โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)

ที่เมืองนอกการที่มือกีตาร์มีชื่อเสียงกว่านักร้องนำหรือเด่นดังล้ำหน้าเหนือกว่าสมาชิกคนอื่นๆภายในวงถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในยุคเฮฟวี่ เมทัลเฟื่องฟู มีวงเมทัล แบนด์ จำนวนมากที่มือกีตาร์จัดเป็นเทพประจำวงชนิดที่ทางวงต้องงอนง้อ จนมือกีตาร์หลายๆคนหลงตัวเองมีอีโก้ล้นทะลักรูกาก
แต่สำหรับที่บ้านเรามีวงดนตรีเพียงไม่กี่วงที่มือกีตาร์มีชื่อเสียงโดดเด่นดังกว่านักร้องนำ หรือดังกว่าเด่นล้ำกว่าสมาชิกคนอื่นๆภายในวง โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “เป้ : อารักษ์ อมรศุภสิริ” อดีตมือกีตาร์วงสะเลอ(Slur)
เหตุที่เป้เด่นดังกว่าคนอื่นๆในวงก็เพราะหมอนี่มีหน้าตาเป็นยาวิเศษ หล่อ ขาว ตี๋ เกาหลีแมน อินเทรนด์ตามพิมพ์นิยมแห่งยุคสมัย ขณะที่ฝีมือนั้นก็ไม่ใช่ขี้ไก่ ทำให้หมอมีสถานะเป็นคนบันเทิงที่สวมหมวกหลายใบ ทั้ง พระเอกหนัง-ละคร นักดนตรี พรีเซนเตอร์ แถมยังเคยมี(อดีต)แฟนสาวสวยในระดับซุปตาร์ของเมืองไทยถึง 2 คนด้วยกัน
เท่านั้นยังไม่พอ ผลงานเดี่ยวอัลบั้มแรกของนายเป้ “Auto Erotic”(พ.ศ.2553)ที่มีทั้งคนรักและคนเกลียด มีทั้งคนชอบและคนชัง ยังแจ้งเกิดเด่นดังกว่าวงสะเลอที่เขา(เคย)เป็นมือกีตาร์อยู่ เพลง “มาเลเซีย”ในอัลบั้มนี้ ขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ตจัดอันดับเพลงหลายสำนัก ในขณะที่ตัวอัลบั้ม Auto Erotic ก็ทำให้นายเป้ได้รับรางวัล “คมชัดลึกอวอร์ด” ครั้งที่ 8 ในสาขาศิลปินหน้าใหม่ไปครอง ด้วยดนตรีโฟล์คฉีกแนวตลาด สด ใหม่ กล้านำเสนอเนื้อหามุมมองสะท้อนสังคมที่แตกต่าง
หลังโด่งดังจากชุด Auto Erotic ทำให้ฉายาของเป้เปลี่ยนไปจาก เป้ สะเลอ เป็น “เป้ อารักษ์” อย่างชัดเจนขึ้น ก่อนจะตามมาด้วยการแยกตัวออกมาจากวงสะเลอมาเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว ซึ่งล่าสุดเป้ปล่อยผลงานชุดใหม่ออกมา คือ “อารักษ์ & เดอะปีศาจแบนด์”

อัลบั้มชุดนี้เป้ย้ายย้ายจากค่ายห้องเล็กๆ “สมอลล์รูม” (Smallroom) มาอยู่ค่าย “บีลีฟ เรคคอร์ด” (Believe Records) แถมไม่ได้ฉายเดี่ยวมาคนเดียวโดดๆแบบอัลบั้มแรก แต่มีผองเพื่อนมาช่วยอีก 2 พะหน่อ เป็น 3 หนุ่ม 3 มุม ทรีโอ วงปีศาจแบนด์ โดย “เป้ - อารักษ์ อมรศุภสิริ” รับหน้าที่ร้องนำ :กีตาร์ : ฮาร์โมนิก้า : เพอร์คัสชั่น และแต่งเพลงทั้งหมด, “อัด-วงศ์วริศ อาริยวัฒน์” เล่นแบนโจ : โดโบร :แมนโดลิน : ร้องประสาน ส่วน “เนม-สุธัช นฤนาทมานิช” ทึ้งดับเบิ้ลเบส : ร้องประสาน โดย 2 หนุ่ม คืออัดกับเป้ ร่วมกันเป็นโปรดิวซ์เซอร์
อัลบั้มนี้มีเพลงมากถึง 16 แทรค 15 เพลง เปิดตัวมาด้วย“หนุ่มสาว” เพลงจังหวะสนุก กีตาร์ขึ้นนำมาตามด้วยเสียงแบนโจฟังเด่น เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวยุคใหม่ เป้ยังคงร้องเพลงแบบบ่นๆในสไตล์ถนัดของเขา แต่เพลงนี้มีลูกกระชากเสียงขึ้นสูงสลับอารมณ์
เพลงหนุ่มสาวเพลงนี้ยังมีกันนำไปทำเป็นเวอร์ชั่นรีมิกซ์ในแทรคสุดท้ายเป็นเพลงแดนซ์โจ๊ะๆ ซึ่งหากฟังกันตามคอนเซ็ปต์รวมของอัลบั้มถือว่าค่อนข้างหลุด แต่งานนี้ถ้ามองเผื่อเพื่อความมีชื่อเสียงของเพลงก็น่าจะไปได้ดีพอสมควร
ต่ออารมณ์สนุกกันในเพลง 2 กับ “ไก่” ที่แบนโจเล่นได้มันมาก เพลงนี้ฟังผ่านๆ อาจฟังดูขำ กวน โดยเฉพาะท่อนขาย “ป๊อกๆๆๆๆๆ กะ ต๊อก...” นี่ เป้ร้องได้กวนโอ๊ยดีแท้ แต่ถ้าฟังให้ลึกนี่คือตลกร้ายสะท้อนยุคสมัยของสังคมไทย ซึ่งคนไทยจำนวนมากเกิดมาเป็นเหมือนไก่ให้ผู้เลี้ยงไก่กำหนดชะตาชีวิต
อย่างไรก็ดีมีไก่ไทยจำนวนมากที่เต็มใจ ไม่หือไม่อือ ใครจะโกงบ้านกินเมือง ขึ้นราคาน้ำมัน แก๊ส และสินค้าต่างๆ ตนไม่สน ขอเพียงแค่ได้ท่องคาถาประชาธิปไตยจอมปลอมเป็นพอ

เพลงที่ 3 คือ “แฟน” เป้ร้องแบบบ่นๆ ในอารมณ์เหงาๆ มีเสียงสไลด์โดโบรช่วยตอกย้ำอารมณ์ แฟน(สาว)ในเนื้อเพลงนี้เป็นการสะท้อนถึงรสนิยมของหญิงสาวร่วมสมัยจำนวนมาก ที่อยากสวย(เกินกว่าธรรมชาติให้มา) อยากรวย อยากมี “...เธอไม่ต้องสวย ต้องรวย ต้องเก๋ ต้องเท่ห์ เหมือนดารา แค่เพียงเธอยิ้มมา ฉันก็ต้องมนต์เหมือนโดนคาถา...”
เพลงแฟนฟังออกแนวอุดมคติ จะมีผู้หญิงกี่คนเป็นดังในเพลง และเช่นกันที่จะมีผู้ชายกี่คนเป็นเหมือนในเพลง
ต่อมาเป็น “สมศรี” ดนตรีมาในทางคันทรีสนุกๆชวนโยกขยับ มีฮาร์โมนิก้าเป่านำ แต่ประทานโทษ!!! ภาคเนื้อหากลับรันทดได้โล่ เพราะบอกเล่าเรื่องราวสะท้อนความเสื่อมทรามสังคมไทยของเด็กหญิงที่มีแฟน ท้อง มีลูก ก่อนวัยอันควรมาก “...สมศรีมีแฟนตอน ม.2 แล้วเธอท้องกับรุ่นพี่ ม.3...”
ฟังมุมมองของผู้ชายในเพลงที่ผ่านมา แล้วมาฟังต่อในเพลงนี้ พฤติกรรมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลย แต่นี่ไยมิใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะว่าไปสมศรี(ในเพลง)นี่ยังโชคดีที่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็ก ต่างไปจากเด็กสาวอีกหลายๆคนที่คลอดลูกออกมาแล้วไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็ก
ข้ามไปที่ “ไมโครเวฟ”(แทรค 7) เพลงรักเหงาๆฉีกกระแสเพลงรักร่วมสมัย เป้ร้องบ่นๆถ่ายทอดเรื่องราวความรักของผู้คนร่วมสมัยที่มันรวดเร็วปานไมโครเวฟ ซึ่งมันสะท้อนลึกไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนี้ แต่กระนั้นเป้ก็อยากให้ความรักมันพิถีพิถันดั่งมีเชฟมาปรุงอาหาร ไม่ใช่แค่นำไปเวฟ กินผ่านๆไป

ต่อกันในแทรคที่ 8 กับ “ความรุนแรง” ดนตรีเพลงนี้มันมาก แต่ละเครื่องจัดเต็ม ฟังสอดรับกับเนื้อหาที่ว่าด้วยความรุนแรงที่มีต้นตออันหลากหลาย ทั้งจากสิ่งรอบตัว สิ่งแวดล้อม ผู้คน ความเชื่อ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มันส่งอิทธิพลต่อการเกิดความรุนแรงที่น่ากลัวที่สุดของมนุษยชาติ นั่นก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจิตใจตน เป้ร้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในเพลงนี้ได้ดีทีเดียว
ถัดมาเป็น “ทีวี” โฟล์คสบายๆ สื่อตรงไปตรงมาถึงเจ้าสิ่งเหลี่ยมๆที่เรียกว่าทีวีว่ามันครอบงำพวกเรายังไง
ส่วน“งานศพ”(แทรค 14) เพลงช้าๆ มีเสียงเชลโลรับเชิญ(ฝีมือน้องนินา : นิชาภา นิลแก้ว) มาสีตอกย้ำความเศร้าเหงา เนื้อหาว่าด้วยงานศพ ความสูญเสียฟังสะเทือนใจไม่น้อย
ส่งท้ายกันในเพลงสุดท้าย(แทรค 15 )กับ “ชิซูกะ”(Demo) บทเพลงน่ารักๆ ว่าด้วยความคู่กันของความรัก เพลงนี้ได้เสียงหวานๆของ “น้องริน สิทธาจารพงษ์” มาร่วมสร้างสีสันเปลี่ยนบรรยากาศ หลังจากที่ฟังเป้ร้องเดี่ยวๆมาจนเกือบหมดอัลบั้ม
นี่คือ 9 เพลงน่าสนใจในอัลบั้มนี้ ซึ่งที่เหลือยังมีเพลงน่าฟัง อย่างเช่น “บ้าน”(แทรค 10) บ้านนี้คือประเทศไทยที่ยังไงมันก็คือบ้านของฉัน ของคนไทยทุกคน ซึ่งแม้วันนี้จะมีพวกคนชั่วขึ้นมาครองเมือง แต่ในบทเพลงก็ยังหวังว่า “...ก็นี่มันบ้านของฉัน ก็นี่มันบ้านของฉัน ฉันจะรอวันที่เรากลับมารักกัน อีกครั้ง” เสียงสไลด์โดโบรในเพลงนี้ฟังหวานเศร้ามาก
“หลอกฉันที”(แทรค 11) ว่าด้วยความจริงที่เป็นปัญหาหลายๆด้านในบ้านเรา ที่แม้จะพยายามให้ใครมาหลอกตัวเองแต่ความจริงก็เป็นความจริง เพลงนี้ในท่อนต้นเป้ด่านักการเมืองแบบตรงๆไม่อ้อมค้อม ถือเป็นความกล้าที่ต้องขอคารวะ
ส่วน“โจ-พล”(แทรค 12) เรื่องของแว้นท์โจ ที่ถูกพลลูกข้าราชการใหญ่ยิง สุดท้ายคนที่เจ็บปวดที่สุดคือแม่ของแว้นท์โจ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย

และนั่นก็เป็นบทเพลงเด่นๆในอัลบั้ม“อารักษ์ & เดอะปีศาจแบนด์” อัลบั้มที่ 2 ของเป้ อารักษ์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอัลบั้มแรกออโต้ อีโรติกพอสมควร
ประการแรก เสียงร้องของเป้ที่เป็นจุดด้อยในชุดนี้มีพัฒนาขึ้น เป้ร้องเพลงดีขึ้นแม้จะยังไม่ถึงขั้นนักร้องอาชีพ แต่มีการบังคับเสียงที่หลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ดีเรื่องเสียงร้องที่เป้นจุดด้อยของเป้ ได้ถูกทำให้กลายเป็นจุดเด่นตั้งแต่ชุดที่แล้วด้วยการร้องเพลงแบบบ่นๆสไตล์บ็อบ ดีแล่น ที่มันได้กลายเป็นเสน่ห์แบบเป้ อารักษ์สไตล์ ซึ่งอาจไม่ถูกกับจริตของคนฟังเพลงไทยจำนวนมาก เพราะมันไม่เป็นไปตามสไตล์นิยม
แต่ถึงแม้เสียงของเป้ยังไม่เข้าขั้น สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมเขานั่นก็คือ เป้มีวิธีการร้องเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และร้องเพลงภาษาไทยเป็นไทย ไม่ดัดจริตร้องเพลงไทยให้เป็นฝรั่งหรือพยายามดัดสำเนียงให้เป็นฝรั่งจนฟังทุเรศรูหู
ความเปลี่ยนแปลงประการต่อมาคือเรื่องของภาคดนตรีที่แม้จะยังคงความเป็นเพลงโฟล์คเหมือนชุดที่แล้ว แต่การได้แบนโจกับดับเบิ้ลเบสเข้ามา มันช่วยสร้างสีสัน สร้างเสน่ห์ และช่วยเพิ่มพลังทางดนตรีให้กับงานเพลงมากกว่าการเล่นด้วยกีตาร์ตัวเดียว(+เมาท์ ออร์แกน) เหมือนในอัลบั้มที่แล้วอยู่มากทีเดียว อีกทั้งยังทำให้เพลงมีเส้นทางใหม่ ฟังไม่ตื้อตัน(แต่บางเพลงฟังแล้วชวนให้นึกถึงวงมัมฟอร์ดแอนด์ซัน) โดยเฉพาะไลน์แบนโจในหลายๆเพลงนั้น เจ๋งมาก ยิ่งเมื่อรู้ว่าอัด มือแบนโจ เพิ่งหัดเล่นได้ไม่นาน งานนี้ผมต้องขอคารวะในฝีมือและความพยายามด้วยบรั่นดีเพียวๆ 3 แก้ว
มาดูด้านเนื้อหากันบ้าง เนื้อหาในชุดนี้มาแนวเดียวกับชุดที่แล้ว คือ บอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคสมัย เน้นวิถีของชนชั้นกลาง คนเมืองร่วมสมัย แล้วถ่ายทอดออกมาในลักษณะบทเพลงเล่าเรื่อง ซึ่งแม้ภาษาในบางเพลงอาจจะฟังไม่สละสลวย แต่ว่าก็สื่อออกมาได้ชัดเจน ตรงไปตรงมา
สำหรับบทเพลงกึ่งร้องกึ่งบ่นของเป้ มันไม่ใช่เสียงบ่นของเจ้านายที่วิ่งจากหูซ้ายไปทะลุหูขวาแล้วก็ลืมมันไป(ให้เจ้านายมาด่าใหม่ในวันพรุ่งนี้) หากแต่บทเพลงเกือบทั้งหมดของเขามีข้อคิดให้คิดตาม ทั้งเรื่องความรักที่มีมุมมองอันแตกต่างไม่เหมือนใครให้ฉุกคิด เรื่องวิถีคนเมือง ปัญหาสังคม รวมถึงเรื่องการเมืองที่แม้จะมีไม่เท่าชุดที่แล้วแต่ก็เป็นการด่าแบบตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ดีแม้นี้จะเป็นผลงานที่มีเนื้อหาดี ชวนฟัง มีสไตล์ดนตรีที่ฉีกแนวฟังแตกต่างไปจากแนวเพลงทั่วๆไปในสมัยนิยม แต่ด้วยความที่หลายสิ่งหลายอย่างดูจะไม่ถูกกับจริตของแฟนเพลงไทยทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น แนวดนตรี เสียงร้อง วิธีการร้อง เนื้อเพลง เนื้อหา ทำให้งานเพลงของเป้ทั้งในอัลบั้มแรก และอัลบั้มล่าสุดมีทั้งคนรัก คนเกลียด
ซึ่งหากใครที่รักก็ควรไปซื้อหาแผ่นจริงมาฟัง ด้านใครที่เกลียดหรือไม่ชอบก็ไม่ต้องไปฟัง แต่ก็อย่าไปว่าไปด่าเขา เพราะมันเป็นความชอบใครความชอบมัน นานาจิตตัง ส่วนถ้าจะให้ดีก็คือควรเปิดใจรับฟัง ถ้ามันไม่ถูกจริตจริงๆก็กลับไปฟังเพลงที่ชอบที่ชอบเหมือนเดิม
แต่ถ้าใครที่มีความรู้สึกทั้งสองอย่างอยู่ในตัว
ผมขอแนะนำให้ไปฟังเพลง “ทั้งรักทั้งเกลียด” ของ “กุ้ง : ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา”
****************************************
คอนเสิร์ต

Prokofiev & Shostakovich
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ภายใต้การดูแลของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล นำเสนอคอนเสิร์ต Prokofiev & Shostakovich โดยมี Claude Villaret เป็นวาทยกร พบ 2 บทเพลงของ 2 คีตกวีชาวรัสเซีย ได้แก่ เพลง Symphony No. 10 in E Minor, Op. 93 ของ Dmitri Shostakovich และเพลง Piano Concerto No. 2 in G Minor, Op. 16 ของ Sergei Prokofiev ที่มีภูมิ พรหมชาติ นักเปียโนมากฝีมือเจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเปียโน Thailand International Piano Competition ครั้งที่ 2 มาแสดงฝีมือเปียโนที่กำลังร่ำเรียนในระดับปริญญาโท หลังจากที่ได้รับเกียรตินิยม และ Hopkinson Gold Medal จากการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่สถาบัน Royal College of Music ประเทศอังกฤษ ให้ได้รับชม
คอนเสิร์ตนี้จะจัดแสดงขึ้น ในวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2555 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555 เวลา 16.00 น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท (สำหรับนักเรียนนักศึกษา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com
ที่เมืองนอกการที่มือกีตาร์มีชื่อเสียงกว่านักร้องนำหรือเด่นดังล้ำหน้าเหนือกว่าสมาชิกคนอื่นๆภายในวงถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในยุคเฮฟวี่ เมทัลเฟื่องฟู มีวงเมทัล แบนด์ จำนวนมากที่มือกีตาร์จัดเป็นเทพประจำวงชนิดที่ทางวงต้องงอนง้อ จนมือกีตาร์หลายๆคนหลงตัวเองมีอีโก้ล้นทะลักรูกาก
แต่สำหรับที่บ้านเรามีวงดนตรีเพียงไม่กี่วงที่มือกีตาร์มีชื่อเสียงโดดเด่นดังกว่านักร้องนำ หรือดังกว่าเด่นล้ำกว่าสมาชิกคนอื่นๆภายในวง โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “เป้ : อารักษ์ อมรศุภสิริ” อดีตมือกีตาร์วงสะเลอ(Slur)
เหตุที่เป้เด่นดังกว่าคนอื่นๆในวงก็เพราะหมอนี่มีหน้าตาเป็นยาวิเศษ หล่อ ขาว ตี๋ เกาหลีแมน อินเทรนด์ตามพิมพ์นิยมแห่งยุคสมัย ขณะที่ฝีมือนั้นก็ไม่ใช่ขี้ไก่ ทำให้หมอมีสถานะเป็นคนบันเทิงที่สวมหมวกหลายใบ ทั้ง พระเอกหนัง-ละคร นักดนตรี พรีเซนเตอร์ แถมยังเคยมี(อดีต)แฟนสาวสวยในระดับซุปตาร์ของเมืองไทยถึง 2 คนด้วยกัน
เท่านั้นยังไม่พอ ผลงานเดี่ยวอัลบั้มแรกของนายเป้ “Auto Erotic”(พ.ศ.2553)ที่มีทั้งคนรักและคนเกลียด มีทั้งคนชอบและคนชัง ยังแจ้งเกิดเด่นดังกว่าวงสะเลอที่เขา(เคย)เป็นมือกีตาร์อยู่ เพลง “มาเลเซีย”ในอัลบั้มนี้ ขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ตจัดอันดับเพลงหลายสำนัก ในขณะที่ตัวอัลบั้ม Auto Erotic ก็ทำให้นายเป้ได้รับรางวัล “คมชัดลึกอวอร์ด” ครั้งที่ 8 ในสาขาศิลปินหน้าใหม่ไปครอง ด้วยดนตรีโฟล์คฉีกแนวตลาด สด ใหม่ กล้านำเสนอเนื้อหามุมมองสะท้อนสังคมที่แตกต่าง
หลังโด่งดังจากชุด Auto Erotic ทำให้ฉายาของเป้เปลี่ยนไปจาก เป้ สะเลอ เป็น “เป้ อารักษ์” อย่างชัดเจนขึ้น ก่อนจะตามมาด้วยการแยกตัวออกมาจากวงสะเลอมาเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว ซึ่งล่าสุดเป้ปล่อยผลงานชุดใหม่ออกมา คือ “อารักษ์ & เดอะปีศาจแบนด์”
อัลบั้มชุดนี้เป้ย้ายย้ายจากค่ายห้องเล็กๆ “สมอลล์รูม” (Smallroom) มาอยู่ค่าย “บีลีฟ เรคคอร์ด” (Believe Records) แถมไม่ได้ฉายเดี่ยวมาคนเดียวโดดๆแบบอัลบั้มแรก แต่มีผองเพื่อนมาช่วยอีก 2 พะหน่อ เป็น 3 หนุ่ม 3 มุม ทรีโอ วงปีศาจแบนด์ โดย “เป้ - อารักษ์ อมรศุภสิริ” รับหน้าที่ร้องนำ :กีตาร์ : ฮาร์โมนิก้า : เพอร์คัสชั่น และแต่งเพลงทั้งหมด, “อัด-วงศ์วริศ อาริยวัฒน์” เล่นแบนโจ : โดโบร :แมนโดลิน : ร้องประสาน ส่วน “เนม-สุธัช นฤนาทมานิช” ทึ้งดับเบิ้ลเบส : ร้องประสาน โดย 2 หนุ่ม คืออัดกับเป้ ร่วมกันเป็นโปรดิวซ์เซอร์
อัลบั้มนี้มีเพลงมากถึง 16 แทรค 15 เพลง เปิดตัวมาด้วย“หนุ่มสาว” เพลงจังหวะสนุก กีตาร์ขึ้นนำมาตามด้วยเสียงแบนโจฟังเด่น เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวยุคใหม่ เป้ยังคงร้องเพลงแบบบ่นๆในสไตล์ถนัดของเขา แต่เพลงนี้มีลูกกระชากเสียงขึ้นสูงสลับอารมณ์
เพลงหนุ่มสาวเพลงนี้ยังมีกันนำไปทำเป็นเวอร์ชั่นรีมิกซ์ในแทรคสุดท้ายเป็นเพลงแดนซ์โจ๊ะๆ ซึ่งหากฟังกันตามคอนเซ็ปต์รวมของอัลบั้มถือว่าค่อนข้างหลุด แต่งานนี้ถ้ามองเผื่อเพื่อความมีชื่อเสียงของเพลงก็น่าจะไปได้ดีพอสมควร
ต่ออารมณ์สนุกกันในเพลง 2 กับ “ไก่” ที่แบนโจเล่นได้มันมาก เพลงนี้ฟังผ่านๆ อาจฟังดูขำ กวน โดยเฉพาะท่อนขาย “ป๊อกๆๆๆๆๆ กะ ต๊อก...” นี่ เป้ร้องได้กวนโอ๊ยดีแท้ แต่ถ้าฟังให้ลึกนี่คือตลกร้ายสะท้อนยุคสมัยของสังคมไทย ซึ่งคนไทยจำนวนมากเกิดมาเป็นเหมือนไก่ให้ผู้เลี้ยงไก่กำหนดชะตาชีวิต
อย่างไรก็ดีมีไก่ไทยจำนวนมากที่เต็มใจ ไม่หือไม่อือ ใครจะโกงบ้านกินเมือง ขึ้นราคาน้ำมัน แก๊ส และสินค้าต่างๆ ตนไม่สน ขอเพียงแค่ได้ท่องคาถาประชาธิปไตยจอมปลอมเป็นพอ
เพลงที่ 3 คือ “แฟน” เป้ร้องแบบบ่นๆ ในอารมณ์เหงาๆ มีเสียงสไลด์โดโบรช่วยตอกย้ำอารมณ์ แฟน(สาว)ในเนื้อเพลงนี้เป็นการสะท้อนถึงรสนิยมของหญิงสาวร่วมสมัยจำนวนมาก ที่อยากสวย(เกินกว่าธรรมชาติให้มา) อยากรวย อยากมี “...เธอไม่ต้องสวย ต้องรวย ต้องเก๋ ต้องเท่ห์ เหมือนดารา แค่เพียงเธอยิ้มมา ฉันก็ต้องมนต์เหมือนโดนคาถา...”
เพลงแฟนฟังออกแนวอุดมคติ จะมีผู้หญิงกี่คนเป็นดังในเพลง และเช่นกันที่จะมีผู้ชายกี่คนเป็นเหมือนในเพลง
ต่อมาเป็น “สมศรี” ดนตรีมาในทางคันทรีสนุกๆชวนโยกขยับ มีฮาร์โมนิก้าเป่านำ แต่ประทานโทษ!!! ภาคเนื้อหากลับรันทดได้โล่ เพราะบอกเล่าเรื่องราวสะท้อนความเสื่อมทรามสังคมไทยของเด็กหญิงที่มีแฟน ท้อง มีลูก ก่อนวัยอันควรมาก “...สมศรีมีแฟนตอน ม.2 แล้วเธอท้องกับรุ่นพี่ ม.3...”
ฟังมุมมองของผู้ชายในเพลงที่ผ่านมา แล้วมาฟังต่อในเพลงนี้ พฤติกรรมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลย แต่นี่ไยมิใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะว่าไปสมศรี(ในเพลง)นี่ยังโชคดีที่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็ก ต่างไปจากเด็กสาวอีกหลายๆคนที่คลอดลูกออกมาแล้วไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็ก
ข้ามไปที่ “ไมโครเวฟ”(แทรค 7) เพลงรักเหงาๆฉีกกระแสเพลงรักร่วมสมัย เป้ร้องบ่นๆถ่ายทอดเรื่องราวความรักของผู้คนร่วมสมัยที่มันรวดเร็วปานไมโครเวฟ ซึ่งมันสะท้อนลึกไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนี้ แต่กระนั้นเป้ก็อยากให้ความรักมันพิถีพิถันดั่งมีเชฟมาปรุงอาหาร ไม่ใช่แค่นำไปเวฟ กินผ่านๆไป
ต่อกันในแทรคที่ 8 กับ “ความรุนแรง” ดนตรีเพลงนี้มันมาก แต่ละเครื่องจัดเต็ม ฟังสอดรับกับเนื้อหาที่ว่าด้วยความรุนแรงที่มีต้นตออันหลากหลาย ทั้งจากสิ่งรอบตัว สิ่งแวดล้อม ผู้คน ความเชื่อ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มันส่งอิทธิพลต่อการเกิดความรุนแรงที่น่ากลัวที่สุดของมนุษยชาติ นั่นก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจิตใจตน เป้ร้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในเพลงนี้ได้ดีทีเดียว
ถัดมาเป็น “ทีวี” โฟล์คสบายๆ สื่อตรงไปตรงมาถึงเจ้าสิ่งเหลี่ยมๆที่เรียกว่าทีวีว่ามันครอบงำพวกเรายังไง
ส่วน“งานศพ”(แทรค 14) เพลงช้าๆ มีเสียงเชลโลรับเชิญ(ฝีมือน้องนินา : นิชาภา นิลแก้ว) มาสีตอกย้ำความเศร้าเหงา เนื้อหาว่าด้วยงานศพ ความสูญเสียฟังสะเทือนใจไม่น้อย
ส่งท้ายกันในเพลงสุดท้าย(แทรค 15 )กับ “ชิซูกะ”(Demo) บทเพลงน่ารักๆ ว่าด้วยความคู่กันของความรัก เพลงนี้ได้เสียงหวานๆของ “น้องริน สิทธาจารพงษ์” มาร่วมสร้างสีสันเปลี่ยนบรรยากาศ หลังจากที่ฟังเป้ร้องเดี่ยวๆมาจนเกือบหมดอัลบั้ม
นี่คือ 9 เพลงน่าสนใจในอัลบั้มนี้ ซึ่งที่เหลือยังมีเพลงน่าฟัง อย่างเช่น “บ้าน”(แทรค 10) บ้านนี้คือประเทศไทยที่ยังไงมันก็คือบ้านของฉัน ของคนไทยทุกคน ซึ่งแม้วันนี้จะมีพวกคนชั่วขึ้นมาครองเมือง แต่ในบทเพลงก็ยังหวังว่า “...ก็นี่มันบ้านของฉัน ก็นี่มันบ้านของฉัน ฉันจะรอวันที่เรากลับมารักกัน อีกครั้ง” เสียงสไลด์โดโบรในเพลงนี้ฟังหวานเศร้ามาก
“หลอกฉันที”(แทรค 11) ว่าด้วยความจริงที่เป็นปัญหาหลายๆด้านในบ้านเรา ที่แม้จะพยายามให้ใครมาหลอกตัวเองแต่ความจริงก็เป็นความจริง เพลงนี้ในท่อนต้นเป้ด่านักการเมืองแบบตรงๆไม่อ้อมค้อม ถือเป็นความกล้าที่ต้องขอคารวะ
ส่วน“โจ-พล”(แทรค 12) เรื่องของแว้นท์โจ ที่ถูกพลลูกข้าราชการใหญ่ยิง สุดท้ายคนที่เจ็บปวดที่สุดคือแม่ของแว้นท์โจ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย
และนั่นก็เป็นบทเพลงเด่นๆในอัลบั้ม“อารักษ์ & เดอะปีศาจแบนด์” อัลบั้มที่ 2 ของเป้ อารักษ์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอัลบั้มแรกออโต้ อีโรติกพอสมควร
ประการแรก เสียงร้องของเป้ที่เป็นจุดด้อยในชุดนี้มีพัฒนาขึ้น เป้ร้องเพลงดีขึ้นแม้จะยังไม่ถึงขั้นนักร้องอาชีพ แต่มีการบังคับเสียงที่หลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ดีเรื่องเสียงร้องที่เป้นจุดด้อยของเป้ ได้ถูกทำให้กลายเป็นจุดเด่นตั้งแต่ชุดที่แล้วด้วยการร้องเพลงแบบบ่นๆสไตล์บ็อบ ดีแล่น ที่มันได้กลายเป็นเสน่ห์แบบเป้ อารักษ์สไตล์ ซึ่งอาจไม่ถูกกับจริตของคนฟังเพลงไทยจำนวนมาก เพราะมันไม่เป็นไปตามสไตล์นิยม
แต่ถึงแม้เสียงของเป้ยังไม่เข้าขั้น สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมเขานั่นก็คือ เป้มีวิธีการร้องเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และร้องเพลงภาษาไทยเป็นไทย ไม่ดัดจริตร้องเพลงไทยให้เป็นฝรั่งหรือพยายามดัดสำเนียงให้เป็นฝรั่งจนฟังทุเรศรูหู
ความเปลี่ยนแปลงประการต่อมาคือเรื่องของภาคดนตรีที่แม้จะยังคงความเป็นเพลงโฟล์คเหมือนชุดที่แล้ว แต่การได้แบนโจกับดับเบิ้ลเบสเข้ามา มันช่วยสร้างสีสัน สร้างเสน่ห์ และช่วยเพิ่มพลังทางดนตรีให้กับงานเพลงมากกว่าการเล่นด้วยกีตาร์ตัวเดียว(+เมาท์ ออร์แกน) เหมือนในอัลบั้มที่แล้วอยู่มากทีเดียว อีกทั้งยังทำให้เพลงมีเส้นทางใหม่ ฟังไม่ตื้อตัน(แต่บางเพลงฟังแล้วชวนให้นึกถึงวงมัมฟอร์ดแอนด์ซัน) โดยเฉพาะไลน์แบนโจในหลายๆเพลงนั้น เจ๋งมาก ยิ่งเมื่อรู้ว่าอัด มือแบนโจ เพิ่งหัดเล่นได้ไม่นาน งานนี้ผมต้องขอคารวะในฝีมือและความพยายามด้วยบรั่นดีเพียวๆ 3 แก้ว
มาดูด้านเนื้อหากันบ้าง เนื้อหาในชุดนี้มาแนวเดียวกับชุดที่แล้ว คือ บอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคสมัย เน้นวิถีของชนชั้นกลาง คนเมืองร่วมสมัย แล้วถ่ายทอดออกมาในลักษณะบทเพลงเล่าเรื่อง ซึ่งแม้ภาษาในบางเพลงอาจจะฟังไม่สละสลวย แต่ว่าก็สื่อออกมาได้ชัดเจน ตรงไปตรงมา
สำหรับบทเพลงกึ่งร้องกึ่งบ่นของเป้ มันไม่ใช่เสียงบ่นของเจ้านายที่วิ่งจากหูซ้ายไปทะลุหูขวาแล้วก็ลืมมันไป(ให้เจ้านายมาด่าใหม่ในวันพรุ่งนี้) หากแต่บทเพลงเกือบทั้งหมดของเขามีข้อคิดให้คิดตาม ทั้งเรื่องความรักที่มีมุมมองอันแตกต่างไม่เหมือนใครให้ฉุกคิด เรื่องวิถีคนเมือง ปัญหาสังคม รวมถึงเรื่องการเมืองที่แม้จะมีไม่เท่าชุดที่แล้วแต่ก็เป็นการด่าแบบตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ดีแม้นี้จะเป็นผลงานที่มีเนื้อหาดี ชวนฟัง มีสไตล์ดนตรีที่ฉีกแนวฟังแตกต่างไปจากแนวเพลงทั่วๆไปในสมัยนิยม แต่ด้วยความที่หลายสิ่งหลายอย่างดูจะไม่ถูกกับจริตของแฟนเพลงไทยทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น แนวดนตรี เสียงร้อง วิธีการร้อง เนื้อเพลง เนื้อหา ทำให้งานเพลงของเป้ทั้งในอัลบั้มแรก และอัลบั้มล่าสุดมีทั้งคนรัก คนเกลียด
ซึ่งหากใครที่รักก็ควรไปซื้อหาแผ่นจริงมาฟัง ด้านใครที่เกลียดหรือไม่ชอบก็ไม่ต้องไปฟัง แต่ก็อย่าไปว่าไปด่าเขา เพราะมันเป็นความชอบใครความชอบมัน นานาจิตตัง ส่วนถ้าจะให้ดีก็คือควรเปิดใจรับฟัง ถ้ามันไม่ถูกจริตจริงๆก็กลับไปฟังเพลงที่ชอบที่ชอบเหมือนเดิม
แต่ถ้าใครที่มีความรู้สึกทั้งสองอย่างอยู่ในตัว
ผมขอแนะนำให้ไปฟังเพลง “ทั้งรักทั้งเกลียด” ของ “กุ้ง : ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา”
****************************************
คอนเสิร์ต
Prokofiev & Shostakovich
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ภายใต้การดูแลของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล นำเสนอคอนเสิร์ต Prokofiev & Shostakovich โดยมี Claude Villaret เป็นวาทยกร พบ 2 บทเพลงของ 2 คีตกวีชาวรัสเซีย ได้แก่ เพลง Symphony No. 10 in E Minor, Op. 93 ของ Dmitri Shostakovich และเพลง Piano Concerto No. 2 in G Minor, Op. 16 ของ Sergei Prokofiev ที่มีภูมิ พรหมชาติ นักเปียโนมากฝีมือเจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเปียโน Thailand International Piano Competition ครั้งที่ 2 มาแสดงฝีมือเปียโนที่กำลังร่ำเรียนในระดับปริญญาโท หลังจากที่ได้รับเกียรตินิยม และ Hopkinson Gold Medal จากการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่สถาบัน Royal College of Music ประเทศอังกฤษ ให้ได้รับชม
คอนเสิร์ตนี้จะจัดแสดงขึ้น ในวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2555 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555 เวลา 16.00 น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท (สำหรับนักเรียนนักศึกษา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com