xs
xsm
sm
md
lg

"ยิปมัน" ของ "หว่องกาไว" ... โปรดทำใจก่อนดู

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


อาจกล่าวได้ว่า The Grandmaster คือหนัง "กังฟู" ที่มีความทะเยอทะยานทางศิลปะที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมี ... "หว่องกาไว" เลือกที่จะเล่าเรื่องราวในชีวิตของ "ยิปมัน" ด้วยความลุ่มลึก, เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์วิธีการนำเสนอแบบส่วนตัวของเขา ... The Grandmaster จึงเป็นหนังแบบ "หว่อง ๆ" ที่ตอบสนองคนที่เข้าใจแนวทางของเขาเป็นหลัก ... และคงไม่มีอะไรให้สำหรับผู้พิสมัยความรุนแรง, ดุเด็ดเผ็ดมันในแบบหนังกังฟูพันธุ์แท้

เทียบกับหนังเรื่องก่อน ๆ ขอบเขตของช่วงเวลาใน The Grandmaster นั้นดูจะยาวนานครอบคลุมกว่า เริ่มต้นตั้งแต่ ยิปมัน อายุขึ้นเลข 40 ปี เป็นชายวัยกลางคนที่พร้อมสร้างชื่อให้ตัวเองโด่งดังในวงการขึ้นมา จนไปจบเอาเมื่อ ยิปมัน อายุได้ 50 เศษ หลังเดินทางไปฮ่องกงแบบไม่มีอะไร จนได้ฐานะเป็นครูมวยที่ห้อมล้อมไปด้วยลูกศิษย์มากมาย และทำให้"หย่งชุน" โด่งดัง เป็นวิชามวยที่มีคนฝึกมากที่สุดแขนงหนึ่งของโลก

ส่วนสำคัญที่ต้องทราบก็คือ อย่างที่เห็น The Grandmaster ไม่ได้ใช้ชื่อของ ยิปมัน มาตั้งเป็นชื่อหนังเหมือนกับหนังที่เล่าเรื่องของครูมวยท่านนี้เรื่องที่แล้วมา แม้แต่ชื่อภาษาจีน "一代宗師" ก็มีความหมายว่า "ปรมาจารย์รุ่นแรก" เช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นหนังที่ไม่ได้พูดถึงแต่เรื่องราวของ ยิปมัน เพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญไปกับครูมวยคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น "คุณหนูกง" (สวมบทบาทโดย จางจื่ออี๋) ยอดฝีมือผู้สืบทอดวิชาลับ "64 ฝ่ามือ" และ "มือใบมีดโกน" อวี้เซียนเถียน (จางเจิ้น) ชายหนุ่มเจ้าของเพลงหมัดอันรุนแรง ที่มีเส้นทางไปสู่การเป็น "ปรมาจารย์" ของตัวเอง

The Grandmaster เริ่มต้นขึ้นในปลายยุค 1930s ก่อนจะไปจบลงในต้น ๆ ยุค 1950s เป็นหนังที่อาจพูดได้ว่าเป็น "ชีวประวัติ" อย่างไม่เป็นทางการ เล่าเรื่องไล่เรียงตามปี ประกอบกับคำบรรยายของตัวละคร ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเขาเอง และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เพื่อกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ฉายภาพบรรยากาศโดยรวมของ "โลกหมัดมวย" ในยุคสุดท้าย ก่อนวิชาศิลปะแห่งการต่อสู้จีนจะลดทอนความสำคัญในแบบเดิมลงไป

โดยพื้นฐานหนังประเภทกังฟู เป็นงานบันเทิงประเภท "ราคาถูก" ผู้คนในวงการหนังกังฟูส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ถ้าไม่ได้มาจากสายนักแสดงงิ้ว ก็เป็นบรรดาทีมงานผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากระดับต่ำ ๆ ไม่ว่าจะเหล่าตัวประกอบ, สตั้นแมน เป็นบุคลากรที่ทำหนังด้วยลูกบ้า ไร้ทฤษฎีอันถูกต้องแม่นยำ เป็นหนังประเภทที่คงไม่ได้รับการยกย่องอะไรมากนัก เน้นไปที่ความสนุกเรียบง่ายอันจริงใจ ไม่จำเป็นต้องพึ่งมันสมองมากนักทั้งสำหรับคนดู และคนสร้าง

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่พอสมควรเมื่อ หว่องกาไว (หวังเจียเหว่ย) ผู้กำกับประเภท "ตลาดบน" ทำหนังขายเฉพาะกลุ่ม ถือคนดังแห่งตลาดหนังเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ จะหันมาทำหนังกังฟู หนังที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "ตลาดล่าง" อย่างชัดเจนดูบ้าง

สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่า หว่องกาไว "ลดระดับ" ความหรูหรายุ่งยากจากมาตรฐานปกติของตัวเองลงมาบ้างในงานชิ้นนี้ แม้เรื่องราวจะเล่าอย่างเชื่องช้า, เนิบนาบ ให้ความสำคัญกับงานภาพอันสวยสดงดงาม เพื่อสื่อความหมาย และสภาพจิตใจของตัวละคร ที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชีวิตเหมือนเดิม แต่อย่างน้อย The Grandmaster ก็ยังไม่ได้ถึงขั้น "ดูไม่รู้เรื่อง" และยังเห็นว่าเดินไปตามสูตรของหนังกังฟูอยู่บ้าง แน่นอนว่ามันคงจะห่างไกลจากคำว่า "สนุก" สำหรับแฟนหนังกังฟู ที่นิยมความเรียบง่ายและเบาปัญญาอย่างผม

นอกจากวิธีการนำเสนอที่ "สูงส่ง" แบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในหนังกังฟูแล้ว The Grandmaster ยังมอง "วิชามวย" ด้วยวิธีที่แตกต่างจากหนังประเภทเดียวกันโดยทั่วไป .... "กังฟู" ที่ในท้องเรื่องให้ความหมายว่า "ล้มแล้วลุก" ได้ถูกใช้เพื่อบอกเล่าถึงความทะเยอทะยานส่วนบุคคล เป็นหนทางของการไปสู่จุดสูงสุด เป็นวงการแต่ละคนต้องผ่านการเคี่ยวกรำ และอุทิศตัวเองอย่างมหาศาล

ภาพโลกของตัวละครผู้ฝึกหมัดมวยใน The Grandmaster จึงถูกถ่ายทอดออกมาให้เป็นบุคคลที่ทุ่มเทชีวิตให้กับ "กังฟ" ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว ไม่ได้เป็นแค่วิชาหมัดมวย แต่มันคือศาสตร์แห่งชีวิต ที่ต้องใช้ความพยายาม และจดจ่ออยู่กับสิ่งนี้อย่างถึงที่สุด แม้แต่ตัวละคร ยิปมัน ก็ยอมรับในตอนหนึ่งของเรื่อง ว่าคนที่ใช้ชีวิตด้วยมรดกของครอบครัวอย่างเขา นี่คือสิ่งเดียวที่ตน "หมกมุ่น" อยู่กับมัน มากเสียยิ่งกว่าภรรยา (ซองเฮเคียว กับ 6 นาทีในหนัง) ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเสียอีก

โดยมากหนักกังฟูมักจะมีฉากหลังอยู่ตามสำนัก, หมู่บ้าน, ชนบท, ถนนหนทาง แต่สำหรับ The Grandmaster เหตุการณ์ตลอดทั้งเรื่องแทบจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่, ท่ามกลางความมืด, พื้นที่ปกปิด, ปกคลุมไปด้วยเม็ดฝน, หิมะ, หมอก, ควัน เป็นเหมือนพื้นที่ลึกลับที่ซ่อนอยู่ในเมืองใหญ่ เป็นสังคมของบุคคลชั้นพิเศษ

ในช่วงองค์แรกของหนัง เรื่องราวเกิดขึ้นในโรงน้ำชาชั้นสูงที่เรียกว่า "หอทองคำ" ที่เต็มไปด้วยอบายมุข และผู้หญิง ไม่ใช่สถานที่ประเภทซึ่งเด็ก หรือกุลสตรีจะมีโอกาสมาเยือน แต่อีกด้านนี่กลับเป็นศูนย์รวมของผู้คนในแวดวงหมัดมวย แต่ละคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันหรูหรา ใช้ชีวิตกันอย่างฟุ้งเฟ้อมองได้ว่าเป็นบุคคลที่ค่อนข้างมีฐานะพิเศษในสังคม

หนังเปิดฉากขึ้นมาด้วย ยิปมัน ในช่วงอายุ 40 ปีต้น ๆ ที่เริ่มสร้างชื่อขึ้นในวงการหมัดมวย โดยเฉพาะเมื่อเอาชนะ "กงอี้เถียน" ยอดฝีมือของทางภาคเหนือ จนขึ้นเป็นอันดับ 1 ของครูมวยแห่งแถบใต้ การต่อสู้ครั้งนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่าง ยิปมัน กับ "คุณหนูกง" หรือ "กงรั่วเหม่ย" (จางจื่ออี๋ ที่เด่นเสียจนกลบ ยิปมัน) ลูกสาวของ กงอี้เถียน ที่ในตอนแรกดูเหมือนจะมีความแค้นเคือง ยิปมัน อยู่ไม่น้อย ที่โค่นพ่อของเธอลง แต่สุดท้ายความสัมพันธ์ของทั้งกลับเดินไปสู่ความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ

สุดท้ายความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ ยิปมัน กลับต้องมาเกิดขึ้น เมื่อโลกแห่งวิชาหมัดมวยได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดลง เมื่อสงครามจีนญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้น วิชาเพลงหมัดก็เริ่มด้อยค่าลงไป ทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัด ยอดฝีมือบางคนเอาตัวแทบไม่รอด แม้แต่ยิปมันก็ต้องเสียบ้าน และความเป็นอยู่อันหรูหราไป

อีกด้าน กงรั่วเหม่ย ที่สืบทอดหมัดปาจี๋ฉวนจากพ่อ กลับต้องทิ้งชีวิตของตัวเองทั้งหมด เพื่อการแก้แค้น "หม่าซัน" ศิษย์พี่เจ้าของมวยซิงอี่ ที่ลงมือสังหารบิดาที่ก็ถือว่าอาจารย์ของเขาเอง เพราะความทะเยอทะยานส่วนตัว

หลังผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ไปมากมาย คุณหนูกง กับ ยิปมัน ได้จอกันอีกครั้งที่ฮ่องกง ในยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ตัวของฝ่ายหญิงแทบจะกลายเป็นคนละคน เธอดูหมดชีวิตชีวาไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ดูเหมือนว่า ยิปมัน ยังคงเป็นคนเดิมของเขาอยู่แบบนั้น

มีตอนหนึ่งของหนัง เป็นฉากเล็ก ๆ ที่น่าจะบ่งบอกถึงความหมายอะไรหลาย ๆ อย่างได้ก็คือตอนที่ ยิปมัน เดินทางมาถึงฮ่องกงแบบ "ไม่มีอะไรเลย" เพื่อสมัครเป็นครูในสำนักมวยห้องแถวแห่งหนึ่ง แม้จะแทบไม่มีเงินติดตัว, อาจจะเรียกได้ว่าสิ้นไร้ไม้ตอก ยิปมัน ยังคงไว้ท่า และแสดงออกถึงความมั่นใจ หยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเองเหมือนเช่นที่เป็นมา เขายังกล่าวกับเจ้าของสำนักมวยแห่งนั้นว่าจะไม่รับสอนพวก "นักแสดงเร่ หรือเชิดสิงโต เด็ดขาด กังฟูไม่ใช่ขอทาน พวกเชิดสิงโต

สิ่งหนึ่งที่คนถามกันมากที่สุด เกี่ยวกับหนัง The Grandmaster ก็คือ "หนังบู๊กันมัน" รึเปล่า แน่นอนครับส่วนใหญ่ต้องบอกว่า ไม่ได้มันเท่ากับ Ip Man ของ ดอนนี เยน เหตุผลที่พอจะรับฟังกันได้ก็คือ "นี่ไม่ใช่หนังแอ็กชั่น, ไม่ใช่หนังกังฟู, ไม่ใช่หนัง บู๊" ... ผมเองก็เห็นด้วยอยู่ส่วนหนึ่ง ว่าคงจะไปคาดหวังอะไรกับความสนุกตื่นเต้นประเภทนั้นกับ The Grandmaster ไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า ฉากพะบู๊ต่อยตีคือส่วนสำคัญสำหรับหนังประเภทนี้จริง ๆ

The Grandmaster มีฉากต่อสู้ให้ดูกันพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของหนังซึ่ง หว่องกาไว และผู้กำกับคิวบู๊ หยวนวูปิง นำเสนอเพลงมวยที่มีอยู่จริง ไม่ใช่แค่ หย่งชุน แต่ยังรวมถึง "ปาจี๋ฉวน", "ปากัวจ่าง" และ "สิ่งอี้ฉวน" ให้คนดูได้ชมกันอย่างจริงจัง และให้เกียรติ จากเดิมทีที่มวยเหล่านี้ไม่ค่อยได้ปรากฏในโลกภาพยนตร์เท่าไหร่ เทียบไม่ได้เลยกับ "หงกวน" ซึ่ง หว่องกาไว ก็ทำให้เพลงมวยเหล่านี้ดูน่าสนใจ ทั้งรายละเอียดของท่วงท่า การกวัดแกว่งแขน และหมัด หรือการก้าวย่างเท้า ที่ดูมีรายละเอียด แน่นอนว่าทักษะการทำหนัง, ใส่ดนตรี, เลือกมุมกล้อง และใช้เสียงประกอบ ก็ช่วยให้ฉากต่อสู้ในหนังดูพิเศษกว่าหนังแนวเดียวกัน

อย่างไรก็ตามการเลือกใช้นักแสดงที่ไม่ได้มีพื้นฐานทักษะด้านแอ็กชั่นสูงนัก ผสมกับการออกแบบ และถ่ายทำฉากต่อสู้ด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์อันแพรวพราว โดยเฉพาะเทคนิคคอมพิวเตอร์ ที่สร้างภาพแบบใหม่ ๆ อย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นในฉากต่อสู้ของหนังทำนองนี้ ก็ทำให้คิวบู๊ ของ The Grandmaster ก็ดูผิวเผินฉาบฉวย ปวกเปียก และไม่อาจสะท้อนความกดดัน และตึงเครียดของการต่อสู้เอาชีวิตกันออกมาได้

ยังมีประเด็นที่คนพูดถึงกันอยู่ไม่น้อยเลย กับตัวละครของ จางเจิ้น ที่ชื่อว่า "มือมีดโกน" เลยว่าจะใส่เข้ามาทำไม เพราะแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง หรือตัวละครหลักเลย นอกจากการได้พบกับตัวละคร คุณหนูกง อยู่ฉากหนึ่งเท่านั้น

อันที่จริงก็พอจะอธิบายได้อยู่เหมือนกันว่า หว่องกาไว ต้องการให้หนุ่มเลือดร้อนคนนี้เป็นตัวแทน "ผู้รอดชีวิต" จากยุคสมัยของหมัดมวยอีกคนนอกจาก ยิปมัน

ในช่วงท้ายเรื่อง มือมีดโกน เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ฮ่องกง เปิดร้านตัดผม ใช้เพลงหมัดแก้ปัญหา การกระทบกระทั่งต่าง ๆ จนมีผู้ติดตามมากมาย เรียกว่าค่อย ๆ เติบโตเป็น "ปรมาจารย์" ด้วยเพลงหมัดปาจีฉวนในแนวทางของตัวเอง เป็นปรมาจารย์ที่หลงเหลืออยู่ ด้วยเส้นทางที่แตกต่างไปจาก ยิปมัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบทของ จางเจิ้น อาจจะสมบูรณ์แบบกว่านี้ หากตัวละครของเขาได้ลงเอยมาพบกับ ยิปมัน ในตอนท้าย ไม่ใช้ปล่อยให้งงกันแบบนี้

อย่างที่ชื่อภาษาจีนกล่าวเอาไว้ The Grandmaster เป็นหนังที่ว่าด้วย "ปรมาจารย์คนแรก" เป็นยอดฝีมือในโลกยุคหลังพ้นสมัยของหมัดมวย ในตอนจบของเรื่อง "ยิปมัน" สร้างชื่อได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เขาเต็มไปด้วยลูกศิษย์ห้อมล้อม แต่ยอดมวยหย่งชุนในวัยใกล้ 60 ปี ยังคงวางตัวนิ่งเฉยใบหน้าอ่านยาก แม้ท่านกำลังจะได้ก้าวสู่ตำนาน เป็นปรมาจารย์เพลงมวยที่ผู้คนฝึกฝนกันทั่วโลก แต่ก็แฝงแววตาอันเศร้าหมอง ที่ผู้คนและยุคสมัยของตนเอง ได้ผ่านพ้นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่หนังกังฟูดั้งเดิม ประเภทโฉ่งฉ่างเอะอะมะเทิ่งแบบที่เรารัก ไม่ใช่หนังประเภทให้ความบันเทิงเรียบแบบย่อยง่ายลืมเร็ว แต่เป็นหนังแนวกังฟูที่มีความน่าสนใจอยู่ในระดับสูง ด้วยเรื่องราวต้องต้องขบคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้ง และแน่นอนว่าไม่ได้เป็นงานประเภทที่จะเหมาะสำหรับคนดูทุก ๆ คน



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก




ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เหลียงเฉาเหว่ย เป็นยิปมัน ตั้งแต่อายุ 40 - 50 กับการถ่ายทอดบทที่ดูเย็นชา ไม่แสดงความรู้สึกใด ๆ ออกมาชัดเจน
คุณหนูกง (จางจื่ออี๋) ผู้บอบช้ำหนักทั้งกายและใจจากโลกของหมัดมวย
มือมีดโกน อวี้เซียนเถียน (จางเจิ้น) ที่เริ่มต้นเส้นทาง ปรมาจารย์ ของตัวเองในเวลาใกล้เคียงกับ ยิปมัน
ติงเลียนซาน (จ้าวเบิ่นฉาน) ยอดฝีมือผู้เร้นกาย ขณะที่โลกของจอมยุทธผู้อื่นมีความชื่อเสียงความเจิดจ้า และกลับเลือกที่จะอยู่ในความมืดที่ไม่มีใครรู้จัก
กงอี้เถียน ยอดฝีมือจากภาคเหนือ
หม่าซัน ตัวร้ายผู้ทะเยอทะยาน (สวมบทโดย จางจิน สะตั้นแมน ที่เคยร่วมงานกับ จางจื่ออี๋ มาตั้งแต่ Crouching Tiger, Hidden Dragon) แล้ว
ฟางเจิ้งเจิ้ง นางพยาบาลสาวประจำห้องไอซียูจากตาเหลียน ที่ยอมลาออกจากงานเพื่อความฝันเป็นนักแสดง หลังได้งานใน The Grandmaster กับบทโสเภณีประจำหอทองคำ และยังรับบทสแตนอินของ จางจื่ออี๋ ด้วย แต่สุดท้ายภาพของเธอในหนังก็ถูกตัดออกจากแทบไม่เหลือเลย
งานภาพ และกำกับศิลป์อันสวยงาม
ซุงลี นักกีฬา MMA ร่วมรับบทหนึ่งในยอดฝีมือที่ช่วยขัดเกลา ยิปมัน ก่อนเปิดฉากดวลกับยอดมวยจากทางเหนือ
งานนี้ต้องยอมรับ เธอเด่นจริง ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น