xs
xsm
sm
md
lg

เส้าหลิน ต้นกำเนิดวิทยายุทธจริงหรือ ?(1)/ต่อพงษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายครั้งที่ผมถูกตั้งคำถามจากคอนวนิยายกำลังภายในในเรื่องที่ว่า “ ใครเก่งที่สุด” จนบัดเดี๋ยวนี้ผมก็ยังตอบคำถามเหล่านั้นด้วยคำตอบเดิมๆว่า “ มันแล้วแต่จักรวาลของใคร”

เรื่องจักรวาลของคนเขียนนี่สำคัญมากครับ เพราะผู้เขียนเป็นตัวกำหนดกันว่า ใครจะแน่กว่าใคร อย่างถ้าเป็นรุ่นเก่าอย่าง “กิมย้ง” ก็จะยกให้เส้าหลินเป็นผู้นำยุทธจักร หรือ “เนี่ยอู่เช็ง” ก็ยกให้กระบี่แห่ง “สำนักเทียนซาน” เป็นเต้ยในยุทธจักร โกวเล้งนั้นสำนักไม่ค่อยมาตรฐานเท่าที่ควรแต่ก็ยอมรับว่าเส้าหลินเป็นหลักใหญ่แต่มักไม่เก่งเท่าสำนักมารและจอมยุทธผู้เดียวดายและไร้ที่มาอย่างในฤทธิ์มีดสั้น หวงอี้นั้นได้บุกเบิกเส้นทางใหม่นั่นคือสร้างจักรวาลและสร้างสำนักและยอดวิชาใหม่ๆขึ้นมาอย่าง “วัดเช็นพิสุทธิ์” และ “เรือนฌานเมตไตรย” ขึ้นมาบดบังรัศมีของเส้าหลินกันไป

แต่ถ้านับเอาจักรวาลทั้งหมดแล้วดู “ความถี่” ที่ถูกใช้งาน เราก็ต้องยกให้ “เส้าหลิน(Shaolin)” เป็นผู้นำของยุทธจักรและเป็นผู้ให้กำเหนิดวิทยายุทธทั้งมวลไปโดยปริยาย ส่วนจะเก่งที่สุดในเรื่องหรือเปล่า นั่นอาจจะต้องมาไล่พิจารณาดูกันไป

ความจริงเครดิตนี้เอาเข้าจริงอาจจะต้องยกให้กิมย้งซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามของผู้ลงหลักปักฐานจักรวาลกำลังภายในเป็นผู้ที่ทำให้มันหนักแน่นขึ้น เพราะโครงในจักรวาลของกิมย้งนั้นยกให้เส้าหลินเป็นศูนย์กลางแห่งการกระจายยอดยุทธต่างๆออกไปสู่แผ่นดิน โดยเฉพาะ 72 มวยเส้าหลินนั่นแตกแขนงแยกย่อยออกไปไม่รู้จบทีเดียว

ยังไม่นับคัมภีร์เก้าเอี๊ยง หรือ เก้าหยาง อันร้อนแรงที่มาจากวัดเส้าหลินจนทำให้เตียบ่อกี้เป็นยอดยุทธนะครับ

และเพราะรากฐานทางความเชื่อและโครงร่างที่กิมย้งเขียนขึ้นมานี้เองก็ยิ่งทำให้คนยิ่งเชื่อมั่นว่าผู้ที่น่าจะเก่งที่สุดในโลกกำลังภายในย่อมต้องเป็น “ปรมาจารย์ตั๊กม้อ” หรือพระโพธิธรรม ผู้ซึ่งเดินทางมาจากอินเดียในยุคปลายของราชวงศ์เหนือใต้โดยมาลงหลักปักฐานที่วัดเส้าหลินในเหอหนาน ซึ่งถ้านับจากยุคที่ท่านตั๊กม้อมาถึงและเริ่มเผยแพร่พุทธแบบเซน การรบพุ่งและการทำสงครามในอาณาจักรจีนนั้นมีกันมาตลอดเวลา ซึ่งทำให้ตั๊กม้อก็ไม่น่าจะเป็นคนที่มีวิทยายุทธที่เก่งกาจที่สุดไปได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันที่ว่า เส้าหลินก็ไม่ใช่ผู้ให้กำเหนิดวิทยายุทธนะครับ

แต่ถ้าถามว่าแล้วใครให้กำเนิดกันแน่ ก็ต้องไล่ดูตั้งแต่การกำเหนิดประเทศจีนขึ้นมาทีเดียว

ความจริงแล้วเรื่องราวของวิทยายุทธและการใช้กำลังภายในของคนจีนนั้นมีมาก่อนยุคของตั๊กม้อมากมาย ตามประวัติที่บันทึกไว้จริงๆ การใช้พลังภายในเพื่อบำรุงร่างกายและเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายเพื่อใช้ในการต่อสู้ก็มีมาตั้งแต่สมัยจักพรรดิเหลืองหรือหวงตี้ (Huang Di)หรือ 4000 ปีก่อนคริสต์กาลกันแล้ว แต่เนื่องจากเรื่องของหวงตี้นั้น ดูเหมือนจะเป็นเทพนิยายที่คนรุ่นโน้นคิดขึ้นมาเพื่ออธิบายความเป็นไปของโลกและปรากฏการณ์ต่างๆมากกว่า ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าเรื่องของหวงตี้จะเอามาอ้างอิงได้หรือไม่ แต่ทว่าในศาสตร์ที่หวงตี้พูดถึงการมีอายุยืนยาวนั้น มีเรื่องของการใช้ยา ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และ ศิลปะการต่อสู้ด้วย ที่สำคัญศัตรูของหวงตี้ที่มีชื่อว่าชิอี้(Chi You) ก็เป็นคนเขียนตำราที่มีชื่อว่า เจียวดี้ ( the creator of jiao di) อันเป็นตำราว่าด้วยการต่อสู้และการฝึกฝนในสไตล์มวยปล้ำของจีนเสียด้วยซ้ำไป

วิทยายุทธจริงๆก็เลยเกิดมาตั้งแต่ 4000 ปีที่แล้วโน่นแนะครับ

ความจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วิทยายุทธจะมีต้นกำเหนิดไปได้ไกลขนาดนั้น เพราะมันคงจะพัฒนามาตามความขัดแย้งของชาติและเผ่าพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเผื่อวิทยายุทธมีส่วนช่วยในการพัฒนาความสามารถทางการทหาร บรรดานักวิชาการในยุคนั้นก็คงจะต้องหาทางเพิ่มพูดสิ่งเหล่านี้ให้กับกองทัพของตัวเองเป็นแน่

ยิ่งจีนในยุคโบราณนั้นเกิดการสู้รบกันทุกๆ 20 ปี การพัฒนาขีดความสามารถของมนุษย์เพื่อรับใช้ชาติก็ยิ่งต้องมีมากขึ้นๆ

หลักการจากตำราเจียวดี้ที่ว่านั้นเมื่อมาถึงยุคฉินสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ มันได้กลายเป็นกีฬาหรือเอาไว้ประลองกัน แต่เป็นการประลองที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ใช้อาวุธ แต่ใช้มือ เท้า และส่วนต่างๆของร่างกายในการเข้าประจัญบานกัน เรื่องราวเหล่านี้นักประวัติศาสตร์สมัยฮั่นที่ชือว่า ซือหม่าเชี่ยน (Sima Qian 100BC) ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องของประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Records of the Grand Historian (Shǐ Jì)

ในสมัยราชวงศ์ถังก็ยิ่งชัดเจนว่า การละเล่นกับอาวุธและเพลงอาวุธที่ใช้หมัด เท้าและความสามารถของร่างกายก็ยิ่งเป็นที่นิยมมาก หลี่ไป๋ จอมกวีและก็เป็นจอมกระบี่แห่งราชวงศ์ถังเขียนบันทึกในเรื่องนี้ออกมาเป็นโคลงที่สวยงามมาก จากหลักฐานที่หลี่ไป๋บันทึกเอาไว้ว่า ราชสำนักนั้นเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของการจัดประลองยุทธ ซึ่งกลายเป็นประเพณีของราชสำนัก เพราะในสมัยซ่งเหนือ ซ่งใต้ และราชวงศ์หยวน การจัดการประลองเพื่อหา “จอมยุทธคู่บัลลังค์”ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

เรื่องน่าสนใจก็คือ ศิลปการป้องกันตัวของจีนนั้นพัฒนามาพร้อมๆกับวิวัฒนาการทางสังคม ศาสตร์ของการต่อสู้นั้นถูกพัฒนาโดย “นักวิชาการของยุคสมัย” ซึ่งในยุคนั้นยอดวิทยายุทธจะมาจาก “ลัทธิเต๋า” เสียมากกว่า อย่าง “จวงจื๊อ” สุดยอดปรมาจารย์เต๋าซึ่งมีชีวิตอยู่ใสช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์กาล ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ใช้พลังเป็น ขณะที่ใน ”คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง” หรือ “เต๋าเต๋อจิง” ซึ่งน่าจะรจนาโดย “เหล่าจื้อ” ก็ว่าด้วยพลังภายใน พลังภายในก่อนกำเนิด พลังภายในหลังกำเนิด ซึ่งสามารถเชชื่อมต่อกับพลังแห่งฟ้าดินและจักรวาล ประโยคที่อยู่ในคัมภีร์นี้สามารถเอามาแอพพลายใช้ได้กับการบังคับและก่อร่างกำลังภายในของมนุษย์เรา จุดนี้เองที่ทำให้คนที่ฝึกฝนเรื่องดังกล่าวสามารถนำความสามารถในการใช้พลังไปใช้ได้กับทุกศาสตร์ไล่ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอันเป็นอมตะและยืนยาวที่สุด ไปจนกระทั่งการเพิ่มความอึดในสนามรบ ยันการต่อสู้ให้ได้ความสุขสุดยอดบนเตียง

แต่เราจะว่าบรรดานักพรตเต๋าเหล่านี้ถือเป็นสุดยอดฝีมือได้หรือเปล่าอันนี้ก็ต้องเถียงกันต่อไป แต่ที่แน่ๆเหล่านี้มาก่อนวัดเส้าหลินกับท่านตั๊กม้อทั้งสิ้น

กลับไปที่เรื่องของลัทธิเต๋าอีก สมัยแรกที่ศิลปะการต่อสู้ปรากฏแบบไม่ชัดเจนเท่ากับศิลปะของการควบคุม สร้างสรรค์ และบังคับใช้พลัง แต่กระนั้นเมื่อเข้ามาถึงประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์กาล บรรดาเต้าหยินหรือนักพรตเต๋าก็เริ่มจะพูดถึงพลังเพื่อใช้ในการต่อสู้อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งมีการบันทึกไว้ในหน้า 32-92 ของบทที่ชื่อ หกบทของศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า (Six Chapters of Hand Fighting) ในหนังสือ Han Shu หรือ ประวัติศาสตร์ของฮั่น เขียนโดยพานขู่ ขณะที่หมอฮัวโต๋ หรือ หัวเทา ในยุค 3 ก๊ก ก็เขียนบันทึกในเรื่องมวยสัตว์ท้งห้า อันประกอบไปด้วย เสือ ลิง กวาง นก และหมี ในปี 220 ก่อนคริสต์กาล ที่ชัดเจนที่สุดว่าเต๋าเองก็ได้สร้างสรรค์รูปแบบของศิลปะการต่อสู้ขึ้นมาก็คือ เรื่องราวของโป้ยเซียน (Eight Immortals) ซึ่งแต่ละตอนก็ใช้เทคนิคของการต่อสู้เข้าช่วยโลกหรือแม้กระทั่งสั่งสอนลูกศิษย์ก็มี

ปัญหาอย่างเดียวของศิลปะการต่อสู้ในแบบเต๋าหรือขงจื๊อยุคโบราณก็คือ การที่ไม่สามารถสืบทอดหรือถ่ายทอดกันได้แบบมนุษย์ทั่วไปควรจะได้เรียนรู้ เรียกว่ากว่าจะเรียนรู้ศาตร์ของเต๋าได้ก็ต้องอดทนและเพียรปฏิบัติธรรมะตามหลักการไปอีกนาน ซึ่งกว่าจะค้นพบเรื่องของพลังได้หรือเปล่านั้นก็อาจจะใช้เวลานานไป แถมบางเรื่องก็อธิบายด้วยตาเปล่าไม่ได้ ต้องใช้สัมผัสในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งต่างไปจากการเรียนหนึ่งสือทั่วไปที่สามารถอธิบายและเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

อีกอย่างที่การเป็นเต้าหยินแต่ไม่ปรากฏว่าเป็นยอดฝีมือก็เพราะหลักการของพวกนี้ก็คือ แสวงหาการหลุดพ้น มิใช่เอามาใช้เพื่อช่วงชิงหรือเอาชนะกันในสนามรบหรือสนามนักสู้ เส้นเสียแต่ว่าเต้าหยินท่านนั้นจะมีแนวคิดเป็นนักการเมืองด้วยอย่างพรตอมตะคูชู่กีซึ่งเข้าไปรับใช้ราชสำนัก อันนั้นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากเต๋าแล้วยุคก่อนที่ตั๊กม้อจะเข้ามาก็คือลัทธิขงจื๊อ ที่คัมภีร์ โจวหลี่ ที่เขียนขึ้นในราชวงศ์โจว (1122-1256 BC) ได้พูดถึงศาสตร์ชั้นสูง 6 ประการ ปรากฏว่าในศาสตร์ที่คนควรจะต้องเรียนเพื่อพัฒนาและรับใช้ชาติมีเรื่องของการยิงธนู และการพิชัยสงครามอยู่ด้วย(ที่เหลือคือ การเพาะปลูก การดนตรี การเพาะปลูก ศิลปะการแสดง และคณิตศาสตร์) ไม่ต้องพูดถึงพิชัยสงครามของซุนหวู่ ( The Art Of War By Sun Tzu) ซึ่งเขียนสมัยเลียดก๊กราว 400 ปี ก่อนคริสต์กาล ก็มีเรื่องราวของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแล้ว

แต่สิ่งที่ตั๊กม้อและเส้าหลินทำคืออะไรกันแน่?

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ยังมีเรื่องที่เป็นเกร็ดน่าคิดอีกเยอะทีเดียว ซึ่งก็ต้องต่อกันในสัปดาห์หน้าแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น