xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องขององค์ชายยอนอิง/ต่อพงษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์ชายยอนอิงกับรัชทายาท
มีหลายคนที่กำลังอินกับเรื่องราวของ “ ทงอี” อย่างสุดขีด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถามผมว่าเรื่องราวขององค์ชายยอนอิงกับรัชทายาทนั้นเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแม้ในเรื่องจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งแต่เรื่องจริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

เรื่องที่น่าสนใจเวลาเกาหลีเขาจะปั้นละครประวัติศาสตร์นั้น สิ่งหนึ่งที่ทีมเขียนบทจะทำก็คือ เขาจะหาช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะหายไป หรือช่วงที่มีบันทึกประวัติศาสตร์นิดเดียวมาทำ แล้วก็สร้างเรื่องใหม่ต่อเติมเข้าไปโดยรู้ตอนจบของเรื่องอยู่แล้ว เรื่องของทงอีนี่ก็เหมือนกันครับ โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ และตอนจบเขาเอาโน่นนี่มาใส่เยอะเลย

ในละครนั้นช่วงท้ายเรื่องพระเจ้าซุกจงตัดสินใจไม่สละบัลลังก์ตามที่วางแผนไว้แต่ต้น เพราะพระมเหสีอินวอนรับเจ้าชายยอนอิงผู้มีเลือดชนชั้นต่ำเป็นลูกบุญธรรม นางเอกเราเลยออกไปอยู่นอกวังแล้วตั้งกองเป็นขบวนการพิทักษ์ประชาชนอะไรทำนองนั้น

อันนี้ตรงกับในประวัติศาสตร์ครับ คะเนตามเวลาในละครตอนที่ 57-59 น่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นราวๆ ปี ค.ศ. 1702 เพราะเป็นปีที่พระเจ้าซุกจงแต่งงานกับมเหสีอินวอน ซึ่งตอนนั้นรัชทายาทอายุได้ 14 ปี ส่วนที่เจ้าชายยอนอิงอภิเษกนั้นเกิดขึ้นในปี คศ.1703 ตอนนั้นองค์ชายอายุ 8 ขวบ ภรรยาของท่านมีอายุ 10 ขวบ

ตรงนี้เองที่คนเขียนบทแต่งใหม่ได้จี๊ดมาก นั่นคือเรื่องราวของมเหสีอินวอน ที่เปิดตัวมาดูร้ายมากขนาดต่อกรกับทงอีได้เลย เรื่องจริงตามประวัติศาสตร์นั้นมเหสีอินวอนไม่น่าที่จะซี้อะไรกับรัชทายาทหรือมีสติปัญญาระดับที่กระทำการอะไรได้ เพราะตอนนั้นพระองค์มีอายุแค่ 15 ปีเท่านั้นเอง (ประวัติจริงเธอเกิดปี ค.ศ. 1687) ข้อถัดมาก็คือทั้งองค์รัชทายาทและเจ้าชายยอนอิงล้วนแล้วแต่ถูกรับให้เป็นบุตรบุญธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่ยอนอิงคนเดียว ถ้าจะให้ผมเดาก็คงเป็นว่า เรื่องทุกอย่างที่เดินไปนั้นก็เกิดเพราะพระเจ้าซุกจงท่านเสกให้เป็นไปตามที่ท่านต้องการเพื่อสลายอำนาจของกลุ่มข้าราชการในระบบแฟกชันต่างๆ นั่นเอง

แต่มเหสีอินวอนนั้นอายุยืนครับ ให้เดาถึงความเป็นไปได้ก็ต้องบอกว่า พระองค์จะมาเป็นเพื่อนคู่คิดขององค์ชายยอนอิงมากกว่า เพราะในประวัติศาสตร์จริงทั้งคู่มีอายุแตกต่างกันแค่ 7 ปีเท่านั้นเอง พอปี 1711 ท่านก็ติดโรคฝีดาษแต่ก็ไม่ได้เสียชีวิตแต่อย่างได มเหสีอินวอนนั้นกว่าจะสวรรคตก็ปาเข้าไปในปี 1757 ขณะอายุได้ 70 ปี ซึ่งเป็นปีที่ 33 ในการครองราชย์ของ “พระเจ้ายองโจ” หรืออีกนัยหนึ่ง “เจ้าชายยอนอิง” ลูกของทงอีนั่นเอง

และเพราะการไม่สละบัลลังก์ตามเรื่องราวจริงๆ ในประวัติศาสตร์ คนที่ซวยก็คือองค์รัชทายาท เพราะกว่าจะได้ครองราชย์จริงๆ ก็เมื่อพระเจ้าซุกจงสวรรคตนั่นเองครับ

จริงๆ องค์รัชทายาทก็ไม่ได้อายุสั้นนักตามอาการนกเขาไม่ขันอย่างในละครบอกนะครับ แต่เหตุที่อายุใช้งานบนบัลลังค์ของรัชทายาทน้อยเพราะพระเจ้าซุกจงท่านทนเหลือเกิน กว่าที่ท่านจะตายก็ปาเข้าไปปี ค.ศ. 1720 กว่ารัชทายาทจะได้ครองบัลลังก์เป็น “พระเจ้ากอนจง” ก็ปาเข้าไปตอนพระองค์อายุ 32 ปี (แต่ได้ออกว่าราชการแทนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1718) คืออยู่บนบัลลังก์แค่ 4 ปีก็สวรรคตไปอีกคน

ก่อนเรื่องนี้จะจบมันมีไอ้ตัวร้ายตัวหนึ่งที่ชื่อ “จางมูยอน” เป็นรองเจ้ากรมกลาโหม ที่บอกว่าในไม่นานพวกที่สนับสนุนทงอีก็จะตาย เพราะความขัดแย้งในเรื่องของทั้งชนชั้นและแนวคิดในเรื่องการตีความของขงจื๊อที่บรรดาข้าราชการในเรื่องถือหางกัน ผลปรากฏคำทำนายนี้เป็นเรื่องจริงนะครับ เพราะในปี 1721 หลังจากที่พระเจ้ากอนจงครองราชย์ได้แค่ปีเดียว ผู้นำขุนนางกลุ่มโนรนซึ่งในเรื่องก็เป็นกลุ่มพรรคพวกของทงอีก็โดนสั่งประหารไปซะ 4 คน และปีต่อมาก็โดนไล่ประหารไปอีก 8 คน...เลือดมักจะนองท้องช้างเสมอเวลาที่มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในเกาหลี

กว่าองค์ชายยอนอิงจะได้ขึ้นเป็นพระเจ้ายองโจ( Yeongjo of Joseon) คนที่อยู่เคียงข้างกันจริงๆ ก็คือ พระมเหสีอินวอนซึ่งกลายเป็นพระพันปีหลวงไปเรียบร้อย พระองค์ท่านแบ็กอัพเจ้าชายยอนอิงกันสุดๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะอายุที่แตกต่างกันไม่มากก็เป็นไปได้ แต่พระเจ้ายองโจก็เป็นกษัตริย์อีกพระองค์ที่ครองราชย์ได้นานมากคืออยู่บนบัลลังค์ตั้ง 52 ปี เรียกว่าครองกันจนเหนียงยานไปเลย

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นตำนานที่คนดูละครเกาหลีต้องทราบก็คือ พระเจ้ายองโจลูกของทงอีนี้เป็นปู่ของ ลีซาน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีละครที่เสนอเรื่องของเขามาก่อน เพียงแต่เรื่องไม่ค่อยสนุกก็อาจจะทำให้คนไม่รู้สึกว่ามันน่าสนใจเท่าไหร่นัก แต่ตัวพระเจ้ายองโจเองก็ไม่เลวนัก ตำนานหนึ่งที่พระองค์สร้างเอาไว้ก็คือ การตั้งหน่วยสืบราชการลับขึ้นมา ซึ่งสวนทางกับการประกาศตัวว่าเป็น “ขงจื๊อคลาสสิกแบบเข้มข้น” เพราะหน่วยของพระองค์นั้นไม่ได้ขึ้นต่อศาล หน่วยงานกลาโหม แต่ขึ้นตรงต่อพระองค์เอง นอกจากสืบและจัดการพวกข้าราชการขี้โกงแบบถึงอกถึงใจแล้ว หน่วยงานนี้ยังมีหน้าที่ไปยึดทรัพย์ข้าราชการหรือเจ้าที่ดินรวยๆ อีกด้วย แต่ที่คนชื่นชมมากก็คือการปกป้องชนชั้นต่ำที่ถูกรังแก

หน่วยงานดังกล่าวมีคนสนิทคนหนึ่งที่ชื่อ “ปาร์ค มุน ซู” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Amhaeng-eosa ประมาณว่ามีสิทธิ์ถือตราอาญาสิทธิ์ในการสอบสวนจับกุมยึดทรัพย์ฝ่ายตรงข้ามอย่างสบาย คล้ายๆเปาบุ้นจิ้นกับจั่นเจาแบบนั้น โดยที่ทรงแบ็กอัพอย่างเต็มที่ ที่ถูกวิจารณ์มากจากฝั่งหนึ่งก็เพราะว่าเขามองว่าหน่วยงานนี้อ้างเรื่องปราบกังฉินและช่วยเหลือคนชั้นต่ำแบบมีวาระซ่อนเร้น เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจของโชซอนกำลังแย่จากสงครามการเมือง เงินคงคลังของราชสำนักก็ไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ ครั้นจะรอระบบเก็บภาษีตามปีทั่วไปก็คงจะไม่ทันจ่ายเงินเดือน การตั้งหน่วยงานที่อ้างว่าทำเพื่อปราบข้าราชการกังฉินอาจจะแค่ข้ออ้าง ที่แท้จริงแล้วจะหาเงินเข้าคลังหลวงนั่นเอง

งานนี้ก็เลยมีคนตายเป็นเบืออยู่เหมือนกันจากการออกปล้นข้าราชการชั่วนี้ ผลก็คือ การสาปแช่งอย่างหนักหน่วงโดยตระกูลขุนนางที่โดนยึดทรัพย์ทั้งหลาย โศกนาฏกรรมขององค์ชายยอนอิงหรือพระเจ้ายองโจนั้นมีอย่างเดียวในชีวิตก็คือ พระองค์สั่งประหารรัชทายาทของพระองค์เอง
ลูกของเจ้าชายยอนอิงมีชื่อว่า ซาโด ( Sado) ที่ว่ากันว่าสติสตังค์ไม่ค่อยดีตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากติดเชื้อในสมองแต่เมื่อโตขึ้นแกก็เพี้ยนถึงขนาดก่อคดีฆ่าผู้บริสุทธิ์ในวังไปจนกระทั่งไล่ข่มขืนนางใน เรื่องจริงไม่รู้ว่าเป็นอย่างที่บันทึกไว้หรือเปล่านะครับ เพราะมีนักประวัติศาสตร์พูดถึงเรื่องนี้ในอีกแง่หนึ่งว่า อาจจะเป็นการใส่ร้ายโดยบรรดานักการเมืองและข้าราชการแสบๆ ก็เป็นได้ เพราะตัวพระเจ้ายองโจก็ทำเขาไว้เยอะ สุดท้ายพระเจ้ายองโจก็ไม่มีทางเลือก พระองค์สั่งขังเดี่ยวรัชทายาทองค์นี้ในถังเก็บข้าวเป็นเวลา 8 วัน จนสุดท้ายก็อดน้ำตายไปเอง

ว่ากันว่าที่บุตรชายของพระองค์เป็นบ้าได้ขนาดนั้นก็เพราะคำสาปแช่งของคนที่โดนยึดทรัพย์และสั่งเชือดไปสบายแฮแบบนั้น

แต่การที่พระองค์ต้องลงมือเชือดบุตรตัวเองก็ทำให้ท่านทุ่มเทความรักให้แก่หลานปู่จนหมดสิ้น และด้วยการส่งเสริมของพระเจ้ายองโจ อีกทั้งยความสามารถของตัวเอง หลานของพระองค์ก็เลยได้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ดีที่สุดของเกาหลีที่มีฉายาว่า ไม้บรรทัดเหล็ก หรือ ลีซาน นั่นเองครับ
มเหสีอินวอนที่ผิดไปจากประวัติศาสตร์มาก
จางมูยองน ตัวแสบสุดท้ายที่ให้คำทำนายที่เป็นจริง
ยอนอิง หรือพระเจ้ายองโจ ภาพในประวัติศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น