งานวิจัยของนักวิชาการชาวอังกฤษ ที่ศึกษาการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ของศิลปินเพลง ได้บ่งชี้ว่า วิถีชีวิตของอาชีพศิลปิน เต็มไปด้วยปัจจัยมากมาย ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเสียชีวิต นอกจากนั้น ศิลปินเดี่ยวก็ยังมีโอกาสตายมากกว่าสมาชิกของวงดนตรีด้วย
วลี Rock'n Roll Never Dies อาจเป็นเหมือนคำขวัญของวงการเพลงร็อค แต่ข้อเท็จจริงก็คือศิลปินเพลงจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตใน “วิถีร็อก” ของพวกเขา ไม่ใช่เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าอาชีพศิลปินเพลงในสาขาอื่นๆ ก็ล้วนใช้ชีวิตอยู่บนความสุ่มเสี่ยง และเต็มไปด้วยความเปราะบางไปด้วย
ความกดดัน, โดดเดี่ยว, ร่ำรวย, ชีวิตไร้ขีดจำกัด-สาเหตุการตายก่อนวัย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส และสำนักงานสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรได้ทำการเก็บข้อมูล สาเหตุการตายของศิลปินตั้งแต่ยุค 50s เป็นต้นมา ครอบคลุมศิลปินเพลงในทุกแนวทางตั้งแต่ ร็อก, ป๊อป, พังค์, อาร์แอนด์บี, แร็ป, อิเลกโทรนิกา และ นิวเอจ ซึ่งสรุปได้อย่างกว้างๆ ว่า ศิลปินเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มากกว่าบุคคลที่ประกอบอาชีพทั่วๆ ไปหลายเท่าตัว
การศึกษาพบว่าในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา มีศิลปินที่ฆ่าตัวตายไปถึง 137 ราย หรือคิดเป็น 9.2% ของสาเหตุการตายของศิลปินทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราของประชากรที่ประกอบอาชีพอื่นในระยะเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ยังมีศิลปินอีกจำนวนมากที่ต้องสิ้นลมลงเพราะยาเสพติด
โดยผู้วิจัยระบุว่า การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยเหตุผลผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเพราะพิษภัยของยาเสพติด หรือฆ่าตัวตาย ล้วนมีส่วนจากการใช้ชีวิตภายใต้ชื่อเสียง และเต็มไปด้วยแรงกดดันจากสิ่งต่างๆ นอกจากนั้น วัฒนธรรมของวงการเพลง และความร่ำรวยที่ส่งเสริมให้เหล่าศิลปินมัวเมากับการใช้ชีวิตตามอำเภอใจ และไร้ขีดจำกัด ก็มีส่วนต่อการเสียชีวิตของบุคคลในสายอาชีพนี้ทั้งหมด
ศิลปินเดี่ยวเสี่ยงตายกว่า
การศึกษายังชี้ว่า ศิลปินเดี่ยวมีโอกาสตายก่อนวัยอันควร มากกว่าศิลปินที่ทำงาน และโด่งดังขึ้นมาเป็นวง ซึ่ง มาร์ค เบลลิส ผู้อำนวยการของศูนย์สุขภาพสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัย ลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส ก็เชื่อว่า สาเหตุมาจากศิลปินเดี่ยวมักต้องเผชิญหน้ากับความเครียด และความโดดเดี่ยวมากกว่า “ถึงจะมีแฟนห้อมล้อมมากมาย แต่ศิลปินเดี่ยวก็มักจะพบกับความโดดเดี่ยวมากกว่า”
ในประเด็นนี้ จอห์น ไอเซลวูด นักวิจารณ์เพลงก็เห็นพ้องด้วย ว่า ศิลปินเดี่ยวที่มักจะมีชื่อเสียง และได้รับความสนใจมากกว่าวงดนตรี แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องเจอความกดดันที่หนักหน่วงกว่าด้วย เห็นได้ชัดจากการให้สัมภาษณ์ ที่สื่อสารมวลชนด้านดนตรีรายนี้ยืนยันว่า ศิลปินเดี่ยวมักจะแสดงออกถึงความมั่นใจในตัวเอง และอารมณ์อันรุนแรงมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด "พวกเขามักจะมีอีโก้ในแบบที่นักดนตรีอย่างมือกลอง หรือมือกีตาร์คนหนึ่งในวง ไม่เคยมี”
ศิลปินสหรัฐฯ - ดังมากกว่า, ดังนานกว่า, เสี่ยงตายมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ดูจะเป็นโชคดีของศิลปินในยุคนี้ ที่การศึกษาพบว่า หากศิลปินคนใดที่สามารถผ่านช่วงเวลาแห่งการมีชื่อเสียงมาได้ 25 ปี โอกาสเสียชีวิตก็จะลดลงมาก โดยเฉพาะสำหรับศิลปินในฝั่งยุโรป ที่เหล่ารุ่นใหญ่แทบจะมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยเท่ากับบุคคลทั่วๆ ไป แต่สำหรับในฝั่งอเมริกาอัตราการเสียชีวิตของศิลปินรุ่นใหญ่ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี
ซึ่ง เบลลิส เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ศิลปินชาวสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการตายแบบผิดธรรมชาติยาวนานกว่าศิลปินยุโรป ก็เพราะตลาดเพลงที่ใหญ่โตกว่าของสหรัฐฯ ทำให้ศิลปินแต่ละรายมีโอกาสรักษาชื่อเสียงไว้ได้ยาวนานกว่า ซึ่งในเวลาเดียวกันก็จะเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยให้นานขึ้นด้วย นอกจากนั้นระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่มีประสิทธิภาพกว่าของทางฝั่งยุโรปก็มีแนวโน้มป้องการความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีกว่าด้วย
บาดแผลวัยเด็กตัวกระตุ้นพฤติกรรมเสี่ยง
การศึกษายังบ่งชี้ว่าวิถีชีวิตแบบ “ร็อกแอนด์โรล” ของศิลปินเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยทั้งหมด แต่บางกรณีประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดทางเพศ ก็เป็นปัจจัยต่อการเสียชีวิตของศิลปินมากกว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป และมากกว่าศิลปินที่เติบโตมาแบบไม่มีปัญหาอะไร
เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อแผลที่เกิดจากประสบการณ์วัยเด็ก ได้รับการกระตุ้นจากชื่อเสียง, ความกดดัน, ความร่ำรวย หรือกระทั่งการสร้างสรรค์งาน ที่มีแนวโน้มต้องขุดไปถึงรากของความทรงจำในเรื่องต่างๆ ก็มีโอกาสจะไปเร่งพฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้วยยาเสพติด หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ จนเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตให้กับศิลปินเพลงหลายเท่าตัว
ความกดดันของศิลปิน
แต่สำหรับ เอลลิส แคชมอร์ แห่งภาควิชาวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเชียร์ ผู้แต่งหนังสือ Celebrity/Culture ได้ให้ความเห็นว่า เราไม่สามารถมองข้ามธรรมชาติงานของศิลปินในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ ว่าคืออีกปัจจัยสำคัญ ของการเสียชีวิตได้เลย เพราะต้องยอมรับว่า การใช้ชีวิตภายใต้ความกดดัน และหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ก็คือขั้นตอนของการสร้างงานศิลปะ ซึ่งมีโอกาสกระตุ้นให้พวกเขาพาตัวเองไปสู่ความเสี่ยงมากขึ้นกว่าปกติ
เขายกตัวอย่างคนดังอย่าง วินแซนต์ แวน โก๊ะ, เออเนสต์ เฮมมิงเวย์ และ ไบรอัน วิลสัน ที่เป็นตัวอย่างของยอดศิลปินที่ที่ทุ่มเททุ่มชีวิตให้กับการสร้างงานศิลปินอันยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นการกดดันตัวเอง และบางทีก็ไม่สามารถรับกับความผิดหวังของตนเอง ต่องานที่ออกมาได้
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม