ด้วยเรื่องราวอันอื้อฉาว, ประเด็นน่ากระอักกระอ่วนใจเกินระดับมาตรฐานของละครโทรทัศน์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซีรีส์ When Heaven Burns ของ TVB จะถูกเมินจากกลุ่มคนดูรุ่นใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับได้รับความสนใจ และสร้างฐานความนิยมได้ในกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ เป็นทิศทางใหม่ที่น่าสนใจจากสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่แห่งฮ่องกง
When Heaven Burns ซีรีส์ความยาว 30 ตอน เป็นงานแนวจิตวิทยาที่ว่าด้วยการสำรวจไปถึงความรู้สึกผิดบาป, บาดแผลในจิตใจ และมิตรภาพระหว่างเพื่อน ซึ่งออกอากาศระหว่างวันที่ 21 พ.ย. 2011 - 1 ม.ค. 2012 แม้จะไม่ได้มีเรตติ้งสูงถึงขั้นโดดเด่นอะไรแต่ก็สร้างความฮือฮาเป็นประเด็น "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" อย่างที่ซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ทำไม่ได้
ว่ากันว่า When Heaven Burn เป็นงานที่ทำให้แฟนพันธ์แท้ของทีวีบี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่บ้าน และผู้หญิงวัยกลางคน ที่มักจะนิยมชมชอบอยู่กับซีรีส์แนวชิงรักหักสวาทต้องเบือนหน้านี้ เปลี่ยนไปดูช่องอื่น เนื่องจากเบื่อหน่ายต่อการที่ซีรีส์เรื่องนี้เต็มไปด้วยฉากตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ในปัจจุบัน และเรื่องราวในอดีต รวมถึงรับไม่ค่อยได้กับเนื้อหาที่ค่อนข้างตึงเครียดกับประเด็นที่ว่าด้วย "การกินเนื้อคน"
When Heaven Burns เล่าเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับหนังดังจากฮอลลีวูดเมื่อปี 1993 ที่ชื่อ Alive ที่ว่าด้วยการเอาชีวิตรอดของคนกลุ่มหนึ่งในสภาพแวดล้อมอันหนาวสุดขั้ว ถึงขั้นทีต้องกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเพื่อประทังชีวิต หากแต่ผลงานของทีวีบีเรื่องนี้ เลือกที่จะมุ่งสำรวจไปถึงความรู้สึกผิดบาป และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สยดสยองขวัญครั้งนั้นมากกว่า
เรื่องราวใน When Heaven Burns มีจุดเริ่มต้นเมื่อเพื่อนสนิท ที่เป็นสมาชิกในวงดนตรีเดียวกัน 4 คน ต้องไปติดอยู่ในเทือกเขาอันหนาวเหน็บ จนหนึ่งในนั้นถูกสังหารโดยเพื่อนอีก 3 คนที่เหลือ ซึ่งตกอยู่ในอาการหิวโหยอย่างหนัก เพื่อนำมาเป็นอาหาร
จนในปี 18 ปีต่อมา ชายหนุ่มทั้ง 3 คน ยังคงถูกกักขังอยู่ในความทรงจำอันเลวร้าย มีชีวิตที่ทนทุกข์ แม้จะพยายามไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันอีกเลย เช่นเดียวกับแฟนสาวของชายผู้จบชีวิตในภูเขาหิมะ ที่ดำเนินชีวิตไปอย่างเจ็บปวด และสับสนเช่นเดียวกัน
"ฮิตเงียบในเน็ต"
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเนื้อหาในซีรีส์ When Heaven Burns จะสร้างอาการมวนท้องให้กับบรรดาคนดู "ขาประจำ" ของทีวีบีจำพวกกลุ่มผู้ใหญ่หัวเก่าได้ง่าย ๆ แต่ในเวลาเดียวกันด้วยความแปลกและแตกต่างทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นที่ชื่นชอบขึ้นมาในหมู่วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ ที่พักหลังเริ่มหันหลังให้กับความซ้ำซากจำเจของทีวีบี แต่คราวนี้กลับลำมากล่าวชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันถึงความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าหาญที่จะนำเสนออะไรใหม่ ๆ ให้กับจอโทรทัศน์ฮ่องกงบ้าง
ในแฟนเพจอย่างไม่เป็นทางการของ When Heaven Burns ใน Facebook ที่มีสมาชิกร่วม 2,500 คน มีความเห็นชื่นชมในแง่มุมอันหลากหลายต่อซีรีส์เรื่องนี้ บ้างก็ว่ามันเป็นงานที่มี "ความหมายอันลึกซึ้ง" ขณะที่บางคนประทับใจในความซับซ้อนของเนื้อหา และการนำเสนอ บ้างก็เสียดายที่หลาย ๆ คนพลาดซีรีส์เรื่องนี้ไป ... "งานดี ๆ ที่นาน ๆ จะมีมาให้เห็นซักครั้ง เสียดายที่หลาย ๆ คนไม่เข้าใจมัน"
เช่นเดียวกับบรรดาสื่อมวลชนที่เห็นพ้องกับกลุ่มแฟนคลับของ When Heaven Burns อย่าง แดเรียน จง นักเขียนวัย 30 ต้น ๆ ที่ให้ความเห็นว่า "หลังจากดูตอนแรกไปแล้ว สิ่งที่ผมคิดทันทีเลยก็คือ ว้าว !! ทีวีบี ก็ทำอะไรแบบนี้ได้ด้วยแฮะ คุณภาพการถ่ายทำก็ใช้ได้ ทำให้ผมนึกไปถึงงานของฝั่งฮอลลีวูดอย่าง Six Feet Under และ True Blood"
ส่วน เรจีน จง กราฟฟิคดีไซเนอร์วัย 37 ปีก็ชื่นชมในแง่การนำเสนอภาพมนุษย์ออกมาได้อย่างสมจริงสมจังสัมผัสได้ และชื่นชมในบทโทรทัศน์ "ในช่วงเวลาแห่งความหิวโหย คนเราจะทำได้แค่ไหนเพื่อให้ได้อาหารมา ? เป็นหนังที่ทำให้คุณหยุดคิดถึงคำถามจำพวกนี้ When Heaven Burns เต็มไปด้วยบทพูดที่ทำให้ฉันคิดสะท้อนไปถึงเรื่องต่าง ๆ ได้มากมายค่ะ"
แม้แต่คนทำหนังอย่าง แพทริค กง และ คลีแมนต์ เจิ้ง ที่โด่งดังคว้ารางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงจากหนังตลก Gallants เมื่อปีก่อน ก็ยังกล่าวว่าพวกเขาประทับใจในซีรีส์เรื่องนี้
"ผมคิดว่ายังพอมีความหวังในวงการทีวีฮ่องกงนะครับ ... ไม่เคยคิดว่าทีวีบีจะกล้าหาญแบบนี้" แพทริค กง กล่าวส่วนคนทำหนังคู่หูของเขาอย่าง คลีแมนต์ เจิ้ง ก็พูดไปในทิศทางเดียวกัน และยังชื่นชมไปถึงเทคนิคการนำเสนอของซีรีส์ "เป็นงานที่สามารถหยิบใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบแฟลชแบ็ค และซีนที่ไม่มีบทพูดได้อย่างยอดเยี่ยมมาก"
เสียงติง: "ไร้ศีลธรรม, ดูไม่รู้เรื่อง"
อย่างไรก็ตามท่ามกลางเสียงชื่นชมยังมีผู้ชมบางส่วนที่ไม่ได้ประทับใจอะไรใน When Heaven Burns นัก และในเวลาเดียวกันเนื้อหาที่หนักหน่วงรุนแรง ยังสร้างปัญหาในการเข้าฉายแพร่ภาพในจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
หญิงวัยเกษียณอายุรายหนึ่งมองว่า When Heaven Burns จะส่งค่านิยมที่ผิด ๆ ไปถึงเด็ก ๆ โดยเฉพาะเรื่องการประพฤติของตัวละครหญิงในเรื่อง "ดูช่วงต้น ๆ ของซีรีส์ตอนแรกซิ ตัวละครของ เสอซื่อมั่น ซึ่งเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว กลับไปขึ้นเตียงกับผู้ชายคนอื่น ... ผู้หญิงที่มีสามีแล้วควรทำตัวแบบนั้นเหรอ? ฉันคิดว่าคนเขียนบทพยายามจะสร้างเรื่องมากเกินไป ฉันขอเลือกหนังที่อบอุ่นหัวใจ พูดถึงเรื่องครอบครัวแบบ A Kindred Spirit จะดีกว่า"
ฝ่าย ลอเรน กู่ วัย 50 ปี ผู้จัดการของร้านเช่าวิดีโอ Rida Video Centre ก็ให้ข้อมูลกับ The New Paper ว่าแม้จะเป็นประเด็นที่หลาย ๆ ฝ่ายสนใจกันแต่ยอดการเช่าของซีรีส์เรื่อง When Heaven Burn ก็ไม่ได้สูงอะไรมากมาย "ส่วนใหญ่จะเช่าไปดูกันได้ซักครึ่งเรื่องเท่านั้น จนหลาย ๆ คนเริ่มรู้สึกว่าทนดูไม่ไหวจึงไม่เช่าตอนหลัง ๆไปดูแล้ว ซึ่งพวกเขามักจะบอกกันว่ามันพยายาม 'อาร์ท' มากเกินไป ดูไม่รู้เรื่อง"
โดนแบนในเมืองจีน - ข้อหาโยงการเมือง?
ในการเผยแพร่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ When Heaven Burns ยังต้องพบกับปัญหาโดนแบนกลางคันด้วย เมื่อทาง "สำนักงานบริหารกิจการวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ของรัฐบาลจีน" (SARFT) ได้ระงับการแพร่ภาพทางเว็บไซต์ต่าง ๆ 11 เว็บไซต์ ด้วยเหตุผลเรื่องเนื้อหาที่ว่าด้วย "คนกินเนื้อคน"
อย่างไรก็ตามหลายคนกลับสงสัยว่าเหตุผลการโดนแบนครั้งนี้ น่าจะมาจากที่เนื้อหามีการอ้างอิงไปถึงเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 เสียมากกว่า ทั้งเรื่องราวของความรู้สึกผิดบาป และโดยเฉพาะการแทรกตัวอักษร ที่มีความหมายถึง “วันที่ 4 เดือน 6” ซึ่งตรงกันวัน 4 มิ.ย. 1989 ที่เกิดเหตุสลดการปราบปรามประชนชนขึ้นที่กรุงปักกิ่งนั่นเอง
ตัวผู้กำกับ โจวอวี้หมิง ที่เขียนบทงานชิ้นนี้ด้วย ก็ยอมรับว่าเขาพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวการเรียกร้องประชาธิปไตยลงไปใน When Heaven Burns แต่ก็เข้าใจว่ามันอาจทำให้มีปัญหาในการฉายที่ประเทศจีนได้ จึงเปลี่ยนปีที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวจาก 1989 เป็น 1992 แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผล ฝ่ายสถานีโทรทัศน์ทีวีบีเองก็พยายามอธิบายว่า ซีรีส์ที่พยายามสะท้อนธรรมชาติด้านมือของมนุษย์เรื่องนี้ สามารถเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง ไม่ใช่แต่เพียงที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนั้นด้วยเรื่องราวที่ว่าด้วยการเสียชีวิตของสมาชิกในวงดนตรี ยังทำให้หลายคนเชื่อว่า When Heaven Burns น่าจะได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์จริง กับการเสียชีวิตของ หวังเจียจวี่ สมาชิกวง Beyond กลุ่มศิลปินชื่อดังของฮ่องกง เสียจากไปด้วยอุบัติเหตุเมื่อ 18 ปีก่อนด้วย
"งานที่มาก่อนเวลา"
When Heaven Burns เป็นผลงานของ โจวอวี้หมิง และผู้อำนวยการสร้าง โจนาธาน ชิ ที่เคยร่วมกันสร้างสรรค์งานอย่าง War And Beauty และ The Gem Of Life จนโด่งดังมาแล้ว ซึ่งแม้ว่าผลงานเรื่องล่าสุดของคนเบื้องหลังทั้งสองจะไม่ได้มีเรตติ้งที่สูงลิ่ว หรือประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจมากมายอะไรนัก แต่ทั้งคู่ก็ยืนยันว่าเป็นงานที่พวกเขาภาคภูมิใจ
อย่างไรก็ตามในการให้สัมภาษณ์กับ Hong Kong Economic Journal โจนาธาน ชิ ยอมรับว่าปัญหาของการพัฒนางานทางโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนั้น ก็อยู่ที่คนดูด้วยส่วนหนึ่ง
"คนดูทุกวันนี้ไม่ค่อยจะพยายามรับอะไรที่แตกต่างซักเท่าไหร่ พวกเขาไม่ต้อนรับไอเดียแปลกใหม่หรอกครับ" โจนาธาน ชิ กล่าว "ส่วนใหญ่จะคิดกันแค่ว่าทำงานตลอดทั้งวันก็เหนื่อยสายตัวแทบขาดแล้ว จะมาใช้สมองกับการพยายามทำความเข้าใจกับละครโทรทัศน์อีกไปเพื่ออะไร"
"แต่ผมไม่เชื่อความคิดแบบนั้นหรอกนะครับ ... คุณคงจะไม่สลบไสลไปกับการดู When Heaven Burns เพียงตอนเดียวหรอก"
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |