xs
xsm
sm
md
lg

“เกมดัง-หนังห่วย” หรือ “วิดีโอเกม” ไม่มีวันเป็นหนัง “ดี” ได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Super Mario Bros. (1993) (Rotten Tomatoes 13%) (Boxoffice 20 ล้านฯ, ทุนสร้าง 48 ล้าน)
“วิดีโอเกม” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบ สำหรับนักสร้างภาพยนตร์ในการหยิบมาทำเป็นหนัง แต่ที่ผ่านมา หนังที่สร้างมาจากเกมชื่อดัง กลับแทบหาดีไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามส่วนใหญ่เข้าขั้นย่ำแย่

เป็นเรื่องที่ชวนให้ถกเถียงอยู่เหมือนกัน กับสาเหตุของความ “ย่ำแย่” ของหนังจากวิดีโอเกม เหตุผลขั้นต้น ก็คือ เรื่องความแตกต่างระหว่าง “เกม” กับ “หนัง” ที่แม้จะเป็นสื่อเล่าเรื่อง มีเนื้อหา มีพล็อตเป็นเรื่องเป็นราว แต่สื่อทั้งสองชนิดก็ยังมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน แตกต่างกับหนังจากการ์ตูน หรือหนังสือ ที่มีความใกล้เคียงกันกว่า การดัดแปลงสามารถทำได้ง่าย ตอบสนองด้านความบันเทิงให้กับทั้งแฟนเก่า และแฟนใหม่ได้พอๆ กัน

เกมยังเป็นสื่อประเภท “อินเตอร์แอกทีฟ” ที่ผู้เล่นแต่ละคนมีความรู้สึกต่อประสบการณ์การเล่นแตกต่างกันไป การนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาตายตัว ผ่านการตีความของผู้สร้าง ซึ่งถือเป็นการสร้างกรอบที่ชัดเจนขึ้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถ “หยิบเอา” ประสบการณ์ของเกมมาดัดแปลงเป็นหนังได้

ยังมีเหตุผลยิบย่อยอีกมากมายที่ทำให้หนังเกมห่วย ทั้งความสุขเอาเผากินของผู้สร้าง ที่เลือกหยิบเฉพาะองค์ประกอบมีสีสันของเกมมาใช้สร้างเป็นหนัง แต่ละเลยเนื้อหาใจความสำคัญของเกม หรือการมุ่งตอบสนองแต่ผู้ชมในวงกว้างที่ไม่เคยสัมผัสเกมมาก่อนแต่ไม่สนใจแฟนดั้งเดิมของเกมเลย

ยกตัวอย่างของ Prince of Persia หนังที่สร้างจากเกมสุดคลาสสิก มีผู้กำกับดีกรีชิงรางวัลออสการ์ และผู้อำนวยการสร้างที่การันตีความสำเร็จหนังแทบทุกเรื่อง กับทุนสร้างมหาศาล และนักแสดงเกรดเอ แต่สุดท้ายก็ยังลงเอยด้วยความล้มเหลว ทำรายได้ไม่เข้าเป้า คำวิจารณ์ย่ำแย่ และแฟนเกมไม่ยอมรับ จนเกิดคำถามขึ้นว่าการดัดแปลงเกมเป็นหนังอาจเป็นภารกิจที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

เห็นได้ชัดว่า “ดินแดน” อย่างเกมอย่างประเทศญี่ปุ่นเองกลับไม่ค่อยสนใจที่จะนำเกมดังๆ มาดัดแปลงเป็นหนังซักเท่าไหร่ นอกจากผลิตเป็นการ์ตูนที่ดูพอจะเป็นไปได้มากกว่า ส่วนหนังจากเกมที่ออกมา “เวิร์ก” ก็แทบจะนับนิ้วได้ อาทิ Silent Hill, Final Fantasy: The Spirits Within, Mortal Combat หรืออาจจะรวมถึง Resident Evil 2 ภาคแรก แต่ก็เป็นความสำเร็จที่ไม่เต็มร้อย แม้จะพอทำเงินได้ หรือมีเสียงชมอยู่บ้าง เป็นเอกฉันท์ แต่สำหรับที่ออกมาเข้าขั้นย่ำแย่นั้นมีออกมาเพียบ



Super Mario Bros. (1993) ตัวเกมคือตำนานของวงการ ส่วนหนังขึ้นแทนหนังห่วยที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่ง หนังเล่าเรื่องที่แทบจะแต่งใหม่ด้วย “กลิ่น” ของเกมเพียงบางๆ กับเรื่องราวของสองคนทำท่อเชื้อสายอิตาลีจากบรุกลิน กับสัตว์ประหลาดลูกผสมของกิ้งก่าและมนุษย์ ที่แม้แต่นักแสดงนำของเรื่องอย่าง บ็อบ ฮอสกิน ยังตอบคำถาม 3 ข้อที่ว่า “หนังที่แย่ที่สุดของเขา”, “เรื่องน่าผิดหวังที่สุดในชีวิต” และ “สิ่งที่อยากจะเปลี่ยน หากย้อนเวลากลับไปได้” ด้วยคำตอบว่า “Super Mario Bros.”

สำหรับ ชิเงรุ มิยาโมโตะ ผู้สร้างสรรค์เกมและตัวละคร “มาริโอ” ขึ้นมายังมองโลกในแง่ดี แม้จะยอมรับว่าผลงานชิ้นนี้ที่ทาง Nintendo ร่วมสร้างกับ Lightmotive/Allied Filmmakers, Cinergi Productions จะออกมาไม่ค่อยดีนักก็ตาม “ท้ายที่สุด มันเป็นโปรเจกต์ที่สนุกดีครับ พวกเขาพยายามกันมาก แต่สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับหนังที่ผมยังเสียใจอยู่ถึงตอนนี้ก็คือ หนังน่าจะพยายามเป็นในสิ่งที่ “มาริโอ” ในฉบับวิดีโอเกมเป็นมากกว่านี้ แทนที่จะสร้างความสนุกสนานด้วยตัวของหนังเองขึ้นมา”



Double Dragon (1994) เกมต่อสู้ลุยด่านของ Technos Japan เจ้าของเดียวกับซีรีส์ “คุนิโอะ” เป็นเกมสุดฮิตในหมู่เด็กชายเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ปูพรมออกในเครื่องต่างๆ ตั้งแต่เกมตู้ จนไปถึง Famicom, Mega Drive, Super Famicom จนมาถึงยุค PlayStation และยังมีให้เล่นกันในระบบ iOS จนถึงตอนนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยมีหนัง Double Dragon มาให้ดูเหมือนกันพร้อมกับคำวิจารณ์ระดับ 0% จาก Rotten Tomatoes

หนังถูกจัดลำดับให้เป็นภาพยนตร์สุดห่วยอีกเรื่อง นักวิจารณ์บอกว่าแม้จะมีเทคนิคพิเศษน่าสนใจ มาแก้เซ็งบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถปิดบังความน่าเบื่อของเนื้อเรื่อง และบทพูดอันน่าตลกไปได้



Street Fighter (1994) ขึ้นแทนเกมสุดฮิตแห่งยุคสมัยอีกเกม กับการต่อสู้ของเหล่านักบู๊จากทั่วโลก เป็นเกมที่ก่อให้เกิดกระแสเกมประเภท Vs.ในวงการอยู่ช่วงใหญ่ๆ ซึ่งความล้มเหลวก็เกิดจากปัญหาเดิมๆ ของ “เกมเป็นหนัง” หลายเรื่อง ที่ผู้สร้างอยากจะเอาใจแฟนเกม ด้วยการยัดตัวละครสุดโปรดเข้าไปแบบไม่สนใจการผูกเรื่องให้ลื่นไหล หรือน่าเชื่อถือใดๆ สุดท้ายหนังจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ตัวเกม Street Fighter II ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเลือกตัวละครมาฟาดปากกัน โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องราว (ที่จริงๆ ก็มีอยู่บ้าง) อะไร ก็ยิ่งทำให้ยากต่อการนำมาดัดแปลงเป็นหนังขึ้นไปอีก สุดท้ายจึงมีการผูกเรื่องขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องยากที่แฟนๆ เกมจะให้การยอมรับ

หนังมีดาวบู๊จากบรัสเซลส์ มาสวมบทบาทเป็น “ไกล์” นายทหารอากาศชาวสหรัฐ มารับบทตัวเอกของเรื่องแทนที่จะเป็น “ริว” พระเอกตัวจริงจากเกม แต่ที่น่าเศร้านิดหน่อยก็เห็นจะเป็นยอดนักแสดง “ราอุล จูเลีย” นักแสดงฝีมือดี ที่เสียชีวิตหลังหนังถ่ายทำเสร็จไม่นาน ที่ต้องมาฝากการแสดงเรื่องสุดท้ายในชีวิต กับบทตัวร้าย “เอ็ม.ไบสัน” ในหนังที่คุณภาพย่ำแย่เช่นนี้



ซึ่งด้วยกระแสของเกมที่ตอนนั้นแรงจริงๆ Street Fighter จึงเก็บเงินทั่วโลกไปได้ถึง 99 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 30 ล้านเหรียญ แต่กระแสวิจารณ์ก็ย่ำแย่มาก จนไม่ได้มีการสร้างภาคต่อตามออกมาทันที แต่ต้องรอกันไปอีก 15 ปี จึงจะมีการหยิบเกมสุดฮิตเกมนี้กลับมาสร้างเป็นหนังอีกครั้ง ที่คราวนี้มอบบทนำให้ตัวละครหญิงยอดนิยม “ชุนลี” ในหนัง Street Fighter: The Legend of Chun-Li (2007) ที่ผู้สร้างเรียกว่าทำเรื่องเหลือเชื่อมากๆ ที่สามารถสร้างหนังให้ออกมา “แย่” สูสีหนังฉบับก่อนเลยทีเดียว แถมคราวนี้ไม่ได้โชคดีทำกำไรอีกแล้ว เพราะหนังทำเงินไปได้แค่ 12 ล้านเหรียญ เท่านั้น จากทุนสร้างถึง 50 ล้านเหรียญ



การหยิบเกมต่อสู้มาทำเป็นหนังอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้สร้างส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะสร้างหนังจากเกมแนวนี้ออกมาให้เป็นงานประเภททุนต่ำ ไร้ความทะเยอทะยาน และมีภาพลักษณ์ที่ห่างไกลจากตัวเกมต้นฉบับโดยไม่สนใจเสียงด่าของแฟนเกมแต่อย่างใด หวังตีหัวเข้าบ้าน และตลาดโฮมวิดีโอเป็นหลักแทน ไม่ว่าจะเป็น DOA: Dead or Alive (2007) ที่สร้างจากเกมสต่อสู้ที่ขายตัวละครสาวๆ เซ็กซี, The King of Fighters (2009) เกมซึ่งมีจุดเด่นกับตัวละครเท่ห์ แต่แทบดูไม่ได้เมื่อกลายเป็นหนัง และ Tekken (2010) เกมในแนวทาง VS ที่ดังที่สุดเกมหนึ่ง แต่ล้มเหลวสุดๆ เช่นเดียวกันเมื่อถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ทำเงินไปได้ไม่ถึงล้านเหรียญ จากทุนสร้างไม่น้อยเลยถึง 30 ล้านเหรียญ



Wing Commander (1999) เกมจำลองการขับยานอวกาศสุดฮิตเมื่อร่วม 20 ปีก่อน ก็เคยเป็นหนังมาแล้ว ในช่วงที่ยังไม่ค่อยมีใครกล้าหยิบเกมมาสร้างเป็นหนังนัก ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็คงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไม

หนังมีดารา (เคย) ดัง อย่าง เฟรดี พรินซ์ จูเนียร์ สวมบทบาทเป็น “จ่า คริสโตเฟอร์ แบลร์” ในเรื่องราวว่าด้วยสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ต่างดาว “คิลราธิ” ที่หน้าเหมือนแมวเหมียว แถมยังมี มาร์ค “ลุค สกายวอร์เกอร์” แฮมิล แห่ง Star Wars มาร่วมให้เสียงพากย์ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ หนังทำเงินไป 11 จาก 30 ล้านเหรียญ และคำวิจารณ์ระดับ 11% จาก Rotten Tomatoes ที่สำคัญ อาชีพของหลายๆ คนจากหนังเรื่องนี้ก็ดิ่งลงเหวทั้งทีหลังความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นตัวพระเอก หรือผู้กำกับ คริส โรเบิร์ตส ผู้แจ้งเกิดจากเกมชุด Wing Commander ในภาค 3-4 แต่กลับต้องจอดป้ายในวงการหนังถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีผลงานเรื่องที่ 2 ตามออกมาอีกเลย



พูดถึงหนังจากเกม “ดีๆ” อาจต้องใช้เวลานึกนานหน่อย แต่หากพูดถึงหนังที่ “ประสบความสำเร็จ” มากที่สุด ก็คือ ต้องชี้ไปที่หนังชุด Resident Evil (2002-2012) ที่สร้างจากเกม “แอ็กชัน/สยองขวัญ” สุดฮิตของ Capcom ออกมาถึง 5 ภาค ทำเงินรวมกันไปถึง 675 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างแค่ 183 ล้านเหรียญ เท่านั้น เฉพาะภาค 4 ภาคเดียวก็ทำเงินไปได้เฉียด 300 ล้านเหรียญ แล้ว นอกจากนั้น ก็ยังส่งให้ “มิลา โจโววิช” กลายเป็นสาวบู๊แห่งยุคที่โดดเด่นที่สุดอีกคนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาด้วย

แม้จะทำเงินได้ดี Resident Evil หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันในชื่อ Biohazard กับได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก อ้างอิงตัวเลขของ Rotten Tomatoes เหล่านักวิจารณ์ที่มองหนังในแง่บวกมีอยู่ที่จำนวน 34% ก่อนจะตกมาเหลือประมาณ 20% สำหรับ 3 ภาคที่เหลือ แตกต่างจากมุมมองของคนดูจากเว็บไซต์เดียวกัน ที่ให้ชื่นชอบหนังในเปอร์เซ็นต์ที่ 73%, 70%, 63%, 51% ตามลำดับของหนังภาคต่างๆ ที่แม้จะ “ผ่านครึ่ง” ทุกภาค แต่ความชื่นชอบก็ตกลงมาเรื่อยๆ

เหตุผลที่หนังโดยเฉพาะในภาคหลังๆ ถูกตั้งแง่จากแฟนเกมส่วนใหญ่ก็คือการลดทอนส่วนของ “สยองขวัญ” ลงเรื่อยๆ แต่ความบู๊สนั่นและระเบิดเถิดเทิงกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นตัวละครดังๆ จากเกมที่พาเหรดกันมามีบทบาทในหนัง ก็โดนลดบทบาทกันถ้วนหน้า มีฐานะเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ให้กับ “อลิซ” ตัวละครของสาว โจโววิช นางเอกที่มีเฉพาะในฉบับหนังเท่านั้น



ในช่วงแรกๆ เมื่อเกมยังมีฐานะเป็นเพียง “ของเล่น” หนังจากเกมมักจะวนเวียนอยู่กับงานฟอร์มกลางๆ จนไปถึงทุนต่ำ จากผู้สร้างอิสระที่หวังเรียกเงินจากกระเป๋าแฟนเกมเท่านั้น จนระยะหลังที่ยอดเกมพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีบทบาทในธุรกิจบันเทิงเทียบเท่ากับภาพยนตร์ หนังจากเกมก็มีฟอร์มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดึงดูดให้นักแสดงดังๆ มารับบทบาทกันมากตามไปด้วย Doom เกมระดับ “เปลี่ยนแปลงวงการ” ผลงานของ id Software ที่ทำให้งานประเภท “เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง” ขึ้นมาเป็นแนวทางกระแสหลังของวงการที่ออกจำนวนภาคแรกในปี 1993 ได้ถูกหยิบมาสร้างเป็นหนังเมื่อปี 2005

หนังพยายามเอาใจแฟนเกมกันอย่างเต็มที่ มีแม้แต่ฉากจากมุมมองของตัวละคร แบบเดียวกันในเกม แต่ภาพรวมความเป็นหนังกลับออกมาไม่น่าพอใจนัก แฟนเกมส่วนใหญ่มองว่าเพราะผู้สร้างไม่ได้หยิบยกเนื้อเรื่องที่แปลกและสร้างสรรค์ที่ว่าด้วยการต่อสู้ของตัวละครด้วยปืนประเภทต่างๆ กับศัตรูจากนรก มาเป็นการต่อสู้ของกลุ่มทหารในสถานีอวกาศ กับสัตว์ประหลาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสแทน ส่วนคนดูทั่วไปก็คงมอง Doom เป็นเพียงหนังแอ็กชันฟอร์มกลางๆ อีกเรื่อง และคงไม่ตื่นเต้นอะไรกับฉาก “มุมมองบุคคลที่หนึ่ง” แน่ๆ



นอกจาก Doom แล้วก็ยังมีหนังฮอลลีวูดที่สร้างจากเกมอีกหลายๆ เรื่องที่ทำออกมา “พอดูแก้เซ็งได้” ใช้ทุนสร้างพอประมาณ กับนักแสดงระดับแถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น Hitman (2007) ที่สร้างจากเกมแนวสายลับนักฆ่า กับตัวละครไร้ชื่อที่เรียกกันว่า “เอเยนต์ 47” ผู้มีเอกลักษณ์อยู่ที่ศีรษะไร้ผม และบาร์โค้ดที่ท้ายทอย กับเนื้อหาซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่หนังกลับออกมาโฉ่งฉ่าง ขายคิวบู๊ไม่หลงเหลือบรรยากาศของเกมแนว “Stealth Action” ของงานต้นฉบับอยู่เลย



Max Payne (2008) เกมแนวอาชญากรรมกับการตามล่าล้างแค้นของตำรวจที่สูญเสียครอบครัวไป เป็นเกมที่ได้รับอิทธิพลจากหนังของ “จอห์น วู” มีเนื้อเรื่องที่เหมาะกับการทำหนังสุดๆ แต่สุดท้ายก็ออกมาไม่เวิร์ก คะแนนจาก Rotten Tomatoes อยู่ที่ 16% เท่านั้น แม้สุดท้ายจะคว้ารางวัล “หนังจากเกมยอดเยี่ยมแห่งปี 2008" ของ IGN.com ไปครองก็คงไม่มีอะไรน่ายินดี เพราะเว็บไซต์ดังกล่าวให้เหตุผลแบบเจ็บๆ ว่า หนังได้รางวัลไปครองก็เพราะนี่ นี่คือ หนังจากเกมเรื่องเดียว ที่ทุกคนพอจะรับได้ เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ที่ห่วยกว่านี้หลายเท่า



ผู้กำกับที่วงการเกม "รังเกียจ"

เมื่อลองไล่รายชื่อ “หนังจากเกม” ทั้งหมดที่มีการสร้างกันออกมา อาจพบงานประเภท “ห่วยน้อย หรือ ห่วยมาก” เป็นส่วนใหญ่ บางเรื่องอาจย่ำแย่แต่ก็เป็นงานประเภทดูขำๆ แก้เซ็งได้ แต่หนังเหล่านั้นอาจจะดูดีขึ้นมาทันที หากนำไปเปรียบกับงานของ “อูเว โบลล์” ผู้กำกับที่ได้ชื่อว่า “ถูกเกลียดชังมากที่สุด” ในวงการเกม

คนทำหนังชาวเยอรมัน เป็นผู้กำกับที่ “ตั้งหน้าตั้งตา” หยิบเกมมาทำหนังมากที่สุดคนหนึ่ง รายชื่อเกมดังๆ ที่โดนเขาคนนี้นำมาปูยี่ปูยำก็มีทั้ง เกมส์สยองขวัญสุดฮิต House of the Dead และ Alone in the Dark เกมแอ็กชัน BloodRayne ที่ทำออกมาเป็นหนังถึง 3 ภาค, เกมยิง Postal, เกมที่ได้ชื่อว่ามีกราฟฟิกที่สวยมากอย่าง Far Cry และเกมแฟนตาซี A Dungeon Siege Tale ซึ่งแต่ละเรื่องต่างได้รับเสียงวิจารณ์ไปชนิดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โดนประนามหยามเหยียด แต่ก็ดูเหมือนว่าเจ้าของเกมหลายๆ เจ้ายังยินยอมที่จะหารายได้พิเศษ ที่จะว่าไปแล้วเป็นเหมือนการทรยศแฟนเกม กับการขายลิขสิทธิ์ให้กับ อูเว โบลล์

หนังของเขาแต่ละเรื่องยังทำเงินน้อยอย่างน่าใจหาย แม้จะสามารถดึงตัวนักแสดงประเภทชื่อดัง, เกือบดัง และเคยดังมาร่วมงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คริสเตียน สเลเตอร์, ทารา รีด และ สตีเฟน ดอร์ฟฟ์ ใน Alone in the Dark, คริสเทนนา โลเคน (จาก คนเหล็ก 3), เบน คิงส์ลีย์ ใน BloodRayne และ เจสัน สเตทเธม, ลีลี โซบีสกี, แคลร์ ฟอร์ลานี, แม็ตธิว ลิลลาร์ด, เรย์ ลิอ็อตต้า กับ เบิร์ต เรย์โนลด์ส ใน In the Name of the King

มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้กำกับคนนี้ ทั้งการ “ท้าต่อย” กับนักวิจารณ์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเขามานาน ที่ โบลล์ เอ่ยปากท้าทายนักวิจารณ์คนใดก็ได้ ให้มาใส่นวมขึ้นเวทีชกมวยกับเขา ทั้งๆ ที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์ชกมวยสมัครเล่นมาก่อน

ยังมีข้อมูลที่ว่าเขาได้ทำหนังต่อเนื่องทั้งๆ ที่ไม่เคยทำเงินเป็นกอบเป็นกำ หรือกวาดคำวิจารณ์ใดๆ ได้เลย ก็เพราะนโยบายเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมของเยอรมันเมื่อปี 2005 ที่ทำให้ โบลล์ สามารถระดมทุนได้มากมาย เพราะในกฎหมายใหม่นี้ ได้เปิดโอกาสให้คนที่ลงทุนในงานภาพยนตร์เยอรมัน สามารถหักภาษีได้ถึง 100% ของเงินลงทุน, นอกจากนั้น ยังหักภาษีจากค่าธรรมเนียมต่างๆ และจะคิดภาษีเฉพาะกำไรของหนังแต่ละเรื่องเท่านั้น เมื่อหนังขาดทุน ก็ยังสามารถนำไปหักภาษีได้อีก จึงกลายเป็นช่องทางสำหรับการลดหย่อนภาษีของบรรดานักธุรกิจหลายๆ คนในประเทศ

สำหรับเรื่องที่เขาเป็นที่เกลียดชังในวงการเกมนั้น โบลล์ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หนังของเขาทุกเรื่องเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ของเกม หรือเนื้อเรื่อง ด้วยความสมเหตุสมผล เสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากแฟนเกม และนักวิจารณ์ก็ล้วนมาจากคนที่มีอคติต่อเขาทั้งนั้น

“แฟนเกมมักจะบ้าบอแบบนี้อยู่แล้ว ผมเข้าใจนะว่าแฟนเกมแต่ละคนมีภาพของตัวเองอยู่ในหัว และมักจะมีอุดมคติว่าอะไรคือหนังดี หนังแย่ตายตัวอยู่ในหัว”

“ผมคิดว่า สร้าง House of the Dead ออกมาได้สมบูรณ์แบบทีเดียว แต่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเกมที่ดีเป็นยังไงกันแน่ มันออกมาสนุกเป็นหนังบู๊ที่มันสุดๆ” โบลล์ กล่าว พร้อมโยนความรับผิดชอบกลับไปที่บริษัทเจ้าของเกม ที่พอได้เงินค่าลิขสิทธิ์แล้วก็ไม่ช่วยเหลือในการโปรโมตหนังอะไรเลย แตกต่างจากวงการการ์ตูนที่กำลังรุ่งสุดๆ ในวงการหนัง เพราะต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกันสร้างผลงาน

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังชื่อเสียง “เสียๆ” ของเขาก็เริ่มแสดงผลออกมาแล้ว เมื่อ โบลล์ เปรยว่าอยากจะนำเกมแอ็กชั่นสุดดังจากญี่ปุ่น Metal Gear Solid มาดัดแปลงเป็นหนัง เจ้าของเกมอย่าง ฮิเดโอะ โคจิมะ ก็ออกมาให้ข่าวทันทีว่า “ไม่มีทาง! เราไม่มีวันทำงานกับเขาแน่”

เช่นเดียวกับ Blizzard Entertainment ที่ปฏิเสธข้อเสนอของ โบลล์ ในการขอซื้อลิขสิทธิ์ World of Warcraft มาทำเป็นหนัง เพราะคิดว่าเงินเพียงเล็กน้อยจากค่าลิขสิทธิ์ไม่สามารถเทียบได้เลยหาก “เกมออนไลน์ชื่อดังเกมนี้ ต้องโดนหนังห่วยๆ ทำลายชื่อเสียง”

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก



Double Dragon (2004) (Rotten Tomatoes 0%) (รายได้ 2 ล้านฯ, ทุนสร้าง 16 ล้าน)
Street Fighter (1994) (Rotten Tomatoes 13%) (รายได้ 99 ล้านฯ, ทุนสร้าง 33 ล้าน)
Mortal Kombat (1995) (Rotten Tomatoes 34%) (รายได้ 122 ล้านฯ, ทุนสร้าง 18 ล้าน)
Wing Commarder (1997) (Rotten Tomatoes 11%) (รายได้ 11 ล้านฯ, ทุนสร้าง 30 ล้าน)
Lara Croft: Tomb Rider (2001) (Rotten Tomatoes 19%) (รายได้ 274 ล้านฯ, ทุนสร้าง 115 ล้าน)
Final Fantasy: The Spirits Within (2001) (Rotten Tomatoes 43%) (รายได้ 85 ล้านฯ, ทุนสร้าง 137 ล้าน)
Final Fantasy: The Spirits Within (2001) (Rotten Tomatoes 43%) (รายได้ 85 ล้านฯ, ทุนสร้าง 137 ล้าน)
Alone in the Dark (2005) (Rotten Tomatoes 1%) (รายได้ 10 ล้านฯ, ทุนสร้าง 20 ล้าน)
Doom (2005) (Rotten Tomatoes 20%) (รายได้ 55 ล้านฯ, ทุนสร้าง 60 ล้าน)
BloodRayne (2006) (Rotten Tomatoes 4%) (รายได้ 3 ล้านฯ, ทุนสร้าง 25 ล้าน)
(Silent Hill) (Rotten Tomatoes 29%) (รายได้ 97 ล้านฯ, 50 ทุนสร้าง ล้าน)
DOA: Dead or Alive (2006) (Rotten Tomatoes 34%) (รายได้ 7 ล้านฯ, ทุนสร้าง 21 ล้าน)
Postal (2007) (Rotten Tomatoes 8%) (รายได้ 18 ล้านฯ, ทุนสร้าง 15 ล้าน)
Hitman (2007) (Rotten Tomatoes 18%) (รายได้ 99 ล้านฯ, ทุนสร้าง 24 ล้าน)
In the Name of the King: A Dungeon Siege Tale (2008) (Rotten Tomatoes 4%) (รายได้ 13 ล้านฯ, ทุนสร้าง 60 ล้าน)
Far Cry (2008) (Rotten Tomatoes 24%) (รายได้ 7 แสนฯ, ทุนสร้าง 30 ล้าน)
Max Payne (2008) (Rotten Tomatoes 16%) (รายได้ 85 ล้านฯ, ทุนสร้าง 35 ล้าน)
Street Fighter: The Legend of Chun-Li (2009) (Rotten Tomatoes 18%) (รายได้ 12 ล้านฯ, ทุนสร้าง 50 ล้าน)
Tekken (2009) (Rotten Tomatoes %) (รายได้ 9 แสนฯ, ทุนสร้าง 30 ล้าน)
Prince of Persia: The Sands of Time (2010) (Rotten Tomatoes 24%) (รายได้ 335 ล้านฯ, ทุนสร้าง 200 ล้าน)
The King of Fighters (2010) (Rotten Tomatoes 16%) (ไม่ได้เข้าฉายในโรงหนัง แต่ออกเป็นแผ่นแทน, ทุนสร้าง 12 ล้าน)
กำลังโหลดความคิดเห็น