ทันทีที่ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ประกาศด้วยน้ำเสียงแกร่งกร้าวราวกับเพิ่งกินหัวใจเสือมาหมาดๆ ว่า “ใครล้มเจ้า เจอกู” เชื่อแน่ว่า ถ้อยคำดังกล่าวคงส่งผลลบต่อรายรับของหนังอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย แต่ถามว่า เราจะปล่อยให้ผลงานของคนที่กล้าหาญขนาดนี้ ล้มพับไปต่อหน้าต่อตา กระนั้นหรือ?
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนในวงการบันเทิงคนหนึ่ง หาญกล้าออกมาประกาศจุดยืนอันชัดเจนของตัวเอง เพราะที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ที่ร่วมยืนข้างเคียงบ่าเคียงไหล่ขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังมีอ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง ที่ก็แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการต่อต้านผู้ที่มีความคิดไม่ดีต่อสถาบัน
แน่นอนครับว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกระทำของพวกเขา ย่อมคาดเดาได้ไม่ยาก ผมนึกถึงฉากบางฉากในหนังเรื่อง “ปัญญา-เรณู” ภาค 2 ของผู้กำกับบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ตอนที่เด็กชายปัญญาซึ่งเดินทางมาจากบ้านนอกเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประกวดร้องเพลงในเมืองหลวง และขณะที่รถตู้โดยสารแวะจอดพักในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง เขาเห็นเด็กวัยไล่เลี่ยกันสองคนกำลังหอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง ด้วยความเป็นคนซื่อใสจิตใจดี ทำให้เขาไม่รีรอที่จะเดินเข้าไปช่วย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เขาถูกตำรวจจับในข้อหาลักขโมย
นี่คือชะตากรรมของคนดีๆ คนหนึ่ง ซึ่งจะว่าไป ก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านนี้เมืองนี้ การทำความดี ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้รับผลที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเจ้าหน้าที่บ้านเมือง “ทื่อๆ” อย่างตำรวจสองสามนายที่จับเด็กชายปัญญาไปด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่ในประเทศแบบนี้ แม้จะทำความดี ก็สุ่มเสี่ยงต่อการตกที่นั่งลำบากได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ผมพูดถึงเด็กชายปัญญา เพราะรู้สึกว่า เอาเข้าจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณตั้ว-ศรัณยู, คุณอ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ หรือแม้กระทั่งคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ สุดท้ายแล้วก็มีความเป็นไปที่ไม่ต่างอะไรกันเลยกับเด็กน้อยจากชนบทอย่างปัญญาที่ต้องมารับเคราะห์กรรมเพราะการทำความดีของตนเอง อย่างน้อยที่สุด ถึงแม้จะไม่ได้ประสบเหตุอะไรทางด้านร่างกาย แต่ผลลัพธ์รายได้จากการสร้างงาน แทนที่จะได้สิบก็อาจจะเหลือแค่ห้าหรือน้อยกว่านั้น
เหนืออื่นใด นี่ไม่ใช่จะมาตัดพ้อน้อยอกน้อยใจอะไรแทนใครหรอกครับ เพียงแต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในบ้านนี้เมืองนี้ การทำดีมันมีราคาที่ต้องจ่ายแพงเกินไป และที่มันย้อนแย้งเป็นตลกร้ายขำไม่ออกก็คือว่า พวกที่ทำชั่ว กลับดูเหมือนจะไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น แถมทำแล้วยังได้รับค่าชดเชยอีกต่างหาก...ประเทศไทยจงเจริญ...
เกริ่นมายาวขนาดนี้ก็เพื่อที่จะนำเข้าสู่เนื้อหาของ “ปัญญา-เรณู” ภาค 2 นั่นแหละครับ เพราะโดยภาพรวมทั้งหมด หากจะให้นิยามผลงานเรื่องนี้ของคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ คงไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าคำว่า “ภาพยนตร์ของคนดี” เพราะหนังนำเสนอเรื่องราวของการทำความดีอย่างมีความพายายาม เพราะถ้าไม่นับรวมการทำความดีของเด็กชายปัญญา หรือ “บักปัญญา” อย่างที่ผมว่ามาแล้ว ตัวละครที่แสดงโดยหม่ำ จ๊กม๊ก นั้น ก็เป็นภาพแทนอีกอย่างหนึ่งของคนที่กล้าหาญในการทำความดีเพื่อท้องถิ่นชุมชน ดังนั้น ใครที่อาจจะคิดล่วงหน้าว่าหม่ำจะมาทำให้หนังเสีย ผมว่าคิดผิด เพราะตรงกันข้าม คุณหม่ำในเรื่องนี้ “การกระทำ” ของเขา “มันหล่อมาก”
องค์ประกอบหลักๆ ของหนัง ยังคงกลิ่นอายบรรยากาศความเป็นชนบทไม่ต่างไปจากภาคที่แล้ว ความเซอร์เรียลที่ให้ตัวละครออกมาฟ้อนเต้นเล่นร้อง (เหมือนหนังอินเดีย) ก็ยังคงมีให้เห็นในภาคนี้ ขณะที่ความตลกความฮาก็เป็นความหรรษาที่มีให้เก็บเกี่ยวได้ตามรายทางตลอดเรื่อง
ผมอาจจะบอกว่า ผมชอบภาคนี้ไม่เท่ากับภาคแรก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความซีเรียสเกินไปของผมเองที่รู้สึกว่า น้องเรณูในภาคนี้ ดู “เลยลิมิต” ความน่ารักไปสักนิด (บางคนว่าแก่แดดเกินไปหน่อย ผมก็ไม่เถียง) ขณะที่แกนของหนังยังไม่แน่นเท่าไหร่ว่าจะสื่อสารประเด็นอะไรเป็นสำคัญ
แต่กระนั้น สิ่งที่ทำให้หนังภาคสองพอฟัดพอเหวี่ยงได้กับภาคที่แล้ว กลับเป็นความดีที่ต้องยกให้กับตัวละครอย่าง “บักจอบ” เพื่อนรักของปัญญา ผมรู้สึกว่า เด็กคนนี้มีแววในด้านการแสดงตลกสูงมาก น่าเสริมส่ง เวลาชงและตบมุกแต่ละมุก เขาทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ได้ฮาไปกับเขาตลอด แม้แต่ตอนเข้าฉากกับตลกรุ่นเก๋าอย่างหม่ำ จ๊กม๊ก ก็ดูไม่ล่กแบบคนที่กลัวเกรงบารมีของรุ่นใหญ่แต่อย่างใด
ผมพอจะเข้าใจว่า กลิ่นอายบรรยากาศของภาคเก่าอาจจะยังรุมเร้าคุณบิณฑ์อยู่ จึงส่งผลให้หนังภาคใหม่ ยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเนื้อหาภาคเดิมค่อนข้างมาก กับการให้น้ำหนักกับเรื่องราวความรักระหว่าง “ปัญญา” กับ “เรณู” โดยมี “มือที่สาม” อย่างคุณมิว เข้ามาแทรกระหว่างกลาง
ดังนั้น หากจะให้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่า ถ้าคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ จะทำให้หนังเรื่องนี้มีแกนหลักอยู่ที่การสื่อสารเรื่องราวของคนดี ของการทำความดีไปเลย จะเจ๋งมาก เนื่องจากองค์ประกอบหลายทิศทางมีแนวโน้มไปทางนั้น หม่ำทำดี ปัญญาทำดี แม้แต่หลวงพ่อที่ทำบ่อเลี้ยงปลาหรือสานหญ้ามุงหลังคา ว่าอย่างถึงที่สุด ก็เกิดจากกุศลจิตส่วนหนึ่งซึ่งอยากจะช่วยชาวบ้าน ฯลฯ
หัวจิตหัวใจและความคิดความเชื่อของคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นอย่างไร ผมมองว่า เขาเองก็ใส่เข้าไปในหนังด้วยอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับ กับวาทะของคุณบิณฑ์ที่สื่อสารออกมาโดยตลอดทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กหรือกระทั่งในคำให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Astv ผู้จัดการสุดสัปดาห์ที่กล่าวอย่างอหังการ์ว่า “ใครล้มเจ้า เจอกู”
เพราะแม้แต่ในหนังปัญญา-เรณู ถ้าใครได้ดู ก็จะเห็นว่า มันมีซีนเล็กๆ ซีนหนึ่งซึ่งหนังใส่ไดอะล็อกอันบ่งบอกถึงความความซาบซึ้งต่อพระมหากรุณาธิคุณขององค์ในหลวงอย่างไม่อ้อมค้อม นั่นก็คือไดอะล็อกที่เริ่มต้นด้วยการพูดถึงโครงการในพระราชดำริ (โครงการแก้มลิง) แล้วลงท้ายด้วยคำว่า “ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ” ที่เราคนไทยผู้มีหัวใจจงรักภักดีคุ้นเคยอย่างที่สุด
ปัญญา-เรณู 2 อาจไม่ใช่หนังที่ยอดเยี่ยม แต่คำถามก็คือ เราจะปล่อยให้ผลงานของคนเช่นนี้ ล้มพับไปต่อหน้าต่อตา กระนั้นหรือ??