื่อก่อน แต่ทว่าลวดลายทั้งในส่วนมุมกล้องและองค์ประกอบภาพก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม มุมมองของกล้อง เหมือนแทนมุมมองของผู้หว่องการ์ไวอย่างไม่อาจปฏิเสธ การจัดแสงเงาให้แลดูฟุ้งๆ เคว้งคว้างล่องลอย สะท้อนให้เห็นถึงภาวะจิตใจตัวละครของหว่องการ์ไวที่มักจะเป็นพวก “จิตวิญญาณหลงทาง” (One Lost Soul) โหยหาบางสิ่งอย่างสุดซึ้ง แต่แสดงออกไปอีกทางหนึ่งแบบหนึ่งหรือกระทั่งไม่เคยเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง และเก็บงำอย่างเงียบงันเงียบเหงา

อันที่จริง ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่หว่องการ์ไวสามารถทำให้เรื่องของความเหงากลายเป็นเรื่องเท่ๆ ได้ อย่าลืมนะครับว่า สมัยที่หนังของหว่องการ์ไวออกตีตลาดใหม่ๆ หนุ่มสาวทั่วเอเชียก็ว่าได้ที่สนองรับแนวทาง “เหงานิยม” ของหว่องการ์ไวกันอย่างพร้อมหน้า หลายคนรู้สึกว่าการยืนอยู่บนฟุตบาธยามค่ำคืน ใต้แสงนีออนสลัวๆ มัวหม่น ถือเป็นความเท่อย่างสุดติ่งในสายตา เพราะเหงาแล้วมันดูโรแมนติกดี เช่นเดียวกับประโยคเท่ๆ ที่ฟังดูแล้วน่าหลงใหล อย่างเช่นในหนังยุคแรกๆ อย่าง Days of Being Wild หนึ่งในถ้อยคำที่เป็นอมตะไปแล้วก็คือคำของตัวละครเลสลี่ จาง ที่ว่า “ฉันเคยได้ยินเรื่องนกไร้ขา วันๆ มันได้แต่บินๆๆ แล้วก็บิน ชีวิตของมันจะลงดินก็เพียงวันเดียว คือวันตาย” ถ้อยคำลักษณะนี้ได้ใจคนเหงาไปเต็มๆ ขณะเดียวกันก็คงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่คิดแบบเดียวกับหลิวเต๋อหัว (ใน Days of Being Wild เช่นกัน) ที่ตอกกลับเลสลี่ จาง ว่า อย่ามาพร่ำเพ้อรำพันเลย มันก็แค่คำเท่ๆ เอาไว้หลอกสาวเท่านั้นแหละ (ฮา)

เอาล่ะ ทีนี้ก็มาถึงเดอะ แกรนด์มาสเตอร์ ผมคิดว่าคนที่จะดูยิปมันเวอร์ชั่นนี้ได้สนุกกว่าคนอื่นๆ ย่อมหมายถึงคนที่เป็นแฟนของหว่องการ์ไวมาก่อนแล้ว แต่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตาหว่องการ์ไวมาเลย จะดูไม่ได้นะครับ เพราะตามจริง หนังก็ไม่ได้มีอะไรลึกลับซับซ้อนเลย และวิธีเล่าเรื่องก็ค่อนข้างเรียบง่าย เมื่อเทียบกับหนังหลายเรื่องที่ผ่านมาของหว่องการ์ไว และจะว่าไป เนื้อหาอะไรๆ ก็พูดออกมาตรงๆ อย่างเรื่องปรัชญาการต่อสู้ ไปจนถึงความรู้สึกรัก เศร้า เหงา ซึ้ง ทุกคนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ไม่ยาก

ผมขออนุญาตไม่พูดถึงหนังเรื่องนี้มากในเชิงรายละเอียด แต่ถ้าจะมีอะไรพอแนะนำได้ นี่ไม่ใช่หนังบู๊ในแบบที่ดูเพื่อเอามัน อย่างหนังบู๊แอ็กชั่นทั่วๆ ไป แม้ว่ามันจะมีฉากการต่อสู้อยู่พอสมควร แต่ทว่าเมื่อเทียบกับหนังยิปมันเวอร์ชั่นก่อนหน้า ทิศทางมันไม่เหมือนกัน พิกัดความบู๊ของเดอะ แกรนด์มาสเตอร์ คือความบู๊ที่ต่อสู้อยู่ในใจ โลกของนักสู้ ในความหมายของหว่องการ์ไว บางที อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การออกไปใช้กำลังต่อยตีกับผู้คน เพราะบ่อยหน สิ่งที่ต้องเผชิญผจญ ก็อยู่ในจิตใจของตนนั่นเอง

ถ้าคุณดูหนังหว่องการ์ไวมาพอสมควร คุณจะพบว่า เนื้อหาแบบหนึ่งซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในเนื้องานของผู้กำกับคนนี้ คือเรื่องราวของตัวละครที่มักจะต้องพบกับความไม่สมหวังในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งส่วนมาก ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัก การพบพานและพลัดพราก ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติในโลกของหว่องการ์ไว โหยหาแต่ไม่เคยได้รับ ชิดใกล้แต่ไม่เคยได้สัมผัส ในโลกนี้มีเรื่องราวอื่นใดไหมที่สามารถบันดาลความรู้สึกเดียวดายให้กับผู้คนได้มากมายเท่าสิ่งนี้?



กำลังโหลดความคิดเห็น