xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียรามา - รู้จัก United Filmmakers Organization: GTH แห่งฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


ขณะที่ GTH กำลังประสบความสำเร็จได้ด้วยงานที่เรียกกันติดปากว่า “ฟิลกู๊ด” อันบอกเล่าถึงชีวิต, ความทรงจำ และความฝันของคนยุคใหม่ …เมื่อร่วม 15 ปีก่อน มีกลุ่มคนทำหนังจากฮ่องกง ที่เรียกตัวเองว่า UFO ที่ผลงานของพวกเขามีกลิ่นชวนให้นึกถึงบริษัทผลิตภาพยนตร์ของไทยอยู่เหมือนกัน ขณะเดียวกันกับที่มีความแตกต่างกันอยู่บ้างในบางมุม

ในยุค 90s เป็นช่วงที่วงการหนังฮ่องกงกำลังอื้ออึงไปด้วยเสียงกระบี่ และควันปืน แต่ยังมีกลุ่มคนทำหนังจำนวนหนึ่งรวมตัวเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับวงการ ซึ่งก็ประกอบไปด้วยทั้ง ผู้กำกับดัง ปีเตอร์ ชาน, หลี่จื่อไหง, เจคอป เจิ้ง รวมไปถึงโปรดิวเซอร์หญิง คลอดี้ ชุน และนักแสดงตลกคนดัง เจิ้งจื่อเหว่ย ที่ร่วมกันเปิดตัวบริษัท United Filmmakers Organization หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า UFO นับเป็นความเคลื่อนไหวระดับ “ปรากฏการณ์” อยู่ในยุคนั้นได้เหมือนกัน

หลังจากทีมงานหลาย ๆ คนมีโอกาสทำงานร่วมงานกันมาก่อนในหนังโรแมนติกปี 1991 เรื่อง Alan & Eric - Between Hello and Goodbye (ก็เพราะสามเรา) ในปี 1992 บริษัททำหนังแห่งนี้จึงได้ฤกษ์เปิดตัว พร้อมงานแนวตลกแก๊งสเตอร์ The Day of Being Dumb กับการล้อเลียนหนังมาเฟียที่วงการหนังฮ่องกงเข็นออกมาแบบไม่บันยะบันยังในช่วงนั้น ที่ว่าด้วยสองหนุ่มเพื่อนซี้ เหลียงเฉาเหว่ย กับ จางเซียะโหย่ว ที่อยากเป็นนักเลง กับชื่อไทยที่เรียกได้ว่าสุดคลาสสิกอยู่เหมือนกันว่า “เข้าแก๊งไหนหัวหน้าตายหมด” ชนิดที่ว่าหลายคนรู้จักชื่อหนังเรื่องนี้กันได้โดยไม่เคยดูเลย

อย่างไรก็ตามนี่ยังไม่ใช่แนวทางการทำงานขนานแท้ของ UFO เพราะหลังจากนั้นพวกเขาเลือกที่จะพัฒนาหนังแบบที่มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวฮ่องกงมากกว่าขึ้นมาแทน เป็นงานที่เรียกว่าแตกต่างกับหนังกระแสหลักของฮ่องกงในเวลานั้น ที่ถ้าไม่กำลังภายใน ก็แก๊งสเตอร์มาเฟีย หรือตลกโปกฮาสไตล์ “โจวซิงฉือ” หรือ “หวังจิง” กันไป

ผลงานหนังส่วนใหญ่ของบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่มีชื่อเหมือนจานผีมนุษย์ต่างดาวบริษัทนี้ ครอบคลุมอยู่ในแนวทางของโรแมนติกคอมเมอดี้ หรือไม่ก็ดราม่าเป็นหลัก เป็นงานที่สะท้อนภาพชีวิตคนรุ่นใหม่วัยทำงานหรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ยัปปี้” ในฮ่องกง กับเรื่องราวจำพวกทางเลือกในชีวิต, ความทะเยอทะยานในหน้าที่การงาน, จุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ และชีวิตครอบครัว เป็นเรื่องราวธรรมดาสามัญที่เกิดได้กับทุกคน แต่ก็นำเสนอได้อย่างมีสีสัน และชี้ประเด็นได้น่าสนใจ

หนังที่สร้างต่อเนื่องหลายปีในช่วง 92 – 98 มีนักแสดงกลุ่มเดิม ๆ วนเวียนรับบทบาทในหนังหลายเรื่อง อาทิ หยวนหย่งอี๋, เฉินเสี่ยวชุน, ทาเคชิ คาเนชิโร่, เหลียงเฉาเหว่ย, เฉินฮุ่ยหลิน ฯลฯ น่าสังเกตว่าเป็นดาราที่มีภาพพจน์คนรุ่นใหม่รูปร่างหน้าตาร่วมสมัย แต่ยังมีความติดดิน ไม่ได้เต็มไปด้วยพลังแห่งเป็นซูเปอร์สตาร์อย่างพวก หลิวเต๋อหัว หรือ เลสลี่ จาง

แน่นอนว่างานที่โดดเด่นที่สุดของ UFO คงหนีไม่พ้นหนังจากฝีมือของ ปีเตอร์ ชาน คนทำหนังแถวหน้าของวงการภาพยนตร์ฮ่องกง ผู้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องพึ่งสูตรสำเร็จเก่า ๆ ของคนทำหนังรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็น Tom, Dick And Hairy (รักแบบเกาเหลา...ไม่ใส่ชูรส, 1992) ที่ว่าด้วยชีวิตของ 3 หนุ่มโสด กับทางเลือกด้านชีวิตรัก ส่วน He Ain't Heavy, He's My Father (ข้ามเวลามาหารัก, 1993) ก็เป็นหนังเจาะเวลาหาอดีตแบบฮ่องกง ที่มีฉากหลังอยู่ในฮ่องกงยุค 60s เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่หวังเปลี่ยนแปลงพ่อผู้ล้มเหลวในชีวิต แต่สุดท้ายกลายเป็นตัวเขาเองที่เปลี่ยนแปลง

ปีเตอร์ ชาน ยังประสบความสำเร็จขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ทั้งกับหนังตลก He's the Woman, She's the Man (เขาหญิงเธอชาย รักแล้วไม่เปลี่ยนใจ, 1993) ที่พูดถึงเรื่องของความคลุมเครือทางเพศ กับเรื่องราวเบื้องหลังในวงการบันเทิง และขึ้นสู่จุดสูงสุดทางอาชีพด้วย Comrades, almost a love story (เถียนมีมี่ 3650 วัน...รักเธอคนเดียว) ในปี 1996 งานผูกโยงชีวิตของหนุ่มสาวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาขุดทองในฮ่องกงกับเหตุการณ์สำคัญแห่งปี ที่เกาะฮ่องกงต้องกลับคืนสู่การปกครองของจีน ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังนับเป็นหนังที่ดีที่สุดของเขา

ฝ่ายเสาหลักแห่ง UFO อีกคนอย่าง หลี่จื่อไหง อาจจะมีผลงานกำกับเดี่ยวน้อยเรื่องไปนิด เขามีเครดิตร่วมกำกับกับ ปีเตอร์ ชาน ใน He Ain't Heavy, He's My Father และ He Ain't Heavy, He's My Father ส่วนงานที่เป็นของตัวเองก็มีอย่าง Dr. Mack (ลูกผู้ชายหัวใจไม่บานฉ่ำ, 1994) ที่คุณภาพใช้ได้ หนังมี เหลียงเฉาเหว่ย รับบทเป็นหมอหนุ่มผู้มากพรสวรรค์ แต่กลับเลือกใช้ชีวิตอย่างไร้ความทะเยอทะยานที่ย่านสลัมในฮ่องกง

อย่างไรก็ตามหากจะพูดถึงงานชิ้นเอกของ หลี่จื่อไหง ในชายคาของ UFO ก็คงจะต้องนึกถึง Lost and Found เป็นอันดับแรก ผลงานของบริษัทซึ่งเข้าฉายใกล้ ๆ กับ เถียนมีมี่ ในปี 1996 และกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญของฮ่องกงในปี 1997 เช่นเดียวกัน แม้ความสำเร็จ และชื่อเสียงจะน้อยกว่าแบบเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่หากใครได้ดูแล้วก็ยากที่จะไม่ประทับใจ กับเรื่องราวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การตามหารักแท้ของหญิงสาว (เฉินฮุ่ยหลิน) ผู้กำลังเผชิญหน้ากับวาระสุดท้ายในชีวิต จากโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษา เป็นภาพสะท้อนการดิ้นรนหนีวาระสุดท้าย ได้น่าประทับใจจริง ๆ

เจิ้งจื่อเหว่ย ก็เป็นกำลังสำคัญอีกคนของ UFO ที่นอกจากจะได้กำกับหนังแล้ว ยังมีโอกาสมอบการแสดงดี ๆ แบบนอกเหนือจากบทตลกโวยวายอย่างที่ทุก ๆ คนคุ้นเคยกันมานาน ในหนังหลาย ๆ เรื่อง

ส่วนงานเด่นของผู้กำกับท่านอื่น ๆ ก็ยังมีอย่าง Twenty Something (1994), หนังเกรด 3 ที่ไม่ได้ขายเรื่องความวาบหวิว แต่เล่าเรื่องความสัมพันธ์และเซ็กส์ของคนรุ่นใหม่, I've Got You, Babe!!! (1994) ชีวิตคู่ของครอบครัวหนุ่มสาวกับการมีทายาท, The Wedding Days (1996) กล่าวถึงวันสำคัญที่สุดของลูกผู้หญิง กับการแต่งงาน

อีกเรื่องที่หลาย ๆ คนน่าจะได้ดูก็คือ Anna magdalena (รักของเธอ รักของเขา รักของเรา, 1998) เรื่องรักสามเส้าของหนุ่มสาวสามคน (เฉินฮุ่ยหลิน, ทาเคชิ คาเนะชิโร่, กัวฟู่เฉิง) ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยภาพฝันแฟนตาซีได้สุดโรแมนติก

ซึ่งหากจะพูดถึงความโดดเด่นของ UFO แล้วก็ต้องบอกว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนทำหนัง “ฟิวกู๊ด” ที่ไม่ “หน่อมแน้ม” แม้จะสร้างงานที่มีบรรยากาศผ่อนคลายย่อยง่ายดูสนุก แต่ก็ไม่กลัวที่จะไปแตะประเด็นอันเคร่งเครียด นอกจากนั้นงานหลาย ๆ ชิ้นยังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครหญิง แบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในวงการหนังที่เน้นตัวละครชายเป็นหลักอย่างฮ่องกง

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ปีเตอร์ ชาน ได้มีโอกาสพูดถึงชีวิตของการเป็นคนทำหนังในช่วงของ UFO ซึ่งเขากล่าวว่าไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญที่บริษัทผลิตภาพยนตร์แห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น แต่ทุกคนมาร่วมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานปิดฉากยุคสมัยของหนังในฮ่องกง ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 50, 70, 90 และกำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เมื่อฮ่องกงถูกส่งมอบการปกครองคืนให้กับจีน

หนังของ UFO เกิดขึ้นด้วยอิทธิพลความรู้สึกดังกล่าวอย่างเต็มที่ มันเล่าเรื่อง ความไม่มั่นคง, ความสับสนวุ่นวายภายในจิตใจ, ความรู้สึกวิตกกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน, พยายามค้นหารากเหง้าของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ดิ้นรนเพื่อค้นหาอนาคตอันสดใสด้วย อันเป็นความรู้สึกร่วมที่คนฮ่องกงรุ่นใหม่ในยุคนั้นสัมผัสได้เหมือนกันทั้งหมด

UFO มีงานต่อเนื่องอยู่ตลอดในยุค 90s จนไม่นานนักก่อนจะถึงปี 2000 ปีเตอร์ ชาน จึงขายหุ้นของบริษัทให้กับ Golden Harvest แม้ปัจจุบันโลโก้ของ UFO ยังปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง มีผลงานออกมาประปราย ที่น่าจดจำเป็นพิเศษก็คือหนังตลกล้อเลียนเรื่องราวผัวหนีเมียเที่ยว Men Suddenly in Black มีกระทั่งหนังแอ็กชั่นย้อนยุค An Empress and the Warriors (2008) หรือล่าสุดหนังฮิตช่วงตรุษจีนของเมื่อ 2 ปีก่อน 72 Tenants of Prosperity ก็ปะหน้าด้วยชื่อบริษัท UFO แต่ต้องบอกว่างานขนานแท้ของบริษัท GTH ของฮ่องกงแห่งนี้จบสิ้นไปพร้อมกับยุค 90s แล้ว

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก


The Day of Being Dumb (เข้าแก๊งไหนหัวหน้าตายหมด, 1992)
Tom, Dick And Hairy (รักแบบเกาเหลา...ไม่ใส่ชูรส, 1992)
He Aint Heavy, Hes My Father (ข้ามเวลามาหารัก, 1993)
Hes the Woman, Shes the Man (เขาหญิงเธอชาย รักแล้วไม่เปลี่ยนใจ, 1993)
Comrades, almost a love story (เถียนมีมี่ 3650 วัน...รักเธอคนเดียว)
Dr. Mack (ลูกผู้ชายหัวใจไม่บานฉ่ำ, 1994)
Lost and Found (1996)
 Ive Got You, Babe!!! (1994)
Anna magdalena (รักของเธอ รักของเขา รักของเรา, 1998)
กำลังโหลดความคิดเห็น