"ฮั่วหยวนเจี๋ย" ครูมวยผู้ยิ่งใหญ่แห่งเทียนจิน ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุที่ยังคงเป็นปริศนาในปี 1910 ขณะที่ท่านมีอายุเพียง 42 ปี ท่ามกลางข้อสงสัยมากมาย ที่ชาวจีนหลายคนตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ ต่างเชื่อกันว่าท่าน "ฮั่ว" เสียชีวิตจากการถูกชาวญี่ปุ่นวางยาพิษ ระหว่างการประลองยุทธของทั้งสองฝ่าย ... ได้กลายเป็นเรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึกของชาวจีน ต่อชาวญี่ปุ่นมาตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นมิตรนัก
ฮั่วหยวนเจี๋ย เกิดเมื่อ ค.ศ. 1869 ในหมู่บ้านเซียงนาน ที่เมืองเทียนจิน ตรงกับปีที่ 7 ในรัชสมัยฮ่องเต้ถงจื้อ เติบโตมาในครอบครัวร่ำรวย แต่ตัวเขาเองกลับมาโด่งดังในทางหมัดมวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็นนักสู้ที่ต่อกรกับศัตรูจากต่างชาติทั้งญี่ปุ่น และตะวันตก ปกป้องความยิ่งใหญ่ของศาสตร์ศิลปะป้องกันตัวของจีน ก่อนจะเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า ด้วยข้อสงสัยว่าเขาอาจถูกวางยาพิษจากศัตรูชาวญี่ปุ่น
แม้เอาเข้าจริง ๆ แล้ว วีรกรรมของ ฮั่วหยวนเจี๋ย ค่อนข้างจะเป็นสิ่งคลุมเครือนะครับ ไม่สามารถแยกระหว่างข้อเท็จจริงและตำนานออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด อันที่จริงความคลุมเครือของเหตุการณ์ด้วยซ้ำ ที่ทำให้ชีวิตของ ฮั่วหยวนเจี๋ย ดูจะไปได้ดีไม่น้อย กับการเป็นภาพยนตร์
เรื่องราวของ ฮั่วหยวนเจี๋ย ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง ทั้งชีวิตของตัวท่านโดยตรง และลูกศิษย์เอก นอกจากเป็นกลุ่มหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของวิชาหมัดมวยของจีนแล้ว ก็ยังสะท้อนความรู้สึกของคนจีน ต่อเพื่อนบ้านที่ชื่อว่า "ญี่ปุ่น" ในแต่ละยุคสมัยด้วย
ชื่อของ ฮั่วหยวนเจี๋ย น่าจะเป็นที่รู้จักกันในโลกภาพยนตร์ ไม่เฉพาะในจีน แต่ทั้งประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย จนไปถึงทั่วโลกกับงานเรื่อง Fist of Fury (ไอ้หนุ่มซินตึ้ง ล้างแค้น, 1972) ผลงานชิ้นเอกของ "บรูซ ลี" หนังกังฟูที่ว่ากันว่าสำคัญ และยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เล่าเรื่องหลังการเสียชีวิตของ ฮั่วหยวนเจี๋ย กับการตามล่าล้างแค้นพวกญี่ปุ่นของลูกศิษย์นาม "เฉินเจิน" ตัวละครที่ไม่มีอยู่จริง แต่เล่าว่าอ้างอิงมาจากลูกศิษย์คนหนึ่งที่ชื่อว่า "หลิวเจิ่นเซิน" ซึ่งนักเขียนบทชื่อดัง อี้กวง นำมาดัดแปลงแต่งเรื่องราวที่ชาวจีนหลายคนอยากให้เป็นจริงขึ้นมา
นอกจากคิวบู๊อันดุเดือด และสมจริงไปไกลเกินยุคสมัยแล้ว Fist of Fury ยังได้ชื่อว่าเป็นหนังที่มีอารมณ์อันรุนแรง แสดงความโกรธต่อญี่ปุ่นแบบไม่มีปิดบัง โดยเฉพาะความไม่พอใจต่อการกดขี่ดูถูกดูแคลนในช่วงประเทศจีนยุคหลังปี 1911 ที่สะท้อนออกมาเป็นหนังที่ว่าด้วยการต่อสู้ ชนิดข้ามาคนเดียวของหนุ่มชาวจีน ล้มนักสู้ญี่ปุ่นทั้งสำนัก
Fist of Fury หยิบเอาการตายอย่างปริศนาของ ฮั่วหยวนเจี๋ย มาผูกเป็นเรื่องให้ศิษย์เอก เฉินเจิน ต้องค้นหาสาเหตุการจากไปของอาจารย์ และลงมือแก้แค้นพวกต่างชาติ หนังไม่ได้กล่าวโทษเพียงแต่คนญี่ปุ่น แต่ยังแจกแจงความหายนะของชาวจีนในช่วงนั้น ว่าเกิดขึ้นด้วยมือคนในชาติเอง กับตัวละครชาวจีนหลายประเภท ทั้งขี้ขลาด, เจ้าเล่ห์, เอาตัวรอด และเห็นแก่ตัว ส่วนชาวญี่ปุ่นก็หนักไปทางเป็นพวกไร้วัฒนธรรม, หลงตัวเอง, ป่าเถื่อน, โหดเหี้ยม, บ้าอำนาจ
หนังที่ว่ากันว่า "ดีที่สุดของ บรูซ ลี" เรื่องนี้ ได้กลายเป็นหมุดหมายหลักไมล์สำคัญของหนังกังฟู ทั้งในแง่เทคนิคการถ่ายทำและเนื้อหา แต่ส่วนสำคัญอย่างยิ่งก็คืออารมณ์อันรุนแรงของหนัง แม้แนวคิดเรื่องชาตินิยมแบบค่อนข้างจะก้าวร้าว และน้ำเสียงเกลียดชังชาวต่างชาติ จะไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยกย่องในยุคสมัยนี้แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อหาทำนองนี้ได้สร้างพลังให้กับหนังอย่างมหาศาล
ความสำเร็จของ Fist of Fury ทำให้มีการหยิบเอาเรื่องราวของศิษย์ และอาจารย์คู่นี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายครั้ง ที่แต่ละครั้งความร้อนแรงเกรี้ยวกราดก็ลดหลั่นกันไปตามแต่ละช่วง
ยังมีหนังกังฟูเล็ก ๆ เรื่อง Young Hero (1980) ที่นำแสดงโดยดาราเกาหลี วังจางลี ด้วย ที่ผมเองก็ยังไม่ได้ดูนะครับ ได้ข่าวว่าเล่าเรื่องของ ฮั่วหยวนเจี๋ย เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ให้เรื่องราวน่าสนใจอะไร แต่คนที่ดูมาแล้วก็บอกว่ามันส์ในแบบหนังกังฟูทุนต่ำดี
ส่วนหนังที่คล้าย ๆ จะเป็นภาคต่อ New Fist of Fury (1976) แต่ตัวละครหลักจากหนังภาคแรกที่ปรากฏตัวในเรื่องนี้กลับเป็นบทนางเอกที่แสดงโดย "เหมียวเข่อซิ่ว" ที่ตามเรื่องเดินทางหนีพวกญี่ปุ่นจากเซียงไฮ้มาถึงไต้หวัน มาอาศัยอยู่กับโรงเรียนฝึกมวยของปู่ที่นั่น ซึ่งก็กำลังถูกญี่ปุ่นรุกรานเช่นเดียวกัน จนกระทั่งเธอได้พบกับหนุ่มน้อยที่ดำรงชีพด้วยการเป็นโจรคนหนึ่ง แม้เขาจะไม่อยากเรียนกังฟู แต่ก็ตัดสินใจฝีกหมัดมวย เพื่อต่อสู้กับพวกต่างชาติ แบบเดียวกับที่ เฉินเจิน เคยทำ โดยหนังเป็นการแนะนำตัวละครใหม่ ที่สวมบทบาทโดย พระเอกหน้าใหม่ที่ หลอเหว่ย พยายามจะปั้นขึ้นมาทดแทนการเสียชีวิตของ บรูซี ลี ชื่อว่า "เฉินหลง" แต่ทั้งหนัง และตัวดาราก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด
หากจะพูดถึงหนังที่ว่าด้วย "ฮั่วหยวนเจี๋ย" ที่มีความน่าสนใจขึ้นมาอีกระดับ ก็ถึงพูดถึงหนังปี 1982 Legend of a Fighter ผลงานของ หยวนวูปิง ที่คราวนี้หยิบเอาเรื่องราวในวัยหนุ่มของยอดฝีมือแห่งเทียนจิน มาเล่ากันแบบเต็ม ๆ
Legend of a Fighter เล่าเรื่องในยุควัยรุ่น จนเติบใหญ่ของ ฮั่วหยวนเจี๋ย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่มขี้โรค จนบิดาผู้เป็นยอดฝีมือในทางหมัดมวยไม่ยอมถ่ายทอดวิชาให้ แต่แล้วเขากลับได้พบกับอาจารย์ที่พ่อหามาเพื่อสอนหนังสือ (ยาสึโอกะ คุราตะ) ที่แท้จริงเป็นยอดฝีมือในทางหมัดมวย และถ่ายทอดวิชาให้ฮั่วหยวนเจี๋ย
เมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มแน่ ฮั่วหยวนเจี๋ย จึงได้ใช้วิชากังฟูปกป้องตระกูลจากผู้รุกราน นอกจากนั้นยังปกป้องประเทศจีนจากต่างชาติ แต่แล้วสุดท้ายเขากลับต้องมาเผชิญหน้ากับอาจารย์ของตัวเอง ที่ความจริงเป็นชาวญี่ปุ่น และแอบแฝงตัวเข้ามาในบ้านตระกูลฮั่วเพื่อขโมยวิชา
ด้วยความเป็นหนังกังฟูทุนต่ำที่ไม่ได้โด่งดังอะไรมากนัก Legend of a Fighter อาจไม่ใช่งานที่รู้จักกันแพร่หลายอย่างหนังเรื่องอื่น ๆ ของ หยวนวูปิง เช่น ไอ้หนุ่มหมัดเมา อะไรทำนองนั้น แต่พูดได้ว่านี่คือมาสเตอร์พีซในยุคแรกอีกชิ้นของเขา โดยเฉพาะในหมวดหมู่หนังกังฟูที่เน้นความจริงจัง มากกว่าจะตลกโปกฮาแบบที่นิยมกันในยุคนั้น
ตั้งแต่ยุค 70s เป็นต้นมา "ฮั่วหยวนเจี๋ย" และ "เฉินเจิน" กลายเป็นตัวละครยอดฮิตรอง ๆ จากพวก หวงเฟยหง, ปึงซีเง็ก ฯลฯ มีหนังที่ว่าด้วยศิษย์และอาจารย์คู่นี้มาให้ดูกันอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ ดอนนี่ เยน ก็เคยสวมบทบาทเป็น "เฉินเจิน" มาแล้วถึง 2 ครั้งทั้งในจอแก้วและจอเงิน รวมถึงล่าสุดที่ไปไกลถึงกับแต่งเรืองให้ "เฉินเจิน" เป็นซูเปอร์ฮีโร่สวมหน้ากากไปแล้ว
แต่ถ้าจะมองไปที่ช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ผลงานที่อ้างอิงชีวิตของ "ฮั่วหยวนเจี๋ย" ที่น่าสนใจมากที่สุด ก็คงต้องกล่าวถึงหนังของ "หลี่เหลียนเจี๋ย" สองเรื่องคือ Fist of Legend และ Fearless
หนังที่เล่าเรื่องของ "เฉินเจิน" กับ "ฮั่วหยวนเจี๋ย" กันตามลำดับ เป็นหนังสองเรื่องที่ดูจะมีเนื้อหาลดทอนความร้อนแรง เกลียดชังญี่ปุ่นลงไปเป็นอย่างมาก วิชาหมัดมวยกังฟูก็ไม่ได้มีไว้เพื่อแก้แค้นกันเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นหนทางการพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกาย และจิตวิญญาณ ส่วนชาวญี่ปุ่นในหนังไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เป็น "เฉินเจิน" กับ "ฮั่วหยวนเจี๋ย" ฉบับที่ดูมีเหตุมีผล พูดจารู้เรื่องขึ้นขึ้นมาเยอะ
Fist of Legend (1996) ก็คือการรีเมก Fist of Fury แบบเต็ม ๆ ของ หลี่เหลียนเจี๋ย นอกจากคิวบู๊จะสุดยอดเหมือนต้นฉบับ (บางคนบอกว่านี่คือหนังที่บู๊มันส์ที่สุดของ หลี่เหลียนเจี๋ย แล้ว) เรื่องราวของ เฉินเจิน ในฉบับนี้ก็ออกจะแตกต่างจากหนังของ บรูซ ลี อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความพยายามในการให้ความเป็นธรรมกับญี่ปุ่น มีทั้งตัวละครชาวญี่ปุ่นฝั่งเลว และฝั่งดี ไม่ว่าจะเป็นนางเอกของเรื่องที่ในหนังก็เป็นสาวญี่ปุ่น นอกจากนั้นก็ยังมีตัวละครยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น อาจารย์อีกคนของ เฉินเจิน ที่สวมบทบาทโดย ยาสึอากิ คุราตะ ก็ถือว่าเป็นตัวละครที่น่าเคารพนับถืออยู่ไม่น้อยเลย
ในปี 2006 หลี่เหลียนเจี๋ย จึงได้หยิบเอาชีวิตของ ฮั่วหยวนเจี๋ย มาสร้างเป็นหนังบ้างใน Fearless (งานที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าเขาจะเลิกเล่นหนัง? หรือเลิกเล่นหนังบู๊? ออกไปในวงกว้าง เพราะจริง ๆ แล้วเจ้าตัวบอกว่าจะเลิกเล่นหนังกังฟูเท่านั้นเอง) ที่เล่าเรื่องกันตั้งแต่อาจารย์ฮั่วยังเป็นเด็กขี้โรค ที่พ่อไม่ยอมให้ฝึกยุทธ์ จนเติบใหญ่กลายเป็นเจ้าของเพลงหมัดอันเด็ดขาดโหดเหี้ยม และเต็มไปด้วยควมทะเยอทะยานสร้างชื่อเสียง ในแบบที่บิดายังทำไม่ได้ แต่ลงเอยทำให้เขาต้องพบกับเรื่องเศร้าในชีวิต และเกิดใหม่เป็นปรมาจารย์ผู้มองหมัดมวยเป็นเส้นทางแห่งการพัฒนาตัวเองค้นหาคำตอบให้กับชีวิต ไม่ได้เพื่อเข่นฆ่าเพียงอย่างเดียว
Fearless เป็นหนังที่ไม่มีกลิ่นอายอาฆาตมาดร้ายต่อต่างชาติอยู่อีกแล้ว โดยเฉพาะตัวละครนักสู้จากหลาย ๆ ชาติ ที่หนังค่อนข้างจะนำเสนออย่างให้เกียรติด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักมวยปล้ำชาวรัสเซีย (นาธาน โจนส์ แห่งหนัง ส้มตำ), นักมวยไทย (ที่รับบทโดย สมรักษ์ คำสิงห์) ที่ดูมีสติสตัง รู้แพ้รู้ชนะอยู่บ้าง
เช่นเดียวกับนักคาราเต้ "ทานากะ" (ชินโด นากามูระ) ที่ปกติต้องถูกยัดเยียดบทตัวโกงผู้โหดเหี้ยมให้ ก็ถูกนำเสนอในภาพของนักสู้ผู้องอาจ รักความยุติธรรมที่เดินทางมาเมืองจีนเพื่อเปรียบวิชากับยอดฝีมือ แม้จะต้องกลายเป็นเครื่องมือของบรรดานักการเมือง และนักธุรกิจผู้หิวเงินก็ตาม ก็ยังรักษาความสง่างามและเกียรติของตัวเองเอาไว้ด้วย
น่าสนใจเหมือนกันที่หนังที่ว่าด้วย "เฉินเจิน" มักจะวนเวียนอยู่กับการล้างแค้น และเกลียดชังชาวต่างชาติ แต่ผลงานที่พูดถึง "ฮั่วหยวนเจี๋ย" กลับพูดถึงเรื่องราวของการให้อภัย และให้เกียรติกัน
ในตอนจบของเรื่อง Fearless มีฉากที่ "ฮั่วหยวนเจี๋ย" ที่กำลังจะสิ้นลมลงด้วยฤทธิ์ของยาพิษ ได้บอกกับลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่คนดูเชื่อมั่นว่าเป็น "เฉินเจิน" แน่ ๆ ว่าไม่อย่าแก้แค้นให้กับความตายของอาจารย์อย่างเด็ดขาด ... แน่นอนว่าสุดท้าย "เฉินเจิน" ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ฮั่วหยวนเจี๋ย & เฉินเจิน ฉบับโทรทัศน์
นอกจากเรื่องราวของ "ฮั่วหยวนเจี๋ย" กับ "เฉินเจิน" ในจอภาพยนตร์แล้ว วีรกรรมของศิษย์อาจารย์คู่นี้ก็ยังถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ หรือหนังชุดออกฉายทางโทรทัศน์อยู่หลายครั้ง ผมเองไม่ได้ติดตามงานพวกนี้เท่าไหร่ แต่ก็ลองรวบรวมดูสำหรับคนที่สนใจครับ
The Legendary Fok (1981) ซีรีส์ของ RTV หรือที่รู้จักกันในบ้านเราภายใต้ชื่อ "นักชกผู้พิชิต" ที่มี หวังเหยินเซิง รับบทเป็น ฮั่วหยวนเจี๋ย, บรูซ เหลียง เป็น เฉินเจิน แล้วก็ยังมี หมีเซี๊ยะ ร่วมแสดงด้วย น่าจะเป็นงานอีกชิ้นที่ทำให้หลายคนรู้จักกับอาจารย์ฮั่ว
Fist of Fury (1995) ATV หยิบเอาเรื่องราวของ เฉินเจิน มาสร้างเป็นซีรีส์ฟอร์มใหญ่ ให้นักบู๊ที่ต้องบอกว่าดังแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในตอนนั้นอย่าง เจินจื่อตัน มาสวมบทบาทเป็น เฉินเจิน หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ดอนนี เพิ่งจะประสบความสำเร็จกับงานทางโทรทัศน์ ในซีรีส์ที่เขาแสดงเป็น "หงซีกวาน" ให้กับ ATV ไปหยก ๆ โดยเรื่องราวแต่งใหม่ซะเยอะโดยเฉพาะเรื่องราวในชีวิตของ เฉินเจิน ก่อนจะได้พบกับอาจารย์ แต่ก็ผูกเรื่องได้สนุกดี มีคิวบู๊ให้ดูกันเพียบ ซึ่งนอกจากบท เฉินเจิน แล้วตัวละคร ฮั่วหยวนเจี๋ย ที่แสดงโดยดารารุ่นใหญ่ เกาสง ก็ดูมีบารมี และเล่นได้สมบทบาทเช่นเดียวกัน
ซีรีส์เรื่องนี้ยังถูกนำไปตัดต่อใหม่เพื่อออกจำหน่ายในรูปแบบแผ่นดีวีดี ที่สหรัฐฯ จากความยาวหลายสิบชั่วโมง เหลือเป็นมินิซีรีส์ความยาวประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งฉบับตันต่อที่ว่านี่ก็สามารถหาชมได้ในเมืองไทยด้วย
เรื่องราวของ ฮั่วหยวนเจี๋ย ยังถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์อีกครั้งในปี 2001 คราวนี้มีดารากังฟูชื่อดังชาวจีนแผ่นดินใหญ่ จ้าวเหวินจั๋ว มาแสดงเป็นอาจารย์ฮั่ว หลังจากนั้นอีกไม่นานคือในปี 2008 จึงมีการหยิบเรื่องราวเดียวกันมาสร้างเป็นซีรีส์กันอีกรอบ ใช้ชื่อ The Legendary Fok แบบเดียวกับฉบับ "นักชกผู้พิชิต" เมื่อร่วม 30 ปีก่อน ตามชื่อเรียกอาจารย์ฮั่วในภาษากวางตุ้งที่ว่า Fok Yuen-gap มี เจิ้งอี้เจี้ยน กับ เฉินเสี่ยวชุน มาแสดงเป็น ฮั่วหยวนเจี๋ย กับ เฉินเจิน ที่ดูวัยไม่ต่างกันเท่าไหร่เลย นอกจากนั้นก็ยังมี Men & Legends ที่จับเอาอาจารย์ฮั่ว มาเจอกับอาจารย์หวง (เฟยหง) ด้วย
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |