2011 เป็นปีที่ไม่ค่อยดีของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดนัก นอกจากรายได้รวมจะออกมาไม่ค่อยสวยแล้ว หนังที่เป็นความหวังหลาย ๆ เรื่องก็ทำเงินไม่เข้าเป้า เป็นบทพิสูจน์ที่ว่า "สูตร" เก่า ๆ เริ่มใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
เจ๊งแห่งปี
หนึ่งในงานที่เรียกว่าน่าผิดหวังแห่งปีเห็นจะเป็น Conan the Barbarian ที่ได้หนุ่มกล้ามโตคนใหม่ เจสัน โมมัว มารับบทเป็นโคแนนยอดคนเถื่อนแทน อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนคเกอร์ กับหนังทุนสร้างราว 70 ล้านเหรียญฯ ซึ่งหากบวกทุนในการทำตลาดก็อาจจะสูงถึง 90 ล้านเหรียญฯ ไปแล้ว แต่กลับทำรายได้น้อยนิดเพียง 48 ล้านเหรียญฯ เท่านั้นแบ่งเป็นในสหรัฐฯ 21 ล้าน และต่างประเทศ 27 ล้าน
Cowboys & Aliens ของ จอน ฟาฟโร ที่มี แดเนียล เครก และ แฮร์ริสัน ฟอร์ด นำแสดงก็เป็นอีกเรื่องที่ลงทุนไปสูงถึง 163 ล้านเหรียญฯ กับคำวิจารณ์ก่ำ ๆ กึ่ง ๆ และรายได้ที่ไม่เข้าเป้า โดยหนังผลงานร่วมกันสร้างของ Universal และ DreamWorks ทำรายได้ในสหรัฐฯ ไป 100 ล้าน และรายได้นอกประเทศอีก 74 ล้านเหรียญฯ แม้จะรวมแล้วมากกว่าทุนสร้าง แต่เมื่อหักส่วนแบ่งกับโรงภาพยนตร์ หนังจึงต้องประสบกับภาวะขาดทุนอย่างช่วยไม่ได้
และหากจะพูดถึงยักษ์ใหญ่ล้มดังประจำปี 2011 อีกเรื่องก็เห็นจะเป็น Green Lantern โครงการอภิมหาใหญ่ของ Warner Bros. ที่ทุนสร้างสูงถึง 200 ล้านเหรียญฯ บวกกับค่าการตลาด และการลงทุนในสินค้าต่อยอดอีกร่วมแล้วว่ากันว่าเหยียบ 500 ล้าน แต่สามารถทำเงินทั่วโลกได้เพียง 219 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (ในสหรัฐฯ 116 + ต่างประเทศ 103 ล้านเหรียญฯ) โครงการที่จะสร้างภาคต่อตามมาเป็นแฟรนชายน์สำคัญของบริษัท จึงกลายเป็นเครื่องหมายคำถาม ที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด
ใครว่า "อนิเมชั่น" คือของตาย
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการ์ตูนอนิเมชั่นกลายเป็นขุมทองของฮอลลีวูด เมเจอร์สตูดิโอทุกแห่งต่างเข็นงานการ์ตูนที่มีจุดขายอยู่ที่งานภาพเปี่ยมสีสัน, มุขตลกที่ฮาได้ทั้งครอบครัว และภาพสามมิติออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จ เพราะในปี 2011 เริ่มมีอนิเมชั่นที่พบกับความล้มเหลวหลายเรื่อง
แม้แต่ Car ของ Pixar ขาใหญ่ในวงการก็ทำเงินน้อยกว่าที่คาด และเป็นงานเรื่องแรกของบริษัท ที่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบ แต่หากจะพูดถึงงานที่เรียกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็ต้องพูดถึงอนิเมชั่น 3 เรื่องนี้
Mars Needs Moms ของ โรเบิร์ต เซเมคิส (อำนวยการสร้าง) แทบจะกลายเป็นหนังที่เจ๊งสนั่นที่สุดอีกเรื่องของปี (และในรอบ ๆ หลายปีเลย) กับทุนสร้างที่สูงถึงร่วม 150 ล้านเหรียญฯ แต่ทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 39 ล้าน เท่านั้น สำหรับรายได้ในสหรัฐฯหนังเก็บเงินไปได้เพียงแค่ 21 ล้านเหรียญฯ จนอาจจะกลายเป็นหนังที่สร้างด้วยเทคนิคการสร้างภาพแบบ "โมชั่นแคปเจอร์" เรื่องสุดท้ายหลังจาก เซเมคิส พยายามพัฒนาเทคนิคนี้อยู่หลายปี
นิทานหนูน้อยหมวกแดงฉบับพิศดารภาค 2 Hoodwinked Too! Hood vs. Evil ก็เป็นอนิเมชั่นอีกเรื่องที่เจ๊งไปแบบเงียบ ๆ อนิเมชั่นฟอร์มเล็ก ๆ เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างไปประมาณ 30 ล้านเหรียญฯ (ที่ถือว่าน้อยมากในยุคที่อนิเมชั่นของฮอลลีวูดส่วนใหญ่มีทุนสร้างเหยียบ 100 ล้าน) ก่อนจะทำเงินไปเงียบ ๆ 16 ล้านเหรียญฯ เทียบกับภาคแรกที่เก็บเงินไปถึง 100 ล้านไม่ได้เลย
ที่หนักหนาสาหัสอีกเหมือนกัน ก็คืออนิเมชั่นทุนสูง Happy Feet Two ที่ภาคแรกรับทั้งเงินทั้งกล่อง จนผู้สร้างคาดหวังหนังชุดนี้มาก แต่สุดท้ายภาคสองกลับทำเงินทั่วโลกได้เพียงแค่ 114 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างสูงถึง 135 ล้านเหรียญฯ ความล้มเหลวครั้งนี้ยังสร้างผลกระทบใหญ่หลวง ทำให้สตูดิโอผู้ผลิต Dr. D Studios ต้องปลดพนักงานร่วม 600 ชีวิตจากทั้งหมด 700 ชีวิตออก และแผนการที่ทางออสเตรเลียหวังจะดำเนินรอยตามนิวซีแลนด์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมกราฟฟิคคอมพิวเตอร์จึงกลายเป็นได้แค่ฝันค้าง
ตลกฝืด
ในแต่ละปี จะต้องมีซูเปอร์สตาร์ดาวตลกคนใหม่แจ้งเกิดในฮอลลีวูด ซึ่งเมื่อต้นปี 2011 ทุกคนคาดว่าน่าจะเป็น รัสเซล แบรนด์ ที่มีบทแนวสร้างสีสันมาแล้วในหนังหลายเรื่อง ก่อนจะถูกส่งให้รับบทนำในหนังรีเมก Arthur ในปีนี้ พร้อมได้ดาราออสการ์ เฮเลน มีร์เรน มาประกบคู่ แต่สุดท้ายหนังกลับออกฉายอย่างเงียบ ๆ และทำเงินไปได้เพียง 45.7 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น จากต้นทุนที่อยู่ประมาณ 40 ล้านเหรียญฯ
แต่ที่น่าผิดหวังกว่าก็เห็นจะเป็น Your Highness หนังตลกย้อนยุคที่ได้ดาราสาวออสการ์คนล่าุสุด นาตาลี พอร์ตแมน มาประชันบทบาทกันสองหนุ่ม เจมส์ แฟรงโก และ แดนนี่ แม็คไบรด์ ที่ใช้ทุนสร้างไปร่วม 50 ล้านเหรียญฯ ก่อนจะปิดโปรแกรมเก็บเงินในบ้านเกิดไปได้แค่ 21.6 ล้านเหรียญฯ แต่ในต่างประเทศยิ่งย่ำแย่กับตัวเลขรายได้เพียง 3 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น
หนัง "เจ๊ง" ของดาราดัง
มีดาราหลายคนที่เสียเครดิตดาราทำเงินไปกับหนังล้มเหลวในปีนี้ แต่ที่เรียกว่ากอดคอกันเจ๊ง ก็คือ Larry Crowne ของ ทอม แฮงค์ (ที่นั่งเก้าอี้ผู้กำกับด้วย) กับ จูเลีย โรเบิร์ต หนังตลกโรแมนติกเอาใจกลุ่มผู้ชมผู้ใหญ่ที่เข้าฉายในช่วงซัมเมอร์ และถูกหนังฟอร์มใหญ่ ๆ เบียดจนทำเงินได้แค่ 52 ล้านเหรียญฯ (รายได้ในประเทศ 35.6 ล้าน) แต่ก็คงจะไม่ได้ขาดทุนอะไรมากมายเพราะหนังใช้ทุนประมาณ 30 ล้าน เท่านั้น สิ่งที่เสียจริง ๆ ก็เห็นจะเป็นเครดิตของพระเอกนางเอกเสียมากกว่า
Beaver งานกำกับของ โจดี้ ฟอสเตอร์ ก็ทำรายได้น่าผิดหวังสุด ๆ จากงานที่ใช้ทุนสร้างไปประมาณ 21 ล้านเหรียญฯ แต่กลับทำเงินในสหรัฐฯ ได้แค่ 9.7 แสนเหรียญฯ เท่านั้น ยังโชคดีที่ได้รายได้นอกประเทศมาโปะอีก 5.4 ล้านเหรียญฯ แต่ก็ไม่รอดพ้นจากการขาดทุนมากมายอยู่ดี งานนี้ดารานำอย่าง เมล กิ๊บสัน คือคนที่ทุกฝ่ายชี้ว่าเป็นสาเหตุของความล้มเหลว โดยเฉพาะข่าวฉาวเรื่องการซ้อมภรรยา ที่ทำให้ทุกคนเบือนหน้าหนีจากเขา แม้จริง ๆ แล้วนักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะมองว่า Beaver มีคุณภาพงานที่ใช้ได้ก็ตาม
New Year's Eve หนังโรแมนติกปิดท้ายปีที่ขนดาราชื่อดังมาประชันบทบาทกันอย่างมากมายก็ทำรายได้ในสหรัฐฯ ถึงตอนนี้ไปแค่ 37 ล้านเหรียญฯ เท่านั้นแม้หนังจะใช้ทุนสร้างไปแค่ 56 ล้านเหรียญฯ และตอนนี้ได้เงินจากตลาดต่างประเทศมาอุดเพิ่ม 45 ล้านเหรียญฯ แล้ว แต่จากความสำเร็จของ Valentine's Day งานแนวเดียวกันจากผู้กำกับคนเดียวกัน ที่ทำรายได้รวมไปถึง 216 ล้านเหรียญฯ ผลลัพธ์ของ New Year's Eve จึงไม่สามารถจะเป็นอะไรได้เลยนอกจากความผิดหวัง
แต่ที่น่าใจหายที่สุดเห็นจะเป็น ผู้กำกับ โจเอล ชูมัคเกอร์, นิโคลาส เคจ และ นิโคล คิดแมน ที่ผลงานล่าสุดของทั้งสาม Trespass ซึ่งใช้ทุนสร้างไปพอประมาณไม่มากไม่น้อย 35 ล้านเหรีญฯ แต่ทำเงินในสหรัฐฯ ไปแค่ 24,094 เหรียญฯ เท่านั้น !!! สาเหตุที่รายได้หนังต่ำเตี้ยติดดินแบบนั้น ก็เพราะ Trespass ได้ฉายจำกัดโรงในประมาณ 10 โรงภาพยนตร์อยู่แค่ไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งผลก็ออกมาย่ำแย่ จนผู้จัดจำหน่าย Millennium Films ตัดสินใจส่งหนังตรงไปยังตลาด DVD, Blu-ray โดยทันที ยังดีที่ได้รายได้นอกสหรัฐฯ มาช่วยอีกประมาณ 4.8 ล้านเหรียญฯ แต่ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากอยู่ดี
รายได้ไม่เข้าเป้า
ยังมีหนังอีกหลาย ๆ เรื่องที่ถือว่าทำรายได้ไปไม่เข้าเป้าในปีนี้ รวมถึง Priest หนังจากการ์ตูนเกาหลีที่ใช้ทุนสร้างประมาณ 60 ล้านเหรียญฯ ไม่ใช่หนังฟอร์มโตอะไรนัก แต่สุดท้ายก็ทำเงินในสหรัฐฯ ไปได้แค่ 29.1 ล้านเหรียญฯ ยังดีที่ในการฉายทั่วโลก Priest ยังพอทำเงินได้ 46 ล้าน จนผู้สร้าง Screen Gems น่าจะคงพอหายใจหายคอได้บ้าง
ส่วน Sucker Punch ของ แซค สไนเดอร์ ที่ว่าด้วยเหล่านักรบสาวในโลกแห่งความฝัน อาจจะมีตัวอย่าง และภาพนิ่งที่หวือหวาแต่ตัวหนังจริง ๆ ค่อนข้างจะซับซ้อนอยู่ไม่น้อย จนทำรายได้ไปเพียง 89.8 ล้าน (ในประเทศ 36.4, นอกประเทศ 53.4 ล้าน) เป็นความล้มเหลวอีกครั้งของ สไนเดอร์ ที่เคยทำหนัง 300 จนโด่งดัง แต่เขาคงได้แก้ตัวอีกครั้งอย่างแน่นอนกับหนัง Man of Steel หรือ ซูเปอร์แมนภาคใหม่ ที่จะเข้าฉายในปี 2013 ต่อไป
Glee ถือเป็นปรากฏการณ์ทางโทรทัศน์ แต่สำหรับภาพยนตร์ Glee: The 3D Concert Movie กลับไม่สามารถสร้างความฮือฮาใด ๆ ได้ โดยบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของซีรีส์ดังเรื่องนี้ ทำรายได้ไป 18.6 ล้านเหรียญฯ แม้คงจะเรียกว่าเจ๊งไม่ได้เพราะหนังใช้ทุนสร้างไปประมาณ 9 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น แต่ความโด่งดังของฉบับโทรทัศน์ก็คงทำให้หลาย ๆ คนอดผิดหวังใน Glee ฉบับเข้าโรงหนังครั้งนี้ไม่ได้
หนังดีไม่ทำเงิน
ปีนี้มีงานรีเมกหนังยุค 80 เข้าฉายหลายเรื่อง ที่นักวิจารณ์และคนดูต่างชมกันเป็นเสียงเดียวก็เห็นจะมีหนังแวมไพร์ Fright Night ที่หลาย ๆ คนบอกว่าทำออกมาได้สนุกตื่นเต้นมีอารมณ์ขันดี แต่อาจจะไม่ถูกใจวัยรุ่น ลูกค้าหลักของโรงหนังยุคนี้นัก เพราะสุดท้ายกลับทำเงินไปได้แค่ 37 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น แม้จะเกินทุนสร้าง 30 ล้าน ไปนิดหน่อย แต่หลังแบ่งรายได้กับโรงแล้ว หนังยังไม่สามารถพ้นจากสภาพการขาดทุนได้ คงต้องไปลุ้นต่อที่ตลาดดีวีดี ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายนิดหน่อย ที่เกิดสถานการณ์ทำนองนี้กับหนังที่ดูสนุก มีคุณภาพดีเช่นนี้
การเปลี่ยนแนวมาทำหนังเด็กของ มาร์ติน สกอร์เซซี แถมยังเป็นหนังสามมิติด้วย ทำให้ Hugo งานแนวแฟนตาซีที่มี จอห์นนี่ เด็ปป์ นั่งเป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้ได้รับความสนใจตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อหนังออกฉายก็ได้รับคำชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์มากมาย เป็นหนังติด TOP10 แห่งปีของหลายสำนัก โดยเฉพาะ The New Yorker นั้นให้เป็นหนังยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามผลตอบรับจากคนดูกลับเป็นไปคนละเรื่อง ถึงตอนนี้ Hugo ทำรายได้ในสหรัฐฯ ไปแค่ 44 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น รายได้นอกประเทศก็เก็บไปได้แค่ 7 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ สกอร์เซซี ใช้ทุนสร้างไปมโหฬารถึง 150 ล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว
หนังเล็กรายได้น้อย
การคุมทุนสร้างให้น้อยก็เป็นการลดความเสี่ยงขาดทุนได้อย่างหนึ่ง แต่บางกรณีหนังที่ใช้ทุนต่ำ ๆ รายได้ก็ต่ำตามไปด้วยอย่าง Prom หนังวัยรุ่นของ Disney ที่ใช้ทุนสร้างราว 8 ล้านเหรียญฯ เป็นผลงานการอนุมัติของ ริช รอส ประธานคนใหม่ ที่สุดท้ายก็ถือว่าล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นบริหารกันเลย เพราะ Prom ทำรายได้ไปแค่ 10.1 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น
ส่วน Judy Moody and the Not Bummer Summer เป็นหนังจากหนังสือเด็กที่ตีพิมพ์กันออกมาหลายเล่มแล้ว เป็นความหวังเล็ก ๆ ของผู้สร้างที่มองว่ามีโอกาสเก็บเงินกันยาว ๆ กับหนังหลาย ๆ ภาคได้เหมือนกัน แต่หนังที่ใช้ทุนสร้างประมาณ 14 ล้านเหรียญฯ เรื่องนี้ทำเงินไปแค่ 20 ล้าน เท่านั้น คงไม่ต้องถามว่า Relativity เจ้าของสิทธิ์จะสร้างภาคต่อไปรึเปล่า
2011: ปีแห่งความตกต่ำ
เป็นที่คาดเดาได้อยู่แล้วว่าปี 2011 ฮอลลีวูดน่าจะมียอดรายได้ที่น้อยปี 2010 เป็นสภาพอย่างที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์เรียกกันว่า "อาการแฮงโอเวอร์จาก Avatar" หลังจากเมื่อปีก่อนยอดรายได้รวมของวงการหนัง ได้รับแรงหนุนจากหนังดังแห่งปีของ เจมส์ คาเมรอน ที่ทำรายได้เฉพาะในสหรัฐฯ ไปถึง 749 ล้านเหรียญฯ จนรายได้รวมพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ... อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดคิดว่ารายได้หนังของปี 2011 จะลดต่ำลงถึงขนาดนี้
นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2011 เป็นต้นมาวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดทำรายได้ไปแล้ว 10,200 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากปี 2010 ถึง 3.5% แม้ราคาตั๋วภาพยนตร์ปรับสูงขึ้นจากปีก่อนแล้ว เพราะหากนับเฉพาะจำนวนยอดขายตั๋ว ปรากฏออกมาว่าปี 2011 ฮอลลีวูดขายตั๋วหนังไปได้ 1,280 ล้านใบ ลดลงจากปีก่อนถึง 4.4% และต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี นับจาก 1995 ที่มียอดขายตั๋วอยู่ที่ 1,260 ล้านใบ
สาเหตุแห่งความตกต่ำที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงไป และการตื่นตัวของเทคโนโลยีมือถือและความบันเทิงภายในบ้าน ซึ่งเปิดช่องทางสำหรับการชมภาพยนตร์ หรือความบันเทิงอื่น ๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นหลายฝ่ายมองว่าความถดถอยดังกล่าว อาจจะเป็นสัญญาณต่อความเบื่อหน่ายในลูกไม้เดิม ๆ ของฮอลลีวูด ประเภทหนังภาคต่อ, หนังสามมิติ, งานอันซ้ำซาก, นำของเก่ากลับมาทำใหม่ ซึ่งดูจะได้ผลน้อยลงเรื่อย ๆ และที่สำคัญก็คือการขึ้นราคาค่าตั๋วหนัง ทั้งโรงภาพยนตร์ธรรมดา หรือโรงสามมิติ และดิจิตอล จนทำให้การชมภาพยนตร์เป็นความบันเทิงที่มีราคาแพงขึ้น ก็ถือว่าสร้างผลกระทบให้คนดูส่วนหนึ่งถ้อยห่างจากโรงภาพยนตร์ไปในเวลาเดียวกัน