ในความหมายหนึ่งของ The Walking Dead คือการส่งเสียงกระตุ้นเตือนสามัญสำนึกของมนุษย์ไม่ให้ละทิ้งความเป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจ โดยเฉพาะในห้วงยามที่ความวิกฤติตีวงล้อม เพราะถ้าขาดไร้สิ่งนี้ มนุษย์ก็คงไม่ต่างอะไรกับพวกซอมบี้ที่สูญสิ้นชีวิตจิตวิญญาณ แม้จะยังเดินได้แต่ก็ไม่มีความรู้สึกรู้สาใดๆ อีก...
“โลกที่เรารู้จัก มันหายไปแล้ว แต่ความเป็นคนของเรายังอยู่” ชายชราผู้ร่วมเดินทางนามว่าเดล กล่าวอย่างเน้นเสียงต่อสมาชิกในกลุ่ม คราวโต้เถียงกันเพื่อหารือว่าจะจัดการอย่างไรกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งถูกนำตัวมาจากเหตุการณ์ชุลมุนขณะหนีซอมบี้ เด็กหนุ่มคนนี้ถูกมองว่า ถ้าปล่อยกลับไปก็จะกลายเป็นชนวนเหตุนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง หรือแม้จะให้อาศัยอยู่ด้วย ก็เกรงว่าจะเปลืองเปล่าข้าวปลาอาหารซึ่งเท่าที่มีอยู่ ก็ไม่แน่ว่าจะมีเพียงพอสำหรับทุกคน
ด้านหนึ่งคือความกลัว ส่วนอีกด้านก็เห็นแก่ตัว แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้าย หลายๆ เสียงก็ลงประชามติว่าควรจะฆ่าเด็กหนุ่มคนนั้นซะ และนั่นก็ทำให้เดลต้องรีบเบรกกะทันหันว่าถ้าทำเช่นนั้น แล้วเราจะแตกต่างจากพวกเขาอย่างไร แน่นอน คำว่า “พวกเขา” ในคำพูดของชายชราก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่เป็น “ซอมบี้ผีดิบ” เหล่านั้นนั่นเอง...
ครับ, เมื่อซีรีย์ชุดนี้เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงซีซั่นที่สอง แก่นสารเนื้อหาซึ่งถูกปูไว้ในซีซั่นแรกก็ดูจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะพ้นไปจากเรื่องของมโนธรรมและมนุษยธรรมที่พึงมีพึงรักษาไว้ หนังทีวีเรื่องนี้ยังแตะแง่มุมที่ดูคล้ายจะสูงส่งอย่างถึงที่สุด นั่นก็คือ ความหวังและศรัทธาต่อการมีชีวิต
เทคนิคอย่างหนึ่งซึ่งซีรีย์เรื่องนี้ใช้อยู่ตลอด ก็คือ Blackout ได้แก่การดับไฟในฉากก่อนหน้าให้มืดสนิท แล้วเปิดฉากใหม่ขึ้นมา (แบบดับวูบลงทันทีก่อนจะสว่างจ้าขึ้นมาทันควัน) จะว่าไป นอกเหนือจะชวนให้นึกถึงความรู้สึกซึ่งมีต่อกันของตัวละครต่างๆ ที่เดี๋ยวก็รู้สึกแย่ต่อคนนี้ เดี๋ยวก็รู้สึกดีต่อคนนั้น ในความหมายที่สามารถตีความได้ผ่านการใช้เทคนิคนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมมองว่ามันน่าจะสื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะจิตใจของบรรดาตัวละครที่วูบไหวและกวัดแกว่ง เดี๋ยวมืด เดี๋ยวสว่าง เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างสองขั้วความรู้สึก คือ สิ้นหวัง กับ มีหวัง
ขณะที่โลกทั้งโลกดูเหมือนกำลังจะก้าวสู่กาลถึงจุดจบ ความหวังและศรัทธาในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ควรถึงจุดจบด้วยหรือไม่? นี่เป็นคำถามซึ่งดูเหมือนจะผุดขึ้นมาให้เรารู้สึกได้อยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งเรื่อง
ภายหลังการรวมตัวอย่างไม่ค่อยลงรอยกันและกันของบรรดาตัวละครที่หนีรอดมาได้จากคมเขี้ยวของซอมบี้ในซีซั่นที่หนึ่ง เราจะพบว่า ฉากแรกๆ ของซีซั่นที่สองนั้นถูกวางโลเกชั่นไว้ที่โบสถ์แห่งหนึ่งอย่างมีนัยยะสำคัญ โบสถ์แห่งนั้น แม้จะมีเสียงระฆังดังขึ้นเป็นระยะๆ จากการถูกตั้งเวลาไว้ แต่นอกนั้นแล้วก็ดูจะปราศจากชีวิตใดๆ หลงเหลืออยู่ รูปเคารพของพระเยซูคริสต์สถิตเหนือแท่นบูชาภายในโบสถ์อย่างสงบงัน ใครบางคนตั้งคำถามต่อหน้ารูปปั้นนั้นว่า กับเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา พวกเขาเหมือนจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากพระองค์เลย เพราะอะไร?
นี่คือประเด็นที่หนักหน่วงเอาการนะครับ เมื่อคิดว่าซีรีย์ที่ดูคล้ายๆ ว่าจะเป็นแค่เพียงหนังซอมบี้ธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง แต่กลับหาญกล้าที่จะตั้งคำถามอันเคร่งเครียดจริงจังถึงเพียงนั้น
ในชั่วโมงที่สับสนวุ่นวาย และการเอาตัวรอดให้ได้คือเรื่องใหญ่สำหรับทุกคน ในห้วงยามเช่นนั้น ความงดงาม ความอัปลักษณ์ ความเข้มแข็งและอ่อนแอเปราะบางของมนุษย์ถูกกะเทาะออกมาอย่างหมดเปลือก ความเจ็บปวดสูญเสีย หรือกระทั่งความเขลาขลาดหวาดกลัว คล้ายเป็นตัวเร่งให้สัญชาตญาณแห่งปุถุชนที่อยู่ในตัวตนของพวกเขาแสดงตัวออกมา ด้วยเหตุนั้น ในหลายๆ ตอน แม้ว่าตัวละครของเราจะไม่ได้ต่อสู้กับพวกซอมบี้หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า “วอล์คเกอร์” (Walker) แต่สงครามทางความคิดระหว่างคนกับคนก็ยังดำเนินไป
จะว่าไป The Walking Dead นั้นเสมือนการจำลองสภาพสังคมมาไว้ในเรื่องราวซึ่งประกอบไปด้วยตัวละครเพียงไม่กี่ตัว แต่ทว่ามีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านตัวตนและโลกทัศน์ ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง มนุษย์ในหนังทีวีเรื่องนี้เป็นแบบที่เราสามารถเรียกได้ว่า “มีมิติ” และ “สมจริง” ในความเป็นปุถุชน บางที พวกเขาก็ดูน่าชื่นชมยกย่อง บางขณะก็น่าสงสารเห็นใจเท่าๆ กับที่น่าสมเพชเวทนา และบางเวลาก็ดูงี่เง่าเห็นแก่ตัว น่าหัวเราะเยาะหยันอย่างถึงที่สุด
ผมคิดว่าจุดที่ถือเป็นความดีความชอบของซีรีย์ชุดนี้ที่สามารถทำให้มันกลายเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดาผลงานสายพันธุ์ซอมบี้ที่มีคำ Dead ห้อยท้ายทั้งหลาย ก็คือว่า นอกเหนือไปจากการตีแผ่แล่เถือความเป็นคนออกมาให้เราเห็นเป็นชั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอดที่พร้อมจะเห็นแก่ตัวได้ตลอดเวลาแล้ว การบอกกล่าวประเด็นเกี่ยวกับความศรัทธาที่จะดำรงอยู่อย่างไม่ยอมจำนนและสิ้นหวัง ก็เป็นอีกหนึ่งสาระซึ่งน่าจะทำให้ The Walking Dead กลายเป็นหนังทีวีที่จะถูกกล่าวถึงไปอีกนาน
ในบางฉาก เราจะเห็นริคกับคนรักของเขา ทุ่มเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเกี่ยวกับความตายและการมีชีวิตอยู่ต่อ ขณะที่ฝ่ายหนึ่งแสดงมุมมองอย่างมีเหตุผลอันน่าฟังว่าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรในโลกที่ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงถึงตาย แต่อีกฝ่ายกลับมองตรงกันข้าม
ความกล้าหาญที่จะอยู่ร่วมกับความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งยอมรับกับความตายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ เป็นส่วนที่ The Walking Dead นำเสนอได้อย่างบีบคั้นหัวใจมากที่สุด เวลาเราพูดว่าความตาย มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะใช้คำว่ามันเป็นปกติของทุกชีวิต ตราบเท่าที่ความตายนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวเรา แต่ทว่าเมื่อความตายนั้นมาปรากฏต่อหน้าเราหรือเกิดขึ้นกับคนที่เรารักและผูกพัน ความตายนั้นจะพลันมีรสชาติที่ขมขื่นอย่างถึงที่สุดไปทันที
ต้นๆ เรื่องในซีรีย์ซีซั่นที่หนึ่งซึ่งชายผิวสีผู้ช่วยชีวิตริคไว้จะต้องลั่นกระสุนปืนใส่สมองของภรรยาที่ได้กลายเป็นซอมบี้ไปแล้ว และอีกหลายฉากในตอนต่อๆ มาซึ่งตัวละครบางตัวจะต้องพบเจอกับสถานการณ์แบบเดียวกัน หนังถ่ายทอดออกมาได้ทรงพลังถึงขั้นสามารถทำให้คนดูรู้สึกหัวใจสลายตามไปด้วยอย่างมิอาจหักห้าม
ยอมรับครับว่า ตลอดการรับชมซีรีย์ชุดนี้ สิ่งหนึ่งซึ่งผมรู้สึกกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ นอกเหนือไปจากคำถามที่ว่าบรรดาตัวละครจะเอาตัวรอดจนผ่านพ้นวิกฤติซอมบี้ครั้งนี้ไปได้หรือไม่อย่างไร ผมคิดว่าปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากไปกว่านั้นก็คือ ขณะที่พระเจ้าดูเหมือนจะนิ่งเฉยต่อทุกข์ร้อนของพวกเขาอย่างที่ใครบางคนตัดพ้อขุ่นเคือง พวกเขาจะยอมศิโรราบให้กับสถานการณ์ที่กดดันนั้นแล้วคว้าปืนขึ้นมาเป่าสมองของตัวเองให้ตกตายไปหรือไม่ หรือพวกเขาจะปลดเปลื้องพลังศรัทธาในการต่อสู้เพื่อจะดำรงอยู่ออกไปจากจิตใจของตัวเองตอนไหน
ฉากที่ผมชอบมากฉากหนึ่ง เป็นตอนที่แดริลซึ่งกลับมาจากการตามหาเด็กหญิงที่หายไป ในมือของเขาถือดอกกุหลาบเชอโรกีมาหนึ่งดอก เขานำมันไปปักไว้ในแจกันภายในห้องของหญิงวัยกลางคนผู้เป็นแม่ของเด็กหญิงที่หายตัวไป
เชอโรกีนั้น นอกจากจะเป็นชื่อรถยนต์รุ่นหนึ่งอย่างที่รู้กัน มันยังเป็นคำเรียกกุหลาบป่าสายพันธุ์หนึ่งซึ่งมีกลิ่นหอม ขณะเดียวกันก็เป็นชื่อเรียกชนเผ่าอินเดียนแดงบางเผ่าซึ่งกล่าวขานกันว่าเป็นชนเผ่าที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดชนเผ่าหนึ่ง หนังหยิบกุหลาบสายพันธุ์นี้มาใช้สอยราวกับจะสื่อสารถึงบางสิ่ง...
“มันคือกุหลาบเชอโรกี” แดริล กล่าวกับแม่ของเด็กผู้หญิง หลังจากปักกุหลาบดอกนั้นไว้ในแจกันเรียบร้อยแล้ว “เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อทหารอเมริกัน ตอนที่สู้กับพวกอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกี มีเลือดหลั่งบนพื้นดินมากมาย แม่ของเชอโรกีนั้นโศกเศร้าและร้องไห้มาก เพราะพวกเขาต้องสูญเสียสิ่งต่างๆ ไปนับไม่ถ้วน ดังนั้น พวกคนแก่จึงอธิษฐาน ขอให้แม่ของเขามีจิตวิญญาณที่ดีขึ้น ได้มอบเรี่ยวแรงและความหวังให้พวกเขา วันต่อมา กุหลาบดอกนี้ก็เกิดและเติบโตมาตามเส้นทางที่แม่เขาร้องไห้”
ครับ, พูดกันอย่างถึงที่สุด สิ่งที่หนังทีวีเรื่องนี้พยายามจะส่งผ่านมายังคนดูผู้ชมดูเหมือนจะไม่ใช่อะไรอื่น เพราะไม่ว่าตัวละครในเรื่องจะหลงเหลืออยู่กี่คน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรสูญสลายหายไปจากใจของทุกคน ก็คือความหวังและศรัทธาที่จะต่อสู้กับทุกๆ สถานการณ์ของโลก ไม่ว่ามันจะเป็นโลกที่ตกอยู่ในวงล้อมของซอมบี้ หรือเป็นโลกที่เลวร้ายแบบใดก็ตาม
เพราะถ้าสูญสิ้นซึ่งสิ่งนั้นแล้ว มนุษย์ก็คงไม่ต่างอะไรกับพวก “วอล์กเกอร์” (Walker) ที่เพียงแค่เดินได้กินได้ แต่มิอาจรับรู้สัมผัสสุขทุกข์หรือคุณค่าความหมายใดๆ ของโลกและชีวิตได้อีก