xs
xsm
sm
md
lg

บอก-เล่า-9-ศพ : พหุโฆษะของหนังผี

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมหนังใหญ่ที่รวมเอาหนังสั้นหลายเรื่องมาแพ็กขายพร้อมกัน จะยังถูกสืบทอดเป็นสายธารไม่รู้จบ ทั้งที่ว่ากันตามจริง หนังที่ทำแบบนี้ นอกจาก 4 แพร่ง 5 แพร่ง แล้ว ที่เหลือนอกจากนั้นก็ดูจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก กระนั้นก็ดี ก็ยังไม่วายที่จะมีหนังแบบนี้ออกมาให้ดูอยู่เรื่อยๆ

ผมคิดว่า ปัญหาของหนังยาวแบ่งเป็นตอนสั้นๆ ลักษณะนี้ มันอยู่ที่ทำให้ดีได้ยาก จะว่าไปก็เหมือนวรรณกรรมนิยายกับเรื่องสั้น เรื่องสั้นนั้นเขียนยากกว่า เพราะต้องว่าให้จบครบถ้วนกระบวนความและได้อรรถรสภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่และความยาว ส่วนนิยายนั้นไหลเรื่อยได้ไม่จำกัด ตราบเท่าที่ยังสามารถคุมโครงสร้างเรื่องราวไว้ได้อยู่

หนังสั้นที่เอามารวมฉายพร้อมกันส่วนใหญ่ ยัง “ทำไม่ถึง” แบบที่จะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนดู อีกอย่าง การรวมเรื่องสั้นๆ ไว้ในหนังยาวเรื่องเดียวกัน คุณภาพก็ไม่ควรจะดีหรือด้อยต่างกันมาก ไม่ใช่ว่าเรื่องหนึ่งดี น่าพอใจ แต่อีกเรื่องใช้ไม่ได้เลย งานแบบนี้ชวนให้นึกถึงการทำเพลงยุคอัลบัม (ที่ไม่ใช่ค่อยๆ ปล่อยซิงเกิ้ลดาวน์โหลดแบบทุกวันนี้) ซึ่งในหนึ่งอัลบัม ส่วนใหญ่จะมีเพลงที่ฟังได้ไม่กี่เพลง หรือกระทั่งดีเพลงเดียวคือเพลงขาย นอกนั้น “เพลงแถม” แบบ “ฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ไม่เป็นไร” พอให้มันเต็มชุด

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หนังเรื่องใหม่อย่าง “บอก-เล่า-9-ศพ” ที่แม้จะเจริญรอยตามวัฒนธรรม “รวมหนังสั้น” มาติดๆ แต่ก็ยังมีจุดแปลกที่แตกต่างไปจากรวมหนังสั้นที่ผ่านมา เพราะถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยไอเดียแบบเดียวกันและมีหนังสั้นรวมอยู่ในนี้ถึงเก้าเรื่อง แต่ทุกๆ เรื่องก็มีความเกี่ยวเนื่องผูกร้อยเข้าด้วยกัน โดยมีจุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ความตายของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นต้นทางของการตายอีกเก้าศพอันเป็นที่มาของชื่อหนัง

เปรียบไป “บอก-เล่า-9-ศพ” ก็เหมือนนิยายหนึ่งเรื่อง หนังสั้นเก้าเรื่อง ก็เหมือนตอนแต่ละตอนของนิยายซึ่งเป็นการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่แตกต่างทั้งเก้าคน แต่ละคนจะมีความข้องเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ตาย ในทางใดทางหนึ่ง แตกต่างกันไป ผมถือว่า นี่คือไอเดียที่ดีนะครับ เพราะทำให้รู้สึกเหมือนอ่านนิยาย (นิยายที่เจ๋งๆ แนวนี้ที่อยากแนะนำก็คือ My Name Is Red นิยายรางวัลโนเบลของออร์ฮาน ปามุก ที่ให้ตัวละครอันหลากหลายลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวในมุมของตัวเอง แม้กระทั่งสุนัขหรือต้นไม้ก็ยังได้รับโอกาสในการเล่าเรื่องได้)

ผลประโยชน์อย่างแน่นอนของวิธีการแบบนี้ ก็คล้ายๆ กับเราฟังออเคสตร้าที่ประกอบด้วยดนตรีหลากหลายชิ้น หลายเสียง ส่งให้เพลงโดยรวมมีความอลังการเป็นพหุโฆษะ เสียงจะก้องกระหึ่ม

ในทำนองเดียวกัน เรื่องหนึ่งเรื่องของหนัง (ซึ่งก็คือความตายของหญิงสาว) ถ้าทำได้ถึง ก็คงจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็น่าเสียดายเหลือเกินที่แม้ไอเดียจะดี แต่กระบวนการหรือขั้นตอนรายละเอียดของหนัง กลับไม่นำพาให้รู้สึก “ก้องกังวาน” แบบนั้นเลย

บอก-เล่า-9-ศพ ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นๆ เก้าเรื่อง ทว่าแต่ละเรื่อง กลับดีด้อยต่างกันไป ถ้าเป็นออเคสตร้าก็ต้องบอกว่า ดนตรีแต่ละชิ้น เล่นยังไม่เข้ากันเพียงพอจะส่งเสริมความไพเราะได้ ผมอยากจะอุปมาหนังเรื่องนี้ว่าเหมือนพวงมาลัยหนึ่งพวง ซึ่งอันที่จริง มันควรจะประกอบด้วยดอกไม้ที่งดงามไม่มากไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน ความสวยงามจึงจะบังเกิด

แต่ “บอก-เล่า-9-ศพ” เหมือนพวงมาลัยที่เอาดอกอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้มาร้อยเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์มันก็เลยกลายเป็น “พวงมาลัยประหลาด” ที่ดูไม่สวยงามกลมกลืน นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า มันมีอย่างน้อยดอกสองดอกที่เหมือนส่วนเกินของพวงมาลัยพวงนี้อย่างเห็นได้ชัด อย่างตอนสุดท้าย “หมาแก่” ผมไม่แน่ใจว่าหนังจะใส่เข้ามาเพื่อส่งเสริมตัวเนื้อหาอย่างไร พูดว่า ไม่ใส่เข้ามาเลย จะดีกว่ามาก เพราะทำให้ตอนจบดูงงๆ ไปเลยว่ามันสรุปเรื่องราวที่เล่ามาตลอดทั้งเรื่องอย่างไร หรือแม้กระทั่งตอนแรกอย่าง “หนุ่มกลัดมัน” ก็เถอะ มันไม่ได้มีผลอะไรกับตัวเรื่องโดยรวมเลยแม้แต่น้อย

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องของเหตุและผลที่ยังดูขาดความน่าเชื่อถือในหลายจุด เช่น การฆ่าตัวตายของหญิงสาวก็ดูน่าสงสัยแล้ว แน่นอน บางคนอาจจะบอกว่าหญิงสาวอย่าง “วิภาวี” มีภาวะของคนโรคประสาท แต่ก็ไม่น่าจะรีบตัดสินใจอะไรแบบนั้นอย่างทันท่วงทีหรือเปล่าครับ แค่คุยโทรศัพท์ไม่กี่คำ ก็ “หลุด” เลย มันง่ายเกินไปหรือเปล่า หรือแม้แต่เด็กหนุ่มกลัดมันรวมไปจนถึงหนุ่มนักเขียนการ์ตูน ก็ไม่รู้ว่าผีจะฆ่าทำไม เพราะไม่เห็นจะไปทำความเดือดร้อนอะไรให้เลย อย่างนี้หรือเปล่า เขาถึงพูดว่าผีไม่มีเหตุผล

ทีนี้ มองในแง่ความเป็นหนังผี สิ่งที่เราคาดหวังก็คงไม่ใช่อะไรอื่น ถ้าไม่ใช่ความหลอนหรือน่ากลัว สิ่งสุดยอดที่หนังเรื่องนี้ทำได้ก็คือ เจริญรอยตามหนังผีรุ่นพี่ที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะจังหวะการปล่อยผีและซาวด์เอฟเฟคต์กระแทกหูผู้ชม เรียกว่าเดาได้หมด อย่างไรก็ดี ในความพื้นๆ ที่ว่านั้น ถ้ามันจะมีบางเรื่องบางตอนที่ผมรู้สึกว่าหนังทำได้ดี นั่นก็คือ ตอน “เจ้าบ่าว” ความดีของหนังตอนนี้อาจจะยกยอดให้เป็นเรื่องของ “คติความเชื่อ” ที่ชวนให้หลอนอยู่แล้วโดยปกติ (คนแต่งงานกับผี) กระนั้นก็ดี การนำเสนอเรื่องราวด้วยลีลาบรรยากาศน่าสะพรึง ก็เป็นสิ่งที่ตอน “เจ้าบ่าว” ทำออกมาได้ดี

หนังผีที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่สามารถขับเน้นบรรยากาศให้ดูตึงเครียดกดดัน คนดูจะรู้สึกเหมือนตัวเองตกอยู่ในวงล้อมของสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งพร้อมจะโผล่มาตอนไหนก็ได้ แต่ถ้าทำให้เราเดาได้เมื่อไหร่ อารมณ์ความน่ากลัวก็สิ้นสุดลงเมื่อนั้น

อันที่จริง หนังพยายามจะมีสองอารมณ์คือความหลอนกับความรักความซึ้ง แต่สุดท้าย หนังไปไม่สุดสักทาง ผมดูหน้าหนังแล้วคิดว่าน่าสนใจนะครับ แต่พอเอาเข้าจริง กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อะไรนักจากหนังเรื่องนี้ หนังขาดความรัดกุมชัดเจนในการเน้นประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จะได้ความหลอนความน่ากลัวหรือก็ไม่ใช่ จะได้ประเด็นเกี่ยวกับความรักความผูกพันหรือกระทั่งความอาฆาตแค้นก็ไม่ใช่อีก

ถ้าจะให้ชม ก็คงต้องบอกว่า นี่คือหนังที่แม้จะเจริญรอยตามวัฒนธรรมรวมหนังสั้น แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะ “แหวกทาง” หาความแตกต่างให้กับตัวเอง และแน่นอน ถ้าทำได้มากกว่านี้ เราก็อาจจะมีหนังผีที่ดีๆ อีกเรื่องหนึ่ง แต่ ณ จุดนี้ ยังไม่ใช่...ก็เท่านั้นเองครับ








กำลังโหลดความคิดเห็น