สัปดาห์นี้บ้านเราจะมีหนังจีนที่อุดมไปด้วยสาวๆ เนื้อขาวๆ สวยๆ จากฮ่องกงเข้ามาให้ดูอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความขาวนั้นไม่รู้ว่าจะสู้ความโครมครามและมุกตลกของ The Avenger ได้ขนาดไหน ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีชื่อว่า The Mural หรือชื่อในภาษาไทยที่ชวนเสียวมากว่า “อาบรักทะลุมิติ”
ที่บอกว่ามันชวนเสียวก็เนื่องจากก่อนหน้านี้เราเพิ่งได้ดู Sex And Zen ภาค 3 มิติ ซึ่งก็มีชื่อเสียวๆ เช่นเดียวกันนั่นคือ “ตำนานรักทะลุจอ” หลายคนเห็นมีคำว่ารัก กับมีคำว่าทะลุ ก็อดจะระทึกใจไม่ได้ว่ามันจะมี “อาการปิ๊ดปี้ปิ๊ด” หรือเปล่านะครับ แต่ที่แน่ๆ แก่นของเรื่องที่ผู้กำกับ กอร์ดอน ชาน (ซึ่งเคยทำ พลิกตำนานโปเยโปโลเย หรือ Painted Skin ซึ่งฮือฮากันมากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว)พูดถึงหนังเรื่องนี้ของเขาว่า มันว่าด้วยเรื่องของคนที่เอาเข้าจริงๆ จะมีแต่ความใคร่ไม่มีความรักได้จริงๆ หรือ ?
เรื่องราวของบัณฑิตหนุ่มที่เดินทางมาพบภาพเขียนโบราณของนครต้องห้าม ดินแดนอันเป็นที่พำนักของเหล่าเทพธิดาผู้งดงามนับไม่ถ้วน แต่ไม่มีบุรุษอาศัยอยู่ได้แม้แต่คนเดียว พระเอกของเราที่มีชื่อว่า จูเสี่ยวเหลียน และ ชายหนุ่มอีก 2 คน ได้หลงผ่านมิติเข้าไปในภาพต้องห้ามนี้และพบว่ากฏข้อเดียวที่บุรุษจะอาศัยอยู่ที่นี่ได้ก็คือ “มี ความใคร่ ได้ แต่ห้ามมี ความรัก” ซึ่งจะว่าไปมันน่าจะมีความสุขพิลึกเลยสำหรับไอ้หนุ่มที่โชคดีที่สุดในโลก
จริงๆ โครงเรื่องแบบนี้ถ้าไปอยู่ในมือของ ไมเคิล มัก ผู้กำกับหนังเรตสามของฮ่องกงเมื่อครั้งกระโน้นก็คงมันส์พิลึกละครับ เพราะ คาดว่าคงจะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่หนุ่มๆ อยากเห็นมากมายเหมือนครั้งที่เขาเคยโชว์ใน Sex And Zen มาแล้ว แต่เพราะ The Mural นั้นทำโดย กอร์ดอน ชาน ซึ่งเน้นเรื่องรักโรแมนติกแต่ไม่เน้นเรื่องเซ็กส์ความคาดหวังที่จะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรจึงไม่บังเกิด แต่กระนั้นสาวๆ จำนวนมากก็ยังน่ารักอยู่ดี
เรื่องอาบรักทะลุมิตินั้นผู้กำกับเอาบทประพันธ์ดั้งเดิมของผูสงหลิง (Pu Songling) นักประพันธ์ชื่อก้องชาวจีนในสมัยราชวงศ์ชิงมาปรับเข้าเข้ากับยุคสมัย จริงๆ ต้องบอกว่าชื่อของผูสงหลิงนั้นฮ็อตมากอย่างยิ่งสำหรับคนสร้างหนังฮ่องกงหรือเมืองจีน เพราะ หนังหรือซีรี่ส์ที่เกิดจากตัวนักประพันธ์ผู้นี้มีมากมายแถมยังมาดังในบ้านเราด้วย
ใครจำโปเยโปโลเยที่หวังจู่เสียนแสดงกับเลสลี่ จางเมื่อครั้งกระโน้น เรื่องดังกล่าวที่ฉีเคอะทำก็เอาต้นเรื่องมาจากงานประพันธ์ของผู้สงหลิงเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ในหนังสือที่มีชื่อว่า Strange Tales of Liaozhai หรือที่แปลเป็นไทยว่า “บันทึกเรื่องประหลาดในห้องสมุด”
ถามว่าห้องสมุดที่บันทึกนั้นหมายถึงห้องสมุดอะไร คำตอบก็คือ ห้องสมุดที่ว่าก็คือ ห้องหนังสือของตัวผู้ประพันธ์เอง คือผูสงหลิงที่อาศัยเวลาที่แกเป็นครูอย่างยาวนานได้บันทึกเรื่องราวความเชื่อ เรื่องลึกลับ เรื่องผี และตำนานพื้นบ้านที่คนในสมัยชิงเขาเชื่อกันเก็บไว้ในหนังสือที่แก่จดบันทึกเอาไว้เองซึ่งว่ากันว่ามีราวๆ 400-500 เรื่องเป็นเรื่องสั้นล้วนๆ
จริงๆ เรื่องผีนั้นใครๆ ก็ทำออกมากันได้เยอะแยะ อย่างที่รับทราบกันดีอยู่ว่า วัฒนธรรมตะวันออกกับเรื่องวิญญานนั้นเป็นของคู่กันมาเสมอ แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้งานเขียนของผูสงหลิงน่าสนใจกว่างานเขียนผีเล่มอื่นเพราะในสิ่งที่แกเขียนนั้นเป็นงานแอบวิจารณ์ระบบสังคมในยุคโน้นด้วย ในงานประพันธ์ของเขา นอกจากเรื่องปรกติอย่างความรักระหว่างวิญญาน หรือ สัตว์ที่บำเพ็ญเพียรจนกระทั่งมีอิทธิฤทธิ์ หรือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ กับคนหนุ่มใจดีมีความงดงามในใจแต่ยากจน แต่ต้องเกิดอุปสรรคในความรักเพราะธรรมชาติไปด้วยกันไมได้ เช่นผีรักกับคนไม่ได้ โดยตัวหลักอยู่ที่เหล่าพรตเต๋าหรือพระซึ่งมีตบะมาปราบผีซึ่งออกจะเลอะเทอะมากกว่าน่ายกย่อง
แน่นอนตัวละครเอกตัวหนึ่งของผูสงหลิงก็คือ “เนี่ยเสี่ยวเชี่ยน (Niè Xiaoqiàn)” ผีสาวที่คอยดึงดูดผู้ชายมาให้ผีเจ้านายของเธอ เพราะเสี่ยวเชี่ยนคนแรกนั้นสร้างกันเมื่อปี 1960 ชื่อภาษาอังกฤษคือ The Enchanting Shadow กำกับโดยหลี่ฮั่นเสียง มีดีวีดีลิขสิทธิ์ใช้ชื่อไทยว่า “วิญญาณรักปีศาจสาว” แสดงโดย เบตตี้ หลอ หรือ เล่อตี้ ขณะที่ในยุค 80 เฉินเสี่ยวตงก็กำกับเรื่องราวของเนี่ยเสี่ยวเชี่ยนอีกรอบหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า A Chinese Ghost Story หรือ โปเยโปโลเย โดยมีดาราดังอย่างหวังจู่เสียนมาแสดง แถมยังเป็นการวางรากฐานเอาไว้ด้วยว่า เนี่ยเสี่ยวเชี่ยนจะต้องแต่งชุดขาว ทรงผมเหมือนมีเขาตั้งๆ เพราะหลังจากนั้นก็ยังมีอีกหลายเวอร์ชั่นไม่ว่าที่แสดงเป็น หลิวอี้เฟยในปี 2010 ซึ่งเรื่องนี้เสี่ยวเชี่ยนกลับกลายมาเกิดรักสามเส้าระหว่างเธอ บัณฑิตหนุ่ม กับนักปราบผีหนุ่มอย่างกู่เทียนเล่อ อีกเวอร์ชั่นก็ออกแนวผีทะเล้น แสดงโดย ต้าเอส จากเรื่องรักใสใสหัวใจสี่ดวง หรือ หยางมี่ ที่เป็นซีรี่ส์เมื่อปี 2005 ผีตัวหลังนี่ออกแนวอืดๆ ใสๆ ไม่ค่อยเซ็กซี่เท่าที่ควร แต่ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวเชี่ยนแบบไหนก็ล้วนมาในเสื้อผ้าหน้าผมแบบฟอร์มเดียวกันทั้งหมด
เรื่องน่าสนใจในเรื่องสั้นของผูสงหลิงอยู่ที่เรื่องทั้งหมดมันไม่ได้จบแบบที่เราจะคาดเดาได้ง่ายๆ บางเรื่องก็จบกันแบบฮาฮาพลิกความคาดหมายของผู้อ่าน บางเรื่องก็จบแบบโศกนาฏกรรมแบบตายกันทั้งหมดไม่มีใครยอมอยู่ บางเรื่องก็จบแบบพระเอกรอดนางเอกตายแต่มีความสุข บางเรื่องก็พลิกขนาดจนกลายเป็นเรื่องสยองขวัญสั่นประสาทกันไปเลยก็มีคล้ายกับเราอ่านเรื่อง แดนสนธยา หรือ Twilight Zone สมัยก่อนโน้น ลักษณะเดายากและเป็นสากลนี้เองงานเขียนชุดเลี่ยวไจ๋ก็เลยถูกตีพิมพ์ออกเป็นภาษาต่างประเทศกันเยอะเลยพอๆกับวรรณกรรมจีนระดับทองคำอย่างความฝันในหอแดงหรือซ้องกั๋งกันนะครับ
บิดาแห่งโปเยโปโลเยคนนี้เกิดมาสมัยฉงเจินฮ่องเต้ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงที่แขวนคอตัวเองตายและตัดแขนองค์หญิงฉางผิงนั่นแหล่ะครับ แต่เขาเติบโตมาในสมัยราชวงศ์ชิง พออายุ 19 ปีก็สอบได้เป็นบัณฑิตประจำอำเภอ แต่ความฝันที่จะไปได้ไกลกว่านั้นก็จบลง เพราะ เขาสอบเข้ารับราชการในระดับมณฑลไม่ได้ ไอ้การสอบที่ว่าเกิดขึ้นทุกๆ สามปี ว่ากันว่ามันก็คล้ายๆ กับการสอบของไทยคือ มันต้องมีเส้น ไม่มีเส้นก็ต้องมีเงินฝากเพื่อกรุยทาง เพราะ ฉะนั้นเจ้าตัวแม้จะเก่งแค่ไหนก็เลยเป็นได้แค่ครูสอนหนังสือเด็กในอำเภอแลถแถบชนบทใกล้เคียงเท่านั้น
แต่เพราะความที่ไม่ปล่อยให้สมองของตัวเองอยู่ว่าง เวลาแกเดินทางไปสอนหนังสือที่ไหนแกก็เอาเรื่องราวปรัมปราในท้องถิ่นที่แกไปมาบันทึกไว้แล้วเสริมเติมแต่งขึ้นจากมุมมองและประสบการณ์ของแกเอง จนกลายเป็นเรื่องสั้นๆอย่างที่ว่า แน่นอนในเรื่องราวเหล่านั้นคงมีหลายเรื่องที่แกอยากจะด่าระบบสังคมและราชการในยุคนั้นอยู่มาก แต่เพราะในชีวิตจริงคงทำไม่ได้ แกก็เลยต้องแต่งออกมาผ่านเรื่องสั้นเหล่านั้น ผ่านเรื่องราวมหัศจรรย์และโรแมนติก ถ้าสังเกตุให้ดีในแต่ละเรื่องของผูสงหลิงจะต้องมีเรื่องราวความผิดหวังของบัณฑิตที่สอบไม่ได้เนื่องจากเส้นสาย ความห่วยแตกของนายทหาร ความบ้ากามของเจ้าหน้าที่รัฐ ความอยุติธรรมของนายทุนไปเรื่อยและคนเหล่านี้จะกลายมาเป็นเหยื่อของผีหรือวิญญานเสมอ ส่วนทางออกสุดท้ายของเรื่องก็อยู่ในวัดวาหรือนักพรตเต๋าเสมอๆ
ผูสงหลิงเขียนเรื่องสั้นในบันทึกของแกตั้งแต่อายุ 20 อยู่จนอายุ 68 ปี หลังจากนั้นก็ขัดเกลาอีกหลายรอบ แต่ตัวแกเองไม่มีทางรู้ว่าผลงานของแกจะตกมาถึงรุ่นหลังได้อย่างยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เพราะแกเสียชีวิตไปในปี 1715 มีอายุทั้งสิ้น 75 ปี หนังสือนั้นไม่ได้ตีพิมพ์แต่อย่างไรเพราะแกไม่มีทุนที่จะพิมพ์ อีกยี่สิบห้าปีต่อมาลูกหลานของเขาถึงได้เอาบันทึกดังกล่าวมาอ่านและพบว่ามันช่างมหัศจรรย์เสี่ยนี่กระไร มันถึงค่อยมีโอกาสได้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่ข้างนอกและกลายเป็นเรื่องฮิตขึ้นมาครับ ในปี 1880 ก็ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษออกขายไปทั่วโลก
ที่น่าสนใจก็คือ ไอ้เจ้าบันทึกเรื่องประหลาดนี้ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องผีอย่างเดียว เรื่องจอมยุทธและนวนิยายกำลังภายในก็มีมาแล้วนะครับ โดยเฉพาะเรื่องที่มีชื่อว่า “ เสียหนี่” หรือแปลเป็นไทยก็คือ “จอมยุทธหญิง” ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง A Touch Of Zen ที่ได้ผู้กำกับอย่าง คิงฮู มาทำและทำให้มันกลายเป็นอมตะในที่สุด
เรื่องส่วนหนึ่งของผูสงหลิงก็ได้รับการแปลเป็นไทยไปแล้วในนาม “โปเยโปโลเย” อันนี้ น นพรัตน์ แปล ส่วนอีกเล่มแปลโดย อนิวรรตน์ ในชื่อว่า “บันทึกเรื่องประหลาดในห้องสมุด” ฉบับหลังนั้นหาได้ง่ายกว่าฉบับแรกเพราะเพิ่งพิมพ์ออกมาได้ไม่กี่ปี แต่ฉบับแรกนั้นพิมพ์ออกมานานกว่ามากครับ