xs
xsm
sm
md
lg

Looper : หนังที่ ‘หล่อ’ และ ‘เท่’ ที่สุดแห่งปี

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook...teelao1979@hotmail.com

บางก็ว่าหนังเรื่องนี้ดูแล้วงง ไม่เข้าใจ บางก็ว่าคล้าย The Matrix อันสุดแสนซับซ้อนสับสน แต่หลายคนกลับมองตรงกันข้าม คำถามก็คือ แล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ สนุกหรือไม่สนุก? ดูรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง?

แต่ในเบื้องต้น ต้องขออนุญาตชี้แจงสักเล็กน้อยนะครับสำหรับการเขียนหนังที่ค่อนข้างเก่า “ในโรง” เรื่องนี้

เดี๋ยวนี้ แม้หนังจะเข้าฉายไปสัปดาห์เดียวก็ดูเก่าแล้วล่ะครับ เพราะสัปดาห์ต่อไปก็จะมีหนังใหม่เข้ามาแทนที่ มองแบบหนึ่งมันก็ดี ตรงที่ทำให้คนดูมีตัวเลือกใหม่ๆ เร็วขึ้น ส่วนคนที่รอแผ่นดีวีดีก็น่าจะได้ดูกันเร็วขึ้นเช่นกัน ทุกวันนี้ คอหนังแผ่น รอเดี๋ยวเดียวก็ได้โม้เหมือนคนที่ดูในโรงแล้ว

Looper นั้นเข้าฉายมาแล้วร่วมสัปดาห์ และคนดูก็สามารถที่จะเลือกประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าชมได้ ซึ่งก็คือเลือกดูวันพุธหรือซื้อตั๋วก่อนเที่ยงวันเสาร์สำหรับโรงเมเจอร์หรือเอสเอฟ จะเซฟเงินในกระเป๋าได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุเหตุผลด้านเวลาและความจำเป็น ทำให้ผมไม่สามารถไปดูในรอบประหยัดแบบนั้นได้ ก็เลยต้องจ่ายในราคาปกติกับรอบปกติ กระนั้นก็ตาม ในความรู้สึกของผม กลับไม่มีคำว่า “ผิดพลาด” แต่อย่างใดกับการไม่ไปดูในรอบถูกๆ เพราะถึงแม้จะต้องจ่ายเต็ม แต่ก็เป็นจ่ายเต็มที่คุ้มค่าราคา

สิ่งที่น่าพูดถึงก่อนเรื่องอื่นใดสำหรับงานชิ้นนี้ น่าจะอยู่ที่ความค้างคาใจของหลายต่อหลายคนที่บอกว่าดูไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจว่าอะไรยังไง

เอาเป็นว่า ความเข้าใจง่ายๆ ของผมเกี่ยวกับหนังเรื่อง Looper ก็คือ มันเป็นหนังที่เล่าถึงยุคสองยุค ยุคแรก เป็นช่วงปี ค.ศ.2044 ส่วนอีกยุค คือประมาณ 30 ปีถัดไป (นับดูได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้นแหละครับ) แล้วในยุค 2044 จะมีกลุ่มปฏิบัติการที่เรียกตัวเองว่า ลูเปอร์ คอยทำหน้าที่สังหาร “คนในโลกอนาคตซึ่งอยู่ในช่วงเวลา 30 ถัดไป” อธิบายแบบไม่ให้งง คือ คนในยุคอนาคตจะส่งบุคคลข้ามเวลากลับมาในปี ค.ศ.2044 เพื่อให้ลูเปอร์คนใดคนหนึ่งฆ่าทิ้งซะ

โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์ แสดงเป็นลูเปอร์นามว่า “โจ” เขาคือมือสังหารที่อดีตเป็นเพียงเด็กข้างถนนซึ่งถูกเก็บมาเลี้ยงและฟูมฟักโดยหัวหน้ากลุ่มลูเปอร์ที่ปลุกปั้นให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นนักฆ่าอนาคตไกล โจเหมือน “ลูกชายคนโปรด” หัวแก้วหัวแหวนของหัวหน้าลูเปอร์ ที่ผ่านมา เขาปลิดชีพ “คนในโลกอนาคต” มาแล้วนับไม่ถ้วน แบบคนที่ไม่เคยทำงานพลาด แต่ปัญหาก็เดินทางมาถึงโจจนได้ในวันหนึ่ง เมื่อเขาพบว่า บุคคลในโลกอนาคตที่ถูกถีบส่งข้ามเวลามาให้เขาฆ่านั้น คือตัวเขาเอง (โจ ในวัยสูงอายุ แสดงโดยบรูซ วิลลิส)

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับโจก็เหมือนที่เคยเกิดกับลูเปอร์อีกหลายคน คือ ลังเลว่าจะฆ่าตนเองในโลกอนาคตดีหรือไม่ และในช่วงเวลาแห่งความลังเลนั้น “โจวัยหนุ่ม” ก็ถูกโจวัยแก่ช่วงชิงจังหวะหลบหนีไปได้

ตัวเรื่องจึงดำเนินไปท่ามกลางการไล่ล่า แต่ถูกทำให้ซับซ้อนขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะในขณะที่โจวัยหนุ่ม (โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตต์) ไล่ล่าโจวัยแก่ (บรูซ วิลลิส) โจวัยหนุ่มก็ถูกไล่ล่าเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเขาทำงานพลาด เขาก็ต้องถูกพวกลูเปอร์ตามล่าหาตัวและนำไปลงโทษ แต่ที่มันเป็นปัญหามากขึ้นไปอีกก็คือ บรูซ วิลลิส ที่มาจากโลกอนาคตนั้น ไม่ได้มาเพื่อให้ตัวเองถูกฆ่าเพียงอย่างเดียว เพราะเขามาเพื่อตามล่าหาตัวเด็กคนหนึ่งด้วย ว่ากันว่าเด็กคนนี้จะเติบโตไปเป็น “วายร้าย” ในอนาคต บรูซ วิลลิส เห็นว่าควรฆ่าเขาตั้งแต่เขายังเด็กๆ นี่แหละ

เรื่องราวน่าจะเคลียร์นะครับ และความสนุกของหนังมันก็อยู่ที่ตรงที่ล่ากันไปล่ากันมาแบบไขว้ขั้วข้ามสายกันนี่แหละ มีหลายคนถามผมว่าจะดูหนังเรื่องนี้ให้รู้เรื่องอย่างไรดี ผมบอกว่า อย่าไปตื่นเต้นกับคำของคน (ที่ไปดูมาก่อน) หนังมันไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนน่าเวียนหัวแบบเดียวกับเดอะแม็ททริกซ์ขนาดนั้น ถึงแม้จะมีบางช็อตบางฉาก อย่างท่าทางลอยล่องแบบสโลโมชั่นซึ่งขวนให้คิดถึงถึงฉาก Bullet Time ในเดอะแม็ททริกซ์อยู่บ้างก็ตามที แต่ถ้าคุณจับจุดได้ มันก็จะไม่งง หนังว่าด้วยยุคสองยุค แล้วยุคที่สำคัญที่สุด คือยุคปัจจุบัน (ปี ค.ศ.2044) หนังอาจจะมีการตัดสลับไปยังโลกอนาคตบ้าง แต่ก็เพียงช่วงแรกๆ เพื่อปูเรื่อง แต่หลังจากกลางๆ เรื่องเป็นต้นไป โลเกชั่นทั้งหมดก็จะปักหลักอยู่ ณ เวลาปัจจุบัน

บางคนที่ไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะเห็นหน้าบรูซ วิลลิส แล้วคิดว่าหนังน่าจะแอ็กชั่นสะบั้นหั่นแหลกแน่นอน เพราะนอกเหนือจาก “ภาพจำ” เกี่ยวกับนักแสดงคนนี้ที่รับงานเรื่องไหน เป็นได้มีการเสียเลือดเสียเนื้อหรือระเบิดตูมตามโครมครามกันเรื่องนั้น (โดยเฉพาะหนังแฟรนไชส์ Die-Hard ที่จะมีภาค 5 ออกมาเร็วๆ นี้) ชื่อหนังในภาษาไทยอย่าง “ทะลุเวลา อึดล่าอึด” ยังชวนให้นึกถึงการต่อสู้แอ็กชั่นอันดุดันดุเดือดเลือดพล่าน ซึ่งว่ากันอย่างถึงที่สุด การตั้งชื่อหนังแบบนี้ก็เป็นเพียง “การเล่นกับภาพจำ” ของผู้คน เพราะคำว่า “อึด” นั้น เป็นสัญลักษณ์ของบรูซ วิลลิส เหมือนกับคำว่า “ฟัด” เป็นไอคอนของเฉินหลง หรือ “เล็ก” คือเครื่องหมายการค้าของโจวซิงฉือ

คือจริงๆ ผมจะบอกว่าไม่ควรคาดหวังแบบนั้น เพราะภาพรวมทั้งหมดของหนัง ไม่ได้จะมากระตุ้นอะดรีนาลินของคนดูให้ฉีดหลั่งด้วยพลังของความเป็นแอ็กชั่น มันอาจจะมีฉากสาดกระสุนหรือฟาดปากกันบ้าง แต่ก็พอเป็นกระษัย เพราะหลักใหญ่ใจความ หนังขายความเท่เก๋ไก๋ของไอเดีย แล้วอาศัยความแม่นยำในการดำเนินเรื่อง-เล่าเรื่อง ผูกปม ตรึงคนดูให้อยู่กับเรื่องราวไปจนตลอดรอดฝั่ง

ในรอบหลายปีมานี้ หรือก็ตั้งแต่เดอะแม็ททริกซ์เป็นต้นมา เราไม่ค่อยมีหนังซึ่งเล่นกับพล็อตล้ำๆ แบบเห็นแล้วต้องอุทานว่า “เจ๋ง” สักเท่าไหร่ หายเดือนก่อน มีหนังที่พูดถึงนาซีบนดวงจันทร์ แต่ก็ทำให้มันเป็นเรื่องขำขันไปอย่างนั้นเพื่อจะประชดประชันเหน็บแนม ไม่ได้แตกต่างไปจากที่ชาร์ลี แชปลิน ทำไว้เลยใน The Great Dictator แต่สำหรับ Looper ไอเดียของหนัง มันเก๋ตั้งแต่เรื่องของการส่งคนจากอนาคตมาให้คนในอดีตฆ่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้คนคนเดียวกัน (วัยปัจจุบันกับวัยอนาคต) โคจรมาพบกันด้วยเงื่อนไขคือการฆ่า มันยิ่งสร้างความรู้สึกพะอืดพะอมให้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เอาง่ายๆ แค่ว่า คุณซึ่งยังเป็นหนุ่มสาวอยู่ จะต้องฆ่าตัวตนของตัวเองในวัยแก่ เท่านี้ก็ยากลำบากแล้วล่ะครับ เห็นหน้าตัวเองแล้วคุณจะฆ่าลงหรือเปล่า?

ผมเคยพูดไว้ในรายการวิวไฟน์เดอร์ทางช่องซูเปอร์บันเทิงว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่หล่อและเท่ที่สุดแห่งปี ที่ว่า “เท่” ก็เพราะความช่างคิดเจ๋งๆ ของหนัง แม้จะคิดเรื่องเกี่ยวกับอนาคต แต่ก็ทำให้มันพ้นไปจากความเป็นหนังไซไฟดาษดื่นทั่วไป หนังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะถูกจดจำไปอีกนาน จะว่าไป ที่หลายคนนิยามว่า มันคือเดอะแม็ททริกซ์ของ พ.ศ.นี้ ก็เป็นไปได้ในแง่ที่เป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ของหนังไซไฟซึ่งนานมาพอสมควรแล้วที่เราไม่ได้เห็นอะไรที่มันบรรเจิดและ “ใหม่” ในลักษณะนี้

ส่วนที่บอกว่า “หล่อ” ก็เกี่ยวข้องกับประเด็นเนื้อหาซึ่งหนังนำเสนอ Looper นอกจากจะไม่ใช่หนังที่จะมา “เอามัน” เสิร์ฟฉากแอ็กชั่นระเบิดเถิดเทิงแล้ว ผมยังรู้สึกว่า เรื่องราวโดยรวมของหนังนั้น เป็นตัวแทนของความคิดในเชิง “มนุษยนิยม” อย่างจับต้องสัมผัสได้

มนุษยนิยม กล่าวง่ายๆ ก็คือไม่สิ้นหวังในความเป็นมนุษย์ เชื่อมั่นในตัวมนุษย์ มนุษย์อาจจะเลวร้าย แต่การขัดเกลากล่อมเกลา ก็อาจทำให้เขาหรือเธอเปลี่ยนแปลงตัวตนและพัฒนาตัวเองได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ “โจ” ซึ่งเป็นเพียงเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งซึ่งคลุกฝุ่นชีวิตอยู่ข้างทางอย่างมืดมน แต่เมื่อเขาถูกนำมาเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ลำบาก เขาก็สามารถเจริญเติบโตมาเป็นคนที่มีศักยภาพได้

แนวคิดแบบนี้กระจ่างขึ้นอย่างเด่นชัด เมื่อถึงคราวที่ตัวละครในเรื่องต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่จำต้องฆ่า และในช่วงเวลาเช่นนั้น มันไม่ใช่ศัตรูคู่ขัดแย้งที่ต้องยิงแทงกันให้ตายไปข้าง หากแต่เป็นสองขั้วแนวคิดที่ต้องพิชิตเอาชัยเหนือกัน

คุณยังศรัทธาในความเป็นมนุษย์อยู่ไหม หรือว่าหมดสิ้นแล้วซึ่งสิ่งนี้?





กำลังโหลดความคิดเห็น