xs
xsm
sm
md
lg

Into The Wood : มิวสิคัลมัธยมฝีมือเกินตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : Zaran

ต้องยอมรับว่าการเติบโตของการทำมิวสิคัลในบ้านเราเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ไล่ไปตั้งแต่มิวสิคัลชื่อดังโดยฝีมือของ บอย ถกลเกียรติ ที่ใช้นักร้อง-นักแสดงกระแสหลักมาแสดงเรียกเรทติ้งคนดู หรือการกำกับละครเวทีหลังคาแดง เดอะ มิวสิคัล ของตั้ว ศรัณยู ไปจนถึงการกำเนิดมิวสิคัลของคลื่นวิทยุชื่อดัง Fat The Musical ที่มีแต่คนเกาหัวว่ามาได้ไง เมื่อมิวสิคัลกลายเป็นสิ่งที่ใครๆก็สามารถทำได้ แต่ถ้าถามถึงเรื่องของคุณภาพคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันเป็นรายๆไป

ว่าด้วยการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ คงจะมองข้ามผลงานของคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลไปไม่ได้เลย เพราะหลังจากได้มีโอกาสชมการแสดงมิวสิคัล Into The Wood ผลงานของเด็กๆ Pre-College ชั้นมัธยมปลาย 4-6 ของวิทยาลัยก็ต้องทึ่งกับศักยภาพของเด็กไทยสมัยนี้ที่กำลังจะก้าวไปเป็นนักร้องที่มีคุณภาพในวันข้างหน้าได้เป็นอย่างมาก

Into The Wood เป็นผลงานของ Stephen Sondheim ที่ลือเลื่องและถูกนำมาแสดงมิวสิคัลหลายต่อหลายครั้ง โดยนำเอานิทานหลายต่อหลายเรื่องของตะวันตกมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ผูกเป็นเรื่องใหม่ เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสมากมายกับการผจญภัยที่แสนสนุกและวุ่นวายของตัวละครต่างๆ โดยมีข้อคิดแฝงอยู่ในเรื่องราว

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ ช่างทำขนมปังสามีภรรยาคู่หนึ่งถูกแม่มดอัปลักษณ์สาปไม่ให้มีลูก เพื่อแก้แค้นที่บิดาของเขาเคยเข้ามาบุกรุกสวนของนาง ในการที่จะแก้คำสาปทั้งสองจะต้องตามหาของ 4 อย่าง มาให้แม่มด คือ "วัวที่ขาวดั่งน้ำนม ผ้าคลุมสีแดงสด ผมที่มีสีเหลืองเหมือนซังข้าวโพด และรองเท้าแก้วที่บริสุทธิ์ดั่งทองคำ" ในระหว่างการผจญภัยไปในป่าเพื่อตามหาของ ทั้งสองได้พบตัวละครจากเทพนิยาย เลื่องชื่อเรื่องอื่นๆเช่น แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ หนูน้อยหมวกแดง ซินเดอเรลล่า ราพันเซล ฯลฯ พร้อมได้พบกับปัญหาที่จะต้องแก้ไข ชะตากรรมของตัวละครที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อออกจากป่า

เดิมละครเพลงเรื่องนี้ได้รับคำยกย่องถึงเนื้อหาที่มีสาระข้อคิดลึกซึ้ง และบทเพลงไพเราะกวาดรางวัลมาอย่างมากมายได้แก่ รางวัล Tony Awards สาขาเพลงยอดเยี่ยม (Stephen Sondheim - ผู้ประพันธ์ดนตรี/ คำร้อง) และสาขาบทละครยอดเยี่ยม (James Lapine ผู้ประพันธ์บทละครเพลง) รางวัล Drama Desk Award ในสาขาละครเพลงยอดเยี่ยม, เนื้อร้องยอดเยี่ยม, บทละครเพลงยอดเยี่ยม และรางวัล New York Drama Critics Circle Award สาขาละครเพลงยอดเยี่ยม

เมื่อเป็นละครเพลงที่มีชื่อเสียงและถูกนำมาแสดงบ่อยครั้งพร้อมรางวัลการันตีมากมาย แน่นอนว่าการหยิบยกเรื่องนี้มาแสดงครั้งแรกในประเทศไทยย่อมหนีไม่พ้นการถูกจับตามอง ในส่วนของตัวแสดงนำทั้ง คนอบขนมปัง ภรรยาคนอบขนมปัง ซินเดอเรลลา หนูน้อยหมวกแดง และ แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ ก็ต้องบอกว่านักแสดงแต่ละคนถูกวางตัวให้เหมาะกับคาแร็คเตอร์ของแต่ละตัวละครได้ดี ที่ชื่นชอบมากเป็นพิเศษคือคู่สามี-ภรรยาคนอบขนมปังที่เป็นตัวเดินเรื่อง รวมถึงแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ ซึ่งคนอบขนมปังนำแสดงโดย ธนภัทร ตรีภูวนันทกุล และภรรยาคนอบขนมปังแสดงโดย อติกานต์ โสมะบุตร ส่วนแจ๊คคือ ศักดา ขจรกิจโกศล นักเรียนpre-collegeเอกขับร้องปฏิบัติ ด้วยการแสดงที่ยาวนานเกือบสามชั่วโมงกับบทพูดบทร้องภาษาอังกฤษฉบับเต็มที่ไม่ได้รับการตัดทอน ก็ต้องถือว่าเด็กๆทำได้สมบูรณ์ดีทั้งเรื่องการแสดงและการใช้ภาษาที่สำเนียงภาษาอังกฤษจัดอยู่ในระดับที่ถือว่าดีทีเดียว รวมถึงตัวละครอื่นๆที่อาจมีสะดุดในสำเนียงเพราะบางครั้งร้องรัวจนฟังไม่ค่อยรู้เรื่องบ้างต้องอาศัยจอด้านข้างอ่านซับไตเติลเอา แต่โดยภาพรวมถือว่าดีมากจนไม่น่าเชื่อว่าเป็นเพียงมิวสิคัลของเด็กระดับมัธยม

ในส่วนของฉาก แสง สี ด้วยความที่สถานที่จัดแสดงมีขนาดเล็ก การนำวงออเคสตราทั้งวงขึ้นไปอยู่ด้านบนเวทีหลังฉากและร่นฉากทั้งหมดขึ้นมาอยู่ด้านหน้า ทำให้เมื่อตัวละครทุกตัวออกมารวมกัน และร้องเต้นสลับที่กันไปมา เราก็ได้เห็นถึงความเป็นละครโรงเรียนขึ้นมาทันทีเพราะเบียดเสียดชนกันวุ่นวายและไม่เป๊ะอย่างที่ควรจะเป็น ในส่วนของฉากป่าที่เป็นฉากสำคัญของเรื่องก็ใช้เพียงไม้เป็นซี่ๆมาจัดวางเป็นซุ้มๆ มองครั้งแรกนึกว่าเป็นรั้วไม้อะไรสักอย่าง แต่เมื่อการแสดงเริ่มถึงได้รู้ว่านั่นคือฉากป่าที่สำคัญของเรื่อง แต่เมื่อมองในอีกมุมอาจเพราะต้องการให้วาทยากรและนักดนตรีมองเห็นการเคลื่อนไหวของตัวละครเพื่อจะได้ทำซาวนด์ประกอบได้ถูกต้องตามจังหวะของแต่ละตัวแสดงได้อย่างแม่นยำก็เป็นได้ ซึ่งโดยรวมก็ถือว่าไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด ส่วนองค์ปะกอบทางด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย งานนี้ต้องให้คะแนนเต็มแม้จะเป็นมิวสิคัลของนักเรียนแต่ก็จัดให้เต็มที่ไม่น้อยหน้าโปรดักชันใหญ่ๆของต่างประเทศที่เคยจัดแสดงมาก่อนหน้านี้

ในส่วนของภาคดนตรี งานนี้เป็นการประสานสอดคล้องกันที่ดีมากทั้งการร้องและท่วงทำนอง วงออเคสตราเต็มวง กับบทเพลงในเรื่องอย่าง Into The Wood, Moment in the wood, So Happy, Agony หรือ Children Will Listen ก็ทำออกมาได้รื่นหูน่าฟัง

ความน่าสนใจของการแสดงครั้งนี้นอกจากเป็นการแสดงของน้องๆมัธยมดนตรีที่มาอวดฝีมือการร้องและการแสดงให้ดูแล้ว เนื้อเรื่องที่เลือกมาทำการแสดงก็น่าสนใจมิใช่น้อย แม้จะเป็นเรื่องการนำเทพนิยายต่างๆในการ์ตูนมาร้อยเรื่องรวมกันจนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย แต่เนื้อหาก็ไม่ได้ไร้สาระจนไม่ได้รับข้อคิดกลับบ้านแน่นอน ส่งให้การแสดงครั้งนี้มีจุดพลิกผันอยู่ที่องค์สอง โดยองค์แรกจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่ส่งให้ตัวละครทั้งหมดถูกโยงให้มาพัวพันกัน ก่อนจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งตามสไตล์เทพนิยาย แต่ในองค์ที่สองได้บอกเล่าเรื่องราวของความยุ่งเหยิงที่ตามมาหลังจากนั้น โดยเน้นให้เห็นว่าเมื่อมีความสุขมากๆความทุกข์จะตามมาอีกไม่ไกล มีการแฝงตลกร้ายแบบเสียดสีและเนื้อเรื่องที่ให้แง่คิดได้อย่างบาดลึกคมคาย มีทั้งความโลภที่อยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น ความเห็นแก่ตัวกลัวตายของมหาดเล็กและแม่มด ความเอาแต่ได้และไม่รู้จักพอของเจ้าชายแสนเจ้าชู้ที่นอกใจซินเดอเรลลาไปหลงรักเจ้าหญิงนิทรา และไปเป็นชู้กับภรรยาคนอบขนมปัง และเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายที่ยักษ์ตามมาอาละวาดและฆ่าคนจำนวนมาก ทุกคนต่างก็โทษว่าเป็นความผิดของแจ๊คจนกระทั่งลืมสำรวจความผิดของตนเองว่าต่างก็มีส่วนทำให้เกิดเหตุความวุ่นวายทั้งหมดเช่นกัน

ในบทละครยังสอนให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจกันเมื่อต่างสำนึกได้ว่าไม่ใช่เวลาที่จะหนีปัญหาหรือเห็นแก่ตัว หากหันหน้ามารวมพลังกันทุกฝ่ายเพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือนางยักษ์และช่วยกันกำจัดก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งบทเพลงส่งท้าย ( Finale ) ยังได้ให้แง่คิด ซึ่งนับเป็นบทสรุปของเรื่องราวด้วยว่า การกระทำของผู้ใหญ่ส่งผลต่อเด็กๆและก่อนจะบอกอะไรให้เด็กๆฟังต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเด็กๆเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้ใหญ่พร่ำสอนมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด พร้อมกระตุ้นเตือนว่าชีวิตยังมีเรื่องราวให้ต้องผจญภัยอีกมากมาย ต้องเจอทั้งเรื่องดีและไม่ดีจงเตรียมตัวให้พร้อมและอย่าลืมบทเรียนในอดีตเพราะสามารถนำกลับมาเตือนใจได้ใหม่หากอนาคตต้องเผชิญกับความยากลำบากอีกครั้ง ซึ่งนับว่าลึกซึ้งมากทีเดียว

การได้รับชมมิวสิคัลของเด็กมัธยมดนตรีครั้งนี้ ทำให้เราระลึกได้อย่างหนึ่งว่าอย่าประมาทฝีมือของเด็กๆ และรู้สึกดีใจที่เห็นเด็กๆสมัยนี้มีความสามารถสูง มีโอกาสที่ดีทางการศึกษา เชื่อแน่ว่าพวกเขาจะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในวงการดนตรีของประเทศไทยต่อไปในอนาคต และหากมีการแสดงของสถาบันดังกล่าวอีก ขอบอกได้คำเดียวว่าถ้าพลาดแล้วคุณจะเสียใจ!


กำลังโหลดความคิดเห็น