ขึ้นชื่อว่า “เสือปืนไว” ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้กำกับภาพยนตร์ที่อุบัติเกิดมาจากอาชีพแมวมองอย่าง “พจน์ อานนท์” เพียงขอให้มีอะไรที่เกิดเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ โฉ่ฉาวขึ้นในสังคม นักทำหนังผู้นี้เป็นต้องหยิบจับมาขึ้นจอ อย่างไม่รอให้กระแสสร่างซา
เพราะถ้าไม่นับรวม “ศพเด็ก 2002” ที่ออกฉายไปเมื่อปีก่อน ล่าสุด ก็มี “รักเอาอยู่” หนังควันหลงจากเหตุการณ์น้ำท่วม และที่จะเข้าฉายเร็วๆ นี้ อย่างเรื่อง “ปล้นนะยะ 2 อั๊ยยะ” ที่ไปผูกกับกระแสปลัดเงินล้านที่เป็นข่าวฉาวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
เรียกว่า “ไว” ชนิด “คิดเร็วเคลมเร็ว” จนน่าทึ่ง เพราะการทำหนังเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่แค่คุณคิดอะไรสักอย่างขึ้นมาแล้วแบกกล้องออกไปถ่ายทำได้เลย หากแต่มันประกอบไปด้วยหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนในการทำหนัง แต่พจน์ อานนท์ ก็เหมือนมีมนต์วิเศษเสกเป่าให้เจ้าของเงินเห็นดีเห็นงามด้วยเสมอ แต่จริงๆ คุณพจน์แกก็คงไม่ได้มีอะไรแบบนั้นหรอกครับ
สิ่งที่คุณพจน์มีก็คือ เครดิตความไว้เนื้อเชื่อใจครับ เพราะหนังของคุณพจน์ ต่อให้ขี้เหร่แค่ไหน โดนด่าสาดเสียเทเสียอย่างไร สุดท้ายก็ไม่ใช่หนังเจ๊ง ขาดทุน ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าจากน้องๆ ทีมงานช่องซูเปอร์บันเทิงบางคนว่า ได้รับเอสเอ็มเอสจากคุณพจน์ อานนท์ ว่า “หนังพี่ไม่เคยทำเงินนะครับ” (จนน้องคนนั้นงงว่าส่งมาทำไม? 555) ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จอย่างไร แต่ผมก็เห็นด้วยครับ หนังของคุณพจน์ อานนท์ ที่หลายคนบอกว่า “ทำให้วงการหนังไทยตกต่ำ” นั้น แท้ที่จริงแล้ว ไม่เคย “ทำให้นายทุนตกตาย” เลยสักราย
และเครดิตตรงนี้แหละครับที่ส่งผลให้การเอ่ยปากขอทุนของคุณพจน์ อานนท์ ได้ผลเสมอมา ไม่ว่าจะโปรเจคต์ยาวๆ หรือสั้นๆ กระชั้นชิดอย่างเรื่อง “รักเอาอยู่” ที่เพิ่งเข้าโรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้รับการอนุมัติให้ผ่านฉลุย
“รักเอาอยู่” อาจไม่ได้กำกับโดยพจน์ อานนท์ แต่ในฐานะของต้นหนคนริเริ่ม ต้องให้เครดิตกับเขา นั่นยังไม่ต้องพูดถึงบทบาท “เจ้าของเรื่อง” รวมไปจนถึง “ผู้อำนวยการสร้าง” ก็บ่งบอกอย่างแจ่มชัดแล้วว่า พจน์ อานนท์ คือผู้อยู่เบื้องหลังงานชิ้นนี้
ความเตะตาอันดับแรกสุดสำหรับเราๆ ท่านๆ ผู้คุ้นเคยกับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ก็คือ ชื่อเรื่อง ที่ผูกเนื่องไปถึงถ้อยคำของใครบางคนที่ตะโกนบอกชาวบ้านตอนน้ำท่วมว่า “เอาอยู่ค้าาา” แต่ทว่าเอาไม่อยู่ เพราะกระแสน้ำหลากพรูไปทั่วเมือง นี่คือกึ๋นของการคิดชื่อหนังซึ่งฟังแล้วก่อให้เกิดความเชื่อมโยงได้ง่ายว่าหนังเกี่ยวกับอะไร
“รักเอาอยู่” กำกับร่วมโดยสามผู้กำกับ คือ ธนดล นวลสุทธิ์, ธรรมนูญ สกุลบูรณ์ถนอม, และทิวา เมยไธสง สองคนแรกเป็นใครมาจากไหนและเคยมีผลงานอะไรบ้าง ผมไม่ได้ติดตาม แต่สำหรับทิวา เมยไธสง นั้นเคยทำหนังมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ตอกตราผี, ผีช่องแอร์, เชือดก่อนชิม แต่พูดจริงๆ ผมชอบฝีมือการถ่ายภาพของเขามากกว่าการกำกับภาพยนตร์ ผลงานภาพของเขาได้รางวัลมาแล้วจากหลายเวที ล่าสุด คือ จากเรื่อง “หมาแก่อันตราย” ของต้อม-ยุทธเลิศ ที่ได้รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ ภาพที่ถ่ายในมุมเลนส์ไวน์ของเขานั้น น่าตื่นตาตื่นใจเสมอสำหรับผม
เช่นเดียวกับที่ชอบการถ่ายภาพของทิวา ในหนังทุกๆ เรื่อง ผมเห็นว่า สิ่งที่ดีที่สุดของ “รักเอาอยู่” ก็คืองานด้านภาพซึ่งรับหน้าที่โดยทิวา ผมคิดว่า ถ้าเขาเก็บภาพนิ่งไว้บ้าง สามารถรวมเล่มเป็นโฟโต้บุ๊กบันทึกเหตุการ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ได้เลย (หรือจะทำใจเย็นๆ รอถ่ายเพิ่มปีนี้ก็ได้ เพราะดูจากศักยภาพรัฐบาลแล้ว น่าจะ “เอาไม่อยู่” อีกปีหนึ่ง หุหุหุ)
“รักเอาอยู่” ออกสตาร์ท ณ จุดที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่ต่างอะไรกับหนุ่มพนักงานบริษัทตกแต่งบ้านอย่าง “ถุง” ที่ต้องทุลักทุเลกับการดำเนินชีวิต ก่อนที่ “ส่างหม่อง” เพื่อนร่วมงานจะชวนไปเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทำให้เขาได้รู้จักกับ “เม่ยสุ่ย” หญิงสาวจิตอาสาซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ถูกชะตากับถุงราวกับไม้เบื่อไม้เมา
ในความเป็นหนังเร่งรีบกับกระบวนการถ่ายทำ ผมคิดว่า เนื้อเรื่องของหนังนั้น “เอาอยู่” ระดับหนึ่ง คือมีต้น มีกลาง มีท้าย มีเป้าหมายว่าอยากพาเรื่องราวไปจบตรงไหนอย่างไร ผ่านพล็อตที่ถูกผูกขึ้นมาแบบหลวมๆ ด้วยการให้คนสองคนที่ไม่ค่อยถูกชะตากันมาพบกัน ก่อนจะพัฒนาให้เกิดความสัมพันธ์ในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งตรงนี้แหละครับที่มักจะเป็นปัญหาของหนังไทยหลายต่อหลายเรื่อง ตัวละครไม่ชอบขี้หน้ากันจะเป็นจะตาย แต่พอถึงบทจะพลิกความรู้สึกต่อกัน ก็พลิกขึ้นมาดื้อๆ พัฒนาการทางความเปลี่ยนแปลงถูกรวบรัดตัดตอนจนขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลให้หนังมีสภาพไม่ต่างไปจาก “นิทานหลอกเด็ก” ที่เหตุและผล ความเป็นไปได้ เบาหวิวไร้น้ำหนัก เช่นเดียวกับเรื่องรักระหว่าง “ถุง” กับ “เม่ยสุ่ย”
อย่างไรก็ตาม เพราะความเข้าใจว่าเป็นงานรีบเหมือนอาหารจานด่วน บางองค์ประกอบจึงดูห้วนๆ กันบ้างพอให้อภัย แต่ปัญหาใหญ่ๆ ของหนังนั้น คือ อรรถรสครับ หนังดูแล้วเฉยๆ ไม่หือไม่อือ จะเอาซึ้งก็ซึ้งไม่ถึงฝั่ง จะตลกรึก็ตลกฝืดๆ ไร้จาระบี สำหรับผม ในหนังเรื่องนี้มีมุกดีมุกเดียวคือตอนที่ฟิล์ม-รัฐภูมิ โดนยาชา นอกนั้น ผมแทบจะยึดโรงหนังเป็นห้องนอน
แต่ไม่ว่า “รักเอาอยู่” จะ “ไม่เอาอ่าว” สักแค่ไหน สิ่งที่ผมรู้สึกขัดใจมากที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องนั้น หากแต่เกี่ยวข้องกับมุมภาพที่คาบเกี่ยวกับการนำเสนอ “เ(ค)รื่องเพศ” อย่างไร้รสนิยม โอเค ผมอาจจะคิดมากไปเอง แต่ภาพมุมหนึ่งซึ่งกล้องตั้งถ่ายเสยเม่ยสุ่ยซึ่งใส่ยีนสั้นจนฟิตเปรี๊ยะนั้น มันขับเน้นหนั่นเนื้อที่อยู่ในร่มผ้าจนดูน่าเกลียด คุณน้องนักแสดงอย่าง “บุศริน หยกพรายพันธุ์” กับบทสาวแว่นเม่ยสุ่ยนั้นดูน่ารักโดยธรรมชาติอยู่แล้วนะครับ แต่เจอฉากนี้เข้าไป มันล้ำเส้นความน่ารักไปไกลเลย
เช่นเดียวกัน ฉากที่ฟิล์ม-รัฐภูมิ นุ่งกางเกงรัดรูปจนตึงโป๊ะนั้น หนังก็ยังอุตส่าห์ให้เขานั่งถ่างขาโชว์แบบเต็มเหนี่ยวให้เก้งกวางสยิวสะเหยียวใจเล่นๆ ก็ได้อยู่ แต่ถ้าลองใช้สมองคิดดู มันไม่จำเป็นขนาดนั้นนะครับ แล้วคุณนั่งอยู่ต่อหน้าผู้หญิงอย่างนั้น นั่งแหกถ่างอย่างกับจะโชว์ความอลังฯ มันดูเฟอะฟะไปหน่อยไหม?
แทนที่จะโชว์เป้า น่าจะดีกว่า ถ้าฟิล์ม-รัฐภูมิ จะโชว์ศักยภาพในการแสดง ซึ่งในมุมมองของผม ถ้าหากพจน์ อานนท์ สมควรได้รับรางวัล Life Time Achievement อย่างที่หลายคนออกปากแซว เหตุเพราะความขยันในการทำหนัง อีกทั้งเป็นหนังที่บันทึกเรื่องราวทางสังคม ผมคิดว่า นักแสดงนำอย่าง “ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์” ก็ควรได้รับรางวัล “หล่อ Time Achievement” เช่นเดียวกัน เพราะผมติดตามผลงานการแสดงภาพยนตร์ของดาราคนนี้มาหลายต่อหลายเรื่อง ก็ยังเห็นว่าหน้าตาความหล่อคือองค์ประกอบที่ดีที่สุดในตัวเขา ส่วนฝีไม้ลายมือในการแสดง ดูจะไม่ก้าวไปข้างหน้าเช่นเดียวกับอายุงานเลย
ใน “รักเอาอยู่” ฟิล์มยังดูเป็นฟิล์ม ด้วยคาแรกเตอร์ที่ถูกกักขังให้อยู่ในกรงของความหล่อ มันลำบากนะครับกับการที่ต้องรับบทเป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง แต่คนดูยังรู้สึกว่า นี่คือฟิล์ม-รัฐภูมิ
นักแสดงที่ดี ใช่หรือไม่ว่า ควรจะต้องหลอมเหลวกลืนกลายหายไปในบทบาทที่ตนเองแสดงนั้น?
ผมยินดีด้วยนะครับที่เห็นเครดิตของฟิล์ม-รัฐภูมิ ในฐานะโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่อง “รักเอาอยู่” อย่างน้อยที่สุด นี่คืออีกก้าวสำคัญบนทางเดินชีวิต ผมลองเลียบๆ เคียงๆ ถามท่านผู้รู้ดู เขาบอกว่า การจะเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นแสดงที่ดีก็ได้ รู้แบบนี้ ก็น่าดีใจกับคุณฟิล์ม-รัฐภูมิ เขานะครับ!!