ส่งจดหมายแจงเสวนาความจริง “เหนือเมฆ 2” ไร้เงาตัวแทนช่อง 3 ด้านตัวแทน กสทช.หวั่นคนเข้าใจผิด กม.มาตรา 37 ลั่นไม่มีอำนาจสั่งแบนใครทำได้แค่เตือน รับกรณีที่เกิดขึ้นคงต้องให้สังคมพิจารณาตัดสินกันเอาเอง
กลายเป็นประเด็นสังคมที่ยังร้อนแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับกรณีที่ช่อง 3 ได้สั่งแบนละคร “เหนือเมฆ 2 : จอมขมังเวทย์” หลังออกอากาศไปได้เพียง 9 ตอน จากจำนวน 12 ตอน โดยให้เหตุผลว่า ละครเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และเข้าข่ายจะผิดกฎหมายกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มาตรา 39 กระทั่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างทั้งแวดวงคนบันเทิง รวมไปถึงคนในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุด ในช่วงบ่ายที่ผ่านมาของวันนี้ ที่หอประชุมนิเทศศาสตร์ อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้จัดให้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “บอกความจริง เรื่อง เหนือเมฆ 2 : สงสารช่อง 3 หรือประชาชนดี” ขึ้น โดยมีวิทยากรด้านการสื่อสารเข้าร่วมเสวนา อาทิ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นางสุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ในส่วนของตัวแทนช่อง 3 อย่าง นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ รวมไปถึง นายนนทรีย์ นิมิบุตร ในฐานะผู้กำกับละครเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีรายชื่อในการเสวนาไม่ได้มาเข้าร่วมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยถึงสาเหตุของการจัดการเสวนา ว่า เป็นเพราะมีหลายคนเข้าใจว่า ทาง กสทช.นั้น เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากทางช่อง 3 เองได้มีการอ้างว่าเหตุที่ต้องแบนละครเรื่องนี้เป็นเพราะมีเนื้อหาที่อาจจะเข้าข่ายที่จะผิดกฏหมาย กสทช.มาตรา 37 นั่นเอง
“ต้องเข้าใจก่อนเราไม่เคยใช้อำนาจในการไปเซนเซอร์ใคร แต่เป็นเขาที่เซนเซอร์ตัวเองก่อน เพราะหลายคนสับสน แต่พอมีการอ้างมาตรา 37 ที่ทำให้คนสับสน ถ้าอย่างนั้นเราเลยมองกันว่าจะต้องทำให้สังคมเกิดความชัดเจน เราไม่ได้เซนเซอร์เขาเลย ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะการที่เขามาเซนเซอร์ตัวเองมันไปกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน และความเป็นสื่อ ก็มีการแสดงท่าทีออกมา เราก็หารือกันแล้วว่าจะเรียกช่อง 3 มาพูดคุยกันถึงที่มาที่ไปในการเซนเซอร์ละครเรื่องนี้ ก็ยังหยั่งเชิงผู้บริหารช่อง 3 เหมือนกัน ก็คงจะมีการใช้อำนาจเชิญให้ช่องมาชี้แจงกับ กสทช.เพื่อทำให้เรื่องจริงปรากฏ”
“แต่ถ้าพูดในจุดยืนส่วนตัวแล้วดิฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ทางช่อง 3 มีเจตนาเอามาตรา 37 มาใช้อ้างในกรณีนี้ เพราะมันไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องนี้ แต่มันขยายเป็นเรื่องใหญ่ เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ เรื่องการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว เรื่องอิทธิพลทางการเมือง เรื่องได้สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีในเวลาต่อไป ทำให้บรรยากาศของเสรีภาพยิ่งถดถอยและคนก็กลัวกัน ปกติถ้าเราดูผลงานช่อง 3 เราก็ไม่เคยเห็นว่าเขาจะมีการถอดละครอะไรเลย เพราะมันจะไปกระทบกับโฆษณาที่วางแผนไว้แล้ว”
“แต่เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าช่องตัดสินใจปลดละครที่มันจะกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณามากมาย ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่จะตัดสินใจแลกกับโฆษณาที่หายไปจำนวนมาก มันสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจธุรกิจก็ยังแพ้อำนาจที่มองไม่เห็นได้อีกทอดนึง ซึ่งจริงๆ มันก็คงเกี่ยวข้องกันด้วยที่เขาอาจจะกลัวอำนาจที่มองไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบกับความเป็นอยู่สถานีรึเปล่าจึงตัดสินใจแบนซะ”
“กลับกันก็ส่งผลให้เห็นว่าการที่จะต้องตัดสินใจแบนนั้น อาจจะไปผูกพันกับสัญญาสัมปทาน ซึ่งก็ทราบว่าสัญญาสัมปทานขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ใช่อำนาจของกสทช ถ้าเขาเกิดไม่พอจะเขาจะรื้อจะยกเลิกสัมปทานยังไงก็ทำได้ ทางช่องก็คงกลัวไปต่างๆ นานา ว่า จะถูกสร้างเป็นเงื่อนไข ถึงไม่ได้เกิดการแทรงแซงอย่างนั้นจริงๆ แต่ดิฉันก็เชื่อว่าคุณมีอำนาจที่จำทำได้ เพียงแต่เราไม่มีหลักฐาน ในฐานะ กสทช. จะฟันธงว่ามันเป็นอย่างนั้นก็คงพูดยาก ก็เป็นเพียงแค่ความสงสัยในใจ”
เผยช่อง 3 ส่งจดหมายชี้แจงมาแล้ว แต่ตนอยากให้อีกฝ่ายเข้ามาพูดด้วยตนเองมากกว่า พร้อมยืนยันจะทำเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะเกรงว่าหลายคนจะเข้าใจกฎหมายมาตราที่ 37 ในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาทางกสทช.เองก็ไม่เคยนำเอากฏหมายมาตราที่ว่านี้ไปแบนอะไร เพียงแต่ใช้เตือน อย่างช่อง 3 เองก็โดนกรณีรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเลนท์ โดยปรับไป 5 แสนบาท รวมถึงช่อง 11 ที่เอาเวลาไปถ่ายทอดสดการแข่งชกมวย พร้อมให้อดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีคดีติดตัวได้ออกทีวี
“แม้แต่เรื่องช่อง 11 เอง เราก็เตือนไปที่เอาสื่อของรัฐไปทำแบบนั้น...เราก็ไม่เห็นด้วย เราเอาหลักฐานและเชิญเขามาชี้แจง ก็เอามากางกันว่ามันขัดมาตรา 37 ไหม พอดูแล้วมันไม่มีกฎหมายอันไหนห้ามนักโทษออกทีวี อันนี้ต้องเรียนจริงๆ พอไม่ผิดกฎหมายก็เตือนให้เขาระวัง ยิ่งเป็นการถวายพระพรมันก็ยิ่งยากจะบอกปัด ประเด็นคืออย่างช่อง 11 ที่เรามองแล้วว่ามันไม่เหมาะสมเราก็ยังไม่ได้พิจารณาสั่งแบนเลยว่าเขาผิดกฏหมายมาตรา 37 ว่า มันเป็นรายการที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครอง หรือกระทบความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดี กฎหมายก็เรื่องนึง ความเหมาะสมก็เรื่องนึงเราก็เตือนเขาไปแบบนั้น ในขณะที่ถ้าละครพูดเป็นการปลุกระดมเราก็อาจจะชี้ชัดตัดสินใจง่ายและควรจะตัดทิ้ง”
“ฉะนั้น ในเมื่อกรณีช่อง 11 เรายังไม่พิจารณาว่าผิดมาตรา 37 เลย แล้วกรณีเหนือเมฆเราจะตัดสินว่ามันผิดมาตรา 37 ได้ยังไง ก็ขอเวลาให้ กสทช.อีกสักอาทิตย์นึงในการไปหาข้อมูลและพูดคุยกับทางช่อง 3 ให้ชัดเจน ดิฉันมองว่า ทางออกที่ดีที่สุดของละครเหนือเมฆตอนนี้ ก็คือ ถ้าทางช่อง 3 บริสุทธิ์ใจ และยืนยันไป เพราะว่าขัดกับมาตรา 37 ก็ส่งเทปมาให้ กสทช.พิจารณา เมื่อ กสทช.พิจารณาว่าละครเหนือเมฆไม่ได้ขัดกับมาตรา 37 ก็เอาไปออกได้ คนที่มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าอะไรขัดกับมาตรา 37 หรือไม่ คือ กสทช.ถ้าท่านมความบริสุทธิ์ใจ จริงใจจริงๆ ก็เอามาให้เราดู เราจะพิจารณาเอง”
“ที่ผ่านมา กสทช.ไม่เคยแบนละครเลยแม้จะมีหลายเรื่องที่ถูกเรียกร้องให้แบน อย่างแรงเงา หรือ ดอกส้มสีทอง แต่เราก็ชั่งใจเพราะสังคมเราคิดต่างกันได้ เพราะคนที่ชอบดูเฝ้าหน้าจอก็เจอ ถ้าเราสั่งแบนคนก็จะมาร้องเรียนเราเหมือนกัน เราก็ยังโอเคว่ามันยังเข้าข่ายที่รับได้ แม้ว่าจะขัดต่อหลักจริยธรรมอยู่บ้าง”
รับไม่มีบทลงโทษอะไรหากพิจารณาแล้วละคร “เหนือเมฆ 2” ไม่เข้าข่ายที่จะผิดมาตรา 37 รวมถึงไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับให้ทางช่องนำกลับไปออกอากาศได้ก่อนบอกถึงทางแก้ไขระยะยาว คือ ทำให้กฎหมายมาตรา 37 ให้ชัดเจนและเป็นแนวปฏิบัติได้
“ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษของผู้ที่เอาไปกล่าวอ้าง มีแค่บทลงโทษของผู้ละเมิด ก็คงต้องให้สังคมเป็นคนตัดสิน ว่า เมื่อเราเจอปัญหาแบบนี้สังคมควรจะจัดการยังไง ทุกวันนี้เรื่องราวมันบานปลายไปแล้ว ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาลุกลามเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ช่อง 3 เองก็ไม่ควรจะได้รับตราบาปในการรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องของความแตกแยก ตอนนี้มันเป็นช่วงเฉพาะหน้าการเอากฏหมายมาแก้ไขอย่างเดียวอาจจะไม่ทันการ คงต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ การเมือง สังคมมาก่อนแล้วถ้ามันแก้ไม่ได้จริงๆ ถึงค่อยไปเล่นที่ตัวกฏหมายกัน เพื่อเรื่องจะได้ไปถึงศาลในที่สุด”
“กสทช.มีอำนาจแบนได้แต่ไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เอามาฉายได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ากสทช.บอกว่า ไม่ขัดช่อง 3 สามารถเอาไปฉายได้อยู่แล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางสถานี แต่เดี๋ยวจะไปเช็กอีกทีว่ามาตราใดจะสั่งเขาได้ไหม เพราะถ้ารัฐสั่งก็เท่ากับรัฐไปคุกคามเสรีภาพสื่อ การที่ไม่ออกฉายมันเป็นการละเมิดกระทบสิทธิของประชาชนที่จะได้ดู แต่ถ้ามีการเมืองมาแทรกแซงช่อง 3 อันนั้นกระทบสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ถ้าสุดท้ายช่อง 3 เขายืนยันว่า เขาทำเองก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องยึดการให้ปากคำของช่อง 3 เป็นตัวตั้ง แต่ถ้าเรื่องที่เราเช็คมามันไม่ขัดแต่เขาไม่ยอมเอามาออกก็เป็นเรื่องที่สังคมต้องตัดสินช่อง 3 เองแล้วแหละ”
“ส่วนทางออกระยะยาว คือ กสทช.ต้องร่างรายละเอียดของมาตรา 37 ให้ชัดเจนแล้วเป็นแนวปฏิบัติทุกสื่อจะได้รู้ทั่วกัน ไม่อย่างนั้นพอทุกคนไปทำเอง คิดเองก็จะเกิดเรื่องราวแบบนี้”