Facebook : teelao1979@hotmail.com
ยังจำเขาคนนี้ได้ไหม? “ซาช่า บารอน โคเฮน” บุรุษที่เข้าไปเหยียบดินแดนอเมริกาแล้วล้อเลียนเสียดสีวัฒนธรรมเมืองลุงแซมอย่างแสบสันต์จน “เจ้าบ้าน” เกิดอาการหน้าชา ในหนังเรื่อง Borat และก็เป็นบุรุษคนเดียวกันนี้เองที่เคยปรากฏตัวใน Bruno ซึ่งทำให้หลายคนอุทาน “โอ้ มายก้อด” ด้วยความรู้สึกว่า “มันทำไปได้ยังไงของมัน(วะ)?”
และตอนนี้ เขาผู้นั้นกลับมาอีกแล้วครับกับผลงานชิ้นใหม่ที่ดูจะเพิ่มความกล้าเข้าไปอีกกระบุงโกย เพราะคราวนี้ เขาไต่ระดับสูงขึ้นไปอีกขั้นด้วยการล้อเลียนเสียดสีผู้นำเผด็จการ ซึ่งจะเป็นใครก็ตามแต่ แต่การขึ้นต้นเรื่องด้วยไตเติ้ลว่า “ด้วยความระลึกถึง คิมจองอิล” นอกจากจะเป็นตลกร้ายที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูตั้งแต่หนังยังไม่เริ่ม ยังเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความกล้า บ้า เพี้ยน ของผู้ชายคนนี้
อันที่จริง ก็ไม่เชิงว่าอย่างนั้นหรอกครับ เพราะตามความจริง หนังเรื่องนี้ รวมไปจนถึงสองเรื่องที่เอ่ยถึงข้างต้น เป็นผลงานการกำกับของลาร์รี่ ชาร์ลส์ แต่อาจเป็นเพราะความโดดเด่นในบทบาทและการแสดงของโคเฮนชนิดที่กล้าเล่นอย่างถึงพริกถึงขิงโดยไม่กังวลว่าภาพลักษณ์ของตนจะดูดีหรือไม่ในสายตาประชาชี จึงทำให้ผู้คนจดจำเขาได้ดี และนั่นจึงไม่แปลก ถ้าชื่อของเขาจะดังกว่าลาร์รี่ ชาร์ลส์ และถูกจับมาเป็นตัวสร้างจุดขายแทนชื่อของผู้กำกับ
เครื่องหมายการค้าของซาช่า บารอน โคเฮน ก็คืออารมณ์ขันอันร้ายกาจในแบบที่อาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจสำหรับสุภาพชน เพราะมันเต็มไปด้วยความสัปดนทะลึ่งตึงตังอย่างสุดโต่ง เรื่องเพศ เรื่องเหยียดผิว ไปจนถึงเรื่องที่คนดีๆ ไม่ทำกัน ต่างถูกหยิบจับมาล้อเลียนเสียดสีอย่างถ้วนทั่ว
คงคล้ายๆ กับตอนที่ชาร์ลี แชปลิน และเพื่อนอีกคน ร่วมกันกำกับ The Great Dictator เมื่อปี ค.ศ.1941 ด้วยการแต่งเรื่องขึ้นมาล้อเลียนจอมเผด็จการผู้เป็นฝันร้ายของโลกอย่างฮิตเลอร์ ทำให้ผู้นำหนวดจิ๋มกลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาคมนักดูหนัง เผด็จการในหนัง The Dictator ของลาร์รี่ ชาร์ลส์ ก็ดูจะไม่ต่างไปจากนั้น เพียงแต่สีสันและองค์ประกอบต่างๆ จะหนักไปทางทะลึ่งหยาบโลนและหยาบคายตามสไตล์ของลาร์รี่ ชาร์ลส์
The Dictator เล่าเรื่องราวในประเทศสมมุติที่มีชื่อว่าวาดิย่าซึ่งปกครองโดย “อลาดีน” ผู้นำจอมเผด็จการที่บริหารประเทศอย่างโหดเหี้ยมและขี้โกงสมบูรณ์แบบ เพียงชี้นิ้วสั่งการ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปดั่งใจปรารถนา และหลังจากกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยยืนกรานว่าจะไม่มีวันให้ประชาธิปไตยย่างกรายเข้ามายังดินแดนแห่งนี้เป็นอันขาด เป็นเวลาหลายปี จุดเปลี่ยนก็เดินทางมาถึง
นายพลอลาดีนถูกเรียกตัวให้ไปเข้าร่วมการประชุมกับสหประชาชาติที่อเมริกา โดยไม่รู้ว่าชีวิตและประเทศของเขาต้องกลับตาลปัตร อลาดีนถูกลักพาตัวและจับโกนหนวดเคราจนไม่มีใครจำได้ เดินไปทางไหนก็ไม่มีใครเชื่อว่าเขาคือผู้นำประเทศ เขากลายเป็นคนเร่ร่อน ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากโซอี้ (แอนนา ฟารีส) สาวนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อสังคม เธอเสนองานและที่พักให้เขา ซึ่งเขาเองก็ไม่มีทางเลือกที่จะปฏิเสธเนื่องจากตนเองไม่ใช่นายพลอลาดีนคนเดิมอีกต่อไป แต่ในระหว่างนั้น อลาดีนก็พยายามสืบต้นตอว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง และทำทุกวิถีทางเพื่อยึดอำนาจคืนมา
ซาช่า บารอน โคเฮน ในบทของผู้นำอย่างอลาดีนนั้น ยังคงรักษาความแสบสันต์ไว้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ความเป็นเผด็จการที่น่าชิงชังรังเกียจ อยากทำอะไรก็ได้ไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งใด ขอเพียงมีหัวใจขี้โกงเป็นที่ตั้ง ก็จะได้สิ่งต่างๆ มาครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้ชนะเลิศในเกมกีฬาหรือการเป็นดาราหนัง (ต่อให้แสดงได้ห่วยแค่ไหนก็ตามที!)
อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกว่า ท่ามกลางความบื้อบ้าน่าหัวเราะเยาะหยันของนายพลอลาดีนนั้น บทหนังก็ทำให้ตัวละครตัวนี้มีความยอกย้อนในตัวเองสูง ด้านหนึ่ง เราอาจจะชิงชังหมั่นไส้ในพฤติกรรมของเขา แต่อีกด้าน หลายสิ่งที่เขาทำ ก็น่าคิดว่า เออ...โลกบัดซบใบนี้ เจออย่างนั้นบ้างก็ดีนะ เหมือนเด็กนิสัยคนหนึ่งซึ่งโดนอลาดีนเตะก้นจนล้มหัวทิ่มหัวตำในร้านของชำแห่งนั้น
ดังนั้น ความเฉียบขาดของงานชิ้นนี้จึงอยู่ที่การวางน้ำหนักของตัวละครนำให้อยู่ก้ำกึ่งระหว่างสองขั้วความรู้สึก ประเภทที่ว่า จะรักก็ไม่ได้ จะเกลียดหรือก็เกลียดไม่ลง
และเอาเข้าจริง The Dictator ที่ตั้งธงมาแต่ไกลว่าจะเสียดสีเหน็บแนมระบอบหรือผู้นำเผด็จการ สุดท้าย กลับถือไม้เรียวหวดไปไม่เลือกที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งสังคมที่ดูเหมือนจะเป็น “สังคมอุดมการณ์” อย่างร้านของชำ (ซึ่งมีความเป็นสังคมนิยมอยู่ค่อนข้างสูง) ที่อลาดีนไปทำงานอยู่ตอนตกยาก ก็ยังไม่วายที่จะมีคนไม่ดี อย่างเช่น ชายคนหนึ่งซึ่งขโมยเงินในร้านอยู่เป็นประจำ ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่ลาร์รี่ ชาร์ลส์ กำลังส่งสารบอกกล่าวไว้ผ่านงานชิ้นนี้ก็คือ ไม่ว่าการปกครองในแบบใด จะเผด็จการ ประชาธิปไตย ไปจนถึงสังคมนิยม ก็ล้วนแต่ไม่เพอร์เฟคต์และมีจุดบอดข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น
แน่นอนล่ะ ประชาธิปไตยที่ใครต่อใครนับถือกันนักหนา และถือว่าเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามกับความเชื่อของจอมเผด็จการอลาดีน มีหรือที่จะไม่โดนซัดบ้าง และหนังก็คล้ายจะพูดออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ประชาธิปไตยนั้นก็เป็นเพียงระบบการปกครองแบบหนึ่งซึ่งแม้ดูเหมือนจะเวิร์กกว่าระบบทั่วไป แต่มันคงไม่ใช่อะไรที่ดีพร้อมสมบูรณ์แบบแน่นอน
ถ้าไมเคิล มัวร์ คือปรมาจารย์จอมแฉบนโลกแห่งแผ่นฟิล์ม ลาร์รี่ ชาร์ลส์ ก็คงเป็น “นักกวนบาทา” ตัวฉกาจอย่างมิอาจปฏิเสธ เฉพาะอย่างยิ่ง กับหนังเรื่องนี้ ลาร์รี่ ชาร์ลส์ ให้บทพูดบทหนึ่งแก่เผด็จการจอมกวนคล้ายต้องการจะยียวนกวนประสาททำนองว่า “ประชาธิปไตย สร้างแต่ความวุ่นวาย ต้องฟังคนโน้นคนนี้ ยุ่งไปหมด น่ารำคาญ สู้เผด็จการไม่ได้ พูดคนเดียว จบ” นี่ก็เป็นตลกร้ายที่ฟังแล้วขำได้ แต่คงยากจะทำใจยอมรับสำหรับสาวกประชาธิปไตย
ไม่แน่นะครับ ถ้าลาร์รี่ ชาร์ลส์ หรือนายพลอลาดีน ผ่านมาทางดินแดนขวานทอง เขาอาจจะจิกกัด “เผด็จการประชาธิปไตย” (ที่อาศัยเสียงข้างมากลากถูไป ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม) ก็เป็นได้ ใครจะรู้ แต่ในเมื่อทั้งสองคนไปเยือนสหรัฐฯ พวกเขาก็เลย “จัดหนัก” ให้กับประชาธิปไตยแบบทุนนิยม โดยหนึ่งในภารกิจนั้นก็คือการตั้งคำถามว่า อเมริกาซึ่งถือตัวว่าเป็นประชาธิปไตยกว่าใครพวก แต่พออยากได้อะไรของใคร ก็เอาปืนไปไล่ยิงเขา เอาระเบิดไปโยนบอมบ์เหมือนๆ กัน แล้วเช่นนั้น มันจะดีงามไปกว่าเผด็จการตรงไหนอย่างไร
ดูไป ก็ขำไปแหละครับ สำหรับหนังเรื่องนี้ มันมีทั้งมุกที่น่าคิดและมุกที่ฟังแล้วก็แค่ขำๆ กับมันไป และในขณะที่ลุ้นๆ ว่านายพลอลาดีนจะเอายังไงต่อไปกับชีวิต เขาจะพลิกตัวเองจากขั้วเผด็จการมาสมาทานประชาธิปไตย หรือจะยังดึงดันอยู่เช่นนั้นดังเดิม ผมกล้ายืนยันครับว่า The Dictator นั้นมีดีมากกว่าความตลกโปกฮาอย่างแน่นอน
หรือถ้าจะพูดให้ถูก ผมคิดว่าในความฮานั่นล่ะ มันมีประเด็นให้ขบคิดแฝงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ฉากตลกในเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น ก็สื่อสะท้อนถึงความหวาดผวาต่อภัยก่อการร้ายของผู้คนได้แบบเห็นภาพ ก็แน่ล่ะครับ การก่อการร้ายมันเป็นภัยที่น่ากลัว แต่บางที การกลัวจนหัวหดหรือได้ยินใครพูดอะไรหน่อยก็สะทกสะท้านตัวสั่นงันงก อย่างนั้นน่าจะเรียกว่าวิตกจริตซะมากกว่า