เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน ทีมงานของช่องซูเปอร์บันเทิงได้ทำสกู๊ปสั้นๆ ชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยรสนิยมการดูหนังของคนไทย ซึ่งถูกจุดประเด็นขึ้นมาจากคำให้สัมภาษณ์ของโปรดิวเซอร์/ผู้กำกับชื่อดังอย่าง “บัณฑิต ทองดี” ที่พูดขึ้นมาทำนองว่า รสนิยมของคนไทยในการดูหนังนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งสร้างความลำบากยุ่งยากในการทำหนังของเขา
นอกเหนือไปจากคุณบัณฑิต ทีมงานได้ไปถามมุมมองของผู้กำกับเจ้าของผลงาน “ฝนตกขึ้นฟ้า” เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งให้ความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะคุณเป็นเอกบอกว่านั่นไม่ใช่ปัญหาเลย และยังแถมท้ายด้วยว่า การพูดแบบนั้นก็เท่ากับผลักความผิดให้กับคนดูอยู่กลายๆ
รสนิยมคนไทย เป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของคนทำหนัง ขนาดนั้นจริงหรือ?
จำได้ว่า ตอนที่ทีมงานมาสัมภาษณ์ ผมค่อนข้างประหลาดใจพอสมควรกับความคิดเห็นของสองผู้กำกับ เพราะจะว่าไป ถ้ามองในเชิงว่า รสนิยมคนไทยเป็นอุปสรรคจริง คนที่ควรจะบ่น น่าจะเป็นคุณเป็นเอกมากกว่า เพราะหนังของเขาช่วงหลังๆ นั้น ดูจะเหินห่างจากรสนิยมการดูหนังของคนไทยเสียเหลือเกิน ขณะที่หนังของคุณบัณฑิต (มนต์รักลูกทุ่งเอเฟเอ็ม, เฮี้ยน, มนุษย์เหล็กไหล,) เป็นหนังที่ผูกติดอยู่กับการตลาดแบบเห็นได้ชัด อย่างงานล่าสุด “พุ่มพวง” ก็เป็นหนังซึ่งสร้างมาในแบบที่คนไทยชอบดูอยู่แล้ว นั่นยังไม่ต้องพูดถึงบุคคลต้นเรื่องอย่างคุณพุ่มพวงผู้ล่วงลับ ก็ถือว่าเป็น “สากลของคนไทย” ในแง่ชื่อเสียงความดัง
คิดแทนคุณบัณฑิต บางที สิ่งที่อยู่ในจินตนาการของคุณบัณฑิต อาจจะบรรเจิดเพริศพรายอย่างที่ใครไม่หยั่งรู้ และเขายังผลิตออกมาไม่ได้ เนื่องจากยังลังเลใจว่ารสนิยมของคนไทยจะรับได้หรือเปล่า แต่ถ้านับเอาจากผลงานที่คุณบัณฑิตเคยเป็นโปรดิวเซอร์มา อย่างเรื่อง “น้ำตาลแดง” ผมคิดว่า ตะกอนความรู้สึกเชิงตัดพ้อต่อรสนิยมของคนไทย คงเริ่มมาจากจุดนี้
แน่นอนครับ หนังอย่างน้ำตาลแดงนั้น ใช้ไวยากรณ์การทำหนังที่แตกต่างออกไปจากหนังที่คนไทยคุ้นเคย เมื่อคนทำหนังให้สำคัญกับเนื้อเรื่องน้อยกว่าสาระที่จะสื่อ ทุกสิ่งจึงดูเป็นสัญลักษณ์และนามธรรมที่เรียกร้องการตีความ ดังนั้น สำหรับคนไทยส่วนมากที่คุ้นเคยกับการดูหนังบางแบบมากกว่า อย่างเช่นสไตล์แบบฮอลลีวูด ซึ่งเนื้อเรื่องต้องมีหัวมีท้าย ดูแล้วเข้าใจว่าคนทำต้องการจะสื่ออะไร สามารถสุข โศก หรือตลกไปกับเรื่องราวในหนังได้ ไม่ต้องมานั่งมึนกับสัญลักษณ์ที่คนทำหนังใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร “น้ำตาลแดง” ซึ่งมาพร้อมกระบวนท่าที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ จึงเป็นหนังที่ “ดูยาก” หรือกระทั่ง “ดูไม่เข้าใจ” ด้วยประการฉะนั้น
หรือถ้าจะมองไปอีกทางว่า คนไทยไม่ชอบหนังอีโรติก ก็คงไม่ใช่อีก เพราะไม่เช่นนั้น หนังอย่าง Sex & Zen หรือหนังยุคเก่าๆ หวิวๆ ของคุณทรนง ศรีเชื้อ คงไม่มีที่อยู่ที่ยืน แต่กระนั้น ถ้าหากจะมีบางสิ่งที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยน ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ “ความเข้าอกเข้าใจ” และการ “รู้จักแยกแยะ” มากกว่า เพราะเชื่อสิว่า จนถึงบัดนี้ เราท่านจำนวนไม่น้อยก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าหนังอีโรติกกับหนังโป๊ มันคือหนังแบบเดียวกัน และนั่นก็เป็นเหตุผลให้หลายคนไม่มั่นใจพอที่จะเดินเข้าไปตีตั๋วดูหนังเรื่อง Sex & Zen เพราะหวั่นเกรงสายตาของผู้คนที่จะตัดสินว่าเราเป็นพวกดูหนังโป๊ หื่นกาม หรืออะไรทำนองนั้น
ความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเป็นคนละเรื่องกับคำว่า “รสนิยม” นะครับ และยิ่งเมื่อจับคำๆ นี้ไปผูกเข้ากับคำว่า “คนไทย” จนกลายเป็นคำว่า “รสนิยมคนไทย” ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอันที่จริง คนไทยมีรสนิยมในการดูหนังที่หลากหลายมาก มากเสียจนคนทำหนังอาจจะรู้สึกมึนหน้าตาลายว่าจะทำหนังออกมาอย่างไรให้ครอบคลุมทุกปริมณฑลของคนไทย
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า รสนิยมคนไทยนั้น “อ่านง่าย” และไม่เป็นปัญหาแม้แต่น้อยเลยครับสำหรับคนทำหนัง และยิ่งถ้ามองในแง่ของการตลาดหรือยึดเอาตัวเงินรายรับเป็นเป้าหลักด้วยแล้ว เราจะยิ่งพบว่า การทำหนังให้ถูกต้องตรงกับรสนิยมคนไทยนั้น ไม่น่าจะใช่เรื่องยากเลย
ลองสังเกตดูก็ได้ว่า เพราะอะไร หนังของค่ายจีทีเอช ส่วนใหญ่จึงยังขายได้จนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาอ่านขาดว่ารสนิยมการเสพภาพยนตร์ของผู้คนเป็นแบบไหน และปักหลักทำหนังในแบบนั้นๆ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงหนังผี หนังตลก หนังรัก อีกไม่รู้กี่เรื่องของค่ายอื่นๆ ที่ก็ได้รับการต้อนรับจากคนไทยเสมอมา
ผมคิดว่า มาถึงตอนนี้แล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมา คงบอกกับเราได้ประมาณหนึ่งว่า การจะทำให้หนังเรื่องหนึ่งครอบคลุมกลุ่มคนทุกกลุ่ม มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ผู้กำกับที่ฉลาดๆ และคิดเป็น ย่อมจะมองเรื่องของการกำหนดกรุ๊ปปิ้งกลุ่มเป้าหมายคนดู อย่างเช่น ครึ่งปีหลังที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีหนังอย่างน้อย 2 เรื่องที่ทำได้สำเร็จ นั่นก็คือ 30+ โสด On Sale และ 30 กำลังแจ๋ว เราจะเห็นว่า ทาร์เก็ตกรุ๊ปของหนังสองเรื่องนั้นแข็งแรงมาก ด้วยการเข้าไปจับตลาดของสาวโสดวัยเลขสาม (ซึ่งอาจจะมีคนดูวัยอื่นๆ เป็นโบนัสของแถมมาด้วย)
พูดมาถึงตรงนี้ บางที คนทำหนังอาจจะต้องมองย้อนกลับไปที่ตัวเองว่า ที่สุดแล้ว “เป้าหมาย” ของเราอยู่ตรงไหน คนดูเป็นกลุ่มใด อันนี้คืออย่างง่ายที่สุด และถ้ามีพลังงานล้นเหลือ คิดจะทำหนังให้โดนๆ คนหลายกลุ่ม ก็ต้องรู้ว่าจะทำหนังแบบไหน แทนที่จะไปมองว่า “เป็นเพราะรสนิยมของคุณ ผมจึงทำหนังได้ลำบาก”
ด้วยความเชื่อมั่นว่า คุณบัณฑิต ทองดี ที่พูดว่ารสนิยมคนไทยเป็นอุปสรรคของการทำหนัง ย่อมเข้าใจกระจ่างว่ารสนิยมของคนไทยเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงไม่น่าจะใช่เรื่องยากแต่อย่างใดว่าจะทำหนังแบบไหนให้ถูกตาต้องใจคนดูแห่งสยามประเทศ (โดยไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศว่า “นี่คือภาพยนตร์แห่งสยามประเทศ”)
แน่นอน หนังตลาดๆ ย่อมมีโอกาสมากกว่าในเชิงธุรกิจหรือการทำเงิน แต่ถ้าคุณบัณฑิตคิดจะฉีกตัวเองออกไปเพื่อทดลองอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่าเรื่องหรือเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความสนใจส่วนตัว (แต่ไม่เข้าทางของตลาดคนดู) คุณก็อาจจะต้องทำใจกับผลลัพธ์ที่ตามมา เหมือนอย่างหนังของคุณเป็นเอกที่แหวกขนบความคุ้นเคยในการดูหนังหรือรสนิยมความชอบของคนไทยออกไป แต่เมื่อเลือกทางนั้นแล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียตั้งแต่ต้นว่า ผลตอบรับหรือความถูกปากมันอาจจะไม่มากเหมือนหนังตลาดดาษดื่น แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่ามันก็จะยังมีกลุ่มก้อนคนดูที่พร้อมจะอ้าแขนรับผลงานแบบนี้อยู่ เหมือนอย่างน้ำตาลแดงที่คุณบัณฑิตโปรดิวซ์ ก็มีคนจำนวนไม่น้อยนะครับที่ดู (และอาจจะชอบ) ทั้งตอนฉายโรงและออกเป็นหนังแผ่น
สุดท้าย ผมก็จะยังคงนั่งยัน นอนยัน หรือกระทั่งตีลังกายัน ว่า ปัญหาการทำหนังไทย ไม่ได้อยู่ที่รสนิยมของคนดู การพูดว่ารสนิยมของคนไทยเป็นอุปสรรคของคนทำหนังไทย จึงดูคล้ายเป็นเพียง “ข้อกล่าวอ้าง” ที่เลื่อนลอยยิ่ง
แต่ถ้าบอกว่า การทำหนังให้ดีนั่นต่างหากที่เป็นอุปสรรคของคนทำหนังไทย ใครพูดมาแบบนี้ ผมก็เถียงไม่สู้แล้วล่ะครับ!!