xs
xsm
sm
md
lg

แก่ ใจเด็ด สปอร์ต นายอำเภอ : The Last Stand

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ภายหลังไปเล่นบทบาททางการเมืองกับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฯ นานหลายปี อาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ รีเทิร์นสู่จอเงินอีกครั้ง ในบทบาทนายอำเภอกระดูกเหล็กในเมืองเล็กๆ แถบชายแดน แน่นอนว่า สำหรับแฟนๆ ของดาราร่างใหญ่ผู้เป็นที่จดจำในฐานะ “คนเหล็ก” The Last Stand คือผลงานที่น่าจะทำให้คุณอิ่มเอมในอารมณ์ตามสมควร ด้วยความเป็นหนังแอ็กชั่นที่ผสมผสานกับคอมิดี้ได้อย่างลงตัว ขณะที่บทบาทนายอำเภอใจเด็ด ก็ส่งให้การกลับมาของอาร์โนลด์ครั้งนี้ ดูสมศักดิ์ศรีนักแสดงรุ่นเก๋าอย่างปราศจากที่ติ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปพูดถึงทั้งตัวของอาร์โนลด์และหนังทั้งเรื่อง ผมคิดว่า สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับงานชิ้นนี้ ก็คือ ผู้กำกับชาวเกาหลีที่ชื่อ “คิม จี วุน” ซึ่งถูกดึงตัวไปกำกับหนังเรื่องนี้

อันที่จริง การที่คนเอเชียโกอินเตอร์สู่ถนนฮอลลีวูด อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแล้ว เพราะจอห์น วู เอย อั้ง ลี เอย ล้วนแล้วแต่เคยไปปักธงในตำแหน่งผู้กำกับหนังฮอลลีวูดมาแล้ว ขณะที่คนไทยเราก็เคยไปทำหนังฮอลลีวูดมาบ้างแล้ว เช่น วิทย์ เกาไศยนันท์ (กับหนังเรื่อง Ballistic : Ecks vs. Server ที่นักวิจารณ์อย่างโรเจอร์ อีเบิร์ต ให้เครดิตด้วยคำว่า Unusually Bad!! ห่วยผิดปกติ ว่างั้น?!) ขณะเดียวกัน คนทำหนังชื่อดังอย่างปรัชญา ปิ่นแก้ว ก็เคยทำหนังให้ฮอลลีวูดมาหนึ่งเรื่อง คือ Elephant White ซึ่งไม่ได้เข้าฉายในบ้านเรา แต่ก็มีแผ่นให้หาดูได้อยู่

ครับ, หลังจากที่จีนและฮ่องกง ทำให้ฮอลลีวูดตื่นตาตื่นใจกันมาแล้วก่อนหน้า ก็ตั้งแต่จอห์น วู ไปสร้างความฮือฮาด้วยหนังอย่าง Face Off นั่นล่ะ คราวนี้ก็คงถึงทีของเกาหลีเขาบ้าง ถ้าเข้าใจไม่ผิด หลังจากที่ตีกินตลาดเอเชียได้ระดับหนึ่งแล้ว ก้าวต่อไปของเกาหลีก็คืออเมริกาหรือฮอลลีวูด เพลงอย่างกังนัมสไตล์ของไซ ว่ากันอย่างถึงที่สุด ก็มีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังขับเคลื่อนความดัง บางที นี่อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เกาหลีกำลังกระทำต่อวัฒนธรรมการเสพเพลงและหนังของคนดู มองให้เห็นเป็นระบบการจัดการ มันก็เป็น เพราะก็อย่างที่รู้ ประเทศเกาหลีเขามีความโดดเด่นในการส่งเสริมอะไรทำนองนี้อยู่แล้ว

ในส่วนของหนังเองก็เช่นกัน ผมคิดว่าเหตุผลประการหนึ่งซึ่งทำให้อุตสาหกรรมหนังเกาหลีแตกต่างจากบ้านเราราวฟ้ากับเหว ก็คือระบบโควตาที่กำหนดให้หนังเกาหลีทุกเรื่องได้ยืนระยะฉายในโรงเป็นเวลา 146 วัน นี่เป็นกฎเกณฑ์ที่ถูกวางไว้มาตั้งแต่ยุค 60 แม้ทุกวันนี้ จะลดโควตาเหลือเพียง 73 วัน แต่ก็นับว่ายังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับหนังเกาหลีที่จะได้มีเวลาในการทำความรู้จักกับคนดู และที่สำคัญ หนังทุกแนวได้รับโอกาสเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะทำเงินหรือไม่ทำเงิน หนังในกระแสหรือหนังอินดี้ หนังดีหรือหนังห่วย ทุกเรื่องมีพื้นที่เท่ากันหมด ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับระบบ “3 วันอันตราย” อย่างที่ใช้กันอยู่ในบางประเทศ นั่นคือ ถ้าเห็นท่าไม่ดี ไม่ดัง ทำเงินจิ๊บจ๊อย ก็โดนสอยออกจากโรง

ด้วยเหตุนี้ นี่จึงอาจเป็นคำอธิบายได้พอสมควรถึงความ “กว้างขวาง” ในแนวทางหนังของเกาหลี ที่พูดก็พูดเถอะ นอกจากหนังรักประโลมโลกแบบโรมแมนติกคอมิดี้ อย่างพวกหนังตระกูลยัยตัวร้ายทั้งหลายที่โด่งดังในบ้านเราจนเผลอคิดว่าเกาหลีมีแต่หนังแบบนี้แล้ว เกาหลียังโดดเด่นในการทำหนังอีกหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นหนังผี หนังอีโรติก หรือแม้กระทั่งหนังอาชญากรรมสืบสวนสอบสวนที่คงต้องพูดว่า ถ้าฮ่องกงเคยเป็นใหญ่ในด้านหนังแอ็กชั่นเจ้าพ่อมาเฟีย เกาหลีก็เป็นเลิศในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน

นอกจาก “ปาร์ค ชาน วุค” และ “บองจุนโฮ” ชื่อของ “คิมจีวุน” ก็คืออีกหนึ่งบิ๊กเนมที่กำลังหอมกรุ่นสำหรับสตูดิโอในฮอลลีวูด แต่สำหรับคอหนังบ้านเรา อาจคุ้นชื่อของผู้กำกับคนนี้บ้างจากหนังสยองขวัญเรื่อง A Tale of Two Sisters หรือ “ตู้ซ่อนผี” และหลังจากนั้น ชื่อของคิมจีวุนก็ดูเหมือนจะหลุดหายไปจากสารบบของคนดูหนังไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ตามจริง คนทำหนังคนนี้มีผลงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น และแต่ละเรื่อง ก็เข้าขั้นที่เรียกได้ว่าไม่น่าผิดหวังแต่อย่างใด

เหมือนอย่างที่พูดไว้ในรายการวิวไฟน์เดอร์ทางช่องซูเปอร์บันเทิงเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า หนังสองเรื่องซึ่งผมชอบมากที่สุดของคิมจีวุน คือ A Bittersweet Life และ I Saw the Devil หนังทั้งคู่ ถ้าไมนับรวมว่าการผูกเรื่อง ดำเนินเรื่อง จับความสนใจได้อยู่หมัด ในส่วนของเนื้อหา ก็ถือว่ามีความเข้มข้นแบบที่ดูแล้วไม่มีวันลืมเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลัง ซึ่งหนังตั้งคำถามได้แหลมคมมากเกี่ยวกับภาวะจิตใจของมนุษย์ ถ้าโลกมีขาวกับดำ เราต่างก็สามารถที่จะล่วงถลำสู่ขอบเขตแห่งความดำมืดได้ทุกเมื่อ และอย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม คิมจีวุนนั้นทำหนังได้หลายแบบ ทริลเลอร์อย่าง A Bittersweet Life อาชญากรรมแบบ I Saw the Devil หนังแอกชั่นคอมิดี้อย่าง The Good The Bad and the Weird หรืออย่างพวก The Foul King, The Quiet Family และ Doomsday Book ก็นับเป็นความหลากหลายในเชิงวิทยายุทธ์ของผู้กำกับคนนี้ที่แสดงให้เห็นว่า เขามีทักษะหลายด้าน และไม่จำกัดตัวเองอยู่กับหนังแนวใดแนวหนึ่งเพียงแนวเดียว และถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา The Last Stand งานโกอินเตอร์เรื่องนี้ของเขา แม้เมื่อเทียบเคียงความเข้มข้นแล้ว จะเปรียบไม่ได้กับผลงานในบ้านเกิด แต่ทว่านี่คือการเปิดตัวในอาณาจักรภาพยนตร์อย่างฮอลลีวูดที่ไม่ขี้เหร่แต่อย่างใด และมันยังคงมีกลิ่นอายสไตล์คิมจีวุนให้เห็นอยู่เด่นชัด

The Last Stand มาพร้อมกับโครงเรื่องแบบเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน ทั้งตัวละครและเนื้อหา หนังว่าด้วยนายอำเภอในเมืองเล็กๆ แถบชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ที่รับบทโดยอาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ ในวัยใกล้ค่ำ นายอำเภอกับชีวิตเรียบๆ เงียบๆ ดูเหมือนไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก แต่แล้วหนังก็ใส่สถานการณ์เข้ามาเพื่อพิสูจน์ความเก๋าของนายอำเภอวัยดึก เมื่อเอฟบีไอทำงานห่วย ส่งผลให้ผู้ร้ายเบอร์ต้นๆ หลุดรอดจากการจับกุม และตะบึงรถมายังเมืองเล็กๆ ดังกล่าวเพื่อหลบหนีเข้าเม็กซิโก จึงเป็นภาระของนายอำเภออาร์โนลด์ว่าจะสกัดกั้นโจรร้ายนี้ไว้ได้หรือไม่

เรื่องอาจจะเรียบง่าย แต่ The Last Stand ก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหนังที่ดูสนุก ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยอารมณ์ขันและฉากแอ็กชั่นที่ใส่เข้ามาได้ถูกจังหวะ ขณะที่กลิ่นอายความดิบโหดก็มีให้เห็นประปรายเหมือนคิมจีวุนก็ต้องการจะคงลายเซ็นของตัวเองไว้บ้าง ให้ครบทุกแขนง The Last Stand จึงไม่มีอะไรให้พูดถึงมากในความรู้สึกของผม มันเป็นหนังตลาดที่ดูเอนเตอร์เทนเรื่องหนึ่ง ส่วนการคัดเลือกอาร์โนลด์มารับบทนี้ หลังจากไม่ได้เล่นหนังมานับสิบปี ก็ถือเป็นการคัมแบ็กที่เหมาะกับคาแรกเตอร์ การเป็นนายอำเภอแก่ๆ แต่ทว่ายังไม่กรอบ ดูจะสมกันดีกับอายุอานามและสังขารของคนเหล็กอย่างอาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์

แต่ก็อีกนั่นล่ะ ในขณะที่ตัวหนังไม่มีอะไรให้พูดถึงมากนัก แต่ทว่าสิ่งที่น่าสนใจเหนืออื่นใด ก็คงเป็นเรื่องการรุกคืบอีกหนึ่งขั้นของวัฒนธรรมบันเทิงเกาหลี แน่นอนว่า การได้โกอินเตอร์ไปฮอลลีวูด มันไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดต้องก้มลงกราบ เพราะพูดก็พูด ฮอลลีวูดเองก็พยายามมองหาทรัพยากรจากทั่วโลกเพื่อเอาไปสร้างมูลค่ารายได้ให้กับตัวเอง มันก็เป็นสูตรหนึ่งของการหาเงินเข้ากระเป๋าของเขาเท่านั้น

กระนั้นก็ตาม คงเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูพอสมควรว่า ขณะที่เพลงเกาหลีซึ่งไปตีตลาดอเมริกาก่อนหน้านี้ ไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาด ตัวอย่างเช่นวง Wonder Girls ที่ไปไม่ถึงฝัน หลังจากไปตั้งฐานที่อเมริกาอยู่ 2-3 ปี แต่สำหรับผู้กำกับภาพยนตร์คนเกาหลี อาจจะมีที่อยู่ที่ยืนมั่นคงกว่านั้น

เนื่องจากถ้าจะพูดกันตรงๆ ในขณะที่วงการเพลงเกาหลีไม่ค่อยมีอะไรให้จับต้องนักในเชิงเนื้อหาสาระ นอกเหนือไปจากความวูบวาบฉาบฉวยทางสีสันรูปลักษณ์และเกลื่อนกลาดไปด้วยของปลอม แต่ผมเชื่อว่า คนทำหนังเกาหลีส่วนหนึ่งยังเพียบพร้อมด้วยคุณภาพ เช่นเดียวกับคิมจีวุนคนนี้ที่ก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้วว่า เขาไม่ใช่ของเก๊






กำลังโหลดความคิดเห็น