มากกว่าหนึ่งครั้ง มีคนตั้งคำถามขึ้นในวงสนทนาว่า เพราะอะไร หนังอย่างทไวไลท์จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาวัยรุ่น หรือผู้หญิง (จำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด) ทั้งที่เป็นวัยรุ่น หรือเลยวัยรุ่นมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แน่นอนว่า คนที่ตอบได้ดีมากที่สุดก็คงเป็นคนกลุ่มสองกลุ่มอย่างที่ว่ามา แต่ถ้าจะให้ผมซึ่งเป็นผู้ชายและไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับสิ่งที่ทไวไลท์นำเสนอเท่าไรนัก ก็คงพูดตามเนื้อผ้าเท่าที่เห็น
ทไวไลท์ ซึ่งมีต้นทางมาจากงานเขียนของสเตฟานี่ เมเยอร์ส นั้น ว่ากันอย่างทิ้งเปลือกและสกัดเอาเฉพาะแก่นจริงๆ ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า มันนำเสนอเรื่องราวของรักแท้ ประเภท “อมตะนิรันดร์กาล” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคสรุปจบอย่าง Twilight Breaking Dawn Part 2 หรือ Twilight 4.2 นั้น หนังเน้นย้ำคำว่า “Forever” (ตลอดกาล, ชั่วกัลปาวสาน, ชั่วฟ้าดินสลาย ฯลฯ) อย่างตรงไปตรงมา และคำนี้ก็ไม่ได้หมายถึงอะไรอย่างอื่น หากแต่ได้แก่ความรักระหว่างแวมไพร์หน้าขาวอย่างเอ็ดเวิร์ดกับหญิงสาวอย่างเบลล่าที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายอย่างมาด้วยกันจนถึงวันร่วมหอลงโรง
พูดง่ายๆ ว่า ทไวไลท์มันตอบสนองภาพฝันหวานๆ และความปรารถนาโหยหาของบรรดาผู้หญิงอย่างถูกจุด ผมพูดไว้ในรายการวิวไฟน์เดอร์เมื่อเสาร์ที่แล้วว่า บางที อาจเป็นเพราะผู้ชายเราในยุคปัจจุบันด้วยส่วนหนึ่งซึ่งมีส่วนไม่มากก็น้อยในการผลักใสให้ผู้หญิงจมลงไปสู่ฝันหวานๆ แบบทไวไลท์ เพราะในยุคที่คำว่า “วันไนท์สแตนด์” หรือ “น้ำแตกแล้วแยกทาง” บานสะพรั่งอย่างทุกวันนี้ อย่าว่าแต่คำว่า “รักกันจนตราบชั่วฟ้าดินสลาย” (Forever Love) เลยครับ เอาแค่คำว่า True Love หรือรักแท้ที่จะอยู่ร่วมกันไปจนแก่เฒ่าและตายจาก ก็ดูจะหายากเต็มที
นั่นยังไม่นับรวมความจริงที่ว่า การรักๆ แล้วเลิกราหาใหม่ ถ้าไม่พอใจ ก็เป็นเหตุการณ์ปกติของยุคนี้สมัยนี้ การมาถึงของเอ็ดเวิร์ด หรือกระทั่งมนุษย์หมาป่าอย่างเจคอบที่พินอบพิเทาต่อความรักแม้จะไม่เห็นหนทางสมหวัง (เพราะถึงแม้จะมอบความรักให้เบลล่ามากเพียงใด แต่ความรักของเขาก็ไม่อาจ “ช็อต” หัวใจหญิงสาวได้) จึงเหมือนมาตอบสนองความต้องการในส่วนลึกของคนในยุคสมัยที่อยู่กับอะไรที่ฉาบฉวยและโหยหาความรักอะไรที่เป็นรักแท้ มั่นคง ตราบนานเท่านาน
แน่นอน ผมคงไม่อาจสรุปว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น เป็นการมองอย่างทะลุปรุโปร่งและเข้าอกเข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นเพียงแค่การคิดโดยเชื่อมโยงความเป็นไปของยุคสมัยเข้ากับความรักความชอบของคนเท่านั้น เพราะอันที่จริง มันอาจจะมีรายละเอียดอีกหลายอย่างซึ่งทำให้ทั้งหนังและนิยายอย่างทไวไลท์โดนใจผู้คนขนาดนั้น
เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา สำหรับคนที่อ่านหนังสือเรื่องนี้ จะพบว่า ตัวละหญิงอย่างเบลล่านั้น คนอ่านสามารถ “ลิงก์” ตัวเองเข้ากับตัวละครตัวนี้ได้โดยไม่ยากเย็น เพราะในต้นฉบับงานเขียน สเตฟานี่ เมเยอร์สก็ไม่ได้บรรยายว่าเบลล่าเป็นผู้หญิงที่สวยงามหยาดฟ้ามีอะไรน่าสนใจมากไปกว่าคนอื่น เธอก็เหมือนเด็กสาวนักศึกษาธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ดังนั้น ถ้าผู้หญิงส่วนหนึ่งจะรู้สึกว่าเบลล่าก็เหมือนกับตัวเองในบางมุมและเชื่อมโยงตัวตนเข้ากับตัวละครตัวนี้แล้วอินไปกับเรื่องราวชวนฝันที่เกิดขึ้นกับเบลล่า ก็มีความเป็นไปได้สูง
หญิงสาวธรรมดาๆ ที่มีหนุ่มหล่อ (อุปาทานว่าหล่อ) มาก้อร่อก้อติกพร้อมกันถึงสองคน จะไม่ให้ฝันดี มันจะเหลือหรือ? สถานการณ์แบบนี้มันจึงนำไปสู่หัวข้อเกี่ยวกับ Bella’s Choices คือการที่นางเอกของเรื่องอย่างเบลล่าต้องพาตัวเองหลุดพ้นไปจากสภาวะอันน่าอึดอัดคับข้องของการเป็น “นางวันทองหญิงสองใจ” ให้ได้ ด้วยการต้องตัดสินใจเลือกใครคนใดคนหนึ่งระหว่างแวมไพร์กับหมาป่า เราจะเห็นว่า สถานการณ์นี้มันหย่อนเบ็ดแห่งอารมณ์พาฝันลงไปสู่ใจของคนดูได้อย่างเหมาะเหม็ง และคนดูก็งับเบ็ดนั้นแบบไม่ลังเล บรรดาสาวๆ (ทั้งที่เป็นสาวจริงและ “สาวนะครับ”) ดูแล้วก็คงเข้าใจอย่างสุดซึ้งในเนื้อหาบทเพลงของทาทา ยัง และครวญคราง...“อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน...”
ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่หลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้อะไรเลยในแง่ของการเติบโตทางความคิด นอกจากเข้าไปกรี๊ดซิกแพ็คของเจคอบและสยิวสะเหยียวไปกับรอยจูบและเมคเลิฟของเอ็ดเวิร์ด แต่สุดท้าย หนังซึ่งสร้างจากนิยายขายฝันหวานๆ เรื่องนี้ก็เดินทางมาถึงภาคจบเป็นที่เรียบร้อย หนังเปิดเรื่องมาหลังจากเบลล่าที่กลายเป็นแวมไพร์ไปแล้วและคลอดลูกออกมาคนหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิง พอแวมไพร์ตัวพ่ออย่างพวกโวลตูรีรู้ข่าวเกี่ยวกับเด็กคนนี้ ก็เกิดความหวาดหวั่นว่าเด็กผู้หญิงจะก่อภัยในภายภาคหน้า ก็เตรียมตั้งทัพมาจัดการ ทางฝ่ายเอ็ดเวิร์ด เบลล่า และพวก ก็จึงต้องรวบรวมไพร่พลสมาชิกเพื่อมายืนยันถึงความไร้พิษภัยของเด็ก รวมทั้งร่วมต่อสู้ หากว่าเหตุการณ์ดำเนินไปถึงขั้นต้องฆ่าฟันกัน
หลังจากที่ดูหนังแวมไพร์โรแมนซ์เรื่องนี้มาทุกภาค ผมคิดว่าสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของแฟรนไชส์ชุดนี้ที่มันสามารถรักษาไว้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง คือการดำเนินเรื่อง ที่ผ่านมา เคยอืดๆ เอื่อยๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ อย่างไร ภาคล่าสุดนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ด้วยบรรยากาศการดำเนินเรื่องเช่นนี้ มันย่อมแยกแยะคนดูออกเป็นสองแบบ แบบแรกฝันหวาน แบบหลังฝันดี คนฝันหวานก็คงเคลิ้มๆ ไปกับเรื่องราวได้ง่าย ส่วนคนฝันดีก็คงหลับสบายไป จากที่จะไปดู “ทไวไลท์” ก็อาจจะกลายเป็น “ทไว-หลับ” ไป (จริงๆ มันน่าจะมีการสำรวจวิจัยอย่างจริงจังว่าหนังเรื่องนี้ทำให้คนหลับมาแล้วจำนวนเท่าไร เดาว่า น่าจะมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป)
ในมุมมองของผม คิดว่าหนังเสียเวลากับเรื่องบางเรื่องมากเกินไป แล้วเรื่องเหล่านั้นก็ดูจะไม่ได้ “ส่งผล” ต่อเนื้อหาโดยรวมสักเท่าใด ยกตัวอย่างเช่น เปิดเรื่องมา เบลล่าที่เป็นแวมไพร์ใหม่ๆ ก็มากมายด้วยฤทธิ์เดช และต้องหัดรู้จักควบคุมพลังที่อยู่ในตัวเอง เหมือนปีเตอร์ พาร์คเกอร์ แห่งสไปเดอร์แมนที่ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมและปรับตัวให้เข้ากับ “พลังแบบใหม่” อย่างสมดุล สิ่งนี้ สุดท้ายแล้ว กลับไม่ได้ส่งผลอะไรต่อตัวเรื่องเท่าที่ควร แน่นอน ด้วยพลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล นอกจากโชว์พลังเซ็กซ์บนเตียงนอนอย่างเร่าร้อนรุนแรงแล้ว เราคงอยากเห็นเธอใช้พลังนั้นจัดการกับผู้รุกรานบ้าง แต่สุดท้าย ก็ไม่เท่าไหร่
ชั่วโมงกว่าๆ ผ่านไปท่ามกลางความซึมเซา ยังดีอยู่บ้างที่หนังมีมุกตลกเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาเติมช่องว่างระหว่างกำลังเคลิ้มหลับได้พอสมควร แต่โดยรวมแล้ว บรรยากาศและอารมณ์ของหนังก็เรียบเรื่อย อย่างที่บอก หลายคนอาจจะสะดุ้งตื่นมาอีกทีตอนได้ยินเสียงตึงตังตูมตามในยามใกล้จะจบที่เกิดสถานการณ์สู้รบ ซึ่งอันที่จริง ก็ยอมรับครับว่า หนังทำฉากสู้รบอะไรพวกนี้ได้ดี ดูมีความน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งคิดว่าถ้าหนังจะแซมใส่ฉากต่อสู้ทำนองนี้เข้ามาบ้างระหว่างทางดำเนินเรื่อง ก็น่าจะทำให้หนังดูไม่หนืดเนือยอย่างที่เป็นอยู่นัก
ทไวไลท์ 4.2 คือการปิดฉากของหนังแฟรนไชส์แวมไพร์ชุดนี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ที่ว่ามันจะต้องดูยิ่งใหญ่สมกับการปิดตำนาน หนังไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบนั้น เรื่องคุณภาพหรือความอลังการงานสร้าง ก็ไม่ต่างจากภาคก่อนๆ แต่อย่างใด และพูดกันตามจริง ในแง่ความดี ภาค 3 ดูจะเหนือกว่าค่อนข้างมากด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นของเรื่องที่ดูจะจับต้องได้ชัดเจนกว่า หนังภาคนี้ นอกจากตอกย้ำความรักแบบ Forever Love หนังหยิบยกความหวาดกลัวที่สุมอยู่ทั่ว ทั้งในหัวใจของฝ่ายพระเอกนางเอกและในฝ่ายของพวกโวลตูรี และเพราะความกลัวที่ว่านี้ ก็ลากจูงพวกโวลตูรีออกจากบ้านต้องดั้นด้นมาแสนไกล ความกลัวกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราว...
แต่เอาล่ะ ถึงแม้จะไม่ได้ดูยิ่งใหญ่อลังการสมกับการปิดฉากตำนานรักหวานข้ามสายพันธุ์ แต่สำหรับแฟนคลับระดับเดนตายของแวมไพร์ชุดนี้ ก็คงสำราญในอารมณ์ตามสมควรเหมือนเช่นที่ผ่านมา ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ แต่ติดตามมาดูภาค ก็อาจจะอนุโมทนาสาธุให้กับหนังอย่างคนที่หมดสิ้นเวรกรรมต่อกัน ประมาณว่า...อืมมม จบได้ก็ดี...