Facebook : teelao1979@hotmail.com
อาถรรพ์อย่างหนึ่งซึ่งกล่าวขานกันในแวดวงคนทำหนังไทยว่าถ้าไปยุ่งกับมันเมื่อไหร่ เป็นอันได้เรื่อง หรือมีโอกาสเจ็บตัวสูง นั่นก็คือบัญญัติ 4 ประการ อันได้แก่ สัตว์ เด็ก เอฟเฟคต์ สลิง บัญญัติดังกล่าวดูเหมือนจะยังคงความอาถรรพ์อยู่ไม่เสื่อมคลายมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี ในวันที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปมากอย่างปัจจุบันนี้ หากจะเพิ่มคำว่า “ซีจี” หรือ “คอมพิวเตอร์กราฟฟิก” ลงไปอีกอัน ก็คงจะเหมาะสมกับยุคสมัยยิ่งขึ้น
ที่พูดเช่นนั้น ก็เพราะว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แวดวงหนังไทยเรา มีความพยายามที่จะไม่น้อยหน้าไปกว่าสากลโลกเขา เรามีหนังที่อาศัยเทคนิคทางด้านนี้ออกมาให้ดูอยู่เรื่อยๆ ทุกปี กระนั้นก็ดี ในความมาก เรากลับหาหนังแบบนี้ที่ประสบความสำเร็จได้ยากเหลือเกิน สิบเรื่องก็อาจจะมีที่พอใช้ได้สักเรื่องสองเรื่อง แน่นอนครับว่า นอกจากปัญหาเรื่องของเทคนิคที่ทำออกมาได้ยังไม่ “กิ๊ก” พอที่จะคลิกไลค์ให้ ส่วนของตัวเนื้อหาเรื่องราวหรือบทภาพยนตร์ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้หนังแบบนี้ไม่โดนใจคนดู
แต่ทั้งหมดนั้น ดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ สำหรับ “ยักษ์”
ในแง่บทภาพยนตร์ ต้องยอมรับว่า นี่เป็นหนังเรื่องหนึ่งซึ่งดูแล้วมีความลื่นไหลในแง่การดำเนินเรื่องมากที่สุด ตัวเรื่องมีความสมูธและพาเราไต่ไปตามเส้นเรื่องได้อย่างไม่รู้สึกว่ามันกระเด้งไปกระดอนมาหรือสะดุดตรงนั้นติดขัดตรงนี้ แบบที่เรามักจะเห็นในหนังไทยจำนวนมาก แน่นอนว่า เครดิตตรงนี้ส่วนหนึ่ง คงต้องยกให้กับผู้เขียนบทและกำกับร่วม อย่างประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายอะไรยืดยาวสำหรับคนคนนี้ว่าเป็นใครมาจากไหน
หนึ่งในบทบาทอันหลากหลาย ประภาส ชลศรานนท์ เป็นคนเขียนหนังสือ และที่สำคัญก็คือเขียนเรื่องสั้น คุณประภาสเป็นคนที่เขียนเรื่องสั้นให้อ่านได้เพลิดเพลิน มีอารมณ์ขันและสอดแทรกมุมมองแง่คิดลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นรวมเรื่องสั้นชุด “สุธี”
ด้วยทักษะที่มีมาแบบนี้ มันจึงเท่ากับเป็นต้นทุนที่ดีอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลต่อตัวบทภาพยนตร์อย่างยากจะปฏิเสธ เพราะภาพยนตร์ก็คือการเล่าเรื่องรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างไปจากการเขียนเรื่องสั้น ดังนั้น นอกจาก “ยักษ์” จะมีความสนุกสนานโดยพื้นฐานของการเป็นการ์ตูนแล้ว เนื้อเรื่องยังแฝงแง่มุมความคิด ซึ่งแม้เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด มันอาจจะเป็นแง่คิดที่เรียบง่ายธรรมดา จนฟังดูคล้ายบทเทศนาหรือนิทานสอนใจไปสักนิด แต่เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า ทาร์เก็ตเป้าหมายกลุ่มแรกๆ ของงานชิ้นนี้ คือเด็กๆ การจะทำให้เรื่องซับซ้อนหรือประเด็นต้องดูลุ่มลึกตีความมาก ก็คงยากที่เด็กจะเข้าถึง
ผมได้ยินได้ฟังมาว่า ก่อนจะสำเร็จเสร็จออกมาเป็นหนังอย่างที่เราเห็น ทางผู้สร้างมีการเลือกเฟ้นเด็กๆ หลายวัย ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงชั้นประถมมัธยม ไปชมหนังเรื่องนี้ในรอบพิเศษ เพื่อสังเกตปฏิกิริยาของคนดูวัยเยาว์ว่าสามารถเข้าถึง เข้าใจ หรือสนุกสนานไปกับเนื้อเรื่องได้หรือเปล่า นี่คือความละเอียดลออและใส่ใจของทีมผู้สร้าง
โดยส่วนตัวที่ตีตั๋วเข้าดูหนังไทยเป็นประจำ ผมพบว่า นี่เป็นหนึ่งในหนังไทยจำนวนน้อยนิดในรอบปีที่อุ่นหนาฝาคั่งด้วยจำนวนคนดูผู้ชมมากที่สุด ชนิดที่พูดได้ว่าเกือบจะเต็มโรง (รอบที่ผมดู) อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยครับ หนังไทยบางเรื่อง เบาโหวงโล่งว่างจากคนดูจนนึกว่ากำลังนั่งอยู่ในป่าช้าหรือเปล่า บางเรื่องบางรอบ มีคนดูแค่ 2-3 คน เรียกว่าจ่ายค่าไฟก็ไม่คุ้มแล้ว ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับหนังเรื่องยักษ์ที่มากมายด้วยผู้ชม ตั้งแต่เด็กๆ ไปจนถึงหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ มีครบทุกวัย และเท่าที่สังเกต ก็เห็นว่าแต่ละคนคงมีความสุขในการรับชมไปตามสมควร ผ่านเสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่สัมผัสได้แม้ตอนเดินออกจากโรง
มันนานเท่าไหร่แล้วล่ะครับที่เราจะมีหนังซึ่งกวาดต้อนคนดูได้ทุกวัยแบบนี้ และนานเท่าไหร่แล้วล่ะครับที่เราไม่มีหนังซึ่งทำให้คนดูมีความสุขกันอย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้ หนังไทยที่ผ่านๆ มา ถ้าไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มเฉพาะวัย ก็มักจะมีประเด็นโน่นนี่ให้เป็นที่ครหาหรือตำหนิติติงในด้านต่างๆ ทั้งความรุนแรง ขายเซ็กซ์ คำหยาบ หรืออะไรอื่นๆ แต่กับ “ยักษ์” แม้ชื่อจะฟังดูโหดร้าย แต่เนื้อหาภายใน กลับปลอดภัยและสดใสต่อความคิด
แน่นอนล่ะ เราคงจะละเลยความจริงข้อหนึ่งไปไม่ได้ว่า หลายๆ องค์ประกอบของ “ยักษ์” นั้น อาจจะไม่บริสุทธิ์เสียทีเดียว เพราะตัวผมเอง ยอมรับว่า ขณะที่ดูไป ก็ให้นึกถึงหนังเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป อย่างเช่น ลักษณะตัวการ์ตูนหลายตัวของเรื่อง ชวนให้นึกถึง Robot หรือแม้แต่ Wall-E อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ดูหนังไม่สนุกแต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกว่า ถ้าเราสามารถดีไซน์คาแรกเตอร์การ์ตูนให้มีเอกลักษณ์ได้มากกว่านี้ มันอาจจะดีกว่าที่เป็นอยู่ และพวกปากหอยปากปู ก็จะได้ไม่ต้องมานินทากัน ขณะที่ดนตรีประกอบ ก็เหมือนกับองค์ประกอบแทบทั้งหมดที่ปรากฏความเป็นสากลอย่างเด่นชัด ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้าพวกซาวด์อะไรต่างๆ สามารถแซมดนตรีไทยพวกระนาดฉิ่งฉาบเข้าไปด้วยในบางช่วงตอนได้ ก็อาจจะเพิ่มเสน่ห์สีสันอันเป็นเอกลักษณ์ได้ไม่น้อย
ด้วยตัวเรื่องที่บันดาลใจจากมหากาพย์รามายณะ “ยักษ์” ไม่ใช่งานดัดแปลงคล้ายกับหนังจำพวก “ทำมาจากหนังสือ” หรืออะไรทำนองนั้น แต่ “ยักษ์” ดูจะหยิบยืมเอามาเพียงคาแรกเตอร์ตัวละครจากมหากาพย์เรื่องดังกล่าวแล้วสร้างเรื่องราวใหม่ในแบบของตัวเอง ดังนั้น ใครที่เคร่งครัดในต้นฉบับหรือคิดว่าจะไปเก็บรับเรื่องราวมหากาพย์รามาณยะแบบดั้งเดิม คงต้องคิดใหม่ เพราะหนังสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่โดยการตั้งสมมติว่า นี่คือร่างอวตารที่หนึ่งล้านเอ็ดของทศกัณฐ์
โดยพื้นฐานคาแรกเตอร์ ทศกัณฐ์นั้นคือยักษ์ที่ดุร้ายใจหยาบ แต่เมื่อถูกปรับเข้ามาในหนังเรื่องนี้ ตัวตนของยักษ์ก็ดูจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง “ยักษ์” และ “หนุมาน” กลายเป็นหุ่นกระป๋องที่แม้จะต้องต่อสู้ประหัตประหารกันเหมือนสงครามทุกครั้งที่ผ่านมา แบบไม่มีใครแพ้ใครชนะ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดและเวลาผ่านไปอีกประมาณหนึ่งล้านวัน หุ่นกระป๋องทั้งสองก็ฟื้นขึ้นมาพร้อมกับโซ่ที่ผูกติดกันไว้ แต่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่ากับความทรงจำที่สูญหาย จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน ภารกิจของหุ่นกระป๋องความจำเสื่อมก็คือ เดินทางตามหาเครื่องมือในการตัดโซ่ (ซึ่งของมีคมหรือไม่มีคมแบบไหนก็ดูเหมือนจะตัดไม่ขาด) และค้นหาตอบเกี่ยวกับตัวตนของตนเองว่าแท้จริงแล้ว เป็นใคร และมาทำอะไรบนโลกใบนี้
หนังผูกเรื่องในลักษณะโร้ดมูฟวี่อยู่กลายๆ คืออาศัยการเดินทางค้นหาของตัวละครและเล่นกับสถานการณ์ระหว่างทางได้อย่างสนุกสนาน ขณะที่ความแตกต่างระหว่างสองตัวละครหลัก-ยักษ์ที่โหดร้ายกลายเป็นยักษ์ที่เอ๋อๆ งงๆ และอ่อนปวกเปียกทั้งที่ตัวใหญ่โต กับหนุมานตัวเล็กจิ๋ว ดูมีความคิดแต่ค่อนข้างเอาแต่ใจ-ก็เอื้อต่อการทำให้หนังสร้างความตลกขบขันได้ตลอดการเดินทาง
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ก็เพื่อนำพาคนดูไปสู่ประเด็นทางความคิดอันว่าด้วยมิตรภาพ พร้อมกับตั้งคำถามได้อย่างน่าคิดว่า คนเราจะเป็นมิตรกันได้ไหม หลังจากเป็นศัตรูกันมาเนิ่นนาน ขณะเดียวกัน การตอกย้ำถึงความสำคัญของคำว่า “หน้าที่” ก็น่าจะดีต่อทุกๆ คน ไม่เฉพาะแค่เด็ก หากแต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย
อันที่จริง เพียงแค่สองประเด็นนั้นก็นับว่าเพียงพอแล้วสำหรับภารกิจของหนังแอนิเมชั่นเป้าหมายเด็กเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับคนที่อยากจะคิดให้ลึกตรึกให้ซับซ้อน ผมว่าหนังเรื่องนี้ก็ซ่อนนัยยะบางอย่างได้แบบน่าคิด เอาเป็นว่าคุณลองใช้ “สายตาทางการเมือง” จับหนังเรื่องนี้ บางที คุณอาจจะพบว่า การที่หนังเล่นกับ “สี” ของตัวละคร ไล่ตั้งแต่ชื่อยักษ์อย่าง “น้าเขียว” หรือแม้แต่หนุมานที่ชื่อ “เผือก” หรือแม้แต่การให้ตัวร้ายอย่างกุมภกรรณ ก็ยังมีตัวสีแดง (แถมสะสมคลังอาวุธรอคอยการกลับมาของ “นายใหญ่” !!) ก็ดูเหมือนจะมีความในใจอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลังการใช้สีแบบนี้
แน่ล่ะว่า การเล่นกับสี อาจทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงของเด็กๆ แต่องค์ประกอบด้านเนื้อหาและประเด็นที่หนังถ่ายทอด ทั้งการสู้รบ ความขัดแย้ง การเป็นศัตรู และความเป็นมิตร ก็ทำให้อดคิดไม่ได้บ้างล่ะครับ นั่นยังไม่ต้องพูดถึง “ระบบคอมพิวเตอร์” ที่ดูเหมือนจะมีพลังโยงใยอยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด ก็ชวนให้คิดถึงขุมข่ายอำนาจที่แฝงตัวอยู่ในมุมมืด อย่างไรก็ตาม นี่ผมถือว่าเป็นความแนบเนียนแยบยลของคนเขียนบทที่สามารถทำให้คนดูรู้สึกถึงเนื้อหาแฝงได้ จะว่าไป นี่เป็นเทคนิคแบบที่เรามักจะเห็นในเรื่องสั้น (ที่คุณประภาสก็เคยเขียนอยู่) ซึ่งอาศัยชั้นเชิงในการสะท้อนถึงบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ต้องเอ่ยออกมาตรงๆ อย่างโจ่งแจ้ง หากแต่ใช้สัญลักษณ์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแทน และ “สี” ในหนังเรื่องนี้ ก็คล้ายกับสัญลักษณ์ที่ว่านั้นในเรื่องสั้นวรรณกรรม
แต่เอาเถอะ ต่อให้ไม่ลากเข้าหาการเมือง หนังเรื่องนี้ก็ยังมีประเด็นที่เด่นชัด และถ่ายทอดออกมาได้อย่างที่ใจต้องการ ผมไม่อยากจะใช้วาทกรรมแบบ “ไปสนับสนุนหนังไทยกันเถอะ ฝีมือคนไทยทำ ไม่น้อยหน้าต่างชาติ” เพราะพูดแบบนั้น ก็เท่ากับเรายังเป็นทาสต่างชาติเขาอยู่ เพราะให้เขาเป็นใหญ่ เป็นเจ้าแห่งมาตรฐาน
แต่ผมจะแนะนำง่ายๆ แค่ว่า “ยักษ์” เป็นหนังที่ดูสนุก และมีสาระ ครับ!!