xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยปริศนาแม่นาคพระโขนง/ต่อพงษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังเรื่องแม่นาค 3 D หรือแม่นาคสามมิติซึ่งแสดงโดยคุณ ตั๊ก บงกช คงมาลัย ออกจากโรงไปอย่างเงียบเชียบทั้งๆ ที่เขาว่ากันว่าเป็นหนังสามมิติเรื่องแรกที่ผลิตโดยคนไทย แน่นอนมันก็ต้องไปแย่งเครดิตกับหนังเที่ยวบินผีที่กำลังฉายอยู่ในขณะนี้ครับ เพราะทางนั้นก็อ้างว่าเป็นเรื่องแรกเหมือนกัน

แต่แม้จะออกจากโรงไปเงียบๆ หนังแม่นาคเรื่องนี้ก็ยังเก็บเงินไปได้โข นั่นคือถึงหลัก 10 ล้าน คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มกลายเป็นแม่นาคให้โชคไปเลย

ตัวเลขรายได้ของแม่นาคทำให้เห็นว่า ผีที่ดังที่สุดในประเทศไทยตัวนี้ยังคงมีเสน่ห์และดึงดูดใจสำหรับคนชอบความบันเทิงในทุกยุคทุกสมัย เอาว่าใครก็ตามหยิบเอาเรื่องนี้มาทำก็ไม่มีที่จะเจ๊งซักราย อย่างไรก็ตามเรื่องของแม่นากนี้ เอาเข้าจริงก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แท้ที่จะจริงแล้วเรื่องของแม่นาคนั้นซาบซึ้งใจด้วยตัวของความสัมพันธ์ระหว่างผีกับคนจริงหรือ หรือทุกอย่างเกิดซึ้งขึ้นมาเพราะ “การปรุงแต่งในโลกมายา” กันแน่?

เพราะในบรรดาผีทั้งหมดในเมมืองไทยนั้น เอาเข้าจริงแม่นาคก็ถูกนำมาสร้างเป็นสื่อบันเทิงกันมากที่สุด เอาเฉพาะภาพยนตร์ก็ปาเข้าไป 23- 25 ครั้ง (สร้างครั้งแรก 2479) อันนี้นับรวมกับหนังที่ฉายในยุค 80 อย่างหม้อแม่นาคแล้วนะครับ แถมกลายเป็นละครโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง เป็นละครวิทยุอีกมากมาย ไม่นับละครเวที “อีนากพระโขนง” ซึ่งเป็นละครร้องของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จัดแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2455 ที่โรงละครปรีดาลัย กล่าวโดยสรุปนางนาคพระโขนงกลายเป็นความบันเทิงมาได้ 100 ปีแล้วนะครับ

ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นเรื่องปรุงแต่งเกินครึ่งก็เพราะ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์แม่นาคเฮี้ยนนั้นยากที่จะระบุว่าเกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 หรือปลายรัชกาลที่ 3 หรือ รัชกาลที่ 4 เพราะเอาเข้าจริงแล้ว หลักฐานที่พอจะบันทึกเอาไว้ชัดๆ ก็หาได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยและสร้างรวมถึงร่ำลือกันขึ้นมา ก็เหมือนตำนานบ้านผีสิง ตำนานโรงพยาบาลร้างแถบชายฝั่งตะวันออก หรือแม้กระทั่งตำนานลิฟท์แดงในมหาวิทยาลัยแบบนั้น

แต่ในอดีตสมัยที่หนังแม่นาคของคุณอุ๋ย นนทรีย์ นิมิตรบุตร ทำหนังเรื่องนี้จนรายได้ทะลุเป้าและทำให้หนังไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก็ได้มีนักประวัติศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทยอย่างคุณอเนก นาวิกมูล เขียนถึงแม่นาคพระโขนงเอาไว้ด้วยว่า หลักฐานเก่าที่สุดที่พูดถึงมาจากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442 โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่พูดถึงเรื่องแม่นาคว่ามีตัวจริงเสียงจริง บทความดังกล่าวมีดังนี้

“อำแดงนาก เปนบุตรขุนศรี นายอำเภอบ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระจ้าวบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี อำแดงนากมีครรภ์ คลอดบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่ม ทศกรรฐ์สามี นำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุด ๆ นี้ พระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เปนผู้สร้างวัดมหาบุด แต่ท่านยังเปนมหาบุดในรัชกาลที่ 2...”

ดูแบบนี้แล้วก็น่าจะอนุมานได้ว่า เรื่องราวผีแม่นาคน่าจะเกิดในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 2 เรื่องที่บันทึกไว้มีอยู่ว่า อำแดงนากนั้นตายทั้งกลม คือตายจากการคลอดลูก แต่นางนากนั้นไม่ได้เพิ่งจะมีลูกเป็นคนแรกนะครับ เธอมีมาแล้วหลายคน เหตุเพราะนายชุ่มนั้นเล่นโขนเป็นตัวทศกรรณ์ที่ดังพอควรจึงมีผู้หญิงมาติดมากมาย ลูก ๆ ของอำแดงนากก็เกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน ก็เลยรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน

ความเฮี้ยนที่เกิดจากคนซึ่งก็คือลูกๆของแม่นาคได้ทำนั้นก็เลยกลายเป็นความสนใจของผู้คนในแถบนั้นขึ้นมา จากแค่ผีแม่นาคปาหิน ก็กลายเป็นผีแม่นาคที่สามารถจะเนรมิตตัวให้ใหญ่โตได้ แล้วก็น่าจะกลายเป็นและเฮี้ยนจริงๆ ขึ้นมา จนสุดท้ายก็กลายเป็นตำนานแห่งท้องทุ่งพระโขนงไปในที่สุด

คุณเอนกยังได้เสนอหลักฐานอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านก็ยังเคยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับผีแม่นาคใหนังสือทวีปัญญา โดยใช้นามปากกาว่า “นายแก้วนายขวัญ” พระองค์ท่านสมมติให้นางนากมีผัวชื่อโชติ โดยให้เป็นกำนัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องของนางนาคนี่ดังจริงๆแล้วก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องในชั้นหลังๆนี่น่าจะเป็นเรื่องปรุงแต่งมากเกินครึ่ง เพราะต่อให้ถึงปี พ.ศ. 2447 แล้วผัวของแม่นาคก็ยังไม่ชื่อ “ไอ้มาก” เสียที

ถ้าอย่างนั้นไอ้มากมาเวลาไหนกันละครับ ? คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ละครเรื่อง “อีนากพระโขนง” ซึ่งเป็นละครร้องของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จัดแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2455 นั่นแหล่ะครับ ที่คนเขียนบทเขาวางโครงเรื่องเอาไว้ให้เกี่ยวกับความรัก อภินิหาร และพระอาจารย์หรือเป็นเกจิชื่อดังในยุคนั้นกันไว้แล้ว คุณเอนกบอกว่าบทละครเรื่องอีนากพระโขนงนั้นตีพิมพ์เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ตรงกับ ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2454

“…บทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง (ว่าเปนเรื่องจริง) หมากพญา(นามปากกาของกระพระนราฯ) รจนาสำหรับลครในปรีดาลัย ร.ศ. 131 ทรงกำหนดให้ตัวละครมีตัวสำคัญๆดังนี้ 1. นายมาก อายุ 35 สามีอำแดงนาก เปนคนซื่อ ๆ2. ขรัวเต๊ะ อายุ 62 อาจาริย์วิชาอาคม 3. ตาปะขาวเม่น อายุ 65 ผู้มีวิชาอาคม 4. สามเณรเผือก อายุ 18 ศิษย์ขรัวเต๊ะเจ้าเวทมนต์ 5. อำแดงนาก อายุ 32 ภรรยานายมาก เปนคนดี..”

นายมากเพิ่งมาปรากฏชื่อในบทละครเรื่องนี้ เช่นเดียวกับพระเกจิกับสามเณรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แม้ในบทละครจะใช้ชื่อว่า “ขรัวเต๊ะ” ซึ่งเชื่อว่าตัวละครตัวนี้นำมาจาก “ขรัวโต” หรือสมเด็จพุทธาจารย์โตที่ประชาชนรู้จักในฐานะยอดพระเกจิอาจารย์แห่งเมืองกรุงในเวลานั้น(ท่านมรณะภาพปี พศ. 2415) ซึ่งก็คงจะสืบเนื่องมาจาก “ปั้นเหน่ง” ที่ว่ากันว่าท่านคาดเอวไว้และสืบทอดต่อไปอีกหลายทาง เพียงแต่ในละครเปลี่ยนเป็นขรัวเต๊ะ ซึ่งสะกดด้วย ต เต่า เหมือนกัน เพราะผู้เขียนอาจจะถูกตำหนิได้ถ้าเอาชื่อขรัวโตมาจริงๆแต่เพราะความนิยมของละครเรื่องนี้ที่เล่นกัน 24 คืน เรียกว่าเป็นละครยอดฮิตกันเลย เรื่องราวของนางนาค ปั้นเหน่งนาง สมเด็จโต และนางนาคเก็บมะนาวกับสากกระเบือ ที่อยู่ในละครก็กลายเป็นแม่แบบให้กับโครงเรื่องแม่นาคพระโขนงทั้งมวล

แต่ข้อสรุปตรงงนี้ก็ยังไม่จบ เพราะ ถ้าเผื่อตามประวัตินั้นผีนางนาคเกิดขึ้นเพราะลูกของนางนาคเป็นคนสร้างขึ้นมา แล้วสมเด็จโตกับปั้นเหน่งของท่านมา “เกี่ยวข้องจริงๆ” กับเรื่องด้วยหรือไม่

ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า คอลัมน์นี้เขียนเพื่อตามรอยทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวในโลกบันเทิง และนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวกับความเชื่อและไม่คิดจะดูหมิ่นคนที่เชื่อในเรื่องของแม่นาคพระโขนงแต่อย่างไร เพราะ ปัจจุบันศาลแม่นาคที่วัดมหาบุศย์ก็ยังได้รับความศรัทธาอย่างเนืองแน่นโดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์และช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหาร ซึ่งประวัติของนางนาคจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่คนที่ไปขอพรจากศาลดังกล่าวก็มีคนจำนวนมากที่สมปรารถนากับเรื่องที่ขออยู่เหมือนกันครับ

เรื่องราวเหนือธรรมชาติแบบนี้ไม่เชื่อก็อย่าไปลบหลู่อย่างเด็ดขาด

ปล. แม่นาคนั้น ตอนแรกๆ สะกดด้วยตัว กไก่ ไม่ใช่ ค ควาย และเรียกกันว่า “อีนาก” ไม่ใช่แม่นาคอย่างในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น