ออกตัวแรงตั้งแต่ชื่อเรื่อง ไม่ว่าจะในภาษาอังกฤษที่ชวนให้คิดตามตัวอักษร ถึง “ความบริสุทธิ์ทางเพศ” หรือแม้กระทั่งชื่อภาษาไทย อย่าง “รักแรกกระแทกจิ้น” ก็ชวนให้ “จิ้น” หรือจินตนาการไปล่วงหน้าถึงความเกี่ยวพันกับเรื่องราว “ใต้ร่มผ้า” เป็นแน่ แต่แท้จริงแล้ว นั่นเป็นเพียง “ประตูทางเข้า” ที่ใช้ถ้อยคำยั่วเย้ากระตุ้นความอยากให้คนสนใจ เพราะเนื้อหาข้างใน นี่คือหนังที่ “พยายาม” บอกเล่าเรื่องราวความรักหลากมิติอารมณ์และช่วงวัย
เวอร์จิ้น แอม ไอ หรือ “รักแรกกระแทกจิ้น” เป็นผลงานการกำกับของ “อนุชิต มวลพรหม” ซึ่งเคยทำหนังสั้นหนึ่งตอน (เป็นแม่ เป็นเมีย) ในเรื่อง “รักจัดหนัก” ที่พูดเรื่องรักและเรื่องเพศคละเคล้ากันไป มาถึงเวอร์จิ้น แอม ไอ น้ำหนักเนื้อหายังคงไม่แตกต่างไปจากเดิมเท่าไรนัก แต่เขาเน้นเรื่องรักเป็นโจทย์ใหญ่
หนังประกอบไปด้วยเรื่องของตัวละคร 3-4 กลุ่ม ซึ่งเล่าสลับไขว้กันไปมา บรรยากาศทิศทางนั้นก็เหมือนๆ กับ Love Actually อีกแล้ว ก็น่าคิดนะครับว่า บ้านเรา มีหนังหลายเรื่องที่พยายามจะเป็น Love Actually ทั้งที่พูดกันตามจริง การจะทำให้เรื่องราวของตัวละครหลายๆ ตัว ทรงพลังได้นั้น จะต้อง “มือถึง” พอสมควร ที่ผ่านมา นอกจาก “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” แล้ว รู้สึกว่าหนังเรื่องต่อมาที่พึ่งพาโครงสร้างเรื่องแบบ Love Actually ล้มระเนระนาดกันเป็นทิวแถว พูดง่ายๆ ก็คือ มันหาความประทับใจอะไรไม่ได้เลยจากหนังกลุ่มนี้
ปัญหาที่มองเห็นได้ชัด ก็คือ พอต้องเล่าเรื่องของตัวละครหลายตัวไปพร้อมกัน มันเกิดการ “เอาไม่อยู่” เพราะพูดก็พูดเถอะ อย่าว่าแต่ต้องเล่าเรื่องราวของตัวละครหลายตัว แม้แต่เล่าเรื่องของคนสองคน บางที มันก็เป็นเรื่องยากแล้วล่ะครับ คนที่จะทำอะไรได้อย่าง Love Actually จึงอาจต้องมีชั่วโมงบินสูงพอสมควร หรือไม่อย่างนั้นก็ต้อง “ซีเรียส” กับมันในระดับที่มากกว่าปกติ
ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดอะไรมากเกี่ยวกับตัวหนัง และถ้าจะกล่าวอย่างรวบรัดในภาพรวม ผมรู้สึกว่า หนังยังสามารถทำได้ “ดี” กว่านี้อีกหลายเท่าตัว เรื่องราวในแต่ละเซ็ตแต่ละกลุ่มตัวละคร ยังคล้ายคนอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีพลังอย่างที่ควรจะเป็น พูดง่ายๆ หนังดูจะทำอะไรไม่ได้เลยกับความรู้สึกของคนดู (อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่ง) อารมณ์ขันก็ต้องพัฒนา ส่วนเนื้อหาหรือประเด็นก็ต้องเค้นให้หนักกว่านี้ และบางจุดก็ “ผ่าน” แบบไม่ควรให้ผ่าน อย่างความสัมพันธ์ระหว่าง “เดี่ยว” (อ๊อฟ-สุทิวัส วงษ์สำราญ) กับเพื่อนชายของเขา หรือกระทั่งกับแม่ของเขา (นิโคล เทริโอ) หนังสามารถทำให้เรื่องในส่วนนี้ “กระแทก” ที่อารมณ์ความรู้สึกได้รุนแรงกว่านั้น แต่หนังก็ปล่อยผ่านให้เป็นเรื่องแล้วกันไป
ผมคิดว่า สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่าความดีความงามของหนังนั้น อยู่ที่ “ชื่อเรื่อง” ซึ่งก็อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่ามันชวนให้คิดไปว่า หนังน่าจะมาตีแผ่เรื่องเพศอะไรทำนองนั้น ซึ่งพูดตามตรง ผมอยากเห็นแบบนั้นมากกว่า ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่า ผมอยากจะดูหนังโป๊ๆ เปลือยๆ อะไรอย่างนั้นนะครับ เพียงแต่คิดว่า ประเด็นเรื่องความรักความสัมพันธ์อะไรเหล่านี้ มีให้ดูมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ และเขาก็ทำดีไว้เยอะจนดูไม่หมด แล้วจะเป็นไรไป หากมีหนังสักเรื่องที่มุ่งตรงไปทางนี้โดยเฉพาะ
นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า “เวอร์จิ้น แอม ไอ” เองก็เสี่ยงที่จะโดนด่าอยู่แล้วด้วยการตั้งชื่อแบบแรงๆ หากเนื้อหาจะขุดเจาะลงไปเกี่ยวกับ “ครั้งแรก” ของคนเราในเรื่องเพศ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร อย่างไรก็ดี สุดท้าย “เวอร์จิ้น แอม ไอ” ก็เลือกที่จะพูดในเรื่องที่คนอื่นพูดมาแล้วไม่รู้กี่รอบ สุดท้ายก็เลยได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนังธรรมดาที่จะถูกกาลเวลากลืนหายไปจากความทรงจำ
พูดแบบนี้ ผมไม่ได้จะบอกว่าให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำหนังโป๊นะครับ เพียงแต่รู้สึกว่า ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศหรือพูดให้ชัดก็คือเรื่องเซ็กซ์ ยังเป็นอะไรที่ “กั๊กๆ” อยู่ในหนังไทย ทั้งนี้ ผมคิดว่า หากสร้างอย่างมีชั้นเชิงดีพอ ก็สามารถเป็นอนุสติแก่ผู้คนได้ในทางหนึ่ง แต่เรื่องเพศที่ถูกนำเสนอในหนังไทยส่วนใหญ่ เป็นลีลาแบบตลกล้อกันเล่น ยังไม่เคยมีใครที่คิดจะนำเสนอเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เช่นเดียวกัน ในหนังของคุณอนุชิตเรื่องนี้ ก็มีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาแทรกอยู่ เพียงแต่เซ็กซ์ถูกใช้เป็นเพียง “ข้อต่อ” หรือ “เครื่องมือ” ที่จะทอดส่งไปสู่ประเด็นความรัก น้ำหนักที่ควรจะมีก็กลายเป็นเบาโหวง และสุดท้าย หนังก็ดูจะไปสรุปเอาซะอย่างนั้นว่า ถึงที่สุดแล้ว เซ็กซ์ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ดังเช่นคำพูดของคุณนิโคลที่ตอกใส่หน้าพีเค-ปิยะวัฒน์ ว่า “ไม่ได้ ‘เอา’ แล้วมันจะตายหรือไง” ซึ่งนี่ก็เท่ากับหนังเบี่ยงประเด็นไปแล้ว
อันที่จริง ยังมีเรื่องเพศแฝงอยู่ในโครงสร้างหนังแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการไปเล่นหนังอาร์ของตูมตาม (ทองเอก) ความซิงของแป๊ดหรือแพ็ท (พ้อย-พรวรา) ไปจนถึงคลิปหลุดของเดี่ยว (อ๊อฟ-สุวิทัส) เหล่านี้ เป็นวัตถุดิบที่ดีที่สามารถต่อยอดไปสู่ความเข้าอกเข้าใจในเรื่องเพศได้ แต่สุดท้ายก็อย่างที่บอกว่า หนังลดน้ำหนักพวกมันลงมาเป็นเพียงเครื่องมือที่จะสื่อประเด็นอันไร้น้ำหนักอื่นๆ เท่านั้น (ความซิงของแป๊ด กลายเป็นประเด็นถูกล้อด้วยคำอย่าง “รูตัน” ทั้งที่ว่ากันตามจริง ซิงไม่ซิง ไม่ได้ทำให้คุณค่าชีวิตใครต่ำต้อยหรือสูงส่ง, การเล่นหนังอาร์ของตูมตาม กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการเบาะแว้งไม่เลิกราระหว่างเขากับคนรัก, เรื่องคลิปหลุดของเดี่ยว หนังก็โยนให้เป็นความผิดบาปของเทคโนโลยีไป ทั้งที่พูดกันจริง หนังสามารถ “ให้การศึกษา” เกี่ยวกับความผิดพลาดในจุดนี้แก่คนดูได้)
แน่ล่ะครับว่า ถ้า “เวอร์จิ้น แอม ไอ” เสี่ยงที่จะโดนตราหน้าว่าเป็นหนังทะลึ่งลามกตั้งแต่ชื่อเรื่องและหนังตัวอย่าง ผมก็ยินดีที่จะเสี่ยงต่อการโดนเข้าใจผิดเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังอยากจะขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาว่า หนังไทยที่จะถ่ายทอดเรื่องเซ็กซ์ให้ออกมาจริงจังและได้สติแง่คิดนั้น ยังไม่มีให้เห็น พูดง่ายๆ หนังไทยยังซิงมากในเรื่องเซ็กซ์ ทั้งที่ตอนนี้ “พื้นที่” นั้น “เปิด” พอสมควรแล้วนะครับ โดยเฉพาะพอระบบเรตติ้งเกิดขึ้นมา (อาจจะเป็นเรตติ้งเฟคๆ หน่อยก็ตามเถอะ) แต่หนังไทยเราก็ยังแตะประเด็นนี้กันเพียงผิวๆ ผ่านๆ
การกล่าวว่ามันเป็นหนังเด็กๆ วัยรุ่น ดูจะไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีนัก เพราะถ้าคุณได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเรื่อง “ไอส์” คุณจะเห็นว่า เขาไปไกลเท่าไหร่แล้ว เพราะเรื่องเพศถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งชี้ทางออกและบอกถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นบ้างจากพฤติกรรมในเรื่องเซ็กซ์
ในมุมมองของผม ภาพยนตร์ก็เป็นสื่อสื่อหนึ่งซึ่งสามารถมีคุณค่าในเชิงสังคมได้ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องเพศซึ่งสังคมไทยยังต้องการความเข้าอกเข้าใจอีกเยอะมาก ผมไม่อยากจะคิดเลยนะครับว่า ในขณะที่การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “ไอส์” ให้สติแก่คนอ่านว่าถ้าเกิดอารมณ์ทางเพศจะต้องทำอย่างไร แต่สังคมไทยคิดได้อย่างเดียวว่า “ไปเตะฟุตบอล” อย่างที่สอนๆ กัน
ทั้งหมดนั้น มันเป็นเพราะว่า เรายังไม่กล้าที่จะพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงไปตรงมา หรือพูดแบบอ้อมๆ แอ้มๆ เหมือนเวอร์จิ้น แอม ไอ นี้หรือเปล่า??