xs
xsm
sm
md
lg

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ : ไม่ได้ขอให้มารัก และเหมือนจะไล่ให้ไปโหลด?!!/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

“บิททอเรนท์จงเจริญ ถ้าผู้สร้างหนังโอดครวญว่าคนโหลดเยอะกว่าคนจ่ายเงิน
ต้องไปด่าเจ้าของโรงหนังเลยครับ เพราะค้ากำไรเกินควร”
“โลภ”
“ถ้างั้นหนังไม่มีคุณภาพ หรือต้นทุนหนังไม่สูง ก็ช่วยลดราคาตั๋วลงมาด้วยครับ”
ฯลฯ


หลากหลายความคิดเห็น และนี่ก็เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งอันน้อยนิดที่ดังมาจากฟากฝั่งของประชาชน ทั้งที่เดินเข้าโรงหนังเป็นประจำ และเลิกดูหนังไปนานแล้ว หลังจากโรงหนังระดับพี่บิ๊กของเมืองไทยอย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ออกมาประกาศนโยบายเกี่ยวกับการขึ้นราคาค่าตั๋ว เมื่อไม่กี่วันก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่บอกว่า ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์จากเมืองนอก จะมีการเพิ่มราคาค่าตั๋วอีก 20 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้คอหนังโรงหลายคนปรี๊ดออกมาได้เหมือนกัน เพราะเมื่อมองในด้านกลับ คำถามที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือว่า แล้วกับหนังฟอร์มเล็กๆ ที่ใช้ทุนสร้างไม่กี่แสนบาท อย่างเช่น หนังพวก “แวมไพร์สตรอเบอร์รี่” หรือ “มิดไมล์” อะไรพวกนั้น เราจะใช้วิธีคิดแบบนี้ได้ไหมว่า ต้องลดราคาค่าตั๋วลงมาเช่นกัน

แต่ก่อนอื่น ผมรู้สึกว่า สิ่งที่เราจำเป็นต้องพูดเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ธุรกิจโรงหนังนั้น ดูเหมือนจะปราศจากการควบคุมโดยสิ้นเชิง ทุกสิ่งทุกอย่างราวกับว่าจะอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้บริการแต่เพียงอย่างเดียว มันทำให้รู้สึกเหมือนอะไร ก็เหมือนกับแม่ค้าพ่อค้าขายข้าวแกงไงครับ นึกจะขึ้นราคาอย่างไรก็ได้ อ้างว่าหมูแพงบ้าง ไก่แพง ไข่แพงบ้าง แต่พอ “ของ” ลดราคา ก็ไม่เห็นจะลดให้ลูกค้าเลย

ผมไม่แน่ใจว่า ตรรกะแบบพ่อค้าข้าวแกงนี้สามารถนำมาใช้กับโรงหนังได้หรือเปล่า เนื่องจากมันเป็นธุรกิจคนละแบบ อย่างหนึ่ง “ทำตามใจ” (ขายข้าวแกง) แต่อีกอย่างมีการบริหารงานเป็นระบบ มีทุนหนุนที่ใหญ่ แต่คำถามก็คือว่า ทำไม โรงหนังจึงยังสามารถใช้วิธีการเดียวกันกับพ่อค้าขายข้างแกงได้?

กับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผมคิดว่าโรงหนังเจ้านี้ดูค่อนข้างจะขยันสร้างประเด็นให้ชาวบ้านชาวเมืองรัวกระสุนใส่ได้เรื่อยๆ แน่นอน มันเป็นความเจ็บปวด แต่ผมคิดว่าเมเจอร์เองน่าจะ “เข้าใจลูกค้า” มากกว่านี้ คือปากพูดเหมือนเข้าใจลูกค้า แต่จริงๆ มือกำลังล้วงเข้าไปในกระเป๋าของลูกค้า ใช่หรือไม่?

ยอมรับครับว่า บริการของเมเจอร์นั้นหลากหลาย และมีความใจกว้างอยู่บ้างกับบางการขาย อย่างเช่น บัตรเอ็มเจ็นที่อำนวยความสะดวก หรือแม้กระทั่งการลดราคาตั๋วเหลือ 80 บาทในวันพุธ ฯลฯ แต่อย่างหนึ่งซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องยิบย่อยที่ค่อนข้างน่าปวดหัวสำหรับคนดูหนังโรงที่เมเจอร์ทุกวันนี้ก็คือว่า มันมีการแบ่งเรตราคาเยอะเกินไปสักหน่อย แน่นอน เราอยากได้อะไรที่เป็นมาตรฐาน แต่คำถามก็คือ มาตรฐานคืออะไร เพราะสำหรับคนที่เดินเข้าโรงหนังเมเจอร์เป็นประจำ ยังมีคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า ตกลง คุณจะเอาราคาเท่าไหร่กันแน่ บางที 140 บางที 160 และบางที 180 หรือ 200 บาท

ผมชอบจังเลยกับบางความเห็นที่บอกว่า โรงหนังบ้านเราคุณภาพดีกว่าหลายๆ ประเทศ แม้แต่ที่อังกฤษ โรงหนังไม่สะอาด บริการก็ไม่ดี แต่ราคา 600-700 บาท เมื่อเทียบกับบ้านเรามันห่างไกลกันมาก แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมนะครับว่า ค่าครองชีพที่บ้านเขานั้น ต่างกันกับบ้านเรามากเช่นกัน

หลายคนส่งเสียงว่า ตอนนี้ เมเจอร์กำลังกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเองผ่านการขึ้นราคาตั๋ว ผมเห็นด้วยครับว่า นี่คือการผลักคนดูออกไปจากโรงหนังอยู่กลายๆ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า เดี๋ยวนี้ หนังที่เข้าโรงส่วนใหญ่ ไม่กี่วันก็หาดูได้ทางเน็ต หรือแม้แต่แผ่นผี นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงหนังต่างประเทศ สำหรับคนที่ไม่กลัวภาษาอังกฤษ สามารถหาดูได้ตั้งแต่หนังยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยด้วยซ้ำไป

ผมคิดว่า กระบวนการตอนนี้ที่เมเจอร์ควรจะหาบทสรุปให้ชัดเจนก็คือ ราคาค่าตั๋วมันควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่ต้องมาแบ่งแยกแตกซอยอะไรให้ยิบย่อยยุบยิบหรอกครับ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานไปเลย รับได้ก็ได้ รับไม่ได้ก็ไม่ได้ เท่านั้น จบ แต่เชื่อสิว่า เมเจอร์จะสามาารถพูดได้เต็มปากว่า “ข้ามีมาตรฐาน”!!
กำลังโหลดความคิดเห็น