xs
xsm
sm
md
lg

เห็น ‘ใจ’ เสี่ยเจียง

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องมีราวให้เป็นข่าวได้ไม่รู้จบ สำหรับภาพยนตร์อีโรติกของหม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล เรื่อง “จัน ดารา” ที่แม้จะมีถึงสองภาค คือปฐมบทกับปัจฉิมบท แต่ลำพังแค่ภาคปฐมบทก็ซด “ก้อนอิฐ” แห่งกระแสสังคมไปจนน่วมอ่วมอรทัย ซึ่งถึงตอนนี้ มันก็เป็นอย่างที่ผมเคยพูดไว้ในรายการวิวไฟน์เดอร์ทางช่องซูเปอร์บันเทิงว่า งานชิ้นนี้ของหม่อมน้อย จะไม่ใช่แค่เพียง “ปฐมบท” แห่งเรื่องราวของ “ไอ้จัน” ผู้ที่คุณหลวงสรรเสริญด้วยสร้อยห้อยท้ายเป็น “ไอ้จัญไร” เท่านั้น หากแต่มันยังจะเป็น “ปฐมเหตุ” ที่ทำให้คนหันมาครุ่นคำนึงถึงเรื่องของการจัดเรตติ้งกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งด้วย

ล่าสุด ทางค่ายสหมงคลฟิล์ม ในฐานะผู้ผลิต อันนำโดยเสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ได้จัดเทียบเชิญชุมนุมบรรดาจอมยุทธในวงการ เข้าเสวนาหารือเกี่ยวกับความเข้าอกเข้าใจในระบบการจัดเรตติ้ง ซึ่งประเด็นใหญ่มุ่งไปที่ตัวบทกฎหมายและเงื่อนไขปัจจัยว่าเพราะอะไร หนังเรื่องหนึ่งจึงได้รับเรตนั้นๆ โดยใช้ “จัน ดารา” ของหม่อมน้อยเป็นตัวอย่างกรณีศึกษา

ว่ากันโดยตัวบทกฎหมาย ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า จัน ดารา นั้น จัดอยู่ในกลุ่มเรต 18+ เหมาะสมสำหรับบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ต้องแปลกใจ หากคุณจะเห็นวัยรุ่นชายหัวเกรียนหรือเด็กสาวในวัยแรกแย้มตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะเรต 18+ คือเรตแนะนำ ไม่ใช่เรตห้าม เหมือนกับเรต ฉ20- ซึ่งผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะซื้อบัตรผ่านประตูเข้าไปดูหนังได้ และต้องมีการตรวจบัตรประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้...หมายถึง จัน ดารา ก็มาตามตรอกออกตามประตู โดยไม่ขัดต่อตัวบทกฎหมาย...มันจึงเป็นเรื่องชวนขัดเคืองใจสำหรับเจ้าของหนัง ไล่ตั้งแต่ผู้กำกับอย่างหม่อมน้อย ไปจนถึงเจ้าของค่ายอย่างเสี่ยเจียง ที่จะต้องมีปฏิกิริยาออกมาบ้าง เมื่อทางกระทรวงวัฒนธรรมมีคำสั่งให้โรงหนังคุมเข้มเกี่ยวกับการเข้าชมหนังเรื่องนี้

เพื่อความชัดเจน ผมขออนุญาตย้อนหยิบเอาข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้อ่านกันสักเล็กน้อย
“เมื่อวันที่ 18 กันยายน นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า หลังจากเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชนร้องเรียนมาว่าภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหารุนแรงโดยเฉพาะเรื่องเพศ จึงอยากให้เข้มงวดอายุของผู้เข้าชมนั้น ตนได้ลงนามคำสั่งมอบหมายให้นางปริศนา พงศ์ทัดศิริกุล อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) แจ้งไปยังผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้เข้มงวดเรื่องอายุของผู้เข้าชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว โดยต้องตรวจบัตรประชาชนทุกครั้ง ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าชมโดยเด็ดขาด

“ส่วนในต่างจังหวัดให้อธิบดี สวธ.จะประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะนายทะเบียน แจ้งโรงภาพยนตร์ให้เข้มงวดโดยให้ยึดมาตรการเหมือนกับส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ได้กำชับไปว่าหากพบโรงภาพยนตร์ฝ่าฝืนหรือละเลย ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดและให้อำนาจได้ทันที”


ในเนื้อความของข่าวนี้ ผมคิดว่ามันมีประเด็นที่ซ้อนแฝงอยู่อย่างน้อย 2-3 หัวข้อซึ่งผมจะไล่เลียงไปเป็นลำดับ

หนึ่ง ก็คือเรื่องของการสั่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชมหนังเรื่องนี้ ดูจะเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าแต่อย่างใด (อ่านให้จบ อย่าเพิ่งคิดว่าผมสนับสนุนให้น้องๆ ที่หัวนมเพิ่งแตกพานเข้าไปดูงานชิ้นนี้) เพราะก็อย่างที่เราเข้าใจว่า หนังเรื่องนี้มาในวิถีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ด้วยเรต 18+ การไปสั่งห้าม ใช่หรือไม่ว่า ก็เท่ากับเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายด้วยเช่นกัน? เจ้าของหนังหรือโรงหนังสามารถฟ้องกลับผู้ออกคำสั่ง ได้หรือไม่?

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากกว่าการสนับสนุนให้หม่อมน้อยไปฟ้องผู้ออกคำสั่ง ก็คือ เรื่องเรตติ้ง การใช้ และความเหมาะสม โดยผมจะลองพยายามเทียบเคียงกับหลักการใช้สอยเรตติ้งอย่างของอเมริกาซึ่งเขาจะมีเรตที่สูงๆ อยู่สองเรต คือ R (Restricted) กับ NC17

เรต NC17 นั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะแสดงไว้ชัดเจนว่า ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมโดยเด็ดขาด แต่ประเด็นมันอยู่ที่เรต R ซึ่งกำหนดไว้ว่า ไม่เหมาะสมสำหรับบุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปี นั่นหมายความว่า เด็กอายุต่ำกว่า 17 ก็เข้าชมได้ เพียงแต่คุณต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าไปดูด้วย ห้ามเข้าชมเพียงลำพัง เขาใช้คำว่า Parents Accompanying (ต้องมีพ่อแม่ไปดูด้วย) ในถ้อยคำกำหนดเรตชัดเจน นั่นก็คือ “ถ้าจะดู หนูไปพาพ่อแม่ผู้ปกครองมาด้วยนะ” นัยว่า เพื่อประโยชน์ในด้านการชี้แนะ

แล้วมันเกี่ยวกับบ้านเราตรงไหน?
ในความคิดของผม และจากการสอบถามไปยังผู้รู้บางท่าน บอกว่า ถ้าจะพูดกันจริงๆ เรต 18+ บ้านเราก็ใกล้เคียงกับเรต R บ้านเขานั่นแหละครับ ซึ่งตามหลักตัวบทกฎหมาย ก็เขียนไว้ว่าเป็นหนังที่นำเสนอเรื่องราวทางเพศ แสดงการมีเพศสัมพันธ์ (เปลือยโป๊ได้มากน้อยแค่ไหน ดูตามความเหมาะสม) และมีภาพการอาชญากรรมรุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้จะเทียบเท่าหรือคล้ายคลึงกันในเชิงบริบท แต่ข้อกำหนดในคำชี้แนะของเราแตกต่างจากของเขา เพราะในขณะที่เรต R ของฝรั่ง เขาบอกไว้ชัดเจนว่า ถ้าเยาวชนจะดู ก็ต้องมีผู้ปกครองเข้าไปด้วย แต่ในเรต 18+ ของเรา ไม่มีอะไรอย่างนั้นเลย ทั้งที่ว่ากันตามจริง สังคมแบบเราต้องการอะไรแบบนั้นมากกว่าทางเมืองนอกเขาด้วยซ้ำ

เพราะอะไร? ก็เพราะเมื่อพูดอย่างถึงที่สุด ผู้คนของเขาดูจะมีสำนึกกลัวอยู่ลึกๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเห็นหนังเรต R ของหนัง พ่อแม่เห็นก็ไม่อยากพาลูกไปดู และลูกๆ วัยรุ่นเองก็จะไม่อยากไปดู ต่างจากบ้านเราที่ดูเหมือนว่าพอเห็นหนังเรตสูงๆ อย่าง 18+ ก็กระดี๊กระด๊าวิ่งเข้าหาใส่ เพราะมั่นใจว่าโป๊แน่ๆ!! พ่อแม่ผู้ปกครองก็นั่งเคี้ยวหมากด่าหนังอยู่หลังบ้าน ลูกๆ หลานๆ ก็ไปโรงหนังกันเอง และยิ่งในยุคที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าโรงหนังอย่างทุกวันนี้ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่

ถ้าไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป แต่ตั้งใจที่จะทำให้ระบบมันมีมาตรฐานแบบที่ชาวโลกเขาเป็นกัน มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า หนังที่ได้เรต 18+ บ้านเรา ถ้าเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ต้องการจะเข้าไปชมจริงๆ ก็จะต้องมีผู้ปกครองหรือพ่อแม่เข้าไปดูด้วย? ก็เหมือนเรตติ้งทางทีวีที่บอกว่ารายการนั้นรายการนี้ ละครเรื่องนั้นเรื่องนี้ เหมาะสมกับผู้มีอายุเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเรตเยอะๆ หน่อย ก็ต้องมีผู้ปกครองนั่งดูด้วย (แม้ว่าในความเป็นจริง พ่อแม่ทุกคนไม่มีทางนั่งเฝ้าลูกได้ทุกนาทีหน้าจอทีวีหรอก)

อันดับต่อมา...ความชัดเจนของพิจารณาเพื่อให้เรตติ้ง...ใช่หรือไม่ว่า ข่าวดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของผู้ให้เรตติ้งด้วยส่วนหนึ่ง เพราะถ้าพูดกันจริงๆ กว่าจะให้เรตติ้งมาได้ มันต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองด้วยดุลพินิจและหลักการเหตุผลอย่างเพียงพอแล้วถึงให้ได้ แต่สุดท้าย เมื่อกระแสสังคมถล่มใส่ กลับ “กลับลำ” และสั่งห้ามตามที่เป็นข่าว ผู้เสียหาย นอกจากจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่หวั่นใจ-เสียใจ เมื่อเห็นลูกหลานของตัวเองเข้าไปดูหนัง (ที่เชื่อกันว่าลามกอนาจาร) เรื่องนี้แล้ว ทางฝ่ายค่ายหนังก็น่าจะเสียหายไม่น้อยไปกว่ากัน อย่างน้อยที่สุด การออกมาแสดงความเคลื่อนไหวของหัวหน้าค่ายสหมงคลฯ อย่างเสี่ยเจียง ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สบายใจต่อเรตติ้งที่ไม่นิ่งและส่ายไปส่ายมา

ประเด็นก็คือ ถ้ามีความชัดเจนแต่แรก และ “จัน ดารา” ไม่ต้องผ่านออกมาในเรตติ้ง 18+ แต่ได้ “ฉ20+” ไปเลย (ฉ20+ อายุ 20 ปีขึ้นไป ดูได้ และต้องตรวจบัตรประชาชน) ปัญหาแบบนี้ก็อาจจะไม่เกิด แน่นอน เราคงมิอาจตัดความสงสัยเกี่ยวกับคำครหาที่ใครหลายคนออกความเห็นว่า สาเหตุที่จัน ดารา ไม่ควรจะได้เรต 18+ แต่ควรให้ ฉ20+ เป็นเพราะมีการเล่นเล่ห์สนกลใน ใช้กำลังภายในที่มองไม่เห็น ถึงขั้นที่มีการกล่าวกันว่า มันมี “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเรตติ้ง” สิงซ่อนอยู่ ทำให้หนังได้เรตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะถ้าเทียบกันแล้ว จัน ดารา ควรได้ ฉ20+ เหมือนกับผู้หญิงห้าบาป ภาค 2 แต่มันมีการใช้พลังลึกลับบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการได้เรต ฉ20+ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับตัดรายได้ของตัวเอง แน่นอนครับว่า เป้านิ่งที่ลูกศรแห่งคำครหานี้ชี้ไป ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นหม่อมน้อยรวมไปจนถึงเสี่ยเจียง

โดยส่วนตัว ผมมองว่า ถ้อยคำดังกล่าวนั้นดูเลื่อนลอยเกินไป และทำร้ายน้ำใจทั้งสองคนมากเกินไป

ว่าที่จริง หม่อมน้อยนั้นถือเป็นคนทำหนังจำนวนกระจิริดในตลาดหนังบ้านเราที่ส่วนใหญ่เน้นไปที่หนังตลกผีกะเทยเน้นความบันเทิง แต่หม่อมน้อยยังผลิตหนังซึ่งมีเนื้อหาซีเรียสจริงจังและยังพอขายได้อยู่ แต่ก็อย่างที่เราจะเห็น ถ้าเพียงแต่หม่อมน้อยจะเพลาๆ มือเกี่ยวกับเรื่องโป๊เปลือยลงไปบ้างก็น่าจะดีกว่านี้ เพราะพูดก็พูดเถอะ คุณค่าของงานวรรณกรรมที่หม่อมน้อยหยิบมาทำเป็นหนังนั้น มันมีอะไรให้คิดมากไปกว่าเรื่องความโป๊ แน่นอน มันอาจจำเป็นต้องมีบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดทำให้คนดูรู้สึกว่า “จงใจขายเซ็กซ์” โจ่งแจ้งมากเกินไป (ภาพของหนังมันเสียหายตั้งแต่เริ่มโปรโมทแล้วล่ะ) แล้วที่สำคัญ ถ้า “ลีลาเซ็กซ์” มันสำคัญถึงขนาดสร้างจุดพลิกผันให้กับตัวละครหรือเรื่องราวอย่างหนังของอั้งลี่ “Lust, Caution ขนาดนั้น จะใส่เข้ามาก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่หม่อมน้อยทำอยู่ตอนนี้ ในความรู้สึกของผู้ชม มันเหมือนเปิดนิทรรศการวาบหวิวซะมากกว่า

ทางด้านของเสี่ยเจียง ในบางมุมมอง ผมเห็นว่าเสี่ยเจียงคือเสาหลักแห่งวงการหนังที่ใจกว้างและใจกล้าอย่างหาตัวจับได้ยาก แต่ละปี เสี่ยจะมีหนังหลากหลายแนวให้เราได้ดูได้ชมกัน ไม่จำเป็นว่าต้องดีเด่นอะไรนัก แต่มีหนังหลายเกรดให้คนดูหลายระดับได้เพลิดเพลินเจริญใจไปตามพื้นฐานของแต่ละคน และที่สำคัญ เสี่ยเจียงเป็นคนให้โอกาสคน ผู้กำกับหนังคนแล้วคนเล่าก็มาสานฝันที่ค่ายของเสี่ย และเสี่ยก็ไม่เคยเข็ดหลาบ แม้ว่าผู้กำกับคนนั้นจะเผาเงินเสี่ยไปเพียงใด พอมีผู้กำกับหน้าใหม่ๆ มาอีก เสี่ยก็ยินดีที่จะออก “ใบสูติบัตร” ให้ แจ้งเกิดเป็นประชากรในทะเบียนสำมะโนครัวแห่งชายคาสหมงคลฯ (ผู้กำกับบางคนเสี่ยออกใบสูติบัตรให้แล้ว ก็ทำใบมรณบัตรด้วยตัวเองไปซะอย่างงั้น)

แน่นอน ในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ป้อนคนดู ผมเชื่อว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่เสี่ยเจียง หากแต่รวมถึงทุกคนในวงการ ก็น่าจะมีสำนึกพื้นฐาน วิจารณญาณ และความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมกันอยู่แล้วโดยไม่ต้องมาเทศนาอะไรกันในบรรทัดนี้ เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นใครก็คงอยากได้ แต่ถ้ามันแลกมาด้วยความไม่ใส่ใจในผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคมเลย เงินเหล่านั้นก็เป็นเงินบาปใช่หรือไม่ และแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงนี้ เราคงไม่อาจโยนบาปให้กับใครคนหนึ่งคนใดโดยตรง หากแต่ถ้ามองในภาพกว้างๆ ใช่หรือไม่ว่า ระบบเรตติ้งของบ้านเรายังมีข้อที่ต้องพิจารณา

ก็จริง มันไม่ผิดหลักที่ว่า หนังเรต 18+ คือหนังที่นำเสนอเนื้อหาทางเพศ แสดงการมีเพศสัมพันธ์ หรืออาชญากรรมที่รุนแรงได้ มันไม่ผิด แต่ใช่หรือไม่ว่า ในขณะที่เราพยายามจะกำหนดกฎเกณฑ์หรือจัดเรตติ้งให้กับหนังเรื่องต่างๆ ในอีกด้านหนึ่ง เรากำลังหลงลืมที่จะจัดเรตติ้งให้กับ “ระบบการจัดเรตติ้ง” เพื่อความเหมาะสมกับเมืองไทยเราด้วย

ผมอาจจะเสี่ยงถูกตำหนิว่าจะพาประเทศถอยหลังลงคลองหรืออย่างไร แต่นั่นไม่สำคัญ และผมก็คงไม่มีพลังพอที่จะไปลากใครให้ถอยหลังได้ขนาดนั้น เพราะผมก็จะตั้งคำถามเหมือนที่เคยตั้งไว้ในบทความชิ้นก่อนๆ ว่า บางที ปัญหามันอยู่ที่การจัดเรตแบบ “ลอกเขามาวาง” หรือก็อปปี้เพสต์ ใช่หรือเปล่า และไอ้การลอกเขามาวางนี่ ก็เหมือนจะลอกเฉพาะส่วนที่ง่ายๆ ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ละเลยส่วนที่ควรเป็นความเข้มงวดและบังคับใช้ สิ่งนี้มันทำให้ระบบโดยรวมอ่อนแอ

ก็คงคล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญที่เราก็อปปี้เพสต์มาก่อนหน้า และสร้างปัญหาไม่รู้จบ เพราะเราไม่เคยคำนึงถึงพื้นฐานทางสังคมของตัวเราเองเลย เราไม่เคยคำนึงถึงความอ่อนไหวและเปราะบางอันเป็นลักษณะเฉพาะของผู้คนในสังคมเราเองเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะผ่านไปอีกกี่ปี หรือมีรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ มันก็จะยังคงเป็นปัญหาต่อไปไม่จบสิ้น แต่เอาล่ะ อย่างน้อยมันก็มีความพยายามที่จะปรับรัฐธรรมนูญให้ “เข้าที่เข้าทาง” แม้การปรับหลายๆ ครั้ง มันจะไม่ “เข้าท่า” เอาซะเลยก็ตามที

เมื่อมองเช่นนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ยังยืดได้หดได้ แล้วสำมะหาอันใดกับกฎหมายระดับเบๆ อย่างการจัดเรตติ้ง สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่า บรรดาผู้ทำมาหารับประทานในวงการนี้จะยังคงทำมาหากินจากความอ่อนแอของระบบนี้ โดยไม่รู้สึกรู้สาอันใด หรือเปล่า?


กำลังโหลดความคิดเห็น